xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขบวนการ “โจ้” “ความร่ำรวย” และ “ซูเปอร์คอนเนกชัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า “เหี้ยมอำมหิต” ทีเดียวสำหรับ “พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล” หรือ “ผู้กำกับโจ้” หรือ “โจ้ เฟอร์รารี่” ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ กับการใช้ “ถุงดำ” คลุมหัว “นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์” ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

แน่นอนว่า เมื่อสืบค้นเรื่องราวของนายตำรวจหนุ่มผู้นี้ลึกลงไปก็ยิ่งพบว่า มีความน่าสนใจในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวอันหรูหราฟู่ฟ่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้หญิง เรื่องรถ และเส้นทางการเติบโตในชีวิตราชการตำรวจที่เหมือนผ่านการวางแผนเอาไว้อย่างเชื่อมโยงกัน

ด้วยความที่เป็นตำรวจหนุ่มหน้าตาดี-มีอนาคต ทำให้ “ผู้กำกับโจ้” ใช้เป็นใบเบิกทางจนประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการรับราชการอย่างรวดเร็ว

ใครจะไปเชื่อว่า นายตำรวจยศเพียงแค่นี้จะร่ำรวยปานนี้ เอาแค่ในการบุกไปตรวจค้นบ้านสืบภาค 6 บุกค้น “คฤหาสน์ขนาด 5 ไร่” ของ “ผู้กำกับโจ้” ย่านคลองสามวา ก็เจอกับรถหรู 13 คันจอดราวกับโชว์รูม โดยมีมูลค่านับร้อยล้านบาท แถมเมื่อตรวจบัญชีรถในครอบครองก็พบว่า มีทั้ง “ปอร์เช่ เฟอร์รารี่ ลัมโบร์กินี เบนท์ลีย์ และรถอื่นๆ” รวมแล้วจำนวนกว่า 40 คัน ซึ่งว่าก็ว่าเถอะแม้แต่ระดับ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “นายกรัฐมนตรี” อาจมีทรัพย์สินสู้ “ผู้กำกับโจ้” ไม่ได้

และ “ที่สำคัญที่สุด” ก็คือ ไม่มีใครเชื่อว่า “ผู้กำกับโจ้” ใหญ่โตมาได้ “โดยลำพัง” เพราะกว่าที่ “ผู้กำกับโจ้” จะมีวันนี้ได้ ย่อมต้องมี “ผู้ให้การสนับสนุน” ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับ “ขบวนการใหญ่โต” ที่ทำมาหากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันดังจะเห็นได้จากหนังสือร้องเรียนที่ระบุชัดเจนว่า “ท่านเป็นสายตรง พล.ต.ท.(ต)” ซึ่งจะใช่ “บิ๊ก ต.” ที่เคยตกเป็นข่าวพัวพันกับ “ขบวนการขนยาไอซ์” ครั้งมโหฬารที่ด่านตรวจห้วยยะอุ ต.ด่านแม่ระเมา อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 1,500 ห่อ (น้ำหนักรวมประมาณ 1,500 กิโลกรัม) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ต่อไป เพราะบังเอิญว่า ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ “ภาค 6” ซึ่งดูแล 9 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง คือ “พิษณุโลก, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, พิจิตร, ตาก, อุตรดิตถ์, อุทัยธานีและสุโขทัย” เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจไม่อาจมองข้ามได้นั่นก็คือ “หนังสือรับรองการตาย” ที่ “โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์” ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ระบุ โรคที่เป็นสาเหตุการตายเอาไว้ว่า “SUGGESTIVE OF AMPHETAMINE INTOXICATION” หรือภาวะ “สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า แพทย์นิติเวชอาจจะออกใบรับรองการตายเท็จ เพื่อช่วยผู้กำกับและทีมจับกุม กล่าวหาว่าผู้เสียชีวิตตายจากพิษยาบ้าเกินขนาดหรือไม่ รวมถึงการแฉกันเองของบรรดา “ทนาย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “กระบวนการยุติธรรมชั้นต้น” ของไทย อันเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาหนักหน่วง



ลัมโบร์กินี รุ่น Aventador LP 720-4 50 Anniversario ฉลองครบรอบ 50 ปี ผลิตออกมา 100 คันทั่วโลก ราคาประมาณ 46 ล้านบาท ที่เคยตกอยู่ในครอบครองของผู้กำกับโจ้
 ตีแผ่ความร่ำรวยและซูเปอร์คอนเนกชันของ “โจ้”

คดีโจ้ เฟอร์รารี่ตกเป็นข่าวคึกโครมเมื่อมีการนำจดหมายร้องเรียนมาเปิดเผยต่อสาธารณสุขในโลกสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่า นำมาจาก “ตำรวจชั้นผู้น้อย” ที่ไม่สามารถทนเห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

“เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ผมกับชุดยาเสพติดของสภ. เมืองนครสวรรค์ ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ จับกุม ผตห.พร้อมของกลางมาสองคน เป็น ผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งทั้งสองคนเขาเป็นแฟนกัน พอมาถึงก็จับแยกสอบปากคำ ...ด้วยเหตุผลอะไรพวกผมไม่ทราบ ปรากฏว่าน้อง ผตห.ขาดอากาศเสียชีวิต ผกก.แกก็เลิ่กลั่ก ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่สั่งพวกผมว่า พวกมึงไปลบกล้องวงจรปิด แล้วเอาศพไปส่งที่โรงพยาบาล บอกกับหมอว่า มันเสพยาเกินขนาดนะ แล้วก็สั่งให้หน.05(ชุดยาเสพติด)ไปคุยกับ ผตห.หญิงว่าแฟนมันช็อคตายเพราะยาเสพติด แล้วตกลงว่าไม่ต้องพูดอะไรเพื่อแลกกับอิสรภาพ หลังจากนั้นก็ส่งศพ มีผลในทางคดีชันสูตรพลิกศพ ในวันที่ 6 สิงหาคม”

จากนั้นก็มี “คลิป” อันเป็นหลักฐานสำคัญจากการเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ” ของ “ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด ที่อ้างว่าได้รับมาจากตำรวจชั้นผู้น้อย โดยเป็นคลิปเหตุการณ์ที่ผู้กำกับโจ้ใช้คลุมถุงศีรษะพ่อค้ายาจนเสียชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5-6 คนช่วยกันจับและกดผู้ต้องหาในชุดสีเหลืองไว้

ในที่สุด “บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ลงนามในคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จากนั้นก็นำมาซึ่งการออก “หมายจับ” พ.ต.อ.ธิติสรรค์หรือผู้กำกับโจ้พร้อมพวกอีก 6 คนประกอบด้วย พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง สว.สส.สภ.เมืองนครสวรรค์ ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค รองสวป.สภ.เมืองนครสวรรค์ ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา รองสว.(ป.)สภ.เมืองนครสวรรค์ ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว ผบ.หมู่(ป.)สภ.เมืองนครสวรรค์ ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น ผบ.หมู่(ป.) สภ.เมืองนครสวรรค์ และส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว ผบ.หมู่ (ป.) สภ.ตาคลี

แน่นอนว่า เรื่องคดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ หลายคนถามไถ่กันมากที่สุดก็คือ “ผู้กำกับโจ้” ร่ำรวยมาได้อย่างไร?? ทำทำไมถึงได้รับฉายาว่า “โจ้ เฟอร์รารี่” ซึ่งก็มีข้อมูลวงใน เปิดเผยว่า เดิมพื้นฐานทางบ้าน “ผู้กำกับโจ้” ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมาแต่ต้น เพราะลำพังแค่เงินเดือนของตำรวจยศพันตำรวจเอกอยู่ที่ในราว 19,860-70,360 บาทเท่านั้น หรือหมายความว่าแม้ “ผู้กำกับโจ้” จะได้รับเงินเดือนเต็มเพดานก็ไม่น่าจะใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าไม่ต่างกับไฮโซอย่างเช่นที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันได้

“ผู้กำกับโจ้” มีฉายาว่า “โจ้ เฟอร์รารี่” ก็เพราะได้แต่งงานกับอดีตภรรยาคือ “แจน-นิศารัตน์ กรรณสูต” ไฮโซเจ้าของธุรกิจเต็นท์รถหรู ที่จำหน่ายรถเฟอร์รารี่ และรถสปอร์ตยี่ห้อดัง

ขณะที่โดยส่วนตัวของ “ผู้กำกับโจ้” เองนั้นป็นคนที่มีรสนิยมชอบ” รถซูเปอร์คาร์” เป็นพิเศษและเป็นเจ้าของรถสปอร์ต ยี่ห้อหรูหลายคัน

