ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาตรการยกระดับควบคุมโควิด-19 เข้มข้นสูงสุดส่งผลสะเทือนอุตสาหกรรมการบินถึงขั้นต้องหยุดบินชั่วคราว ทำเอา 7 ซีอีโอสายการบินออกโรงทวงถามสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนที่รัฐบาลเคยรับปากจะช่วยเหลือแต่ทำเงียบหาย ครวญถ้าไม่เร่งต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายอีกไม่เกิน 3 เดือนคงตายกันหมด ไม่ต่างจากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่ตกงานพุ่ง 4 ล้านคน ต่างอยู่ในภาวะเครียดจัด สุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย
มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดที่มุ่งลดการเคลื่อนย้าย ไม่เพียงแต่มีผลต่อการเดินทางบนไฮเวย์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมอย่างกว้างขวางไปถึงน่านฟ้าด้วย โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศระหว่างสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อมุ่งลดและจำกัดการเดินทางการเคลื่อนย้ายของบุคลและกิจกรรมขนส่งสาธารณะ
ประกาศของ กพท. มีสาระสำคัญ คือ ห้ามมิให้สายการบินปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงเวลาที่มีการระบาดสูงตามข้อกำหนด เว้นแต่เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) หรือเป็นกรณีอากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน หรือขอลงทางเทคนิคโดยไม่มีผู้โดยสารลงจากเครื่อง หรือมีความจำเป็นและได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นนั้นเพื่อประกอบการขออนุญาต เช่น เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน เป็นต้น
ในกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้มีการแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสม ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 และให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดเตรียมเอกสารรับรองความจำเป็นให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะในสังกัดของตน ซึ่งได้รับยกเว้นเพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากมีการตรวจสอบ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
คล้อยหลัง กพท.ออกประกาศ สายการบินหลายสาย ต่างขานรับมาตรการโดยหยุดบินชั่วคราวในเส้นทางบินภายในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า การหยุดบินหมายถึงบริษัทขาดรายได้ พนักงานว่างงาน ระหว่างนี้จะให้เจ้าของสายการบินและพนักงานอยู่กันอย่างไร
อันที่จริงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดและออกมาตรการมารองรับให้ชัดเจน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าอุตสาหกรรมการบินเป็นหัวใจของการเดินทาง การท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสมาตั้งแต่ระลอกแรกที่โควิด-19 ระบาดแล้ว
และที่น่าแปลกประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ สู้โควิด-19 นั้นก็มีส่วนที่กู้มาเพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน อุ้มกิจการที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ทำไมต้องให้ซีอีโอสายการบินรวมตัวกันมาทวงถามความคืบหน้าในการปล่อยซอฟท์โลนให้ธุรกิจสายการบิน จนป่านนี้แล้วพวกเขายังต้องร่ำร้องขอให้รัฐบาลหยิบยื่นช่วยเหลือ กระนั้นหรือ?
อาการสุดทนของสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 สายการบินในไทย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ สมาคมสายการบินประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นหัวเรือใหญ่
นายพุฒิพงศ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 บางกิจการต้องหยุดการดำเนินการชั่วคราว รวมถึงการขนส่งทางอากาศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบ 10 ปี ทางสมาคมฯได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตั้งเเต่การระบาดของโควิด-19 รอบเเรก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 และติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เพื่อร้องขอให้เร่งพิจารณา ทางสมาคมฯได้ส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน หรือรวม 17 เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ทางสมาคมฯ ยื่นหนังสือฯ
ล่าสุด สมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมของทั้ง 7 สายการบิน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563) เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมกว่า 2 หมื่นคนในครึ่งปีหลังของ 2564
“ตลอด 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง 7 สายการบินได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเอง เเละปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ แต่ก็ยังพบว่าทั้ง 7 สายการบินแบกรับเรื่องการจ้างงานอย่างเดียวราว 1.5 หมื่นล้านบาท เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟต์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว” นายพุฒิพงศ์ กล่าว
ด้าน นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท ระบุว่า วงเงินซอฟต์โลน 5,000 ล้านบาทที่ทางสมาคมฯ ยื่นเสนอขอไปล่าสุดนี้ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการพยุงการจ้างงานของทั้ง 7 สายการบิน ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ทุกสายการบินต้องแบกรับในช่วงที่มีคำสั่งให้หยุดทำการบินครั้งนี้ โดยซอฟท์โลนที่รัฐบาลช่วยเหลือ คาดว่าจะใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 20,000 คน จนถึงสิ้นปี 2564
“....บอกได้เลยว่าหากสถานการณ์ทำให้สายการบินต้องหยุดบินเกิน 3 เดือนวันนั้นคงไม่มีสายการบินเหลืออยู่บนน่านฟ้าแล้ว ตายหมดทุกรายแน่นอน” นายวรเนติ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การดำเนินงานของ 7 สายการบินที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้นั้น สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ประกาศหยุดบินเส้นทางในประเทศตั้งแต่วันที่ 13 – 31 กรกฎาคม 2564 เหลือเฉพาะเส้นทางบินที่เกี่ยวข้องกับการนำร่องเปิดท่องเที่ยวประเทศ ได้แก่ เส้นทางภูเก็ต-สมุย เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สู่โครงการสมุย พลัส โมเดล และเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย รับส่งผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสมุย
สายการบินไทยแอร์เอเชีย หยุดบินเส้นทางในประเทศชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 – 31 กรกฎาคม 2564, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ หยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก, สายการบินนกแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ส ยกเลิกเส้นทางบินในประเทศทั้งหมด, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ยกเลิกทำการบินทั้งหมด คงเหลือเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ
ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900-1,000 ล้านบาทต่อเดือน
ไม่เพียงแต่สายการบินเท่านั้นที่อยู่ในสภาพใกล้หมดลมหายใจ คนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็วิกฤตหนัก จากการเปิดเผยของ นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ซึ่งกล่าวในการจัดเสวนาออนไลน์ “ความจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและ SME ด้วยวิธีการสร้างวัคซีนใจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบการมีหนี้สินเพิ่ม แรงงานถูกเลิกจ้างทั้งธุรกิจเกี่ยวกับร้านค้า ที่พัก บริการท่องเที่ยว และบริการขนส่ง
จากข้อมูลคนว่างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปี 2563 โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า มีแรงงานว่างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึง 25% ของแรงงานว่างงานทั้งหมด หรือกว่า 4 ล้านคน ต้องขาดรายได้ กระทบต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน นำไปสู่ความเครียดสะสม เกิดปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายปี 2563 โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ผลกระทบจากภาวะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ เป็น 1 ใน 3 เหตุปัจจัยสูงสุดของการฆ่าตัวตาย ปี 2563 ความเครียดจึงถือเป็นเหตุของปัญหาสุขภาพที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากการว่างงาน ทาง สสส. จึงร่วมกับ กรมสุขภาพจิต และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) พัฒนา “เว็บไซต์วัคซีนใจ” เพื่อฟื้นฟูจิตใจตัวเองด้วยแบบทดสอบง่ายๆ หวังพัฒนาสุขภาพจิตผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
แต่ก็อย่างว่า “วัคซีนใจ” เป็นแต่เพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากจะลดความเครียด ลดความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตายของคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องซึ่งหมายรวมไปถึงการบิน ต้องแก้ด้วย “วัคซีนจริง” โดยรัฐบาลต้องเร่งจัดหาและกระจายฉีดให้ถ้วนหน้า สร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ เพื่อเปิดประเทศ เศรษฐกิจเดินหน้า ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงเป้าที่สุด