ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปรับกระบวนยุทธ์ฝ่าวิกฤตโรคระบาดรุนแรง ในวันที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด- 19 ได้ทุกคน ตั้งแต่การตรวจเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตัวเอง แบ่งกลุ่มสีตามระดับอาการ “สีเขียว” อาการไม่รุนแรงแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ส่วนกลุ่ม “สีเหลือง – สีแดง” เสี่ยงโรครุนแรงอาการวิกฤตให้เข้าสู่ระบบ ตั้งเป้าลดความแอดอัดตรวจเชื้อโควิดฯ-บรรเทาปัญหาเตียงเต็ม
นับเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกคนต้องรู้ในห้วงเวลาที่โควิด-19 เป็นเรื่องใกล้ตัว และกำลังสร้างความโกลาหลในระบบสาธาณสุขไทย ยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมาก วิกฤตเตียงเต็ม ประชาชนแห่ไปตรวจโควิดฟรีตามจุดบริการของรัฐ โรงพยาบาลหลายแห่งหยุดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดและงดรับผู้ป่วย
กระทั่งระบบสาธารณสุขมีการปรับแนวทางใหม่ ตั้งแต่กระบวนการการตรวจเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit ให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิดได้ด้วยตัวเองที่บ้าน เพื่อลดความแออัดจากการเดินทางไปรับการตรวจเชื้อแบบ Real-time PCR (RT-PCR) หรือ สว็อปเชื้อ ในปัจจุบัน ซึ่งมีประชาชนเข้าคิวรอนานข้ามวัน ทั้งเป็นการแก้ปัญหาโรงพยาบาลปฏิเสธการตรวจโควิดและรับผู้ป่วยเพราะไม่มีเตียงรองรับ แม้ล่าสุดรัฐบาลออกมากำชับให้ทุกโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อแก่ประชาชนแม้ไม่มีมีรองรับก็ตาม
13 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) พ.ศ. 2564 โดยมีเนื้อหาว่า เพื่อให้มีการเข้าถึงการตรวจคัดกรองที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) ด้วยตนเอง อันจะทำให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 ของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นำไปสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษาและป้องกันที่เหมาะสมโดยเร็ว ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อให้บุคคลอื่น
กล่าวสำหรับชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว หรือ Test Kit มี 2 แบบ คือ 1. Antigen Test เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส จะเก็บตัวอย่างจากทางจมูก ลึกถึงคอหรือเก็บจากลำคอ และ 2. Antibody Test เป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน จะใช้การเจาะเลือดตรวจ ซึ่งเมืองไทยได้นำชุดตรวจรูปแบบแรกมาให้ประชาชนตรวจเชื้อด้วยตัวเอง โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รองรับชุดตรวจสำหรับโควิด-19 ประเภท Rapid Test แบบตรวจหา Antigen จำนวน 24 ยี่ห้อ กำหนดราคาจำหน่ายประมาณ 400 บาท
สำหรับการตรวจโดย ATK จะทำเหมือนการตรวจแบบ RT-PCR ใช้ก้านตรวจแยงจมูกไปจนคอหอย หรือตรวจทางโพรงจมูก หรือตรวจทางน้ำลาย ขึ้นอยู่กับชุดตรวจระบุวิธีตรวจแบบไหน โดยการตรวจชนิดนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ดังนั้น ความจำเพาะและความไว อาจจะสู้แบบ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานไม่ได้เสียทีเดียว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐ และเอกชนรวมทั้งหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. คลีนิกชุมชนอบอุ่นตรวจโควิดด้วย Antigen Test Kit ให้ประชาชนที่มีอาการ PUI : Patient Under Investigation หมายถึง ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือคนที่มีอาการและประวัติเสี่ยงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ช่วยลดปัญหาประชาชนจำนวนมากรอรับบริการตรวจ RT-PCR
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจโควิดที่บ้าน สืบเนื่องจากกรณีประชาชนมารอตรวจเชื้อโควิดจำนวนมาก ทางกระทรวงสาธารณสุข พยายามวางระบบแก้ปัญหา โดยกรณีการตรวจเชื้อโควิด ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมควบคุมโรค มีการพิจารณาการตรวจหาเชื้อ โดยปัจจุบันมีชุดตรวจที่เรียกว่า Antigen Test Kit หรือ ATK จะนำมาใช้ในวงกว้างมากขึ้น แต่เนื่องจากชุดตรวจนี้ยังมีปัญหาอยู่ คือ 1.ชุดตรวจนี้ให้ผลประมาณ 90% ทางวิทยาศาสตร์ยอมรับได้ แต่ทางการแพทย์ยังคิดว่าอาจมีช่องจึงต้องปิดช่องโหว่ และ 2. เมื่อตรวจพบผลบวก หรือลบ จะทำอย่างไร ทาง สธ. จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมต่างๆ จัดระบบมาดูแล
