xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช (34) : Utopia---อุตตรกุรุ---Pharmakon

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 สภาพชีวิตมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในอุตตรกุรุทวีป ทำให้เราเข้าใจว่า ต้นเหตุแห่งความไม่เสมอภาคคือ การมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเกิดขึ้นจากการหวงแหนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ความหวงแหนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของที่ฟังดูมีเหตุมีผลที่สุด ก็คือ เราหวงของที่เราได้มาจากการต้องลงแรงหรือลงทุนของเราไป เมื่อเราได้อะไรมาจากการลงแรงลงเวลาของเราไป มันก็ย่อมต้องรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของเป็นธรรมดา หรือจะว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์เลยก็ไม่ผิด 
 
ดังนั้น ในแง่หนึ่ง มันก็ยุติธรรมที่คนที่ลงแรงไปก็ควรจะได้สิ่งนั้นเป็นของเขา แต่ต้องไม่มั่วหรือโกหกหรือแอบอ้างว่าลงแรง แต่จริงๆ แล้ว ไปเอาของที่คนอื่นเขาลงแรงไปมาเป็นของตน หรือลงแรงไปไม่มาก แต่อ้างว่าต้องแบ่งเท่าๆ กัน คนที่เขาลงแรงไปมากก็จะรู้สึกไม่ยุติธรรม ที่จะต้องแบ่งผลผลิตอย่างเท่าๆ กันกับคนที่  “กินแรง” 

 ด้วยเหตุนี้กระมังที่ความหมายอันหนึ่งของความยุติธรรมที่ปรากฎในงานเขียนที่ชื่อ Republic ของเพลโต นักปรัชญากรีกโบราณคือ “ความยุติธรรม คือ ความซื่อสัตย์และให้ในสิ่งที่เป็นของๆเขา หรือให้ในสิ่งที่เขาควรจะได้” 
 
อันที่จริง Republic  ของเพลโตก็ถูกตีความว่าเป็นงานเขียนเกี่ยวกับสังคมอุดมคติหรือ  Utopia ที่ต่อมานักวิชาการไทยได้แปลและตั้งชื่อ Republic  ของเพลโตว่า  “อุตมรัฐ”  

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง ต้นเหตุของความไม่เสมอภาคที่กล่าวไปข้างต้น พบว่า นักปรัชญาการเมืองตะวันตกอีกท่านหนึ่งได้เขียนหนังสือชื่อนี้ตรงๆ เลย นั่นคือ  “ต้นเหตุของความไม่เสมอภาคในมวลมนุษย์”  นักปรัชญาการเมืองที่ว่านี้คือ ฌอง ฌาค รุสโซ  ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สิบแปด และรุสโซก็ชี้เช่นเดียวกันว่า ต้นเหตุของความไม่เสมอภาคก็คือ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

 ในแง่นี้ ถ้าเราจะถือว่า อุตตรกุรุทวีป เป็นงานเขียนที่สะท้อนความคิดทางการเมือง เราจะพบว่า ข้อสรุปของความคิดทางการเมืองทั้งตะวันตกและตะวันออกเห็นต้องตรงกันว่า กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นต้นเหตุของความไม่เสมอภาค 

 
ดังนั้น ถ้าตัดหรือยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไปได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคได้ แต่จะยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไปได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติที่ว่านี้ก็คือ คนเราจะได้อะไรมา ก็ต้องลงแรง ใครลงแรงมากก็ได้มาก ลงน้อยก็ได้น้อย และอย่างนั้นมันก็ยุติธรรมอยู่

แถมธรรมชาติยังให้คนมีร่างกาย สติปัญญาไม่เท่ากันอีก ดังนั้น การยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ครั้นจะยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แล้วทำให้เป็นของทุกคนร่วมกัน นั่นคือ ของทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัว คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ข้าวของเป็นของทุกคนร่วมกันโดยไม่ผิดธรรมชาติ ?