โดยคันที่ถูกกล่าวขานมาที่สุดก็คือรถสปอร์ตหรู ลัมโบร์กินี รุ่น Aventador LP 720-4 50 Anniversario ฉลองครบรอบ 50 ปี ผลิตออกมา 100 คันทั่วโลก และเขาได้มาเป็นคันแรกในประเทศไทย ในราคาประมาณ 46 ล้านบาท ซึ่งต่อมา “พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมายืนยันว่า รถยนต์ลัมโบร์กินีคันดังกล่าวซื้อมาจากจากบริษัทนำเข้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีเนื่องจากสำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย 31 ล้านบาท เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และตามประมวลกฎหมายอาญา

แต่ที่ทำให้ชีวิตพลิกผันเข้าขั้น “เศรษฐี” ขณะดำรงตำแหน่งรอง ผกก.กก.1 บก.ปส.4 ดูแลพื้นที่ภาคใต้ เพราะนอกจากทำคดียาเสพติดรายใหญ่จนสร้างชื่อให้ตัวเองเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดมือฉมังแล้วก็ยังทำให้ได้รู้จักบรรดา “ขาใหญ่” ในวงการธุรกิจ “สีดำ” รวมไปถึงเปิดทางให้เข้าสู่วงการธุรกิจ “รังนก” ที่เป็นธุรกิจ “สีเทา” เกี่ยวกับอิทธิพลมาเฟียอีกด้วย

ว่ากันว่า จากคอนเนกชันธุรกิจสีเทา ทำให้เขาเห็นโอกาสทำมาหากินกับ “รถหรู และซูเปอร์คาร์” แบบชนิดที่คาดกันไม่ถึง

“ผู้กำกับโจ้” เริ่มจากเลือกรถหรูที่ฝั่งมาเลเซีย เพราะราคาถูกกว่าไทยเยอะ ยกตัวอย่าง BMW ราคาอยู่ที่ประมาณ 4 แสน ลงทุนซื้อที่มาเลย์แล้วลักลอบเอาเข้าไทย จากนั้นทำทีปั้นคดีว่า “จับรถ” โดยไม่มีคนเกี่ยวข้อง ทำนองเจอรถต้องสงสัย นำเข้าผิดกฎหมาย

คดีแบบนี้ปลายทางจะทำให้รถถูกส่งให้ศุลกากร แล้วเมื่อคดีเสร็จสรรพ ศุลกากรก็จะนำออกขายทอดตลาดด้วยวิธีประมูล สมมติว่า BMW คันดังกล่าว ประมูลได้ในราคา 2 ล้าน สิ่งที่ “ผู้กำกับโจ้” จะได้ตามมา คือ 1. รางวัลนำจับ และ 2. ค่าสายข่าว ทั้งสองส่วนนี้คิดเป็น 45% ของราคา 2 ล้าน หรือ 900,000 ทันที

เท่ากับว่า รถ BMW คันนี้ หักทุน 400,000 บาทแล้ว “ผู้กำกับโจ้” จะได้กำไร 500,000 บาท

ว่ากันว่า “ผู้กำกับโจ้” ทำลักษณะนี้หลายครั้ง มีรถหรู-สปอร์ตคาร์ หลายยี่ห้อที่นำเข้าจากมาเลย์ ด้วยวิธีลงทุนเองจับเองส่งศุลกากร บางคันจะเก็บไว้ใช้เอง ก็ฮั้วกับเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ ปล่อยราคาถูกๆ หรือถอดอะไหล่ ถอดอุปกรณ์บางอย่างออกให้ราคาตก

ช่วงพีกๆ กรมศุลฯ จัดประมูลรถลักษณะอย่างนี้ทุกเดือน เดือนหนึ่งก็ราวๆ 400 คัน ว่ากันว่า เป็นรถในเครือข่ายของ “ผู้กำกับโจ้” เสีย 50%

คำนวณดูเอาว่า แต่ละเดือน “ผู้กำกับโจ้” จะมีรายได้เท่าไหร่ ? แถมเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย เพราะเป็นรางวัลนำจับ และค่าสายข่าวที่ศุลกากรต้องจ่ายตามกฎ

