"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ความโง่เป็นคุณสมบัติหรือสภาวะที่ไม่พึงปรารถนาของมนุษย์ เพราะการกระทำส่วนมากที่เกิดจากความโง่นั้น นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่ผู้กระทำแล้ว ยังสร้างความผลกระทบทางลบต่อผู้อื่นด้วย ความเสียหายที่เกิดจาการกระทำแบบโง่เขลามีขอบเขตแตกต่างกัน หากมาจากบุคคลที่ไม่มีบทบาทต่อการบริหารประเทศ ผลกระทบก็มีไม่มากนัก แต่หากผู้กระทำการอย่างโง่เขลามาจากผู้บริหารประเทศ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไม่อาจประมาณได้
โดยทั่วไปการวินิจฉัยว่าผู้บริหารประเทศโง่หรือไม่นั้น ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในอย่างทันทีทันใดหากแต่มีการเฝ้าดูการพูดและการกระทำอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าโง่ มักมาจากการพูดและการกระทำของบุคคลนั้นผิดพลาดซ้ำซากในเรื่องพื้นฐานที่คนทั่วไปและคนที่อยู่ในตำแหน่งและบทบาทนั้นพึงจะรู้และพึงจะทำ การพูดที่มีแนวโน้มถูกตัดสินว่าโง่เขลาของบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งการบริหารประเทศ คือการพูดที่ปราศจากตรรกะ การอนุมานที่ไม่สมเหตุสมผล การใช้เหตุผลที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง การใช้ข้อมูลข่าวสารพื้นฐานไม่ถูกต้องทั้งในเชิงหลักทฤษฎีและข้อมูลเชิงประจักษ์
ส่วนการกระทำที่โง่เขลานั้น คือ การกระทำที่มาจากการคิดและการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดซ้ำซาก การกระทำที่ขัดแย้งกับเป้าหมาย หรือไม่อาจนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้ การกระทำที่สร้างผลกระทบทางลบและความเสียหายอย่างรุนแรง การไม่สามารถสรุปบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตเพื่อเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคต การทำในสิ่งที่ได้รับพิสูจน์แล้วว่าไร้ประสิทธิผล และการกระทำใช้ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่ำ ทั้งที่มีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากกว่าดำรงอยู่ให้เลือกด้วย
อันที่จริง ไม่ใช่ว่าผู้บริหารประเทศจะพูดและทำผิดพลาดไม่ได้ หากพูดผิด ใช้ข้อมูลผิด และทำพลาดเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยปกติ ความผิดพลาดบ้างในบางโอกาสยังไม่ถูกวินิจฉัยว่าโง่ เพราะถูกถือว่าเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้ แต่หากมีการพูดและทำผิดซ้ำซาก จนเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้นั้นจะถูกตัดสินจากประชาชนทั่วไปในสังคมว่า “เป็นคนโง่” แน่นอนว่าเจ้าตัวที่พูดย่อมไม่ยอมรับความโง่ของตนเอง และยิ่งได้รับการเสริมแรงจากคนรอบข้างว่านั่นเป็นเพียงความผิดพลาดเล็กน้อย หรือถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกเล็ก ๆ ไป บุคคลผู้นั้นก็ยิ่งไม่ตระหนักถึงความโง่ของตนเอง หรือบางทีก็อาจภาคภูมิใจกับความโง่ของตนเองด้วยซ้ำ
การบริหารสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ของรัฐบาลประยุทธ์ ในช่วงเวลาปีเศษ จากต้นปี ๒๕๖๓ ล่วงมาจนถึงปัจจุบันเป็นการบริหารที่ข่ายพรมแดนของความโง่เขลา การพูด การตัดสิน และการกระทำมีความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้สังคมไทยทั้งระบบเข้าสู่ภาวะวิกฤติยืดเยื้อ สร้างความเสียหายและผลกระทบทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม แลการเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลลัพธ์เชิงรูปธรรมจน ณ ปลายเดือนกรกฎาคมคือ มีผู้ติดเชื้อสะสมห้าแสนคนเศษ อัตราการติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และเข้าใกล้สองหมื่นคนต่อวัน ด้านการตายสะสมก็เพิ่มไปถึงสี่พันกว่าคน การตายรายวันก็เกินร้อยห้าสิบคนแล้ว
การตัดสินใจและการกระทำที่ผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการบริหารด้วยการรวมศูนย์อำนาจ แต่รุงรังไปด้วยคณะกรรมการและอนุกรรมการสารพัดชุด ซึ่งเป็นการสะสมไร้ประสิทธิภาพเรื้อรัง และมีเพียงร่องรอยที่เบาบางของความรับผิดชอบที่ลอยไปมา เมื่อใดก็ตามที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แต่ละฝ่ายต่างก็โยนความรับผิดชอบกันไปมาราวกับสติได้สูญหายจากจิตสำนึก
การฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบแรก ด้วยโครงสารพัดโครงการ แต่เต็มไปด้วยวิธีคิดและการกระทำแบบเดิม ทำให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพ และไม่บรรลุเป้าประสงค์ เงินที่กู้มาเหลือเป็นจำนวนมาก ขณะที่วัคซีนและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการป้องกันโรคระบาด และช่วยชีวิตผู้คนกลับไม่มีการเตรียมการเอาไว้ให้พรั่งพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ ครั้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยชีวิตของผู้คนก็ขาดแคลนอย่างรุนแรง
ร่องรอยของความโง่เขลายังเห็นได้จาก ศักยภาพทางปัญญาที่ค่อนข้างต่ำในการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลต่อการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ เห็นได้ว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์ผิดพลาดเกี่ยวกับแนวโน้มของการแพร่ระบาดรอบใหม่ ทั้งที่มีนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาส่งเสียงเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาดรอบใหม่ และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะเกิดขึ้นและมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
มิพักพูดถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาด จนถูกมองว่าโง่เขลายิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ในสายตาของประชาชนคนไทยเท่านั้น ยังรวมไปถึงประชาคมโลกด้วยนั่นคือ การตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการจัดหาวัคซีนขององค์การอมัยโลกในปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลที่ผิดเพี้ยนและภายใต้ทัศนคติที่เห็นแก่ตัว จนในที่สุดต้องออกมายอมรับภายหลัง และตัดสินเข้าร่วมในปีถัดไป ยังไม่หยุดลงเพียงแค่นั้น การตัดสินใจซื้อวัคซีนชนิดเดียวจากบริษัทเดียว ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงข้อจำกัดทางปัญญาของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน ครั้นเมื่อมีคนมาชี้ให้เห็น แทนที่จะยอมรับและรีบปรับตัว ก็กลับยืนกรานในสิ่งที่ตนเองทำอย่างหัวชนฝา
เมื่อการระบาดรอบสองเกิดขึ้น อันเกิดจากความผิดพลาดในการป้องกันแหล่งแพร่ระบาดและการขาดความเข้มงวดบริเวณชายแดน จนทำให้เชื้อโรค ที่แฝงมากับแรงงานต่างชาติและคนไทยที่ไปทำงานบริการในสถานบันเทิงและคาสิโนในประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศอีกครั้งแต่การรับมือของรัฐบาลก็ยังอ่อนแอและอ่อนด้อย ด้านจัดหาวัคซีนมาในการป้องกันโรค แทนที่จะเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการตาย กลับไปเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่ำที่สุดในบรรดาวัคซีนที่มีอยู่ในตลาดทั้งในแง่การป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการตาย
ปัญหาก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะนอกจากวัควัคซีนที่มีอยู่ไม่อาจหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้แล้ว ยุทธศาสตร์ในการฉีดวัคซีนก็สับสนจนสร้างความโกลาหลไปทั้งประเทศ บรรดาเครื่องมือต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อนำมาทำการนัดฉีดวัคซีน ก็ทำกันมาหลายอย่างจนสับสนและขาดความน่าเชื่อถือ ปัญหาถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ด้วยความเฉื่อยชาไร้ประสิทธิในการจัดหาวัคซีน จนทำให้ปริมาณวัคซีนที่ได้มาไม่เพียงพอ และตามไม่ทันกับความเร็วของการแพร่ระบาดของโรค
เมื่อผู้คนติดเชื้อมากเข้า การจัดระบบการตรวจเชื้อและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาด นโยบายการตรวจพบเชื้อที่ไหน ต้องรักษาที่นั่น ทำให้โรงพยาบาลจำนวนไม่น้อยปฏิเสธการตรวจเชื้อผู้มีอาการ ประชาชนต้องวิ่งหาสถานที่ตรวจเชื้อด้วยความเหนื่อยยาก บางจุดรอคิวเข้าตรวจกันข้ามคืน จนหลายคนอาการหนักมากกว่าได้เข้ารับการรักษา
สถานการณ์ของโรงพยาบาลและระบบการดูแลผู้ป่วยเคลื่อนตัวเข้าสู่วิกฤติในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเสียชีวิตคาที่พักระหว่างรอรักษา บางคนล้มลงตายกลางถนนและสถานที่สาธารณะ กว่าศพได้รับการจัดการเก็บจนเป็นที่เรียบร้อย ก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง วัดต้องทำหน้าที่เผาศพจนเมรุร้อนระอุ บางแห่งถึงกับพังทะลายลงไป
เมื่อกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อมากเข้า นโยบายที่แสนอัปลักษณ์ก็ถูกนำมาใช้ นั่นคือการกระจายผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยไปยังต่างจังหวัด ด้วยเหตุผลที่ว่า ต่างจังหวัดยังมีเตียงพยาบาลว่าง และมีระบบดูแลดีกว่ากรุงเทพฯ มาตรการสั่งปิดสถานที่ทำงานทั้งแคมป์คนงานก่อสร้างและโรงงาน เพื่อให้คนงานกลับบ้านจึงเกิดขึ้น และคนที่กลับบ้านเกิดของตนจำนวนมากก็พาเชื้อโรคไปด้วย จนในกลางเดือนกรกฎาคม สัดส่วนของผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดก็สูงกว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อย
นโยบายปิดแคมป์คนงานและโรงงาน โดยปราศจากการเตรียมการที่ดี ทั้งในการตรวจเชื้อและการแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ การเตรียมระบบการส่งกลับบ้าน และการเตรียมโรงพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาผู้ติดเชื้อให้เพียงพอ ก่อนที่จะให้เคลื่อนย้ายสถานที่ นอกจากจะขาดสติปัญญาแล้ว ยังไร้มโนธรรมอย่างรุนแรง
แต่ร่องรอยของความด้อยปัญญาของผู้บริหารประเทศยังไม่หมดเพียงแต่นั้น ล่าสุดการกำหนดสถานที่ฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนแรกมีการสร้างและกำหนดจุดฉีดวัคซีนหลายจุด การฉีดก็เป็นไปอย่างรื่นไหลดี มีความแออัดไม่มากนัก ครั้นทำไปได้ระยะหนึ่งเกิดภาวะขาดแคลนวัคซีน ทำให้จุดฉีดวัคซีนที่เตรียมไว้ต้องหยุดการให้บริการ บางแห่งก็ปิดบ้าง เปิดบ้างตามการมีหรือไม่มีวัคซีน แต่เมื่อมีเพียงจุดเดียวที่รัฐบาลประกาศว่า มีวัคซีนให้ฉีดทุกวัน นั่นคือ สถานีขนส่งบางซื่อ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด แห่กันเข้ามาฉีดวัคซีนอย่างแน่นขนัด จนทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า สถานที่ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค จะกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคเสียเอง
มีปัจจัยสำคัญอย่างน้อยสี่ประการที่ส่งผลต่อความโง่เขลาของผู้บริหารประเทศในการตัดสินใจกำหนดนโยบายและมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา
๑) การมีสติปัญญาไม่เพียงพอในการประมวลข้อมูลข่าวสาร เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเป็นจริงและแนวโน้มของสถานการณ์อย่างถูกต้องรอบด้าน และไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และผลกระทบของทางเลือกนโยบายและมาตรการว่าทางเลือกใดดีที่สุด สร้างประโยชน์สูงสุด แก่คนจำนวนมากที่สุด
๒) การถูกชักนำด้วยแรงปรารถนาในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนที่ทรงอำนาจในสังคม การได้รับคะแนนิยมจากประชาชน และ ผลประโยชน์ด้านวัตถุ เป็นต้น
๓) การถูกกดดันด้วยอำนาจอิทธิพลทางสังคมและการเมือง ซึ่งหากไม่ทำหรือไม่เลือกทางเลือกที่ได้รับยอมรับของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลในสังคมการเมืองแล้ว ก็อาจจะเกิดผลกระทบทางลบแก่ผู้ตัดสินใจอย่างรุนแรง
๔) การมีสำนึกทางจริยธรรมค่อนข้างต่ำ โดยอาศัย ๓ อ. ในการตัดสินใจคือ “อัตตา อารมณ์ และอคติ” ทำให้ไม่ยึดหลักคุณธรรม ไม่ยึดหลักความเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรสาธารณะ และไม่ยึดหลักการบรรเทาผลกระทบทางลบต่อชีวิตประชาชน
แต่ไม่ว่าโง่เขลาและความผิดพลาดในการตัดสินใจจะเกิดขึ้นด้วยปัจจัยใดก็ตาม กลุ่มผู้ตัดสินใจก็ไม่สมควรที่จะเป็นผู้บริหารประเทศอีกต่อไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคต