“ผู้ที่ฝึกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ (ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสฺ)” นี่คือพุทธพจน์ ซึ่งได้สอนเกี่ยวกับความเป็นคน
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น มีความหมายชัดเจนว่า ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกฝนตนเองจะเป็นคนดีที่สุด
จากพุทธพจน์ข้างต้น ทำให้เกิดคำถาม 2 ประการคือ
1. จะต้องฝึกอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนประเสริฐที่สุด
2. มนุษย์มีหลายประเภทหรือ?
เกี่ยวกับคำถามข้อที่ 1 ตอบได้ว่า จะต้องฝึก 3 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1 จะต้องรักษาศีล เพื่อควบคุมกายและวาจาไม่ให้กระทำการทุจริต ด้วยกายหรือที่เรียกว่ากายทุจริต และไม่ให้กระทำการทุจริตด้วยวาจาหรือที่เรียกว่า วจีทุจริต
ขั้นตอนที่ 2 ฝึกสมาธิ เพื่อควบคุมจิตให้สงบ ไม่ให้คิดในสิ่งที่เป็นอกุศลหรือที่เรียกว่า มโนทุจริต
ขั้นตอนที่ 3 ฝึกปัญญา เพื่อให้รู้ความจริงเกี่ยวกับสรรพสิ่ง ตามที่เป็นจริงหรือที่เรียนรู้ตามสภาพความจริง
ส่วนปัญหาข้อที่ 2 ตอบได้ว่า ตามนัยแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 ประเภท โดยยึดตามสภาวจิตที่บงการให้แสดงพฤติกรรม ทั้งทางกายและทางวาจา ดังนี้
1. มนุสสเทโว หรือมนุษย์เทวดาได้แก่ ผู้ที่มีธรรมที่เทวดาจะต้องมีเช่น พ่อแม่ที่มีพรหมวิหาร 4 และพระราชาที่มีทศพิธราชธรรม เป็นต้น
2. มนุสฺโส หรือมนุษย์ปกติทั่วไป ซึ่งเป็นสาธุชนรักษาศีล 5 และมีสภาวจิตสูงกว่าเดรัจฉาน
3. มนุสฺสติรัจฉาโน หรือมนุษย์สัตว์ได้แก่ คนที่มีพฤติกรรมเยี่ยงสัตว์เช่น ที่ข่มขืนลูกของตัวเอง เป็นต้น
4. มนุสฺสเปโต หรือมนุษย์เปรตได้แก่ คนที่เห็นแก่ได้ ทุจริต คดโกง ในทำนองเดียวกันเปรตที่หิวโหยอยากกินตลอดเวลา
ถ้าท่านผู้อ่านนำเอาคำสอนของพุทธข้างต้น มาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่า มนุษย์ประเภทที่ 3 และ 4 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อนุมานได้ดังนี้
1. จากข่าวอาชญากรรมที่ปรากฏ จะพบว่า พฤติกรรมเยี่ยงสัตว์เช่น พ่อข่มขืนลูกสาวของตนเอง และลูกฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ปรากฏขึ้นบ่อยๆ และอาชญากรประเภทนี้เรียกได้ว่า มนุษย์เดรัจฉาน
2. การทุจริต คอร์รัปชัน ปรากฏให้เห็นดาษดื่น และส่วนหนึ่งของการโกงกินเกิดจากคนมีการทุจริตแต่ไม่มีคุณธรรม นี่คือมนุษย์เปรต
จากพฤติกรรมกระทำผิดที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการโกงกิน หรืออาชญากรรมอื่นใด ผู้กระทำผิดส่วนหนึ่งมีการศึกษา มีสถานะทางสังคมเป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป แต่ที่กลายเป็นคนเลวก็เนื่องมาจากไม่ได้ฝึกฝนจิตนั่นเอง
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า คนจะเป็นคนดีได้ จะต้องฝึกฝนจิต เพื่อควบคุมกิเลสมิให้แสดงออกทางกายและวาจา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ล่วงละเมิดศีลธรรมและกฎหมายกลายเป็นอาชญากร