อย่างไรก็ดี ในทางวิทยาศาสตร์ Antigen Test ให้ผลที่แม่นยำประมาณ 90% ทว่า แม้ผลลัพธ์มีความแม่นยำสูงแต่ที่ผ่านมาไม่มีนำมาให้ประชาชนใช้ตรวจด้วยตัวเอง เพราะรัฐมีความกังวลอาจเกิดคลาดเคลื่อน ที่ผ่านมาจึงใช้การตรวจแบบ RT-PCR ที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามที่กล่าวในข้างต้น การตรวจ Antigen Test Kit ด้วยตัวเองที่บ้าน จึงได้รับการพิจารณานำมาใช้ในเมืองไทย
ทั้งนี้ ในต่างประเทศชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น อย่าง Rapid Antigen Test สามารถหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อให้นำไปตรวจหาโควิดได้เองที่บ้าน แม้ผลที่ออกมาจะไม่เป็นทางการ แต่ก็ทำให้สามารถคัดกรองตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ฯลฯ
สำหรับชุดตรวจ ATK ของไทยมีทั้งแจกฟรี และจำหน่ายผ่านสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันให้ประชาชนซื้อไปใช้ตรวจเองที่บ้าน แต่ห้ามจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็มีการฝ่าฝืนเปิดพรีออร์เดอร์จนทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตนหลังทราบผลการตรวจจาก Antigen Test Kit หากพบผลตรวจเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 ต้องมีการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันผล โดยข้อปฏิบัติให้แจ้งกับสถานพยาบาลที่กำหนด เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น, สาธารณสุขของ กทม. หรือคลินิกในเครือข่ายที่มีการกำหนดไว้ เพื่อดำเนินการเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล และระหว่างนี้ต้องแยกกักตัวเองจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเพื่อลดการแพร่เชื้อ แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิประจำ
หากผลออกมาเป็นลบ แต่ประเมินเบื้องต้นแล้วเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรทดสอบซ้ำอีกครั้งใน 3 - 5 วัน เนื่องจากอาจอยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ หรือหากปรากฏอาการควรทดสอบซ้ำทันที และควรแยกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไว้ก่อน
ในประเด็นนี้ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อกังวลว่าสิ่งสำคัญอันดับแรก Antigen Test Kit ที่จะมีการจำหน่ายต้องมีคุณภาพ อันดับ 2 ประชาชนทำต้องทำอย่างถูกวิธี หากทำแล้วไม่ถูกวิธี โอกาสเกิดผลบวก หรือผลลบเทียมจะง่ายขึ้น และไม่ใช่พบว่าผลเป็นลบแล้ววางใจ ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยระวังตัวอยู่ตลอดเวลาและอันดับ 3 ระบบรองรับต้องเตรียมพร้อมหากตรวจพบเชื้อประชาชนจะเข้าสู่ระบบอย่างไร
และประเด็นที่ต้องจับตา แม้การตรวจเชื้อโควิดแบบ Antigen Test Kit ด้วยตัวเองที่บ้าน จะลดปัญหาความแออัดหนาแน่นของประชาชนในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR แต่ยังมีปัญหาคอขวดเตียงเต็ม ผู้ติดเชื้อสะสมจำนวนมากยังคงเฝ้ารอเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการวิกฤตเฝ้ารอการเข้ารับการรักษาอย่างน่าเวทนา และจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตระหว่างรอรับการรักษาอย่างน่าอนาจใจ
สถานการณ์เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามเต็ม ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเปลี่ยนกระบวนยุทธ์ เดิมผู้ติดเชื้อโควิดทุกคนจะต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 100% ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยตรวจหาเชื้อผ่าน RT-PCR เมื่อพบเชื้อให้รักษาในโรงพยาบาล ปรากฎว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องเตียง กระทรวงสาธารณสุขจึงเปลี่ยนแนวคิด หากป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ให้ดูแลรักษาที่บ้านที่เรียกว่า Home Isolation (HI) และการแยกกักตัวในชุมชน กรณีชุมชนมีความเข็มแข็งก็จะจัดสถานที่ดูแลเรียกว่า Community Isolation (CI)
ระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กำลังปรับกระบวนยุทธ์ฝ่าวิกฤตโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง แต่ถ้าเลือกได้เชื่อเหลือเกินว่าผู้ป่วยอยากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เพราะลึกๆ แล้ว ทุกคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน “อยู่ใกล้หมอ ย่อมอุ่นใจกว่า”