ในช่วงของมาตรการคุมเข้มกึ่ง Lockdown เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้าต่างปรับตัว เปิด-ปิดให้บริการตามที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่ทุกคนต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อช่วยชาติ การเก็บอาหาร ของสด ให้เพียงพอและอยู่ได้นานจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
ผศ.ดร.รชา เทพษร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การทำความสะอาด เก็บรักษาอาหาร ของสดให้อยู่ได้นาน และคงคุณค่าทางโภชนาการอาหาร มีหลักปฏิบัติดังนี้
1) เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู-ไก่สด ก่อนเก็บควรทำความสะอาดทั้งชิ้น และนำมาแบ่งเป็นชิ้นส่วนขนาดพอเหมาะสำหรับใช้ในการปรุงอาหารแต่ละครั้งและเก็บใส่ภาชนะที่สะอาด นอกจากนี้ ควรเก็บเนื้อสัตว์อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสหรือในช่องแช่แข็งจะเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน เมื่อต้องการใช้ก็หยิบออกมาทีละส่วน นำมาพักไว้ในช่องแช่เย็นเพื่อทำละลาย และควรใช้ให้หมด
2) ไข่ไก่ เปลือกไข่จะมีลักษณะเป็นรูพรุน จึงทำให้น้ำ อากาศ ระเหยได้ในระหว่างการเก็บรักษา จึงควรเก็บในช่องแช่เย็น อุณหภูมิประมาณ 4-5 องศาเซลเซียสเพื่อช่วยให้การระเหยช้าลง นอกจากนี้ ไม่ควรล้างไข่ไก่ก่อนนำเข้าตู้เย็น เนื่องจากไข่ไก่จะมี “นวลไข่” เคลือบบริเวณเปลือกไข่เพื่อปกป้องไม่ให้น้ำและอากาศระเหยออกสู่ด้านนอก รวมถึงปกป้องไม่ให้จุลินทรีย์เข้ามาในไข่ด้วย ดังนั้น หากต้องการทำความสะอาด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดเปลือกไข่เบาๆ ให้แห้ง และไม่ควรเก็บนานเกิน 2 สัปดาห์
3) สัตว์น้ำ เช่น ปลา ต้องนำเอาเครื่องในและของเสียในช่องท้องออกก่อน แล้วล้างทำความสะอาดตัวปลา หั่นเนื้อปลาแยกเป็นชิ้น การเก็บรักษาควรแบ่งเนื้อปลาเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทแยกสำหรับการประกอบอาหารแต่ละครั้ง หากเก็บเนื้อปลาในอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียสจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 วัน หรือหากแช่แข็งในอุณหภูมิต่ำกว่าลบ 18 องศาเซลเซียส เก็บได้ไม่เกิน 3 เดือน ส่วนกุ้งสดต้องตัดหนวดออก ทำความสะอาด เก็บในภาชนะแบ่งเป็นสัดส่วน และควรเก็บในช่องแช่แข็ง
4) ผักและผลไม้ สิ่งสำคัญคือการลดอุณหภูมิ เพราะความเย็นจะทำให้กระบวนการเจริญของจุลินทรีย์ รวมถึงกิจกรรมของเอนไซม์เกิดได้ช้าลง นอกจากนี้ความชื้นก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากเก็บในที่แห้งจะทำให้ผักผลไม้เหี่ยว ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อรักษาความชื้น สำหรับการทำความสะอาด ควรล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ 25-63% หรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แช่ผักในเบกกิ้งโซดา 15 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษตกค้าง 90-95% เมื่อล้างเสร็จแล้วต้องทำให้ผักผลไม้สะเด็ดน้ำ หรือซับน้ำก่อนเก็บ เพื่อหยุดการเจริญของจุลินทรีย์ และหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดรอยหักต่างๆ จึงควรเก็บทั้งต้น ไม่หั่น เพราะจะทำให้เสื่อมเสียง่ายและเร็วกว่า
สอดคล้องกับ แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้แนะนำว่า เพื่อความสดใหม่ของอาหารควรซื้อเก็บในปริมาณที่พอเหมาะ ขอให้ยึดหลัก 3 ส. ดังนี้ 1) สะอาด ปลอดภัย โดยภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้ 2) สัดส่วน ควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะ ไม่ปะปนกัน และ 3) สิ่งแวดล้อมเหมาะสม จัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานๆ