xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นกแก้วโม่ง- มหิงสา” ฝูงสุดท้าย วิกฤตสัตว์ป่าไทยใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จั่วหัวกระทู้ในเว็บบอร์ดดังตั้งคำถามว่า  “ทำไมต้องอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธ์ ไม่คิดบ้างหรอว่าเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ดังนั้น สถานการณ์สัตว์ฝูงสุดท้ายกับการเผชิญวิกฤตสูญพันธุ์ เป็นประเด็นที่น่าสนใจหันมาพิจารณากันอีกครั้ง

ล่าสุดมีการแชร์เรื่องราวของ  “นกแก้วโม่ง”  ฝูงสุดท้ายอาศัยที่ยอดยางอายุกว่า 200 ปี ริมคลองบางกรวย ในวัดสวนใหญ่ ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยเฟซบุ๊กนกแก้วโมง ฝูงสุดท้าย #วัดสวนใหญ่ เปิดเผยข้อมูลว่านกแก้วโม่งฝูงนี้จะออกหากินในช่วงเช้า และกลับมาเข้ารังในช่วงเย็น แสวงความกังวลเนื่องจากตอนนี้สวนผลไม้อำเภอบางกรวยเหลือน้อย และนกแก้วโม่งเหล่านี้จะบินออกไปหาผลไม้ตามสวนของชาวบ้านกินทุกวัน เมื่ออาหารเหลือน้อย นกจำเป็นต้องเข้าใกล้คนมากขึ้น จึงเกรงว่าบางคนจะคิดว่าเป็นนกหลุดและจับเอาไปเลี้ยง หรือทำร้ายพวกมัน

สำหรับ นกแก้วโม่ง ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ 2562 หากใครจับหรือทำร้ายมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือหากมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

เวลาไล่เรี่ยกัน เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แชร์เรื่องราวของ “ควายป่า” หรือ “มหิงสา”  ฝูงสุดท้ายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี กับการเฝ้าระวังโรคระบาดลัมปีสกินอย่างเข้มข้นใน

 นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ระบุว่าตั้งแต่ทราบว่าเริ่มมีการระบาดของโรคลัมปีสกินเฝ้าระวังอย่าวเข้มข้น ควายป่าในผืนป่าไทย มีรายงานพบเพียงแห่งเดียว คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แถบๆ ริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของผืนป่า เหลืออยู่ราวๆ 50 ตัว จำนวนประชากรขยุ้มมือนี้จึงเปราะบางเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของควายป่าไปผสมพันธุ์กับควายบ้าน บางครั้งอาจติดโรคมาจากควายบ้าน ทำให้เกิดโรคระบาด ล้มตายไปตามๆ กัน หมดป่าริมน้ำ อาจหมายถึง ควายป่าสูญพันธุ์

สำหรับสถานะของควายป่าเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN)

รายงานจากคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (IPBES) โดยองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยว่าสปีชีส์กว่า 1 ล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ วิกฤตแห่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนำมนุษย์ไปสู่หายนะ และมีเพียงแค่การร่วมมือจากทั่วโลกเท่านั้นที่จะช่วยให้เราแก้ไขวิกฤตนี้ได้ทันท่วงที

 “เรากำลังเผชิญกับ การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งมนุษย์เรามีส่วนกับเรื่องนี้ ตอนนี้สิ่งที่เราทำไว้กับธรรมชาติได้ย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราแล้ว” ดร.รัสเซล นอร์แมน ผู้อำนวยการบริหารจากกรีนพีซ นิวซีแลนด์ กล่าว 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุถึงอันตรายร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นจากวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ขณะที่อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกำลังดำเนินไปเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และหากเราไม่ลงมือแก้ไขปัญหาในทันที มนุษยชาติจะได้รับผลกระทบมากเกินกว่าจะจินตนาการ

แม้ตามทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน มองว่าธรรมชาติเป็นผู้คัดเลือกผู้อยู่รอด การสูญพันธุ์ช่วยเสริมให้เกิดวิวัฒนาการ ทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ได้วิวัฒน์พัฒนาสายพันธุ์ อีกทั้งบนโลกเกิดการสูญพันธุ์เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่มนุษย์คือสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยแพร่บทความเรื่อง “เราเหลือเวลาอีกเพียง 20 ปี สำหรับแก้ไขวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6” ระบุว่าสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติบ่งชี้ปัจจัยวิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เป็นผลกระทบจากการเติบโตของจำนวนประชากร การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การค้าสัตว์ป่า มลภาวะต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่กำลังคุกคามสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตหลายร้อยชนิดให้ยืนอยู่ขอบเหวของการสูญพันธุ์ในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดปรับปรุงมาจากรายงานในปี 2015 ซึ่งได้ประกาศให้มนุษยชาติได้ทราบว่า เรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลก ได้สรุปอัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมถึง 100 เท่า หรือหมายความว่าการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นใน 1 ปี มีอัตราเทียบเท่าการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปีในอดีต ที่สำคัญการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ แต่วิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง

นอกจากนี้ สหประชาชาติ เผยผลการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ระบุว่าผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์กำลังทำให้สิ่งมีชีวิต 1 ล้านสายพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กล่าวคือสายพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรต่ำกว่า 1,000 ชีวิต สัตว์มีกระดูกสันหลังบนโลกจำนวน 515 สายพันธุ์กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ ประมาณครึ่งหนึ่งอาจมีจำนวนประชากรน้อยกว่า 250 ชีวิต และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ในอีก 20 ปี ข้างหน้า

ยังพบว่า กว่า 237,000 สายพันธุ์ นอกเหนือจาก 515 สายพันธุ์กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ ณ ขณะนี้ ได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ ปี 1900 และสัตว์ที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการสูญพันธุ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบุกรุกถิ่นฐานของมนุษย์

ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ เจอราร์โด เคบาลอส  นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติของเม็กซิโก มีความกังวลว่าหากไม่มีความพยายามในการอนุรักษ์ที่มากขึ้น มีความเป็นไปได้มากที่สัตว์ทั้ง 515 สายพันธุ์จะหายไปภายในทศวรรษหน้า

สิ่งมีชีวิตต่างๆ แม้อาจห่างไกลจากตัวเรา และไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ประเด็นสำคัญ คือ มนุษย์ไม่อาจแยกตัวออกจากธรรมชาติ เราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับ อาหาร น้ำ อากาศ และระบบนิเวศอื่นๆ หากเรายังคงทำลาย สิ่งเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างอันตรายให้แก่เรา

ดูอย่างการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว และอาจถูกส่งต่อมาถึงมนุษย์ผ่านสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตลาดค้าสัตว์ป่า โดยการระบาดของไวรัสในยุคปัจจุบัน จำนวนไม่น้อยกว่า 30 - 50 สายพันธุ์ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น โรคซาร์ส เมอร์ส อีโบลา และโควิด ล้วนมีที่มาปัญหาเดียวกัน คือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

“วัคซีนที่สามารถป้องกันโรคระบาดเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ การรักษาระบบนิเวศในธรรมชาติ และยุติการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยเขาได้กล่าวเตือนว่า หากโลกยังคงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปจะมีผลกระทบเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีก นี่ไม่ใช่ทางเลือก นี่คือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตและมนุษยชาติ” เจอราร์โด เคบาลอส นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติของเม็กซิโก กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น