ตอนหลังถูกจับตา ศุลกากรจึงต้องยกเลิกประมูลรถที่มีที่มาจากฝั่งมาเลย์ แต่ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันถึงทุกวันนี้ว่า เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้สำนักงานในศุลกากร เป็น “ผู้กำกับโจ้” อภินันทนาการไว้ให้ราชการใช้จำนวนมาก

งานนี้สะเทือน “กรมศุลกากร” อย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 วันที่ 26 ส.ค. 2564 “นายพชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมศุลกากร จึงไม่อาจอยู่เฉยได้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลอันน่าตื่นตระหนกว่า ในช่วงปี 2554-2560 พ.ต.อ.ธิติสรรค์ เป็นเจ้าของสำนวนจับกุมรถหรูได้ถึง 368 คัน จากการนำทีมเข้าจับกุม โดยรถของกลางนำไปประมูลขายได้จำนวน 363 คัน ทำให้ได้รับเงินสินบน 30% รางวัลนำจับ 25% รวมจะได้เงิน 55% จากยอดการประมูลขายรถ 363 คัน อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ว่า 1 คดีจะได้รับส่วนแบ่งไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น


นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเก่าสมัยที่คบหาดาราสาวชื่อดัง “เมย์-พิชญ์นาฏ สาขากร ที่ถูกขุดคุ้ยออกมาและน่าสนใจยิ่ง เพราะหลังจากเลิกรากัน อดีตแฟนดาราได้แคปหน้าจอ SMS ที่ “ผู้กำกับโจ้” ส่งมาหา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำต้องตรวจสอบให้สังคมสิ้นสงสัยว่าทรัพย์ศฤงคารและเงิน 230 ล้านบาทนั้น ได้มาจากไหน
“ว่าโจ้ว่าไม่รวยจริง แน่จริงยุ่งกับปาล์ม เลิกยุ่งกับหมาและไม่เล่นหนังเรื่องนี้ โจ้มีเงินอยู่กับ “พี่เล็ก นอมินี” อยู่ 230 ล้าน โจ้ให้เมย์หมดเลย กล้าป่าว จะเอาเงินสดมากองต่อหน้าเลย”

“ผมกล้าให้เมย์หมดตัวเลยเงินเก็บผมทั้งหมดที่อยู่กับพี่เล็ก บ้าน 2 หลัง รถทุกคันที่เป็นเงินสด กล้ารึป่าวถ้าแน่จริง” และ “ผมเป็นตำรวจข้าราชการไม่ได้มีเงินในธนาคารเยอะขี้เกียจโดนภาษีแต่ผมมีซุกไว้เยอะ แน่จริงรึป่าวคุณพิชชี่”

แล้วก็ด้วยทรัพย์ศฤงคารดังไล่เรียงให้เห็นตั้งแต่ต้นก็น่าจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้ตำรวจหนุ่มคนนี้เติบโตในราชการตำรวจอย่างรวดเร็ว ด้วยก็รู้กันอยู่ว่า “ระบบตั๋ว” ในหน่วยงานแห่งนี้มีจริง แถมยังเป็นตั๋วระดับ “ตั๋วช้าง” อีกต่างหาก

ขณะเดียวกันด้วยความที่เขาเป็น “ว่าที่ลูกเขย” ของ “บิ๊กหนุ่ม-พล.ต.ท.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6(ผบช.ภ.6)” ก็ยิ่งทำให้หน้าที่การงานตำรวจของเขาดำเนินไปราวกับติดปีกบิน จากบัญชีอาวุโสสมัย พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ยังเป็น รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก อยู่มีอาวุโสอยู่ท้ายตาราง กลับพรวดพราดขึ้นมาฟาดยศ “พ.ต.อ.” เป็นผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ พื้นที่ “ขุมทรัพย์” ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6

การที่ได้มานั่งเก้าอี้ “ผู้กำกับแห่งเมืองปากน้ำโพ” แม้จะไม่มีหลักฐานอะไรว่า มาได้เพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือจังหวัดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ “ภาค 6”

เรียกว่า ถ้าไม่มี “คลิปหลุด” ออกมาก็ต้องบอกว่า เส้นทางชีวิตการรับราชการของ “ผู้กำกับโจ้” นั้น สดใสจนสามารถคาดเดาได้ว่า อนาคตไม่แคล้วเป็นใหญ่ใน “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อย่างน้อยๆ ก็ระดับ “ผู้บัญชาการ” เลยก็ว่าได้