คำตอบง่ายๆก็คือ ก็ให้แต่ละคนลงแรงเท่าๆ กัน แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ คนที่ร่างกายแข็งแรงสามารถตัดต้นไม้ได้ชั่วโมงละ 5 ต้นโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย กับคนที่แข็งแรงน้อยกว่า ตัดต้นไม้ 5 ต้องใช้เวลา 10 ชั่วโมงและด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ คนสองนี้มีสิทธิ์ครอบครองต้นไม้ 10 ต้นร่วมกัน คนที่แข็งแรงกว่าอาจจะเห็นว่ายุติธรรม ส่วนคนที่อ่อนแอกว่าอาจจะคิดว่าตนลงแรงไปมากกว่าคนที่แข็งแรงกว่าถึง 5 ชั่วโมง อันนี้ นอกจากกำลังกายที่ลงไป ยังไม่นับทักษะที่ไม่เท่ากัน ที่มนุษย์แต่ละคนมีหรือกว่าจะมี ต้องใช้เวลาพัฒนาฝึกฝนต่างกัน คิดดูแล้ว แค่นี้ก็ให้ปวดหัวเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ยังไม่นับความต้องการที่ไม่เท่ากัน บางคนต้องกินข้าวสองจานถึงจะอิ่ม บางคนกินจานเดียวก็เต็มที่แล้ว และหากจะแบ่งผลผลิตที่ได้จากการลงแรงที่เท่ากันอย่างไม่เท่ากัน โดยพิจารณาถึงความต้องการของแต่ละคน ก็จะมีปัญหาตามมาอยู่ดี

พูดง่ายๆ ก็คือ ตอนแรก ข้าวของจะเป็นของใคร ก็ขึ้นอยู่กับแรงที่ลงไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนมีร่างกายความแข็งแรงไม่เท่ากัน ต่อมา เปลี่ยนเป็น ข้าวของจะเป็นของใคร ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน มันก็มีปัญหาอย่างที่กล่าวไปอยู่ดี

 ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในอุตตรกุรุทวีป ก็คือ ทำให้ทุกคนมีรูปร่างหน้าตา กำลังและสติปัญญาเท่ากัน และแถมยังไม่ต้องลงแรงหาข้าวหาปลากินเอง เพราะข้าวในอุตตรกุรุงอกได้เอง ส่วนกับข้าว ก็ใช้วิธีนึกเอา แล้วกับข้าวก็มา 

นอกจากข้าวของแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มนุษย์หวงแหน แก่งแย่งฆ่าฟันช่วงชิงกันก็คือ  คู่รัก  เพราะข้าวปลายังหาง่ายกว่าคนที่เราชอบเรารัก ดังนั้น แม้เรื่องการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในคนรัก อุตตรกุรุยังยกเลิกได้ เพราะจากการที่ทำให้ผู้หญิงในอุตตรกุรสวยเหมือนกันหมด เป็นที่พอใจสำหรับผู้ชายทุกคนเหมือนกันหมด ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องตะโกนว่า  “ผู้หญิง/ผู้ชายข้า ใครอย่าแตะ”  

 ชายหญิงในอุตตรกุรุจึงอยู่ด้วยกันเพียง 7 วันแล้วก็จากไป ไม่ต้องผูกพันอยู่กันเป็นครอบครัว แม้จะยังมีลูกเหมือนกับหญิงชายในสังคมปกติ แต่ “ผู้แต่ง” อุตตรกุรุ บอกว่า “ก็ไม่ต้องมีการเลี้ยงดู เพราะการเลี้ยงดูนั้นก่อให้เกิดความผูกผัน และจะนำไปสู่การสะสม” นั่นคือ หากมีลูก และเลี้ยงดู เราก็จะหวงแหนลูกที่เราลงแรงเลี้ยงดูประคบประหงมจนโต ทำให้เกิดความคิดเรื่อง “กรรมสิทธิ์ในลูกของตน” และเมื่อเกิดความผูกพัน เราก็ย่อมอยากจะให้เขาอยู่ดีกินดีกว่าลูกคนอื่น อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำตามมา และ “จะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งที่จะนำให้มีรัฐเกิดขึ้นอีก” 

เพราะเมื่อมีความขัดแย้ง ก็จะต้องมีการแก้ไขความขัดแย้ง การแก้ไขความขัดแย้งต้องมีผู้ตัดสิน แต่ก่อนจะมีผู้ตัดสิน จะต้องมีกฎเกณฑ์ในการตัดสิน นั่นคือ ก่อนจะมีตุลาการ จะต้องมีกฎหมาย เมื่อจะต้องมีกฎหมาย ก็จะต้องมีผู้บัญญัติกฎหมาย แล้วใครเล่าจะเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ? คนที่แข็งแรงกว่า ? คนที่สติปัญญาดีกว่า ? หรือให้ทุกคนประชุมร่วมกันเพื่อหาฉันาทามติ ? แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องมีอำนาจที่เหนือกว่าที่ผูกขาดการใช้กำลังบังคับให้คนยอมรับคำตัดสินและเกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งนั่นก็คือ การเกิดรัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


