ทุกคนที่เกิดมา และมีชีวิตอยู่ในสังคมมนุษย์ จะต้องอยู่ภายใต้กติกาที่สังคมกำหนดขึ้นมา เพื่อควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกทุกคนให้อยู่ร่วมกัน โดยความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสงบสุขโดยเสมอต้น
กติกาสังคมที่มนุษย์กำหนดนั้น มิได้คงที่ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษาสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำให้กติกาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติกาอันเกิดจากความเชื่อเช่น ลัทธิ ศาสนา และประเพณี เป็นต้น ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบที่มีเหตุผล และพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้จะเห็นได้จากเริ่มแรกกติกาสังคมคือศาสนาปฐมภูมิที่สอนให้เชื่อว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ เช่น ภูเขา ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และน้ำท่วม เป็นต้น
และวิญญาณเหล่านี้คอยดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่มนุษย์ จึงเป็นเหตุให้เกิดพิธีกรรมบูชาวิญญาณที่ว่านี้ เพื่อวิงวอนให้ดลบันดาลสิ่งที่ตนต้องการเกิดขึ้นแก่ตน และในขณะเดียวกัน ช่วยปกป้องให้สิ่งที่ตนไม่ต้องการเกิดขึ้นแก่ตน
ต่อมาศาสนาปฐมภูมิที่สอนให้เชื่อเรื่องวิญญาณประจำธรรมชาติ ได้เปลี่ยนไปเป็นศาสน์เทวนิยมคือ ศาสนาที่สอนว่ามีผู้สร้าง (Creator) และสิ่งถูกสร้าง (Creatures) โดยนัยแห่งศาสนาประเภทเทวนิยม (Theism) ทุกสิ่งทุกอย่างมิได้เกิดขึ้นเอง แต่มีผู้สร้างขึ้น และผู้สร้างนี้เองสามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องบูชาผู้สร้าง เพื่อวิงวอนให้ดลบันดาลที่ที่ ตนเองต้องให้เกิดขึ้นแก่ตน และในขณะเดียวกัน วิงวอนให้ปกป้องมิให้สิ่งที่ตนเองไม่ต้องการเกิดขึ้นแก่ตน
เมื่อสังคมมนุษย์เจริญทางด้านจิตใจมากขึ้น และการแสวงหาความสุขทางใจได้พัฒนาก้าวไกลไปกว่าความเจริญทางวัตถุ จึงได้เกิดศาสนาอเทวนิยม (Atheism) ที่สอนให้มนุษย์แสวงหาความสุข โดยการรักษาศีลเพื่อควบคุมกายกับวาจา ฝึกสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบ และเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญา โดยไม่ต้องพึ่งพาการดลบันดาลจากผู้สร้าง เฉกเช่นศาสนาประเภทเทวนิยมดังกล่าวข้างต้น และศาสนาประเภทอเทวนิยมนี้เองที่มุ่งเน้นการพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาวัตถุ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการทางกายซึ่งสนองด้วยวัตถุ และความต้องการซึ่งสนองด้วยธรรมะ
คำสอนของศาสนาไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ล้วนแล้วแต่เป็นกติกาสังคมที่สอนให้คนเป็นคนดี และห้ามมิให้กระทำชั่วซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำเป็นทุกข์จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่วิธีการ และผลที่ได้จากการทำตามคำสอนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคำสอนในทำนองเดียวกันกับอาหารทุกชนิดมีคุณค่าต่อร่างกาย แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารประเภทนั้นๆ ฉันใด ก็ฉันนั้น คำสอนของศาสนาเปรียบได้กับอาหารใจที่ทำให้ผู้ทำตามมีจิตสงบ และมีความสุขอันเกิดจากความสงบนั้น
นอกจากคำสอนของศาสนาแล้ว สังคมมนุษย์ยังสร้างกฎหมายขึ้นมาเป็นกติกาสังคมควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ควบคู่ไปกับกฎแห่งศีลธรรมและจริยธรรม
ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่เจริญทั้งด้านวัตถุ และจิตใจ จึงต้องใช้กติกาทางสังคมทั้งกฎหมาย และศีลธรรม จริยธรรมควบคู่กันไป
ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประเภทเทวนิยม ยึดถือกฎแห่งกรรมเป็นหลักในการสอน จะเห็นในโอวาทปาติโมกข์ซึ่งเป็นแก่นของพุทธ 3 ประการคือ
1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำชั่วทั้งปวง
2. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำแต่ความดี
3. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตใจให้สะอาด ปราศจากโลภ โกรธ หลง
โดยนัยแห่งคำสอนของพุทธให้ยึดกฎแห่งกรรมคือ การกระทำเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของแต่ละบุคคล ทั้งในด้านดี และเลว จึงเท่ากับการปฏิเสธปัจจัยภายนอกว่าไม่มีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของบุคคลแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ จำเลยทางสังคมตามนัยแห่งคำสอนของพุทธก็คือ ผู้ที่กระทำชั่วทางกาย และวาจานั่นเอง