“ผมจะไม่ขึ้นกับผู้บังคับการจังหวัด”

นั่นคือคำพูดประโยคแรกของ “ผู้กำกับโจ้” เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (ผกก.สภ.) เมืองนครสวรรค์ เมื่อช่วงปลายปี 2563 เป็นคำประกาศกร้าวที่หมายส่งสัญญาณให้ตำรวจทั่วเมืองปากน้ำโพรู้ว่า ผู้กำกับเมืองคนใหม่มี “แบ็กใหญ่” ที่เหนือกว่า “ผู้การจังหวัด”

อย่างไรก็ดีภายหลังเกิดเหตุ “ว่าที่พ่อตา” ก็ส่งโฆษกภาค 6 ออกมาแถลงยืนยันว่า “เป็นเพียงแค่แฟนกันเท่านั้น ไม่ใช่ลูกเขยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด” ประมาณว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรทำนองนั้น ทว่า เรื่องนี้ก็มีจุด “ผิดสังเกต” ที่ชวนให้สังคมตั้งคำถามเรื่องการตัดตอนไม่ให้เกี่ยวพันมาถึงตัวเองหรือไม่ เพราะบรรดานักสืบโซเชียลไปสืบค้นกันว่า ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางเพจ “Finale Weddingstudio” ซึ่งเป็นห้องเสื้อและสตูดิโอแต่งงานที่มีชื่อเสียงย่านลาดพร้าว ได้ออกมาโพสต์ภาพ “ผู้กำกับโจ้” กับ “ใบเตย พรพจี” มาถ่ายภาพกับทางสตูดิโอ พร้อมกับระบุข้อความว่า “คุณพรพจี ศิริสิทธิ์ และ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล กราบขอพรและรับประทานน้ำพระพุทธมนต์ จากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตคู่ ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” แต่หลังจากเกิด “คดีคลุมถุงหัว” ทางร้านก็ออกมาแจงใหม่ว่า ทางสาวใบเตยไปใช้ชุดของทางร้านไปทำบุญ ไม่ใช่ไปแต่งงาน ซึ่งก็ต้องร้องดังๆ ว่า “อ้าว...แล้วที่ทางร้านโพสต์เมื่อวันที่ 7 มกราคมคืออะไร?”

 ปฏิรูปตำรวจ : ฝันที่ยังไกลจากความเป็นจริง

ประเด็นถัดมาก็คือ พฤติกรรมการ “รีดทรัพย์” ผู้ต้องหาด้วยการใช้ “คลุมถุงศีรษะ” นั้น ก็คงต้องยอมรับความจริงกันว่า วิธีการดังกล่าวมีการใช้อยู่จริงทั้งในอดีตและปัจจุบันเมื่อต้องการ “รีดข้อมูล” จากผู้ต้ องหาร่วมกับวิธีอื่นๆ ที่สังคมคุ้นเคยกันดี อาทิ “บุหรี่จี้ ดีดไข่ ช็อตไข่ ลนไข่ สบู่ใส่ถุงเท้าฟาด”

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “คดีคลุมถุงดำ กับ การซ้อมผู้ต้องหา” ระบุว่า “ตำรวจกับคดีคลุมถุงดำซ้อมผู้ต้องหามิใช่ของใหม่ แต่มีมานานแล้ว สมัยผมยังว่าความอยู่ ตอนนั้นผมยังห้าวอยู่ ก็แบบนี้แหละเหมือนกันเป๊ะ!! หนักกว่านี้เสียอีก คดีนั้นใส่กุญแจมือ ใช้น้ำราดพื้นให้ผู้ต้องหานั่งแล้วใช้ไฟช็อตที่พื้น จนผู้ต้องหารับสารภาพ แต่ผมก็สู้คดีหลุดเพราะการสอบสวนไม่ชอบ ทั้งที่มียาเสพติดในครอบครองจริง”

ทั้งนี้ นายนิพิฏฐ์ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำคดีซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อย โดยฟันธงว่าคดีนี้ “ผิดแน่นอน” แต่การสอบสวนเพื่อให้สามารถลงโทษผู้ต้องหาได้ตามข้อหาที่เป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าเจตนาฆ่า แล้วทำไมต้องกู้ชีพด้วยการทำ CPR เพราะตามคลิปเห็นชัดว่ามีการกดกระตุ้นหัวใจหลายครั้ง แต่ไม่สามารถกู้ชีพคืนได้ ถ้าเจตนาฆ่า เมื่อตายแล้วก็จบสิ สมเจตนาที่ทำแล้ว จะไปกู้ชีพทำไม”

