xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงคราม Food Delivery ยังไม่จบ Robinhood ยืนหนึ่ง “ส่งฟรี - ไม่เก็บ GP”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery รายใหม่ที่ถูกจับตามองที่สุดในเวลานี้คือ “Robinhood” บริการส่งอาหารสัญชาติไทยในเครือธนาคารใหญ่ SCB เปิดตัวช่วงกลางปี 2563 ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการฟู้ดดิเวอร์รี ชูจุดเด่นไม่เก็บ GP (Gross Profit) หรือค่าบริการร้านอาหาร  

ล่าสุดกับโปรฯ “ส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์ 15 วัน" ทำเอาออร์เดอร์พุ่งกระชูด ไรเดอร์ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นเกิด “ออเดอร์ป่วน” ลูกค้าไม่น่ารักสั่งทีเล่นทีจริง “ไข่ดาว ราคา 5 บาท ส่งข้ามจังหวัด” เป็นเหตุให้ Robinhood ต้องปรับแผนคุมระยะทางจัดส่งฟรีรัศมี 10 กม.

 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แพลตฟอร์ม Robinhood ฟู้ดดิลิเวอร์รีสัญชาติไทยแท้ๆ เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะประเด็น ไม่เก็บ GP (Gross Profit) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางร้านต้องเสียให้กับแพลตฟอร์มบริการส่งอาหาร เรียกว่าเป็นค่าดำเนินการที่เรียกเก็บเพื่อเอาไว้โปรโมตและทำโปรโมชั่น ดึงดูความสนใจลูกค้าให้เกิดพฤติกรรมซื้อมากขึ้น ซึ่งแต่ละแอปพลิเคชันมีการเรียกค่า GP ต่างกันออกไป ราวๆ 30 - 35% (ยังไม่รวม VAT 7 เปอร์เซ็นต์) 

ก่อนหน้านี้ ประเด็นการเรียกเก็บค่า GP ของแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีของผู้เล่นหลัก อาทิ Grab Food, LINE MAN, Foodpanda และ Gojek ส่งกลิ่นดรามาคลุ้งเนื่องจากร้านอาหารโดนแพลตฟอร์มเก็บ ค่า GP สูงจนแทบไม่เหลือกำไร โดยเฉพาะหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร้านอาหารจำนวนมากเข้าสู่แพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีหวังเพิ่มช่องทางการขาย

 การเก็บค่า GP สูงส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้บางร้านปรับตัวโดยขึ้นค่าอาหารที่ขายในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ร้านคงคุณภาพและพอมีกำไรหลังโดนหักค่า GP ทว่า บางแพลตฟอร์มไม่อนุญาตให้เพิ่มราคาอาหารจากราคาขายหน้าร้าน ทำให้บางร้านจำเป็นต้องปรับลดต้นทุน เลือกวัตถุดิบที่คุณภาพต่ำลง หรือคุณภาพวัตถุดิบเท่าเดิม แต่ลดปริมาณอาหารลง เป็นต้น 

แน่นอน การปรับตัวร้านอาหารบนแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่งผลกระทบลูกค้าโดยตรง ไม่จ่ายค่าอาหารแพงก็อาจรับอาหารที่คุณภาพลดลงหรือปริมาณลดลง

ถามว่าร้านที่ไม่ต้องการจ่าย ค่า GP สามารถจำหน่ายบนแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีได้หรือไม่ กล่าวคือผู้ให้บริการฟู้ดดิลิเวอร์รีบางแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้ร้านจำพวกนี้ แต่ร้านจะเสียโอกาสในการโปรโมตและเข้าร่วมโปรโมชั่นต่างๆ อีกทั้งการคิดค่าส่งตามระยะเรตราคาสูงไม่เป็นที่นิยมสำหรับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้กรมการค้าภายในเรียกประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หารือแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีลดค่า GP ที่จากเฉลี่ย 35% -25% ลงมาเหลือ 25% ระยะเวลาตลอดเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นแนวทางช่วยเหลือร้านอาหารระยะสั้นเท่านั้น

ในต่างประเทศการเรียกเก็บค่า GP เป็นปัญหาเชีนเดียวกัน และในช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีได้ปรับลดและงดค่า GP ชั่วคราว เป็นมาตรการช่วยเหลือร้านอาหาร อาทิ สหรัฐอเมริกา Grubhub งดค่าคอมมิชชั่นที่เรียกเก็บจากร้านอาหาร, Uber Eats ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง สำหรับคำสั่งซื้อทั้งหมดจากร้านอาหารร้าน อังกฤษ Uber Eats เจ้าใหญ่ของตลาดเดลิเวอรี ยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดส่งและค่าลงทะเบียนของร้านอาหาร, Just Eatคืนค่าคอมมิชชั่นให้ร้านอาหาร 1 ใน 3 และยกเลิกค่า GP หรืออย่าง อินเดีย Swiggy และ Zomato ลดค่าคอมมิชชั่นสำหรับพวกเขา จากที่ปกติเก็บ 20 -25% รวมทั้ง Amazon Food ลดค่าคอมมิชชั่นสำหรับร้านอาหารเหลือ 10%

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยตัวเลขธุรกิจ Food Delivery ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหาร Food Delivery เติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งความนิยมในการใช้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารดึงดูดให้ผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งต่างชาติและไทยเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น 

เป็นไปตามการคาดการณ์ ตั้งแต่กลางปี 2563 มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Food Delivery รายใหม่ตบเท้าเข้าสู่สนาม อาทิ Robinhood ของกลุ่ม SCB และ True Food ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งพากันชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP รวมทั้ง Shopee Food ที่เข้ามาเสริมความแกร่ง Shopee บริการ e-commerce อันดับต้นๆ ของไทย

การเปิดตัวของแพลตฟอร์ม Robinhood ฟู้ดดิเวอร์รีสัญชาติไทย ฟาดเจ้าตลาดอย่าง Grab Food, LINE MAN, Foodpanda และ Gojek โดยมีแนวคิดไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ไม่มีค่าสมัคร ร้านอาหารได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ ส่วนลูกค้าได้จ่ายค่าอาหารและค่าส่งตามจริงไม่มีบวก เป็นแพลตฟอร์มเล็กๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการฟู้ดดิเวอร์รี

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด อธิบายว่า แพลตฟอร์ม Robinhood ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับใครหรือต้องการเป็นเจ้าตลาด แต่พัฒนาโดยใช้มุมมองของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เน้นที่ประสบการณ์ของลูกค้าหรือ Customer มุ่งหวังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคม สำหรับร้านอาหาร หากคิดว่าได้รับประโยชน์ ก็จะมาร่วมกัน ส่วนในมุมของผู้ซื้อถ้าประสบการณ์ในการใช้งานดี ก็จะอยากใช้งานต่อไป

Robinhood เริ่มต้นจากการเป็น CSR ที่ทำเพื่อสังคม จะไม่มีกำไรจากการให้บริการ Food delivery เข้ากลุ่ม SCB แต่อย่างใด ซึ่งถ้าในอนาคตแพลตฟอร์มตรงใจร้านค้า ตรงใจลูกค้าและมีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอ ก็อาจทำมากกว่าเรื่องอาหาร สามารถมี Business Model ที่จะหารายได้จากการเสนอบริการอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อกับสมาชิกที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการสั่งอาหารแต่อย่างใด

ปัจจุบันมีร้านอาหารอยู่ในแพลตฟอร์ม Robinhood 110,000 ร้าน มีไรเดอร์ 15,000 คน มีลูกค้ากว่า 1 ล้านราย ร้านค้าและไรเดอร์ ที่สนใจเข้าร่วมเปิดรับไม่จำกัด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แบบไม่มีค่าใช้จ่าย

ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกล่าสุด Robinhood ออกมาตรการพิเศษ “ส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์” เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการออกค่าส่งอาหารให้ฟรีทุกออเดอร์ และหวังว่าผู้สั่งอาหารจะช่วยสั่งจากร้านเล็กที่เดือดร้อนเพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนร้านเล็กให้รอดไปด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 11-25 ก.ค. 2564 รวม 15 วัน

ปรากฏว่าเกิดความวุ่นนวายขึ้น แอปฯ ค้างไม่สามารถใช้งานได้ ไม่มีไรเดอร์รับงาน ลูกค้าสั่งอาหารแบบไม่สมเหตุสมผล เช่น ลูกค้ารายหนึ่งสั่งไข่ดาวราคา 5 บาท จากร้านอาหารใน จ.ปทุมธานี ให้ไปส่งที่ จ. สมุทรปราการ, ลูกค้ารายหนึ่งสั่งอาหารจากร้านเบอร์เกอร์คิง สาขาศูนย์การค้าเดอะไบร์ท พระราม 2 ให้ไปส่งที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, ลูกค้ารายหนึ่งสั่งอาหารจากร้านกูโรตีชาชัก สาขามหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 เขตประเวศ กรุงเทพฯ ให้ไปส่งที่ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น

ทำให้ทาง Robinhood ต้องปรับมาตรการพิเศษ “ส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์” ภายในระยะ 10 กม. แทน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้พิสูจน์ว่าแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รี่เมืองไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

แพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รี่เข้ามามีส่วนสำคัญทั้งร้านอาหารและผู้บริโภค ฟู้ดดิลิเวอร์รีที่เข้ามาตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน เสี่ยงรับเชื้อไวรัสในช่วงการแพร่ระบาด

ประเด็นที่น่าสนใจ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีรายหนึ่ง และน่าจะเป็นรายเดียวที่เปิดให้บริการชำระเงินค่าอาหารด้วยสิทธิในโครงการ "คนละครึ่งเฟส 3" ปรากฎกระทรวงการคลังระบุว่าไม่สามารถทำได้

“จ่ายคนละครึ่งผ่านบริการแพลตฟอร์ม Delivery ปัจจุบันคลังยังไม่อนุญาตให้สั่งซื้อได้ เพราะถือเป็นการใช้จ่ายผ่านคนกลาง ซึ่งเงื่อนไขการใช้จ่ายจะต้องเป็นแบบ face to face หรือจ่ายเงินระหว่างประชาชนกับร้านค้าหรือผู้ให้บริการแบบพบหน้าเท่านั้น” นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ

ล่าสุด แพลตฟอร์มดังกล่าวยังไม่ได้การยุติการให้บริการจ่ายค่าอาหารผ่าน "คนละครึ่งเฟส 3" อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ มาตรการทางสังคมให้ประชาชนอยู่บ้าน รัฐบาลควรสนับสนุนจ่ายผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รี ซึ่งเป็นการสนับสนุนร้านอาหารใกล้บ้าน และลดภาระรายจ่ายของประชาชนไม่ใช่หรือ?

 สุดท้าย น่าติดตามว่าแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีในช่วงโควิดและหลังโควิดจะเป็นอย่างไร แม้มีการเรียกเก็บค่า GP จนร้านอาหารบ่นอุบ แต่ในสังเวียนแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอร์รีไม่มีผู้เล่นรายไหนได้กำไร 


กำลังโหลดความคิดเห็น