ดังนั้น ในแง่นี้ การดำรงอยู่ของรัฐจึงสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่มาจากการดำรงอยู่ของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ นอกจากจะซ่อนอยู่ในอุตตรกุรุแล้ว ยังปรากฏให้เห็นชัดเจนในวิธีคิดของมาร์กซิสม์ ดังนั้น ในสังคมที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์ รัฐจึงเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป สภาพการณ์ของวิวัฒนาการที่นำไปสู่ความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์นี้ไม่ได้เกิดอย่างฉับพลันทันที แต่จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 ด้วยเหตุนี้ ตัวคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) จึงใช้คำว่า เมื่อถึงเวลา รัฐจะค่อยๆ เหือดหายไปเอง (wither away) 

อย่างไรก็ดี อาจารย์ชัยอนันต์เห็นว่า อุตตรกุรุยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยให้กรรมสิทธิ์ส่วนรวมมาแทนที่ เพราะข้าวที่งอกขึ้นได้เองเป็นของทุกคน (เหมือนอากาศที่เป็นของทุกคน) และต้นไม้วิเศษที่เนรมิตสิ่งต่างๆตามที่แต่ละคนจะนึกต้องการนั้น ก็เป็นของทุกคน ดังที่อาจารย์ชัยอนันต์กล่าวว่า   “ชุมชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน”  ซึ่งเทียบเคียงได้กับแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่เรียกว่า “ชุมชนนิยม” หรือ “Communitarianism” 

ในอุตตรกุรุ เด็กหรือลูกที่เกิดมานั้นไม่ได้เป็นสมบัติของผู้ใด แต่เป็นสมบัติของชุมชน คนทุกคนในชุมชนจะช่วยกันเลี้ยงดูเด็กทุกคนที่เกิดมา ดังข้อความใน อุตตรกุรุ ที่ว่า


“เขาบ่มิได้ล้างได้สีได้ลูบคลำ เขาบ่มิให้ลูกกินน้ำนมเลยฯ เขาเอาลูกเขานั้นไปนอนหงายไว้ริมหนทางที่คนทั้งหลายเดินไปมากล้ำกรายนั้นแลฯ และที่นั่งมีหน้าอันอ่อนดังสำลี แลแม่นั้นไม่ได้อยู่ด้วยลูกอ่อนนั้นเลย แม่นั้นก็คืนไปยังที่อยู่สู่ที่กินของเขานั้นแล จึงผู้คนผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี คนทั้งหลายเดินไปมากล้ำกราย ครั้นว่าแลเห็นลูกอ่อนนอนหงายอยู่นั้น เฑียร (ผู้นั้น) ย่อมเอานิ้วมือของเขาป้อนข้าวไปในปากลูกอ่อนนั้น ด้วยบุญของลูกอ่อนนั้นก็บังเกิดเป็นน้ำนมที่ไหลออกมา แต่ปลายนิ้วมือเขาก็ไหลเข้าไปในคอลูกอ่อนนั้น หากเป็นข้าวกล้วยอ้อยของกินบำเรอลูกอ่อนนั้นทุกๆ วันครั้นว่าหลายเดือนแล้ว...”

 ดังนั้น เมื่อพิจารณาเงื่อนไขของการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในอุตตรกุรทวีป เราจะพบว่า “ผู้แต่ง” อุตตรกุรุ แก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ คือการออกแบบธรรมชาติของมนุษย์เสียใหม่ ตัดเงื่อนไขต่างๆ ในธรรมชาติที่จะนำไปสู่การเกิดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ดังที่อาจารย์ชัยอนันต์ได้กล่าวถึง อุตตรกุรุทวีปว่า “อุตตรกุรุเป็นการปฏิเสธสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ภายหลังสภาพธรรมชาติดั้งเดิมในทุกกรณี” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นสังคมที่ผิดธรรมชาตินั่นเอง 



กำลังโหลดความคิดเห็น