ตรงนี้ สอดคล้องกับสิ่งหลายคนพยายามมองโลกในแง่ดีและแก้ตัวให้ “ผู้กำกับโจ้” ว่าพลั้งมือ” หรือเป็น “อุบัติเหตุที่ไม่ได้เจตนา” จนผู้ต้องหาเสียชีวิต แต่ประเด็นที่ “ผู้กำกับโจ้” ไม่อาจแก้ตัวได้ก็คือ มีการใช้ “ความรุนแรง” ต่อผู้ต้องหาจริงๆ เช่นเดียวกับ “การรีดทรัพย์ผู้ต้องหา” ที่ต้องพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลกันต่อไป

แน่นอน ภาพที่ปรากฏกับคดีของ “ผู้กำกับโจ้” ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาในแวดวงตำรวจที่ยังคงย่ำรอยไม่ต่างจากในอดีต โดยที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีได้เมื่อไหร่


ขณะเดียวกันอีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือกรณี “หนังสือรับรองการตาย” ของนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ที่ “โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์” ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ระบุ โรคที่เป็นสาเหตุการตายเอาไว้ว่า “SUGGESTIVE OF AMPHETAMINE INTOXICATION” หรือภาวะ “สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ อาจจะออกใบรับรองการตายเท็จ เพื่อช่วยผู้กำกับและทีมจับกุม กล่าวหาว่าผู้เสียชีวิตตายจากพิษยาบ้าเกินขนาดหรือไม่
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลปริ้นส์ปากน้ำโพ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เวลา 19.20 นาฬิกา และเสียชีวิตลงในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 13.20 นาฬิกา โดยทราบประวัติจากโรงพยาบาลปริ้นส์ปากน้ำโพว่า ผู้ตายวิ่งหนีตำรวจขณะจับยาเสพติดแล้วล้มลงหมดสติ ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ขณะอยู่ในโรงพยาบาล หลังเสียชีวิตแล้วได้ทำการชันสูตรพลิกศพที่กลุ่มงานนิติเวช โดยแพทย์นิติเวช และทำการผ่าศพ วันที่ 7 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 นาฬิกา เนื่องจากต้องรอผลตรวจโควิดของผู้ตาย การตรวจคัดกรองปัสสาวะพบสารเมทแอมเฟตามีน และสารแอมเฟตามีน โดยลงสาเหตุการตายเบื้องต้นในหนังสือรับรองการตายว่า สันนิษฐานว่าพิษจากสารแอมเฟตามีน ขณะนี้กำลังรอผลตรวจระดับสารเมทแอมเฟตามีน ในเลือดและผลการชันสูตรพลิกศพ เพื่อนำมาสรุปในรายงานชันสูตรฉบับสมบูรณ์ ที่จะออกในสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี ทางโรงพยาบาลชี้แจ้งว่า หนังสือรับรองการตายที่แพทย์ออกให้ หลังการผ่าพิสูจน์ทันที เพื่อให้ญาติไปทำมรณบัตร เป็นเพียงข้อมูลขั้นต้น ที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากรายงานการชันสูตรพลิกศพที่มีในภายหลังได้ เพราะผลตรวจชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ และผลตรวจทางห้องปฏิบัติพิษวิทยาที่ออกมาในภายหลัง จะทำให้สรุปสาเหตุการตายได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และขณะนี้ทางโรงพยาบาลฯ กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รักษาพยาบาลและตรวจศพทั้งหมด

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ แถลงการณ์เอาไว้ว่า “รับตัวต่อมาจากอีก รพ.” พร้อมประวัติระบุว่า “วิ่งหนีตำรวจขณะจับยาเสพติดแล้วล้มลงหมดสติ” ซึ่งสามารถตีเข้าใจได้ว่าเป็นข้อมูลเท็จที่ “ผู้กำกับโจ้และคณะจอมโหด” แจ้ง และแม้จะอธิบายอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการทางนิติเวชในประเทศนี้ “มีปัญหาจริงๆ”

