ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ตั้งแต่เล็กจนโต ผมพบเห็นการด้อยค่าบุคคลมาโดยตลอด จนเห็นว่า การด้อยค่าเช่นนี้คงมีมานานแต่โบราณกาลแล้ว และคงไม่มีใครไปหยุดมันได้
สมัยเด็ก บุคคลที่ถูกด้อยค่าจากที่ผมเห็นมักจะอยู่แวดล้อมตัวผมเอง และที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ในห้องเรียนจะต้องมีใครสักคนที่ถูกเพื่อนในห้องด้อยค่า
ตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้น ผมเคยอยู่ในวงสนทนาวงหนึ่งซึ่งมีทั้งคนที่ผมรู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ในวงนั้นมีอยู่คนหนึ่งที่พูดจาด้อยค่าคนไปทั่ว ยกเว้นคนในวงสนทนา ตลอดเวลาที่เขาด้อยค่าคนอื่นให้ฟังอยู่นั้น เขาทำให้เห็นว่า ในโลกนี้นอกจากเขาแล้วก็ไม่มีใครเลอเลิศเท่าตัวเขาอีกเลย
แล้วผมก็นึกในใจว่า หากเขาอยู่นอกวงสนทนานี้ไปแล้ว เขาก็คงด้อยค่าพวกเราให้คนอีกวงหนึ่งฟังอย่างแน่นอน
ผมควรบอกด้วยว่า คนคนนี้เป็นคนที่อาชีพการงานดี ฐานะดี และมีชื่อเสียงในแวดวงที่เขาสังกัด ที่ต้องบอกตรงนี้เอาไว้ก็เพราะผมคิดว่า ถ้าเขาไม่มีสถานะเช่นนี้แล้วผมก็ไม่แน่ใจนักว่าเขาจะกล้าด้อยค่าคนอื่นไหม พูดอีกอย่าง สถานะทางสังคมมีผลทำให้บุคคลนั้นสามารถด้อยค่าคนอื่นได้ง่ายขึ้น
แต่มิได้หมายความว่า ทุกคนที่มีสถานะทางสังคมจะต้องมีนิสัยด้อยค่าบุคคลเสมอไป
การด้อยค่าบุคคลจากที่ผมพบเห็นตั้งแต่เล็กจนโตดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่สังคมโลกยังไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ การสื่อสารที่ก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้นคือ การเขียนจดหมายและการโทรศัพท์ ฉะนั้น การด้อยค่าบุคคลหากไม่ทำกันซึ่งหน้าแล้ว วิธีที่เหลือจึงทำได้จำกัดอย่างยิ่ง
เช่น ถ้าอยากจะด้อยค่าใครแล้วก็คงทำได้เฉพาะคนที่ตนรู้จักเป็นการส่วนตัว และจะต้องมีที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์ของคนๆ นั้นด้วย และถ้าไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่เป็นบุคคลที่ตนต้องการจะด้อยค่า (ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด) ก็จะต้องไปหาที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์ของคนนั้นมาให้ได้
แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ...
ลองนึกภาพดูว่า ถ้าผมอยากด้อยค่าใครแล้วจะต้องเขียนจดหมาย เขียนเสร็จก็ต้องจ่าหน้าซองปิดแสตมป์แล้วเดินไปหย่อนลงตู้ไปรษณีย์ และเมื่อถึงผู้รับแล้วเขาอาจจะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ เพราะบางทีแค่เห็นลายมือก็อาจโยนทิ้งไปแล้ว หรือถ้าจะโทรศัพท์ไปด้อยค่า แค่เอ่ยคำแรกคนที่อยู่ปลายสายก็อาจวางโทรศัพท์ไปแล้วก็ได้
คงไม่มีใครทนอ่านทนฟังคนที่มาด้อยค่าตัวเองหรอกครับ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์อื่นอย่างเช่นเก็บการด้อยค่านั้นมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกัน
แต่เดี๋ยวนี้ที่การสื่อสารก้าวหน้าไปมากแล้วนั้น ทำให้การด้อยค่าบุคคลทำได้รวดเร็วและง่ายขึ้น โดยคนที่ทำไม่ต้องมาสนใจว่าคนที่ตนด้อยค่าจะอ่านข้อความที่ด้อยค่านั้นหรือไม่ ขอให้ด้อยค่าเอาไว้ก่อนก็แล้วกัน ทั้งนี้เพราะไม่ใช่ตนคนเดียวที่กำลังด้อยค่าคนนั้นอยู่
แต่มีคนอื่นอีกมากกำลังรุมด้อยค่าไปด้วยกันแบบที่เรียกกันว่า ทัวร์ลง นั่นแหละครับ ที่สำคัญมันยังทำให้เห็นด้วยว่า เดี๋ยวนี้คนที่ชอบด้อยค่าคนอื่นไม่จำเป็นต้องมีสถานะทางสังคมที่ดีอีกแล้ว จะยากดีมีจนอย่างไรก็สามารถด้อยค่าคนอื่นได้หากใจต้องการ
การด้อยค่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้อความที่ยาวมากนัก บางทีมีแค่ครึ่งบรรทัดหรือสองสามคำด้วยซ้ำไปก็ด้อยค่าได้แล้ว ไม่ต้องเดินไปส่งที่ตู้ไปรษณีย์หรือโทรศัพท์ไปหาเจ้าตัวให้เสียแรงเสียเวลา
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารนี้เรียกกันว่า สื่อสังคม (social media)
ผมจำได้ว่า ตอนที่มีสื่อสังคมใหม่ๆ นั้น การด้อยค่าบุคคลยังไม่เกิดเป็นกระแสแบบทุกวันนี้ หากไม่นับการใช้สื่อสังคมไปกับอะไรที่ดูเป็นการเป็นงานแล้ว ก็ยังมีการใช้อีกแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า การใช้เพื่อแสดงตัวตนหรืออยากมีตัวตนให้เป็นที่รู้จักของสังคม
การมีตัวตนในสังคมไม่ใช่เรื่องที่จะมีกันได้ทุกคน ผมเข้าใจเอาเองว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ไปในทางนั้น แต่ในขณะเดียวกันผมก็สังเกตเห็นว่า มีหลายคนที่ต้องการบอกเล่าหรือแสดงความเห็นตามปกติเท่านั้น แต่ให้บังเอิญว่าที่ตนแสดงไปนั้นคนอื่นๆ ที่ได้อ่านเกิดชอบขึ้นมา มันเลยทำให้เจ้าตัวกลายเป็นคนที่มีตัวตนไปโดยไม่ได้เจตนา
แต่กระนั้น ก็มีคนอยู่ประเภทหนึ่งที่มีเจตนาที่อยากจะมีตัวตนจริงๆ ก็เลยใช้สื่อสังคมให้ตัวเองมีตัวตนขึ้นมาให้ได้ ซึ่งก็มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ บางคนที่ทำสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นก็ไม่ยืนยาวก็มี
การมีตัวตนในสังคมมีความสำคัญสำหรับคนกลุ่มหนึ่งจริงๆ และการมีตัวตนนี้จะมาคู่กับการมีชื่อเสียง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงระดับชาติ เอาแค่แวดวงหนึ่งที่กว้างพอควร คือแค่หลักแสนหรือหลักล้านสองล้านก็พอใจแล้ว แต่ถ้ามีตัวตนถึงระดับชาติก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วจริงๆ
เพราะฉะนั้นแล้ว การมีตัวตนจึงไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนใหญ่ต้องการ หาไม่แล้วสังคมคงปั่นป่วนวุ่นวายกันไปหมด คนส่วนใหญ่จึงใช้สื่อสังคมตามปกติ ใช้อย่างเป็นการเป็นงาน และตัวตนที่มีก็มีเฉพาะในหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย คนเหล่านี้อาจแสดงความเห็นต่อประเด็นระดับชาติบ้างในบางครั้ง แต่ก็มิใช่เพื่อให้ตัวเองมีตัวตน แต่เพื่อมีส่วนร่วมต่อประเด็นส่วนรวม
