xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สมรภูมิ “ธุรกิจขนส่งพัสดุ” เดือด “โควิด-อีคอมเมิร์ซ” ดันตลาดโตก้าวกระโดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  พฤติกรรมชอปปิงออนไลน์ในยุคดิจิทัล ส่งผลให้ยอดจัดส่งพัสดุมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน การเติบโตของอีคอมเมิร์ซส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาลงทุน เกิดการแข่งขันสูง เดิมเกมห้ำหั่นกันด้วยราคา คุณภาพ บริการ และความเร็ว 

ผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เรื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 (e-Conomy SEA 2020) โดยทีมวิจัย Google, Temasek และ Bain & Company ที่ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบุว่า อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่าการขนส่งพัสดุในปี 2563 มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ขยายตัวจากปี 2562 เป็น 35% นอกจากนนี้ การจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่างๆ ของแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าล้านชิ้นต่อวัน

 นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้คนหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น ดันยอดจัดส่งพัสดุโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เติบโตขึ้นกว่า 20 - 30% บางจังหวัดเติบโตมากกว่า 100% โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ มาตรการการควบคุมจากภาครัฐที่เข้มงวดและมีข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งความต้องการด้านการขนส่งเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เทียบกับช่วงเวลาปกติโดยเฉลี่ยแต่ละวัน ขณะเดียวกันธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยมีการแข่งขันอย่างดุเดือด 

สำหรับ “ไปรษณีย์ไทย”  รัฐวิสาหกิจรายใหญ่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 138 ปี แม้เป็นผู้นำตลาดขนส่งพัสดุ แต่กำไรหดหาย ย้อนกลับไปปี 2560 บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ทำรายได้ 27,870 ล้านบาท กำไร 4,220 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2563 รายได้ลดลงเป็น 23,877 ล้านบาท กำไรเพียง 160 ล้านบาท เป็นผลพวงมาจากมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

โดยปี 2561 ประกอบด้วยผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย (41%), เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส (39%) และลาซาดา เอ็กซ์เพรส (8%) และผู้เล่นรายกลางอื่นๆ อีกหลายราย เช่น นิ่มเอ็กซ์เพรส (3%), ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส (2%), เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (1%) และนินจาแวน (1%) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย อาทิ เบสท์โลจิสติกส์ (Best logistics) ที่มีกลุ่มอาลีบาบาจากจีนเป็นหุ้นส่วน, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) ผู้ให้บริการขนส่งอันดับ 1 จากอินโดนีเซีย, ซีเจ โลจิสติกส์ (CJ logistics) ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่จากเกาหลีใต้ ซึ่งร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ของไทย เป็นต้น

 “Kerry Express” เบอร์รองธุรกิจขนส่งพัสดุเมืองไทย นับเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่เข้ามาชิงตลาดพื้นที่ตลาดและมีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว น่าสนใจว่าปี 2563 อีคอมเมิร์ซโตก้าวกระโดดโดยมีโควิด-19 เป็นปัจจัยหนุน โดย Kerry มีกำไรเติบโต 5.8% เป็น 1,405 ล้านบาท แต่ตัวเลขผลประกอบการปี 2563 กลับลดลง 4.4% เหลือ 18,917 ล้านบาท

 นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันเคอรี่มีจุดให้บริการลูกค้ากว่า 1.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร 9 แห่ง ศูนย์กระจายสินค้าย่อยกว่า 1,000 แห่ง สามารถรองรับสินค้าขาเข้าได้กว่า 2 ล้านชิ้นต่อวัน โดยปัจจุบันจำนวนสินค้าที่ต้องบริหารจัดการเพื่อจัดส่งประมาณ 1.2 - 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน

สำหรับภาพรวมตลาดบริการด้านการขนส่งไทย ประเมินว่ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนโควิดมีการคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี มีโอกาสขยายตัวได้ 20 - 30% ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดจะส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น นับเป็นยุคทองของธุรกิจขนส่งพัสดุ


และที่กำลังมาแรง คือ  แฟลช เอ็กซ์เพรส ปี 2563 ยอดส่งรวมทั้งปีมากกว่า 300 ล้านชิ้นหรือเติบโตขึ้นกว่า 500% ปัจจุบัน แฟลช มีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น จากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนผลประกอบการเทียบกับปี 2562 ตามข้อมูลเผยว่า แฟลชมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 6,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่าปี 2564 รายได้ต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท

 นายคมสันต์ ลี 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวถึงการจับมือเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์รายใหญ่ เป็นการตอกย้ำว่าแฟลชพร้อมให้บริการรับส่งพัสดุแก่ผู้ใช้งานของช้อปปี้ เพื่อให้มั่นใจว่าพัสดุทุกชิ้นเดินทางไปถึงมือผู้รับอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยนำจุดเด่นของทั้งสองบริษัทผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อรองรับการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจออนไลน์ และหนุนให้เกิด Ecosystem & Supply Chain ครบวงจร

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลธุรกิจขนส่งพัสดุโตแรง แต่ก็เกิดปัญหาตามมาหลายบริษัทประสบปัญหาขนส่งพัสดุล่าช้า พนักงานติดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับการล็อกดาวน์ทำให้เดินทางขนส่งติดขัดหลายขั้นตอน

ด้าน แฟลช เอ็กซ์เพรส ต้องปิดศูนย์กระจายพัสดุ (Hub) ที่วังน้อย ระยะเวลา 3 วัน เพราะพบพนักงงานติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้การจัดส่งพัสดุล่าช้าหรือเสียหายจากความล่าช้า ต่อ แฟลช เอ็กซ์เพรส ออกประกาสแสดงความรับชอบ ดังนี้ 1. สำหรับผู้ส่งพัสดุ – สินค้าที่ถูกจัดส่งระหว่างวันที่ 16 – 31 ก.ค 2564 หากเป็นปัญหาที่พัสดุอยู่ที่ศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) (ยกเว้น ช่วงขารับและขานำส่งพัสดุ) เกินกว่า 3 วัน ทางบริษัทฯ ยินดีคืนเงินค่าขนส่ง 100% 2. หากลูกค้าปลายทางปฏิเสธการรับพัสดุเนื่องจากความล่าช้าของปัญหาจากศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าตีกลับไปยังผู้ส่งต้นทาง และบริษัทฯ จะคืนเงินค่าขนส่ง 100%

3. หากผู้รับปลายทางที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการส่งล่าช้าจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ จะมอบคูปองของแฟลช เอ็กซ์เพรสมูลค่ารวม 50 บาท และหากพัสดุเสียหายหรือสูญหายเนื่องจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้นทางบริษัทฯ จะชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนอย่างเร็วที่สุด (ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทฯ ที่กำหนด)

เช่นเดียวกับ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ปริมาณพัสดุนำส่งมากกว่าปกติเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นประมาณ 20-30% ทำให้ต้องเร่งบริหารจัดการไม่ให้ส่งสินค้าล่าช้า มีพนักงานติดเชื้อจำนวนหนึ่งโดยทุกกรณีเป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัวหรือชุมชน ไม่พบการติดเชื้อระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ต้องดำเนินมาตรการปิดจุดกระจายสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานสาธารณสุข หรือทางด้าน ไปรษณีย์ไทย ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน พบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 บางสาขาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอทำให้เกิดความล่าช้าในบางพื้นที่

 อย่างไรก็ดี เรียกได้ว่าสถานการณ์โควิด - 19 ดันสมรภูมิธุรกิจขนส่งพัสดุดุเดือดเลือดพล่านเลยทีเดียว 





กำลังโหลดความคิดเห็น