ตรงนี้สอดคล้องกับ “นายแพทย์สมิทธิ์ ศรีสนธิ์” แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายว่า “เคสที่ดังๆ อันนั้นนะ อยากบอกให้รู้ไว้ว่า มันเป็นแค่หนังสือรับรองการตาย ซึ่งดูได้จากรูป ซึ่งหนังสือรับรองการตาย มันไว้เพื่อเก็บสถิติการตาย ไม่เกี่ยวกับใบชันสูตรพลิกศพที่หมอจะออกมาให้ตำรวจเพื่อใช้ทำคดีเลย (ถ้าเป็นเคสผม ผมตรวจปัสสาวะเจอยาบ้า ผ่าไปไม่เจอการบาดเจ็บที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ผมก็ลงแบบนี้ครับ) สำคัญข้อหนึ่งคือหมอคนที่ออก เค้าก็ลงสันนิษฐานแล้ว ไม่ได้ฟันธงนะ จะว่าหมอคนออกว่าโกง หรือโดนยัดเงินก็ควรรอใบชันสูตรพลิกศพก่อนนะ ถ้าเด็กรามาฯ พี่สอนเรื่องนี้ไปแล้วนะ ว่าหนังสือรับรองการตายเอาไว้ทำอะไร ไม่รู้ลืมกันยัง555

“แล้วจะมีคนถามว่า แล้วแบบนี้ต้องแก้ไหม ถ้าเจอเหตุจริงแล้ว อันนี้เป็น pain point ข้อนึงเหมือนกัน ที่หมอทั้งหมอทั่วไปและหมอนิติเวชเจอ ว่าแก้ใบหนังสือรับรองการตายไม่ได้ แม้อยากจะแก้ เนื่องจากติดระบบที่อำเภอเพราะมีหลายๆ เคส ที่แค่วันเดียวเราระบุสาเหตุการตายไม่ได้หรอก บางทีอาจต้องลงหัวใจล้มเหลว ซึ่งผิดหลักการ หรือสันนิษฐานสาเหตุไป แต่สุดท้ายตรวจไปเจอเหตุอื่นก็มี ทำให้สถิติการตายผิดเพี้ยน (จริงๆ มีคนบอกว่าแก้ได้นะ แต่เวลาหมอแจ้งจะวุ่นวายมาก) ซึ่งตอนนี้ทาง สธ. กำลังแก้ไขอยู่นะครับ ไงทางผมก็จะพยายามเข้าไปช่วย เพื่อให้ประเทศไทยมีสถิติการตายที่เหมาะสมตรงกับโรคที่เกิดจริง”

คำอธิบายของนายแพทย์สมิทธิ์สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาจริง

ขณะเดียวกันอีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามก็คือหลังนายจิระพงศ์-ผู้ต้องหาเสียชีวิต ทางครอบครัวดำเนินการจัดพิธีฌาปนกิจร่างของผู้ตายไปแล้ว โดยบิดาผู้ตายมีพิรุธว่าไม่ติดใจกับสาเหตุการณ์เสียชีวิต และไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ซึ่ง“ตำรวจชั้นผู้น้อย” เองก็มีอ้างว่า “ผู้กำกับโจ้” ได้เรียกพ่อของคนตาย เพื่อเคลียร์คดีให้จบ และยังพูดว่า “เงินซื้อได้ทุกอย่าง” ขณะที่ “พ่อผู้ตาย” ให้การ “เป็นประโยชน์” ต่อตัว “ผู้กำกับโจ้” อย่างไม่ติดใจสงสัยใดๆ ระบุว่า ลูกชายจะมีโรคประจำตัวหลายโรค อีกทั้งยังชื่นชมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเหลือลูกชายตัวเองเป็นอย่างดี

ส่วนกรณีการถูกรีดเงินจากคดียาเสพติดนั้น “พ่อผู้ตาย” แก้ต่างให้เบ็ดเสร็จว่า ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะ “ท่านผู้กำกับ”เป็นคนดีมาก และพยายามช่วยเหลือลูกชายเต็มที่ จนลูกชายตนเองเสียชีวิต “ท่านผู้กำกับ” ยังนั่งคุกเข่ากอดตนเองร้องไห้ด้วยความเสียใจ แล้วก็บอกว่ายินดีจะช่วยเหลือเต็มที่หากมีอะไรขัดข้อง

ตรงนี้ แสดงว่า “มีอะไรในกอไผ่” เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะคำให้การของผู้เป็นพ่อต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างชัดเจน ซึ่งก็คงไม่ต้องขยายความต่อกระมังว่า เป็นเพราะอะไร

แถมยังลามไปสู่การทะเลาะวิวาทระหว่าง “ทนายเดชา” กับ “ทนายตั้ม” โดยมีการกล่าวหาว่ามีทนายคนหนึ่งนำ “คลิป” ไป “ตบทรัพย์ผู้กำกับโจ้” จนเปิดศึกทะเลาะวิวาทกันอย่างใหญ่โตเลยทีเดียว โดยนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเพจ “ทนายคลายทุกข์” ว่า

“การนำคลิปคดีตำรวจคุมหัวผู้ต้องหาจนขาดอากาศมาเปิดเผยจนทำให้คนร้ายหลบหนีไป ไม่สามารถจับตัวได้ทำให้เกิดความเสียหายในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ามีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของนายเดชา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และมองว่าการที่มีการนำคลิปมาเปิดเผยนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ควรนำเรื่องไม่ดีมาตีแผ่ ไม่ใช่ปิดเงียบไว้ บ้างก็บอกว่า หากไม่นำคลิปมาเปิดเผยก็คงลงโทษแค่ย้ายและกลับมาทำชั่วต่อ

ขณะที่ “ทนายตั้ม” ได้ออกมาโพสต์ภาพแชตที่อ้างว่าเป็นการพูดคุยกับตำรวจชั้นผู้น้อยที่มาขอร้องตนเองให้เปิดเผยคลิปโหดของ ผกก.โจ้ ซึ่งนายตำรวจรายนี้ได้เผยว่าได้นำคลิปนี้ไปให้บุคคลท่านหนึ่งก่อนที่จะมาถึงทนายษิทรา แต่บุคคลท่านนั้นได้นำคลิปไปแบล็กเมล์ ผกก.โจ้เพื่อเรียกเงิน ซึ่งทนายษิทราได้ระบุข้อความว่า “เชื่อไหมครับทุกคน ก่อนหน้าที่คลิปจะถึงมือผม ตำรวจยศผู้น้อยแต่ใจใหญ่ ผู้ที่สิ้นหวังและอยากได้ความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหาที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม ได้ส่งคลิปนี้ให้คนคนหนึ่ง แต่คนที่ได้รับคลิปกลับนำไปเรียกขอผลประโยชน์กับฆาตกร ผมเห็นคนชื่นชมเขามากมายว่าใจกล้า สุดยอด แต่ความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ ดูแล้วพิจารณากันเองนะครับ”

เรียกว่าไม่ใช่แค่เฉพาะ “วงการตำรวจ” เท่านั้น หากแต่ “วงการทนาย” ก็มีปัญหาไม่ต่างกัน

สุดท้าย แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ผู้กำกับโจ้” จะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่ว่า “ตำรวจทุกคนจะเลว” แต่สิ่งที่ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จะต้องตอบคำถามสังคมก็คือ ทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น แล้วถ้าไม่มีการ “แฉ” กันออกมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยที่จะตรวจสอบ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” บ้างหรือไม่ จะไม่รู้ระแคะระคายกันบ้างเลยหรือ หรือรู้แต่ไม่ใส่ใจ โดยเฉพาะกรณีนี้ที่คงไม่สามารถ “ตัดตอน” เฉพาะตัว “ผู้กำกับโจ้” เท่านั้น หากแต่จะจัดการ “ขบวนการ” ทั้งหมดให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะการที่นายตำรวจคนดังมีวันนี้ได้ย่อมต้องไม่ธรรมดา เผลอๆ จะผ่านระบบ “ตั๋วช้าง” มาเสียด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า โยงใยไปถึงใครบ้าง และต้องทำอย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีการลบหลักฐานให้หายไป เพราะเชื่อได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนล่างขนาดใหญ่มหึมาหลบซ่อนอยู่ใต้น้ำ

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) แม้จะออกอาการขึงขังไม่ต่างจาก “บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะนับตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ ทั้งผ่านการรัฐประหารและผ่านการเลือกตั้ง ก็มิได้เห็นว่าจะใส่ใจที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ประการใด จนผู้คนพากันสิ้นศรัทธาด้วยเห็นว่า การ “ปฏิรูปตำรวจ” เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.




กำลังโหลดความคิดเห็น