ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้รัฐเร่งทำคลอดมาตรการช่วยเหลือด้านการศึกษา แต่เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในยุคดิสรัปต์การศึกษาจากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงเผชิญวิกฤตการศึกษารอบด้าน เสียงสะท้อนดังๆ จาก “มิลลิ” นักร้องแร็ปเปอร์ วัย 19 ปี ผู้ถูกกล่าวโทษคดีการเมือง หลังวิจารณ์ “รัฐบาลลุงตู่” จนเป็นคดีความครึกโครมในช่วงสัปดาห์ก่อน
“ถ้าจบเทอมนี้รัฐบาลยังจัดการกับโควิดจนกลับมาใช้ชีวิตปกติไม่ได้เด็กๆ มหาลัยหลายคนน่าจะดร็อป ...ไม่ไหวแล้วจริงทรมานมากบางวิชามันไม่เรียนออนไลน์ไม่ได้จริงๆ” ความคิดเห็นตอนหนึ่งของ มิลลิ - ดนุภา คณาธีรกุล ทวิตผ่านทวิตเตอร์
ว่ากันตามจริงที่เธอพูดมานั้นเป็นเศษเสี้ยวของปัญหาที่เด็กไทยกำลังเผชิญ เพราะแรงสั่นสะเทือนจากโควิด-19 ที่ยังคงลุกลามรุนแรงไม่แผ่ว เกิดการแพร่ระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 1.5 หมื่นราย ทุบสถิติ New High ไม่เว้นแต่ละวัน ซ้ำร้ายยังเกิดโศกนาฎกรรมประชาชนล้มตายเกลื่อนเมือง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดิสรัปต์การศึกษาทั่วโลก เด็กรุ่นใหม่ต่างเผชิญความบอบช้ำจากการจัดการศึกษาเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบจากการเรียนการสอนออฟไลน์เข้าสู่เรียนออนไลน์ ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเดิมเป็นปัญหาอยู่แล้ว เกิดวิกฤตเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กยากจนครอบครัวแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว เกิดปัญหาอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม ไม่มีอินเทอร์เน็ต สภาพแวดล้อมบ้านไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
ที่สำคัญคือมีการประเมินสถานการณ์จาก “นายสุภัทร จำปาทอง” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ว่า ขณะนี้ศธ.ยังตอบไม่ได้ว่าการเปิดเรียนให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนอย่างเป็นทางการจะสามารถดำเนินการได้เมื่อไหร่ เพราะมาตรการทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณา ซึ่งก็เป็นไปได้ว่านักเรียนอาจจะต้องเรียนออนไลน์ทั้งภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2
และแน่นอนว่า การเรียนออนไลน์เปิดเผยเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ชัดเจนขึ้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า วิกฤตโควิดทำให้เกิดปรากฎการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร และเกือบจน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ
ประเมินว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน โดยรายละเอียดหลุดจากระบบประถมศึกษาอาจจะไม่มากเพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับราว 4% มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48% ซึ่งจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาลัยได้เพียง 8-10%
นอกจากนี้ ด้านพ่อแม่ผู้ปกครองพบปัญหาเด็กเล็กเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้เตรียมดรอปเรียนไว้ก่อน ขณะที่เด็กโตเกิดความกดดันบางวิชาไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ตัดสินใจดรอปเรียน ตลอดจนภาระค่าเทอมแม้เรียนออนไลน์แต่ยังต้องจ่ายเทอมเต็มจำนวนกันแทบทุกแห่ง
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มเด็กปฐมวัย ก่อนประถมศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี เพราะเด็กวัยนี้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ต้องอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้ออกไปเล่นตามวัย พบว่าในช่วงโควิด-19 เด็กเล็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อที่ลดลง กลุ่มเด็กพิการ กลุ่มเด็กพิเศษ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะต้องเรียนแบบเฉพาะเจาะจง ส่วนเด็กโต การเรียนการสอนในวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติการต่างๆ จะได้รับผลกระทบ
และต้องยอมรับว่า การจัดการศึกษาเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลไทย ทำให้เด็กๆ เสียโอกาสในการใช้ชีวิตในวัยเรียน การได้เจอเพื่อนใหม่ๆ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นความสูญเสียที่ไม่มีอะไรชดเชยได้
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุภัทร ปลัดศธ.ก็ยอมรับในเวีทีเสวนาเรื่อง “เรียน/สอน/WFH Online อย่างไร ให้สุขภาพดี” ว่า ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจมีทั้งเรื่องครูและนักเรียนที่ไม่มีความสุขจากการเรียนออนไลน์ จนถึงขั้นเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต อีกทั้งผู้สอนและผู้เรียนไม่พร้อมในหลายด้าน ทำให้คุณภาพการศึกษามีผลสัมฤทธิ์ต่ำ เกิดความกดดันจากการเรียนและการสอบจนมีนักเรียนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองด้วยความเครียดสะสม ขณะที่ครูก็มีความเครียดกับกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนที่ดำเนินงานบนความเสี่ยง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเข้าให้ถึงครูและนักเรียน โดยจะต้องเปลี่ยนการประเมินผลการเรียนการสอนไปเป็นการประเมินผลจากการเรียนรู้
ทั้งนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ คุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนที่ตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ ไม่ควรได้รับความเครียดเพิ่มขึ้นอีกจากการเรียน ใช้วิธีคิดและวิธีการที่ยืดหยุ่น ไม่มุ่งเน้นไปที่ผลเป็นเลิศทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน และเปิดช่องทางให้ผู้เรียนและผู้สอนได้เข้ามาแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ได้ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายของการปฏิบัติการออนไลน์อย่างไรให้สุขภาพดี เพื่อป้องกันผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของทุกคน โดยเป็นการเรียนรู้ปฏิบัติงานแบบมีประสิทธิภาพได้อย่างปลอดภัย
จากข้อมูลของ ปลัด ศธ.จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ “นักเรียน” เท่านั้น แต่ “ครู” ก็มีปัญหาไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสื่อการสอนและวิธีการสอนของครูที่ยังปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี
ดร. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวยอมรับว่า ครูในแต่ละพื้นที่ของไทยมีความแตกต่างและหลากหลาย อย่างไรก็ตามในแต่ละพื้นที่ก็พยายามและความมุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เพื่อทดแทนการสอนแบบปกติ ดังนั้น ครูจึงพยายามพัฒนาตนเอง พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะสกิลทางด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น 2 ทักษะที่คุณครูในปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ จิตวิญญาณของความเป็นครูและหัวใจของการเรียนรู้ เพราะครูต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตการเป็นครูเพื่อพัฒนาตนเอง
“ยุคนี้คุณครูเองต้องทำงานหนักมาก เพราะบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากนัก ดังนั้น จึงมีการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ครูก็พยายามปรับตัวเรียนรู้เพื่อที่จะสอนนักเรียน สิ่งสำคัญคือ หัวใจของการเรียนรู้”
ขณะที่ในส่วน “อุดมศึกษา” ก็มีเสียงสะท้อนจากตัวแทนนิสิตนักศึกษา 16 สถาบัน ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า การที่ มหาวิทยาลัยต้องปรับมาเป็นออนไลน์ ทำให้ผู้เรียนเกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่าอุปกรณ์ ขณะที่รายรับของหลายครอบครัวลดลงสวนทางกับรายจ่าย และปัญหาที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพจิตของผู้เรียน ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการเรียน หลายคณะต้องเรียนภาคปฏิบัติ แน่นอนว่าการปรับมาเรียนออนไลน์ย่อมส่งผลให้คุณภาพการเรียนรู้และประสบการณ์ลดลง
อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2564 ตัวแทนนิสิตนักศึกษา 16 สถาบัน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเรียกร้องให้เร่งเยียวยานิสิตนักศึกษาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย
1. มหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน ควรคืนเงินค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษาที่ได้ทำการชำระไปแล้วและในภาคการศึกษาถัดไปในอัตราร้อยละ 30-50
2. ข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุนเงินเพื่อการศึกษา (กยศ. กรอ.) พิจารณายกเลิกหรือผ่อนผันหลักเกณฑ์ที่ให้นักศึกษาผู้กู้ยืมต้องทำกิจกรรมอาสาเพื่อเก็บเป็นชั่วโมงอาสา
3. ข้อเรียกร้องให้ผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่นิสิตนักศึกษากำลังประสบด้วยความเข้าใจนักศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงให้เปิดใจรับฟังด้วยความเข้านักศึกษาอย่างแท้จริง เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยคำนึงสวัสดิภาพของนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ
สำหรับในส่วนมาตรการช่วยเหลือทางการศึกษาของรัฐ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ในปีการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปี 2564 วงเงินรวม 33,000 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 23,000 ล้านบาท ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย 3 มาตรการ มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และระดับอาชีวศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจ่ายผ่านสถานศึกษา และสถานศึกษาจ่ายตรงให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้ว แต่กรณีในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคารจำนวน 11 ล้านคน วงเงิน 21,600 ล้านบาท
มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และโรงเรียนนานาชาติลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 และจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในกลุ่มโรงเรียนเอกชนและกลุ่มโรงเรียนนานาชาติดังกล่าวเป็นรายกรณี ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้คืนค่าธรรมเนียมแก่ผู้ปกครองแล้ว 2,275 ล้านบาท
และมาตรการที่ 3 ให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 ได้ พร้อมกันนี้จะมีโรงเรียนในสังกัด ศธ.จำนวน 34,887 แห่ง ได้รับการสนับสนุนงบฯ เพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายและ จัดทำสื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้ รวมวงเงินรวมประมาณ 400 ล้านบาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกมาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน สำหรับนิสิต นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ โดยให้ส่วนลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถาบันการศึกษาของรัฐ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลด 50% ส่วนที่เกิน 50,001-100,000 บาท ลด 30% และส่วนเกิน 100,000 บาท ลด 10%
สำหรับการให้ส่วนลดจะเป็นการร่วมจ่ายระหว่างรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6 : 4 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกิน 50% หรือเท่ากับสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนไม่เกิน 20% และภาครัฐสนับสนุนเพิ่มไม่เกิน 30% ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ในอัตรา 5,000 บาทต่อคน
โดยมาตรการทั้งหมดเริ่มใช้ทันทีในภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งจะมีมีนิสิตนักศึกษาที่ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนถึง 1,750,109 คน
นอกจากนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ออกแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระ ลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนฯ
1. ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี หากไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามสัญญา กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายระยะเวลาผ่อน และเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระมากขึ้น สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีส่วนลดเบี้ยปรับโดยให้ชำระในงวดสุดท้าย
2. ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระไปตัดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ
3. ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างปลอดหนี้และยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้ จากเดิมที่ผ่อนชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละราย ทั้งนี้ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมจะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
รวมทั้ง มีแนวทางแบ่งเบาภาระของผู้ที่ถูกหักเงินเดือน โดยสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือเพียง 10 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 – มิ.ย. 2565 รวมทั้งชะลอการฟ้องคดี บังคับคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดไว้จนถึงสิ้นปี 2564
ท้ายที่สุด ขณะที่รัฐเร่งทำคลอดมาตรการช่วยเหลือด้านการศึกษา โจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องไม่ลืมคือการจัดการระบบการศึกษาของไทยที่ต้องยอมรับว่าล้มเหลว การแพร่ระบาดของโควิดดิสรัปต์การศึกษาทั่วโลก น่าจับตาว่านับจากนี้ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร