ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ได้บันทึกเอาไว้ในพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์ซึ่งเรียบเรียงโดยเจ้าพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)เจ้าเมืองจันทบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้กล่าวถึงไข้เอาไว้ในเรื่อง“กล่าวด้วยไข้”ความตอนหนึ่งว่า
“ลักษณเพศทั้งหลายกำเริบร้ายกำลังมี กำเดาสี่ราตรี เสมหะมีในเก้าวัน โลหิตกำลังให้ เจ็ดวันไซร้ เป็นสำคัญ วาโยสิบสามวัน กำหนดนั้นเป็นประธาน”[1]
กำเดา หรือ เปลวแห่งความร้อนนั้น กำหนดให้กำเริบเวลา 4 วัน หากรักษาไม่หาย หลังจากนั้นโรคจะดำเนินไปสู่เสมหะอีก 9 วัน รวมเป็นระยะเวลา 13 วัน
เรื่องที่ช่างบังเอิญว่าถ้าจะหายป่วยของโรคระบาดนี้ไม่รุนแรงก็จะมีการกักตัวเอาไว้เป็นเวลา 14 วันว่าเชื้อจะรุนแรงถึงขั้นภาวะปอดอักเสบหรือไม่ หรือจะดำเนินไปจนถึงเสียชีวิตหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องใกล้เคียงกับระยะเวลาการกำเริบของโรคตามการบันทึก 200 กว่าปีที่แล้ว ของเจ้าพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)เจ้าเมืองจันทบุรี
ว่าด้วยเรื่องของ “เสมหะ” อันเป็นสมุฏฐานของโรค ตามการแพทย์แผนไทยตามพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยว่าด้วยโรคอันเกิดจากพิกัดธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) 12 ประการ (ทวาทะศะ) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ได้อาศัย สอเสมหะ (เสมหะในคอ), อุระเสมหะ (เสมหะในอกหรือในปอด), และคูธเสมหะ (เสมหะในอุจจาระ) โดยกล่าวการกำเนิด (ชาติ)ของโรค การดำเนินเคลื่อนไป (จะละนะ)ของโรค จนถึงธาตุแตกดับ (ภินนะ)เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า
“อันว่าสมุฏฐานอาโปธาตุพิการนั้น เปนที่ตั้งแห่งทวาทะศะอาโป ซึ่งจะวิปริตเปนชาติจะละนะภินนะ ก็อาไศรยแห่งสอเสมหะ และอุระเสมหะ คูธเสมหะ ทั้ง ๓ นี้ เป็นอาทิ ให้เปนเหตุในกองอาโปธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง”[2]
ความตระหนักว่าโรคระบาดช่วงเวลาการเกิดเสมหะนั้นสามารถดำเนินโรคจากสอเสมหะ (เสมหะในคอ) ไปสู่เสมหะที่ปอด (อุระเสมหะ)ได้ ยังได้ปรากฏในพระคัมภีร์ตักกะศิลา ซึ่งเป็นพระคัมภีร์กล่าวถึงโรคระบาด (โรคห่า) ตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะที่ได้กล่าวถึงว่าไข้หวัดนั้นมี 2 ประเภท คือ ไข้หวัดน้อย และ ไข้หวัดใหญ่ โดยไข้หวัดน้อยเป็นโรคที่ไม่กินยาก็หายได้ อาบน้ำก็หายได้ใน 3 ถึง 5 วัน แต่ “ไข้หวัดใหญ่” ดำเนินโรคจากเสมหะที่จมูกคอและลงปอดทำให้ถึงแก่ความตายได้ โดยกล่าวเอาไว้ว่า
“อันว่าคนไข้ทั้งหลายใดเมื่อจะเปนไข้นั้น ชื่อว่าหวัดใหญ่ ให้จับสะบัดร้อนสะท้านหนาว ให้ปวดสีสะให้ไอให้จาม น้ำมูกดตกเป็นกำลัง ให้ตัวร้อนให้อาเจียร ให้ปากแห้งปากเปรี้ยว ปากขม กินเข้าไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอเปนกำลัง และทำพิษคอแห้ง ปากแห้งฟันแห้ง จมูกแห้ง บางที่กระทำให้น้ำมูกไหลหยดย้อย....
....ถ้าแก้มิฟังกลายเปนริศดวงมองคร่อหืดไอ แลฝีเจ็ดประการจะบังเกิด อันว่าคนไข้ทั้งหลายก็ดี เมื่อแพทย์วางยามิฟังแล้ว อันว่าความตายจักมีแก่คนไข้นั้น”[3]
ซึ่งโรคระบาดในปัจจุบัน ได้มีการแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ 7 วันแรก หากสงบไปได้ก็อาจจะไม่เกิดภาวะปอดอักเสบ แต่หากโรคดำเนินต่อไปอีก 7 วันหลังก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะปอดอักเสบมากขึ้น และหากโรคดำเนินไปถึงวันที่ 10-14 ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะพายุการอักเสบรุนแรงในปอดหรือที่เรียกว่า Cytokine Storm ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตตามมาได้
ความเร็วในการสยบโรคให้ทัน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง !!!
“กำเดาสี่ราตรีเสมหะมีในเก้าวัน” ตามช่วงเวลา“กล่าวด้วยไข้”อันปรากฏในคัมภีร์ฉันทศาสตร์นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า หากช่วงเวลา 4 วันแรกหากหยุดความร้อน(หรือการอักเสบ)ได้สำเร็จ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่การดำเนินโรคทางเสมหะน้อยลง แปลว่าจะช่วยลดความเสี่ยงทำให้ปอดอักเสบได้น้อยลง
กำเดา ซึ่งมีความหมายว่า“เปลวแห่งความร้อน”นั้นหากจะสยบลงได้นั้นย่อมต้องอาศัยรสประธานของสมุนไพรเป็นยารสเย็นเป็น“รสยาแรก”จึงจะสามารถสยบความร้อนของธาตุไฟ (เตโชธาตุ)ได้
ทั้งนี้ตามตำราเภสัชกรรมไทย ของมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ได้อธิบายในเรื่องยารสประธานเอาไว้ว่า
“ยารสประธาน”หมายถึงรสของยาที่ปรุงหรือผสมเป็นตำรับแล้วส่ิงที่จะนำมาประกอบขึ้นเป็นยานั้นประกอบด้วยวัตถุธาตุ 3ประเภทคือพืชวัตถุสัตว์วัตถุธาตุวัตถุเมื่อนำมาประกอบปรุงเป็นยาสำเร็จรูปแล้วจะเหลือรสของตัวยาอยู่เพียง 3รสเท่านั้นคือยารสเย็น, ยารสร้อน, และยารสสุขุม[4]
ด้วยความตระหนักในเรื่อง“เปลวแห่งความร้อน”หรือกำเดาที่ต้องพยายามสยบให้ได้สำเร็จภายใน 4วันพระคัมภีร์ตักกศิลาซึ่งว่าด้วยเรื่องโรคระบาดจึงห้ามใช้รสยาที่เกี่ยวกับธาตุไฟหรือเพิ่มการอักเสบในกรณีเป็นไข้หนือ(ไข้ป่า),ไข้พิษ ถ้าใช้ยารสร้อนจะถึงแก่ความตายได้ ความว่า
“ครั้งนั้นพระดาบสมีเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งอ้อนวอนด้วยจะใคร่รู้แจ้งประจักษ์เภทไข้เหนือ ไข้พิษนั้นอันมีลักษณะต่างๆคืออันใดบ้าง แลพระผู้เปนเจ้าจึ่งห้ามว่าไข้จำพวกนี้ย่อมห้ามมิให้วางยาร้อนเผ็ดเปรี้ยวอย่าให้ประคบนวดอย่าปล่อยปลิงอย่าให้กอกเอาโลหิตออกอย่าให้ถูกน้ำมันเหล้าก็อย่าให้ถูกน้ำร้อนก็อย่าให้อาบอย่าให้กินส้มมีควันมีผิวกะทิน้ำมันห้ามิให้กินถ้าใครไม่รู้ทำผิดดังกล่าวมานี้ก็ถึงความตายดังนี้แล”[5]
เจ้าพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)เจ้าเมืองจันทบุรีได้เรียบเรียงเอาไว้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้อธิบายในเรื่อง“ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลา”ในช่วงเวลาที่มีกำเดาหรือเปลวแห่งความร้อนนี้ไม่ว่าจะวัดว่ามีไข้จากภายนอกหรือรู้สึกครั่นเนื้อตัวอยู่ภายในปวดเมื่อยเนื้อตัวหรือมีผื่นขึ้นจะไม่ใช้ยารสร้อนห้ามเหล้าน้ำมันกอกเลือดนวดหรือปล่อยปลิงเพื่อเอาเลือดออกหากไม่ฟังให้ยาหรือการดำเนินการเช่นดังกล่าวนี้อาจแก้กันไม่ทันความว่า
“ถ้าแรกล้มไข้ท่านมากล่าวไว้ให้พิจารณาภายนอกภายในให้ร้อนหนักหนาเมื่อยขบกายาตาแดงเป็นสายบ้างเย็นบ้างร้อนเปนบั้นเป็นท่อนไปทั่วทั้งกายขึ้นมาให้เห็นเปนวงเปนสายเปนริ้วยาวรีลางบางไม่ขึ้นเปนวงฟกลื่นกายหมดดิบดีหมอมักว่าเปนสันนิบาติก็มีให้ยาผิดทีแก้กันไม่ทันอย่าเพ่อกินยาร้อนแรงแขงกล้าส้มเหล้าน้ำมันเอาโลหิตออกกอกเลือดนวดฟั้นปล่อยปลิงมิทันแก้กันเลยนา” [6]
ด้วยประสบการณ์ของเจ้าพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)เจ้าเมืองจันทบุรี ที่เกิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้รวบยอดสรุปถ่ายทอดมาเป็นความรู้ว่าในยามที่ยังต้องถกเถียงกันว่าโรคระบาดที่ทำให้เกิดคนตายมากเป็นโรคประเภทใดกันแน่ในยามที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่รู้จึงให้ใช้รสยาแรกไปในทางรสขมเย็นอย่างยิ่งหรือฝาดจืดดังความว่า
“ถ้ายังไม่รู้ให้แก้กันดูแต่พรรณฝูงยาเย็นเปนอย่างยิ่งขมจริงโอชาฝาดจืดพืชน์ยาตามอาจารย์สอน”[6]
ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นสมุนไพร “รสขมและเย็นเป็นอย่างยิ่ง” เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งความขม (King of Bitterness) จึงย่อมเป็น“รสยาแรก”เพื่อสยบกำเดาให้สิ้นเร็วที่สุดไม่เกิน 4วันแรกก่อนที่โรคจะดำเนินไปเข้าสู่ช่วงเวลาเสมหะในจมูกคอและจะนำไปสู่เสมหะในปอดตามมา
และสิ่งที่น่ายินดีไปพร้อมกับ “รสยาแรก” ที่ขมและเย็นอย่างฟ้าทะลายโจร ได้มีการวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัยมหิดล[7] รวมถึงงานวิจัยร่วมระหว่างนักวิจัยชาวสวีเดน[8]และอินเดีย ได้ถูกนำเสนอผ่านบทสรุปของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์[9] ว่า ฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์เกี่ยวข้องโควิดมากถึง 5 กลไก ดังนี้
กลไกแรกฟ้าทะลายโจรจับกับตัวรับไวรัสที่เซลล์ปอด (ACE2 Receptor)
กลไกที่สองยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมได้ที่เรียกว่า RNA-dependent RNA polymerase (RdRP)
กลไกที่สามยับยั้งเอนไซม์หลักที่เรียกว่า Main Protease (Moro)ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและแบ่งตัว
กลไกที่สี่ ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ตัดโปรตีนขนาดยาวที่ไวรัสสร้างขึ้นให้เป็นโปรตีนขนาดเล็กๆ ทำให้ยับยั้งไวรัสไม่สามารถสร้างสำเนาตัวใหม่ได้
กลไกที่ห้า จับกับโปรตีนส่วนหนาม โครงสร้างส่วนอกของไวรัสที่ใช้จับกับตัวรับที่เซลล์ต่างๆ รวมถึงเซลล์ปอด[7]-[9]
จะมีสมุนไพรเดี่ยวอะไรที่มีกลไกต่อเชื้อโรคร้ายได้มากขนาดนี้ !!!!
ดังนั้นฟ้าทะลายโจรย่อมไม่ใช่เพียงแค่เป็นรสยาแรกที่เป็นขมเย็นตามพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์เท่านั้น แต่ยังออกฤทธิ์จากการวิจัยต่อเชื้อโรคร้ายนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ สถานภาพฟ้าทะลายโจรจึงควรมีส่วนร่วมในการรักษามากกว่าสถานภาพ “รสยาแรก” เท่านั้น
ดังนั้น จึงขอให้คำแนะนำยึดหลักเอาไว้สำหรับการใช้ผงหยาบฟ้าทะลายโจร ต่ำสุด“ผงหยาบฟ้าทะลายโจรขั้นต่ำ 6 กรัมต่อวัน” (15 แคปซูลต่อวันแบ่ง 4 เวลาในขนาด 400 มิลลิกรัม)สำหรับคนน้ำหนัก 50 กิโลกรัมและถ้าไม่ดีขึ้นภายในวันครึ่ง ให้เพิ่มเป็น 2 เท่าตัว คือ 12 กรัมต่อวัน (30 แคปซูลต่อวันแบ่ง 4 เวลาในขนาด 400 มิลลิกรัม) และรวมให้มีการกินติดต่อกัน 5 วัน หรือกินจนหายป่วยตามบัญชียาหลักแห่งชาติในโรคหวัดธรรมดาที่เคยใช้กันมานานและมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีรสเย็น แต่ในขณะที่ขิงและกระชายมีรสร้อน ดังนั้นช่วงเวลามีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อตัว การใช้ฟ้าทะลายโจรให้มากพอและให้เร็วที่สุดเพื่อสยบกำเดานั้น ไม่ควรมียารสร้อนใดเข้ามาถ่วงยารสเย็น ต่อเมื่อไข้ก็ดี การครั่นเนื้อตัวก็ดี การปวดเมื่อยเนื้อตัวก็ดีหายไปแล้ว จึงสามารถใช้ยารสร้อนเพื่อบำรุงหรือให้กำลังควบคู่กันต่อไปได้
และขิงสดก็จะช่วยบรรเทาผลข้างเคียงในการกินฟ้าทะลายโจรจำนวนมากเพื่อสยบกำเดาโรคร้ายนี้ได้ด้วย
ในขณะที่โรคระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งคนในยุคนี้เรียกว่าการกลายพันธุ์ แต่คนในอดีตที่มองไม่เห็นตัวจุลชีพและไวรัส แต่เห็นการเปลี่ยนแปลงของธาตุไปตามฤดูกาลที่สัมพันธ์กับมนุษย์ที่มีธาตุต่างกัน โดยเฉพาะโรคในธาตุลม (วาโยธาตุ) ที่มากับฤดูฝน และโรคในผู้สูงวัยที่มักจะเกิดโรคธาตุลมเป็นเหตุ จึงต้องใช้ฤทธิ์ร้อนโดยไม่ใช้ช่วงมีไข้ แต่สามารถใช้ได้ทั้งก่อนจะมีไข้ หรือหลังมีไข้ ดังปรากฏในพระคัมภีร์สรรพคุณ (และมหาพิกัด) ความว่า
“อนึ่งสรรพคุณแห่งตรีกฏุก นั้น คือพริกไทย ๑ขิงแห้ง ๑ดีปลี๑ทั้ง๓นี้ระคนกันเข้าจึงชื่อว่าตรีกฏุกแปลว่าของเผ็ด๓สิ่งถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจจะระงับโรคอันบังเกิดแต่ลมแก้ดีแลเสมหะในกองสมุฏฐานตามธาตุฤดูและอายุสมุฏฐานนั้นแล”[10]
ทั้งนี้นอกจาก ตรีกฏุก (พริกไทย ขิงแห้ง ดีปลี) จะมีรสร้อนระงับโรคอันบังเกิดแต่ลมแล้ว ยังมีงานวิจัยในประเทศอินเดีย โดยการตีพิมพ์ในวารสารด้านภูมิคุ้มกัน Cellular Immunology ฉบับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 พบว่า “ตรีกฏุก” ทำหน้าที่ในการลดการอักเสบและช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันในการบำบัดโรครูมาตอยด์ได้ด้วย[11]
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว“ขิงแห้ง”และ“ขิงสด” ต่างก็มีประโยชน์เช่นกันดังปรากฏในพระคัมภีร์สรรพคุณ (และมหาพิกัด)ความว่า
“อนึ่งสรรพคุณแห่งขิงแห้งนั้นมีรสอันหวานย่อมแก้พรรดึกแก้ไข้จับแก้นอนมิหลับแก้ลมพานไส้แก้ลมแน่นในทรวงแลลมเสียดแทงคลื่นเหียน” [10]
ในขณะที่“ขิงสด” นั้นบำรุงอากาศธาตุดับปราฏในพระคัมภีร์สรรพคุณ (และมหาพิกัด)ความว่า“ขิงสดนั้นมีรสอันหวานร้อนเผ็ดเหง้าจำเริญอากาศธาตุ”[10]
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวนั้น“ขิง”จะมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในรูปของขิงเองหรือ“ตรีกฏุก”ก็ตามดังปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิวณ์ตลอด 6เดือนนับจากวันที่ 24สิงหาคม 2564เป็นต้นไป ดังตัวอย่างดังนี้
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 - 7 ตุลาคม 2564 (ฤดูฝน)
“เดือนเก้าเดือนสิบนั้น ชื่อวสันตฤดูพูน ผิไข้เปนเค้ามูล ด้วยวาโยพิษกล้าแข็ง เกิดโรคเพื่อเสมหะ ติดอุระอันยิ่งแรงหนักอกดังหนึ่งแกล้งมากลิ้งทับประกับไว้หายใจมักขัดอกบังเกิดโรคต่างๆไปคันตัวมีพิษไซร้โทษทั้งสองหากเจือกันวาโยแลเสมหะบังเกิดกล้ากว่าทุกอันแพทย์พึงประกอบพลันสรรพยาอย่าดูหมิ่นคนทีสอเอาเจ็ดใบพริกไทยเจ็ดขิงเจ็ดชิ้นตำละลายน้ำร้อนกินแก้วะสานต์ฤดูหาย”[12]
วันที่ 8 ตุลาคม 2564 - 19 ธันวาคม 2564 (ปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว)
“เดือนสิบเอ็ดเดือนสิบสอง ฤดูเจือกำเริบร้าย ชื่อสารทฤดูหมาย เจือวะสานต์แลเหมันต์ ผิไข้เพื่อลม เสมหะมูตรเปนสำคัญ ร้อนทรวงแลอกนั้น ร้อนในไส้ในกายเอง บังเกิดโรคในอก ให้เจ็บฟกเปนหลายเพลง เจ็บกระดูกสันหลังเอง ดังหลุดลุ่ยแลเจ็บคอ แพทย์ที่มียาแก้ จำให้แน่ตรีสมอตรีกฏุกเกลือ ใคร้เครือพอ โกฐก้านพร้าวใบสะเดาละลายเข้ากระสายกินแก้สารทฤดูโทษวาโยโหดดับหายสิ้นผู้แพทย์อย่าพึงหมิ่นจงประกอบให้ชอบการ”[12]
วันที่ 20 ธันวาคม 2564 -16 กุมภาพันธ์ 2565 (ฤดูหนาว)
“เดือนอ้ายแลเดือนยี่ สองเดือนนี้เหมันต์ขาน อาโปย่อมมันหวาน ปถวีแซกทำเข็ญ ผิไข้เพื่อเสมหะ กำเดาเลือดเจือปนเปน โทษมากหากให้เห็น ยิ่งกว่าสิ่งสิ้นทั้งปวง ให้เจ็บซึ่งสันหลัง แลบั้นเอวเปนใหญ่หลวง ดังจะลุ่ยจะหลุดร่วง ทั้งต้นคอสลักขึง ประดุจตรีโทษ ในเนื้อมือมัจจุรึง ผู้แพทย์เร่งคำนึง แต่งยาให้ได้โดยควร บอระเพ็ดทั้งแห้วหมู นมตำเรียเร่งประมวน หญ้าตีนนกรีบโดยด่วน มะกรูดขิงเร่งปรุงหาผึ่งแดดกระทำผงบดด้วยน้ำเปลือกเพกามะแว้งเครือกระสายยากินดับโรคในเหมันต์”[12]
นอกจากนั้นในตำรับยาไทยยังปรากฏตำรับ“ยาประสะขิง” โดยหมอนคร บางยี่ขัน ที่ได้บันทึกรวบรวมเอาไว้ในปี พ.ศ. 2531 ในตำรับยาไทยที่มีสัดส่วนของขิงมีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของยาทั้งหลาย ความว่า
“ท่านให้เอาเปลือกจต้นตีนเป็ดพริกไทยร่อนเทียนดำเอาสิ่งละ๑ส่วนขิงเท่ายาทั้งหลายบดเป็นผงละเอียดละลายน้ำผึ้งน้ำอ้อยน้ำส้มซ่ากินแก้ธาตุกำเริบและไข้ต่างๆแก้วิงเวียนหาวเรอและลมอัมพาตหายดีนักแล”[13]
นั่นแสดงว่าน้ำขิงเป็นเครื่องดื่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นฤดูหนาว ข้อสำคัญนอกจากจะเป็นสมุนไพรที่เหมาะทั้งฤดูฝนและฤดูหนาวแล้ว จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าสารสกัดรวมของขิงเป็นหนึ่งในสามสมุนไพร (ฟ้าทะลายโจร ขิง กระชาย) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อโรคร้ายที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ในหลอดทดลองเช่นกัน [14]
นอกจากนั้นแล้วขิงยังออกฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส ลดการอักเสบ ลดเสมหะ แก้คัดจมูก เพิ่มการไหลเวียนโลหิตและขับเหงื่ออีกด้วย [15]
และเมื่อพิจารณาภูมิปัญญาของ “ขิง” นอกจากอินเดียและไทยแล้ว ยังปรากฏว่า “ขิง”ยังมีบทบาทอย่างยิ่งในฐานะเครื่องดื่มและอาหารสำหรับฤดูกาลโรคระบาดนี้ของการแพทย์แผนจีนด้วย ดังปรากฏในรายงานของคลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ที่ได้อ้างอิงประกาศแนวทางการป้องกันก่อนเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ของมณฑลกวางตุ้ง และประกาศแนวทางการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการฟื้นฟูผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ ใหม่ในระยะฟื้นฟูของกรุงปักกิ่ง (ฉบับทดลอง)ในส่วนของอาหารและเครื่องดื่มเป็นยาที่เป็นขิงหลายเมนู โดยระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
“ขิงสด(生姜)รสเผ็ดฤทธิ์อุ่นเข้าสู่เส้นลมปราณปอดม้ามและกระเพาะอาหารมีสรรพคุณขับความเย็นอุ่นร่างกายส่วนกลางแก้คลื่นไส้อุ่นปอดแก้ไอทั้งยังขิงเป็นยาที่สาคัญในการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้อีกด้วย”[16]-[18]
ดังตัวอย่าง เมนูของกลุ่มคนที่มีร่างกายพร่องหรืออ่อนแอ ร่างกายไม่ทนต่อความเย็น กลัวหนาวกลัวลม มือเท้าเย็น ไม่ค่อยอยากอาหาร อุจจาระไม่เป็นก้อน
เมนูอาหารเป็นยา
ส่วนประกอบ (ปริมาณสาหรับ3คน) ถั่วดำ 50 กรัม ถั่วเหลือง 50 กรัม จื่อซูเย่ 15 กรัม (ใบสดดีที่สุด ใบ แห้งก็ใช้ได้) หัวของต้นหอม 3-4ก้าน (ส่วนสีขาวของต้นหอม) ขิงสด 50 กรัม (หั่นเป็นแว่น) เฉ่าไป๋เปี่ยนโต้ว 30 กรัม เปลือกส้ม 10 กรัม พุทราจีน25 กรัม (โดยประมาณ) ชะเอม 10 กรัม
วิธีการต้มนำถั่วประเภทต่างๆแช่นำ้สะอาดเป็นเวลา 30นาทีนาส่วนผสมทั้งหมดใส่น้า 1500 มิลลิลิตรเปิดไฟแรงหลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นไฟอ่อนต้มนาน 40นาทีต้มต่อไปจนน้าเหลือประมาณ 800 มิลลิลิตร
วิธีการรับประทานเด็กอายุ 7-17ปีรับประทานทุกวันๆละ 150-200 มิลลิลิตรอายุ 18ปีขึ้นไปรับประทานทุกวันวันละ 200-300 มิลลิลิตรดื่มอุ่นๆหลังอาหาร 1ชั่วโมงในช่วง 1เดือนนี้สามารถรับประทานติดต่อกัน 3วันต่อสัปดาห์หรือ 2-3วันรับประทาน 1ครั้ง
เมนูชา
ส่วนประกอบ (ปริมาณสาหรับ3คน) ขิงสด(生姜)30 กรัม (หั่นเป็นแว่น) พุทราจีน(红枣) 30 กรัม (ฉีกเนื้อ) ใบชาผู่เอ่อร์ (普洱茶叶)10 กรัม สาหรับชงดื่ม
สรรพคุณ
ขิงสด(生姜)รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้าม กระเพาะอาหาร มีสรรพคุณบำรุง กระเพาะอาหาร แก้อาเจียน
พุทราจีน(红枣)รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม และกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณเสริม บำรุงช่ี บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม บารุงเลือด สบจิตใจ
ใบชาผู่เอ่อร์(普洱茶叶)รสขมหวาน ฤทธิ์(ดิบ) เย็น(สุก)อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร ตับ ลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณระบายร้อนเสริมสารน้ำ ขับพิษ ช่วยย่อยอาหาร ปลุกสมองทำให้สดชื่น [16]-[18]
เป็นอันว่าภูมิปัญญาในเรื่องขิงทั้งไทย อินเดีย และจีนมีความสอดคล้องกันอย่างยิ่ง ดังนั้นฤดูฝนและฤดูหนาวนี้ ไม่ต้องป่วยก็ดื่มน้ำขิงเพิ่มความอบอุ่นให้ผู้สูงวัยได้ตลอดฤดูจนถึงต้นปีหน้าได้เลย
สรุปให้ชัดๆได้เลย ว่า น้ำขิงกินตลอดฤดูฝน-หนาว ดื่มก่อนมีไข้ หยุดดื่มเมื่อมีไข้ และดื่มตามทันทีหลังลดไข้สำเร็จแล้วด้วยยาเย็น
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ :ภูมิปัญญาการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, องค์การการค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2554 จำนวน 3,000 เล่ม ISBN 978-947-01-9742-3 หน้า 45
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 426
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 708
[4] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ : มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, 2559 ISBN 978-616-92567-0-0, หน้า 65-66
[5] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ :ภูมิปัญญาการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, องค์การการค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2554 จำนวน 3,000 เล่ม ISBN 978-947-01-9742-3 หน้า 694
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 37
[7] Khanit Sa-ngiamsuntorn, et al, Anti-SARS-CoV-2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component Andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives., Journal of Natural Products 2021 84 (4),1261-1270, Publication Date: April 12,2021
https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
[8] Murugan NA, Pandian CJ, Jeyakanthan J. Computational investigation on Andrographis paniculata phytochemicals to evaluate their potency against SARS-CoV-2 in compari- son to known antiviral compounds in drug trials. J Biomol Struct Dyn. 2020.
https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/07391102.2020.1777901
[9] ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กลุ่มงานเภสัชกรรม และกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี, คู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร, จัดทำครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 2564, หน้า 19-20
https://drive.google.com/file/d/1penuIdr396i5fn2bkNtOBE2ARQfNAWbG/view?fbclid=IwAR2oJB-3625-6pPmljTUFCfEiPooBFFvEupgUAfc3RKZwxYeBWoYMqdD5_0
[10] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ :ภูมิปัญญาการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, องค์การการค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2554 จำนวน 3,000 เล่ม ISBN 978-947-01-9742-3 หน้าหน้า 359
[11] Vachana Murunikkara, Mahabookhan Rasool, Trikatu, and herbal compound as immunodulatory and anti-inflammatory agent in the treatment of rheumatoid arthritis— an experimental study, Cellular Immunology, Voloume 287, Issue 1, January 2014,Pages 62-68
doi: 10.1016/j.cellimm.2013.12.002. Epub 2013 Dec 18.
[12] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ :ภูมิปัญญาการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, องค์การการค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2554 จำนวน 3,000 เล่ม ISBN 978-947-01-9742-3, หน้า 612
[13] หมอนคร บางยี่ขัน, ตำรายาประสะ, รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์เชาวน์ กสิพันธุ์ บก.บว. LT., อาจารย์ฝ่ายวิชาการ สมาคมแพทย์เภสัชกรรมไทยโบราณ, 25 เมษายน 2531
[14] Phongthon Kanjanasirirat, et al., High-content screening of Thai medicinal plants reveals Boesenbergia rotunda extract and its component Panduratin A as anti-SARS-CoV-2, Scientific Reports, Published : 17 November, 2020
https://www.nature.com/articles/s41598-020-77003-3
[15] ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กลุ่มงานเภสัชกรรม และกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี, คู่มือการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร, จัดทำครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 2564, หน้า 15
[16] แพทย์จีนอรกช มหาดิลกรัตน์และคณะ, การดูแลตัวเองในสถานการณ์โควิด-19, บทบาทแพทย์แผนจีนกับการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโควิด-19 (ฉบับวิชาการ), 2020, คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว, หน้า 20-33
https://tcm.dtam.moph.go.th/images/2020/COVID-19/บทบาทของแพทยแผนจนกบการรกษาโรคไวรส_รวมเลม_-หวเฉยว_-_1.pdf
[17] 广东省中医药局发布《广东省新冠肺炎中医治未病指引》
ประกาศเรื่อง <แนวทางการป้องกันก่อนเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ของมณฑลกวางตุ้ง> ออกโดยทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งมณฑลกวางตุ้ง
[18] 北京市中医药管理局发布《北京市新型冠状病毒肺炎恢复期中医康复指导建议 (试 行)》ประกาศเรื่อง <แนวทางการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการฟื้นฟูผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ ใหม่ในระยะฟื้นฟูของกรุงปักกิ่ง (ฉบับทดลอง)> ออกโดย ทบวงการแพทย์แผนจีนแห่งกรุงปักกิ่ง