xs
xsm
sm
md
lg

เสรีภาพการชุมนุมที่ไม่มีจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผมต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้า เลยไม่รู้ว่าการชุมนุมที่นัดหมายเอาไว้ของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ในวันที่ 2 กันยายนจะจบลงอย่างไร แต่มันบอกว่า นับจากนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลจะต้องมีการผลัดกันออกมาชุมนุมขับไล่กันแบบนี้ทุกครั้ง เพราะประชาชนแตกออกเป็นสองฝ่ายจนยากจะสมานฉันท์กันได้

กว่าทศวรรษแล้วนับตั้งแต่การขับไล่รัฐบาลทักษิณมาจนถึงวันนี้ เราไม่เคยว่างเว้นจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเลย ไม่ว่ารัฐบาลจะมาอย่างไร เราก็อ้างเหตุออกมาขับไล่ได้ทั้งนั้น

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับเขียนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และยังเขียนไว้ว่า ประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่เชื่อไหมว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่สุดท้ายแล้วผู้ใช้สิทธิ์ดังกล่าวมักจะมีความผิดด้วยกฎหมายที่เล็กกว่ารัฐธรรมนูญ ดังนั้นเราจึงเห็นแกนนำทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างมีผลสุดท้ายด้วยการถูกจองจำในคุกทั้งสิ้น

จึงมีคำถามว่าจริงแล้วเรามีเสรีภาพในการชุมนุมจริงไหมแล้วเรามีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงไหม

แต่แม้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างนั้นเสมอ แต่การชุมนุมและการต่อต้านอำนาจของรัฐก็จะมีขึ้นเสมอ และทุกครั้งก็ล้วนแล้วแต่อ้างความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่ขับไล่ทั้งสิ้น แล้วก็ต้องเดินขึ้นศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกตัดสินว่ากระทำความผิดมากกว่าหลุดพ้นคดี

ตำรวจที่เป็นฝ่ายกล่าวหามักจะอ้างว่า จำเลยร่วมกันมั่วสุมเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แล้วเมื่อพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมก็ไม่เลิก และจำเลยกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

แน่นอนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นลูกน้องของรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลและกล่าวหาผู้ชุมนุม แต่การต่อสู้ด้วยประจักษ์พยานและเหตุผลของทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไร คนที่ตัดสินคือ ศาลที่ต้องมีความเป็นกลาง

ผมอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่อัยการฟ้องดำเนินคดีกับ 9 แกนนำพันธมิตรทั้งเก้าคน โดยศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1-6 นั้นเป็นการฟ้องซ้ำ จึงมีคำวินิจฉัยให้ลงโทษเพียงจำเลยที่ 7-9 คือนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี คนละ 8 เดือน

คดีนี้จำเลยได้อ้างพยานคือนายคมสัน โพธิคง อาจารย์นิติศาสตร์ โดยนายคมสันเบิกความว่า การจำกัดสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ หากการชุมนุมมีความผิดตามกฎหมายอื่น เช่นพระราชบัญญัติจราจรทางบก ต้องถือว่าสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญมีสิทธิเหนือกว่า

ปรากฏว่าศาลท่านได้อ้างมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิเสรีภาพของตนเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

คือศาลท่านใช้กฎหมายที่มีฐานะเท่าเทียมกันคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 28 มาหักล้างสิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไป

และศาลท่านก็ยึดเอาคำให้การของพยานโจทก์ท่านหนึ่งที่เป็นตำรวจว่าไม่สามารถส่งบุตรไปโรงเรียนในบริเวณที่ชุมนุมได้ทันเวลาจนเกิดความเครียดและได้รับความเดือดร้อน และอ้างพยานโจทก์ที่เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการว่า ไม่สามารถเข้าทำงานได้เนื่องจากการจราจรติดขัด