การแสวงหาการมีตัวตนของคนกลุ่มหนึ่งผ่านสื่อสังคมนี้แหละที่นำไปสู่การด้อยค่า อย่างน้อยก็เพื่อประกาศว่า ตนมีตัวตนในกลุ่มก้อนของคนที่คิดเหมือนตัวเอง แต่เนื่องจากการมีตัวตนในแบบปกติ หรือการแสดงความรู้ความสามารถ (ที่ตัวเองไม่มี) เป็นเรื่องยาก การด้อยค่าคนอื่นจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
คือเข้าข่ายที่ว่า ทำดีโลกไม่จำ ทำชั่วถึงจะดัง
ยิ่งคนที่ถูกด้อยค่าแสดงความเจ็บปวดให้เห็นด้วยแล้ว คนเหล่านี้ก็ยิ่งรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จสูง เพราะฉะนั้น การด้อยค่าบุคคลในบางครั้งจึงไม่อิงกับข้อเท็จจริง การสร้างข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายคนที่ตนด้อยค่าไปด้วย
จากเหตุนี้ การด้อยค่าบุคคลจึงไม่ได้อิงกับหลักจริยธรรม คุณธรรม หรือศีลธรรมใดๆ
การด้อยค่าบุคคลจึงมีปฏิสัมพันธ์กับภาวะทางจิตของคนที่ด้อยค่าบุคคลอื่น ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะการได้ด้อยค่าบุคคลอื่นคือความสะใจ และยิ่งมันประสบความสำเร็จด้วยแล้ว ความสะใจนั้นก็จะแปรเป็นความสุข เป็นความสุขที่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน และโดยไม่สนใจว่ามันจะผิดชอบชั่วดีอย่างไร
ที่ว่าการด้อยค่ามีปฏิสัมพันธ์กับภาวะทางจิตก็เพราะว่า การด้อยค่าไม่ใช่เรื่องปกติของสังคม และเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม คุณธรรม หรือศีลธรรมในหลายกรณี เพราะฉะนั้น การด้อยค่าบุคคลแล้วมีความสุขย่อมทำให้เห็นว่า จิตใจของคนๆ นั้นไม่ได้อยู่ในภาวะเดียวกับคนส่วนใหญ่ของสังคม
ยิ่งการด้อยค่าถูกใช้ไปในทางการเมืองด้วยแล้วก็ยิ่งผิดปกติเข้าไปใหญ่ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามกับตนด้วยวิธีปกติได้ จึงต้องใช้วิธีที่ไม่ปกติไปด้วย นั่นคือ การด้อยค่าผ่านสื่อสังคมด้วยคำที่หยาบคาย ต่ำตม และมืดบอดทางสติปัญญา
คนเหล่านี้สามารถทำได้แม้แต่กับพวกเดียวกัน ที่เพียงแค่คิดต่างในประเด็นเล็กน้อยก็ถูกก่นด่าด้อยอย่างสาดเสียเทเสีย แต่คนเหล่านี้กลับเรียกตนว่าเป็นนักประชาธิปไตย
พฤติกรรมด้อยค่าบุคคลของคนเหล่านี้ ทำให้ผมคิดถึงพฤติกรรมของพวกเรดการ์ดในจีนเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ได้บุกทำร้ายผู้คนที่เห็นต่างด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนับล้านคน
ที่ผมคิดถึงเรดการ์ดขึ้นมาก็เพราะว่า มีคนที่ด้อยค่าบุคคลอยู่หลายคนได้เคยกล่าวจองเวรคนเห็นต่างเอาไว้ว่า หากพวกตนมีอำนาจขึ้นมาเมื่อไหร่ พวกตนจะจัดการกับคนที่ถูกตนด้อยค่าด้วยความรุนแรง
จะมีก็เพียงเรื่องเดียวที่ผมสงสัยคือ คนเหล่านี้มีภูมิหลังครอบครัวเช่นใดถึงได้มีจิตใจเช่นนี้
แต่ที่ผมไม่สงสัยเลยก็คือว่า ประชาธิปไตยของคนเหล่านี้น่ากลัวมาก และบทความชิ้นนี้คงทำให้ชะตากรรมในอนาคตของผมไม่สู้ดีนัก หากคนเหล่านี้ได้ขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ผมคงไม่แคล้วถูกคนเหล่านี้เล่นงานไปด้วย
ผมได้แต่ภาวนาว่า ในบรรดาคนที่เล่นงานผมนั้น ขออย่าได้มีลูกศิษย์ผมอยู่ด้วยเลย