ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เรดการ์ดคือใคร?
โดยทั่วไปแล้วคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือคนที่ติดตามเรื่องราวข่าวสารในจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มักจะรู้จักหรือเคยได้ยินคำว่า “เรดการ์ด” ว่าคือ กลุ่มการเมืองหนึ่งในจีนที่เคยมีบทบาทสำคัญเมื่อกลางทศวรรษ 1960 ถึงกลางทศวรรษ 1970
อันที่จริงแล้วคำว่า เรดการ์ด เกิดขึ้นครั้งแรกที่รัสเซียเมื่อต้น ค.ศ.1917 โดยเป็นเสมือนกองกำลังของขบวนการฝ่ายซ้ายที่นำโดยบอลเชวิค (Bolsheviks) ภายใต้การนำของเลนิน ผู้ซึ่งต่อมาสามารถยึดอำนาจการปกครองของรัสเซียได้ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917
ตอนที่เรดการ์ดเกิดขึ้นนั้น ชื่อก็บอกความหมายอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าคือ ยามพิทักษ์แดง
เรดการ์ดจึงมิใช่กองกำลังทางการทหารในแบบกองทัพ แต่ก็เป็นกองกำลังที่อาจจะติดอาวุธหรือไม่ก็ได้ ตอนที่ถือกำเนิดขึ้นนั้น บทบาทของเรดการ์ดมักจะออกไปในทางที่ใช้กำลังของตนเข้ากดดันหรือบีบบังคับ เพื่อให้บอลเชวิคได้ในสิ่งตนต้องการ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ไปแล้ว รัสเซียซึ่งกลายเป็นรัฐสังคมนิยมแห่งแรกในโลกจึงได้กลายเป็นต้นแบบของการปฏิวัติไปด้วย แน่นอนว่า เรดการ์ดของรัสเซียก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นแบบดังกล่าว เมื่อมันได้กลายเป็นขบวนการทางการเมืองอีกขบวนการหนึ่งให้กับฝ่ายซ้ายในรัฐอื่นๆ ไปด้วย
ตัวอย่างหนึ่งของการเป็นต้นแบบของเรดการ์ดที่ว่าก็คือ เรดการ์ดที่เกิดขึ้นในฟินแลนด์
ก่อนการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 ในรัสเซีย ฟินแลนด์คือเมืองขึ้นของรัสเซีย แต่หลังการปฏิวัติไปแล้วรัสเซียได้คืนเอกราชให้แก่ฟินแลนด์ ซึ่งในแง่นี้ย่อมทำให้รัสเซียดูดีขึ้น คือเป็นรัสเซียใหม่ที่มิใช่จักรวรรดินิยมที่นิยมล่าเมืองขึ้นอีกต่อไป
ผิดกับชาติตะวันตกอื่นๆ ในยุคเดียวกันที่ยังคงเป็นจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นอยู่เช่นเดิม
แต่การคืนเอกราชให้ฟินแลนด์ในปลาย ค.ศ.1917 นั้น มิได้หมายความว่ารัสเซียจะได้ถอนกำลังทหารของตนออกจากฟินแลนด์ไปด้วย หากแต่ยังคงกำลังทหารเอาไว้ไม่น้อย การได้เอกราชของฟินแลนด์จึงมิได้ทำให้ฟินแลนด์ดีขึ้น ตรงกันข้ามฟินแลนด์กลับพบเจอกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง
ที่สำคัญ กลุ่มการเมืองภายในฟินแลนด์ได้เกิดแตกแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่ต่อต้านลัทธิสังคมนิยม กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ยามพิทักษ์ขาว (White Guard) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายซ้ายที่นิยมลัทธิสังคมนิยม กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ยามพิทักษ์แดง (Red Guard)
ด้วยเหตุที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งสองกลุ่มจึงเป็นปฏิปักษ์กัน และนำไปสู่สงครามกลางเมืองใน ค.ศ.1918 โดยเรดการ์ดได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ซึ่งเวลานั้นได้เข้าปกครองรัสเซียในฐานะรัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลกไปแล้ว ส่วนไวท์การ์ดได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี
สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในกลาง ค.ศ.1918 โดยไวท์การ์ดเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ
ชัยชนะดังกล่าวของไวท์การ์ดส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลานั้นรัสเซียเพิ่งปฏิวัติสำเร็จ จึงมิได้มีความเข้มแข็ง ซ้ำร้ายยังถูกต่อต้านและปิดล้อมจากชาติตะวันตกที่ต่อต้านลัทธิสังคมนิยมอีกด้วย
กรณีตัวอย่างของฟินแลนด์มีความน่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อมีเรดการ์ดก็ย่อมมีไวท์การ์ดที่เป็นคู่ตรงข้าม ในแง่นี้มันจึงขับเน้นพลังทางอุดมการณ์ของทั้งสองกลุ่มให้จนมีความเด่นชัด ที่แม้ไวท์การ์ดจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ภายหลังจากนั้นไวท์การ์ดก็ทิ้งให้บทบาทของตนให้กลายเป็นอดีตไป ในขณะที่เรดการ์ดยังคงมีอยู่ในรัสเซีย
และหากกล่าวในเชิงความคิดแล้ว การที่เรดการ์ดยังคงดำรงอยู่ในขบวนการฝ่ายซ้ายอยู่นั้น คำคำนี้จึงมีความหมาย มีเสน่ห์ และมีพลังอยู่ในตัว เวลานั้นไม่มีใครคาดเดาได้ว่า อยู่มาวันหนึ่งคำว่า เรดการ์ด จะกลายเป็นคำที่ถูกจีนนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ดุดัน และรุนแรง
อันที่จริงแล้วจีนมิได้ใช้คำว่า เรดการ์ด ในทันทีทันใดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ.1949 กว่าจีนจะนำคำนี้มาใช้เวลาก็ผ่านไปมากกว่าสิบปีแล้ว การนำคำนี้มาใช้ของจีนจึงมีที่มาโดยตัวของมันเอง
หลังการปฏิวัติ ค.ศ.1949 ไปแล้วกล่าวได้ว่า ในช่วงสิบปีแรกหลังการปฏิวัตินั้น แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยังคงมีความสามัคคีกันอยู่ แต่หลังจากนั้นก็ได้เกิดความร้าวฉานขึ้นมา เมื่อแกนนำ พคจ.มีความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศขึ้นมา โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การพัฒนาจะต้องยึดแนวทางลัทธิสังคมนิยมเอาไว้อย่างมั่นคง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การพัฒนาควรมีแนวทางที่ยืดหยุ่น
ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายแรกจึงเห็นว่า แนวทางใดที่ออกนอกลู่นอกทางลัทธิสังคมนิยมแล้วย่อมถือเป็นแนวทางที่ผิด ส่วนฝ่ายหลังเห็นว่า แนวทางใดก็ได้หากทำให้สังคมเศรษฐกิจจีนดีขึ้นก็มิขัดข้องที่จะนำแนวทางนั้นมาใช้
ปัญหามาเกิดตรงที่ว่า เวลานั้นฝ่ายแรกที่นำโดยเหมาเจ๋อตง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธาน พคจ. เพียงตำแหน่งเดียวกลับมิได้มีบทบาททางการบริหาร มีก็แต่บารมีทางการเมืองที่ชาวจีนให้ความเคารพยกย่อง
ส่วนฝ่ายหลังที่นำโดยประธานาธิบดีหลิวเซ่าฉี และมีผู้ช่วยคนสำคัญคือ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งมีตำแหน่งบริหารอยู่ในองค์กรรัฐบาลก็จริง แต่ฝ่ายนี้กลับไม่มีบารมีดังที่เหมามี ฝ่ายนี้จึงบริหารประเทศไปตามแนวทางที่ยืดหยุ่นของตน แต่ก็มิอาจทำได้อย่างเต็มที่ เพราะมีเหมาคอยทักท้วงและวิจารณ์อยู่เป็นระยะ
เหมาวิจารณ์ฝ่ายหลังโดยมิได้เอ่ยชื่อ ระบุแต่เพียงว่า เวลานี้ใน พคจ.มีผู้นำบางคนกำลังนำจีนไปสู่หนทางทุนนิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมายอมไม่ได้
การเมืองจีนระหว่าง ค.ศ.1960 ถึง 1965 จึงอยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้งทางความคิดในแนวทางการพัฒนาประเทศของแกนนำ พคจ.สองกลุ่ม ภาวะนี้ดำรงต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึง ค.ศ.1966 เหมาเจ๋อตงก็เห็นว่า การทักท้วงและวิจารณ์ของตนไม่เป็นผลต่อไปอีกแล้ว และจะมีก็แต่ทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ ต้องเปลี่ยนความคิดของกลุ่มผู้นำเหล่านี้ให้อยู่ในร่องในรอยของลัทธิสังคมนิยม
และจะทำเช่นนั้นได้ก็มีแต่หนทางเดียวคือ การปฏิวัติวัฒนธรรม
จากเหตุนี้ เหมาจึงผลักดันให้มีการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นใน ค.ศ.1966 โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากแกนนำพรรคกลุ่มหนึ่งที่ใกล้ชิดและเห็นด้วยกับแนวทางของเขา เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว แกนนำพรรคกลุ่มนี้จึงได้เข้าผลักดันให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นกองกำลังของการเคลื่อนไหว
รูปแบบการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเริ่มด้วยการเขียนใบปิด (poster) แสดงจุดยืนและความคิดเห็นของตนในรูปของบทความที่เห็นด้วยกับแนวทางของเหมา และโจมตีแนวทางของผู้บริหารประเทศในขณะนั้น จากนั้นก็นำใบปิดนี้ไปปิดทั่วมหาวิทยาลัย ต่อมาใบปิดเหล่านี้ถูกเรียกว่า หนังสือพิมพ์กำแพง
หลังจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเริ่มเคลื่อนไหวเช่นนั้นไปแล้ว อิทธิพลของมันก็ได้แผ่ไปถึงโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา เหล่านักเรียนโรงเรียนต่างๆ จึงได้ออกมาเขียนหนังสือพิมพ์กำแพงบ้าง
จนมีนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนในปักกิ่งได้เขียนบทความของตนขึ้น โดยมิได้ลงชื่อจริงของตน แต่กลับลงชื่อเป็นนามแฝงว่า “หงเว่ยปิง” ซึ่งแปลว่า ยามพิทักษ์แดง หรือ เรดการ์ด
หลังจากนั้นนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ ก็ทำตามอย่างบ้าง จนคำว่า เรดการ์ด กลายเป็นคำที่ถูกใช้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง
การเคลื่อนไหวของเหล่าเยาวชนดังกล่าวจึงสอดรับกับเป้าหมายของเหมาเจ๋อตง เพราะในเวลานั้นเหมาไม่มีตำแหน่งบริหารในรัฐบาล เหมาจึงไม่มีกองกำลังที่จะมาสนับสนุนแนวทางของตน แต่การที่เหล่าเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนตนเช่นนั้นย่อมเท่ากับว่า เหมามีกองกำลังเยาวชนมาสนับสนุนตนแล้ว
เหมาจึงไม่รอช้าที่จะออกมาประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชนเหล่านี้ ที่ซึ่งบัดนี้ก็คือ เรดการ์ด
เดือนสิงหาคม ค.ศ.1966 เหมาเจ๋อตงได้เขียนหนังสือพิมพ์กำแพงของตนขึ้นมาบ้าง แต่เหมาไม่ได้เขียนบทความ หากแต่เป็นข้อความสั้นๆ ว่า “ถล่มกองบัญชาการ” แต่ข้อความสั้นๆ นี้กลับสามารถสื่อความหมายได้อย่างกว้างไกล เพราะเรดการ์ดเข้าใจได้ว่า กองบัญชาการที่พึงถล่มในความหมายของเหมานั้นคือใคร
จากนั้นปฏิบัติการณ์ของเรดการ์ดก็อุบัติขึ้น