แสดงว่าจำเลยทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและข้าราชการที่ต้องผ่านถนนสาธารณะที่ปิดกั้นโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ผิด พ.ร.บ.ทางหลวง ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง

โดยศาลกล่าวอ้างด้วยตอนหนึ่งว่า การชุมนุมดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องใช้เส้นทางในเวลากลางคืนและไม่ทราบว่าจะมีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมมาก่อนเกิดความเกรงกลัวถึงภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และไม่กล้าใช้ถนนสาธารณะตามเส้นทางดังกล่าวสัญจรไปมา จึงเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ทั้งที่ในการวินิจฉัยของศาลนั้นกล่าวว่าไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสามว่าข้อหาชุมนุมโดยมีอาวุธได้ ซึ่งย่อมแสดงว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของจำเลยทั้งสามมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ

ทำให้มีข้อคิดที่น่าสนใจว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิเสรีภาพของตนเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีศักดิ์ของกฎหมายเท่ากันแต่การกระทำอย่างไหนที่มีน้ำหนักมากกว่ากัน

แม้โดยสามัญสำนึกจะคิดว่ากรณีกฎหมายขัดกันเช่นนี้จริงแล้วน่าจะพิจารณาความหนักเบากว่ากันของการใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญกับการกระทำที่ทำให้ละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งต้องดูว่าการออกมาชุมนุมของจำเลยและประชาชนจำนวนมากนั้นขัดต่อความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ซึ่งดูแล้วจะเห็นว่าเป็นการชุมนุมเพื่อหวังประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน แม้จะกระทบสิทธิของผู้อื่นก็ตาม

แต่เมื่อดูผลจากคดีนี้นั่นแสดงว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นในการเดินทางไปบนทางสาธารณะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่าสิทธิในการชุมนุม ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นการชุมนุมจะมุ่งหมายต่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือสาธารณะก็ตาม

คดีนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่ออกมาชุมนุมไม่ว่าอ้างความชอบธรรมต่างๆ หรือมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หากชุมนุมในที่สาธารณะและทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้วก็ง่ายมากที่ศาลจะวินิจฉัยว่ากระทำความผิดแล้ว

ดังนั้นแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่า บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เสรีภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ยกเว้นจะไปชุมนุมในที่ส่วนตัวซึ่งไม่ใช่วิสัยของการชุมนุมเพื่อต่อต้านอำนาจของรัฐที่ผู้ชุมนุมคิดว่าไม่มีความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองต้องขับไล่ไปให้พ้นจากอำนาจย่อมจะต้องใช้พื้นที่สาธารณะในการชุมนุม ยิ่งเป็นการชุมนุมที่มีประชาชนจำนวนมากแล้วย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงที่สาธารณะได้ยาก

จริงแล้วผมไม่ต้องยกคดีนี้มาก็ได้ เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วการชุมนุมของทุกกลุ่มทุกฝ่ายนั้นได้เห็นกันแล้วว่า สุดท้ายแกนนำล้วนแล้วแต่ถูกตัดสินให้มีความผิดทั้งสิ้น

แม้ว่าโดยหลักแล้วการออกมาขับไล่รัฐบาลที่เรามองว่าไม่มีความชอบธรรมนั้นย่อมเป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้วกับแกนนำทุกการชุมนุมก็คือ ผู้ใช้อำนาจทางกฎหมายไม่ได้คิดอย่างนั้น

ดังนั้น ท่ามกลางความแตกแยกความคิดของคนในประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาก็ย่อมจะต้องมีคนออกมาชุมนุมขับไล่ เพราะมองเสียแต่ต้นแล้วว่ารัฐบาลนั้นไม่มีความชอบธรรม ผลที่ติดตามมาก็คือ ต้องมีแกนนำที่นำประชาชนออกมาขับไล่จะต้องหมุนเวียนกันเดินเข้าคุก

ทั้งนี้ เพราะสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมแม้จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศก็ตามจะใช้ไม่ได้ทันทีเมื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น