xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (27): Utopia---อุตตรกุรุ---Pharmakon

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ทางไปดินแดนในฝัน
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

 ในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระแสแนวคิดสาธารณรัฐและสังคมนิยมกำลังระบาดทั่วโลก แน่นอนว่า ทั้งสองแนวคิดย่อมจะส่งผลกระทบต่อการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ของสยามอยู่มากทีเดียว ที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ก็คือกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ที่นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนหนึ่งต้องการคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ต้องจำกัดพระราชอำนาจให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่อีกส่วนหนึ่งต้องการเป็นสาธารณรัฐไปเลยโดยเชื่อว่าถ้าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว ผู้คนจะได้มาซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์  
 
จริงแล้วๆ การปกครองแบบสาธารณรัฐนี้ไปกันได้ทั้งกับระบอบเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยม เพราะถ้าพิจารณาที่มาของเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมต่างมีกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือราวศตวรรษสิบแปดและสิบเก้า และมีหัวใจสำคัญคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เน้นไปที่เสรีภาพและความเสมอภาค เพียงแต่สังคมนิยมเห็นว่าเสรีประชาธิปไตยนั้นไปไม่สุดทาง ทำให้ผู้คนไม่ได้เสรีภาพและความเสมอภาคอย่างแท้จริง
 
เสรีภาพและความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์แท้จริงคืออะไร และเป็นอย่างไร ? มีเสรีภาพและความเสมอภาคเช่นนั้นได้จริงๆในโลกอย่างที่เป็นอยู่นี้หรือ ?จะจริงหรือไม่จริง และเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือ ใครๆ ก็อยากได้เสรีภาพและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ เพราะมักจะเข้าใจกันว่า เสรีภาพอันสมบูรณ์คือทำอะไรก็ได้ ซึ่งการทำอะไรก็ได้ ใครๆ ก็อยากอยู่ในสภาวะแบบนั้น
ส่วนเสมอภาคกันหมดก็ย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา เพราะไม่มีใครสามารถมีอะไรที่เราไม่มี แต่ทุกคนมีเหมือนและเท่ากันหมด กระนั้น การมีเหมือนกันหรือเท่ากันหมดจะเป็นสิ่งที่มนุษย์พอใจหรือไม่นั้น ก็ยังเป็นประเด็นที่น่าคิดน่าสงสัยอยู่ ?!

ทำไมหรือ ? คนที่ไม่มีในสิ่งที่คนอื่นมี ก็ต้องการความเสมอภาค แต่เมื่อมีได้เหมือนคนอื่นทุกคนแล้ว ตอนแรกๆ ก็อาจจะมีความสุขดีอยู่หรอก แต่พอเวลาผ่านไป การมีเท่ากันเหมือนกัน มันไม่ได้ให้ความสุขอีกต่อไป เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์อยากมีมากกว่าคนอื่นเสมอ เพราะการมีมากกว่าคนอื่นทำให้มีความสุข ถ้าไม่เชื่อก็ลองถามใจตัวคนธรรมดาอย่างเราๆ เองดู แต่ถ้ามีมากกว่าไม่ได้ ทางเลือกที่เลวน้อยที่สุดก็คือ ขอให้มีเท่าๆ กันไว้ก่อน

ภาพการออกแบบเครื่องบินของดาวินชี
 เมื่อเสรีภาพและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรนั้นเป็น “สิ่งหอมหวานชวนนึกฝัน” มันจึงกลายเป็นพลังที่ดึงดูดคนในทุกยุคทุกสมัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนวัยหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ  

ความฝันและจินตนาการเป็นเรื่องดีหากไม่หลุดโลกจนเกินไป อย่างเช่นนักคิดอย่าง ลีโอนาร์โด ดาวินชี  ที่คิดออกแบบเครื่องบิน

 ดาวินชีไม่ได้คิดแบบเพ้อฝัน แต่คิดบนเหตุผลและพื้นฐานของความเป็นจริง ดังนั้น การวาดฝันแบบนี้จึงเป็นเรื่องดี และถือเป็นการฝันถึงเสรีภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือ เสรีภาพที่จะเดินทางไปในอากาศและก้อนเมฆเหมือนสัตว์ปีกทั้งหลาย  

 แต่การฝันแบบหลุดโลกนี่สิเป็นปัญหาและอาจเป็นพิษต่อทั้งตัวคนฝันและคนรอบข้างได้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมี “ยาแก้พิษ” หรือที่เพลโตเรียกว่า pharmakon ซึ่งคำๆนี้มีความหมายได้ทั้งยารักษาและยาพิษ ซึ่งจริงๆแล้ว ยาทุกชนิดก็มีคุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้อยู่ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับใช้เป็นใช้ถูกหรือไม่  


แนวคิดสาธารณรัฐและสังคมนิยมอาจเป็นยาดีถ้าใช้ให้เป็น และก็เป็นยาพิษถ้าใช้ผิด

แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว่า แก่นแกนของทั้งสองแนวคิดนี้คือ เสรีภาพและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ ซึ่งคืออะไร และจะได้มาอย่างไร และเมืองแบบไหน เงื่อนไขแบบไหนที่จะทำให้เกิดเสรีภาพและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่จนทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่อง  “เมืองในฝัน”  นี้มาพอสมควร ตอนที่พระองค์ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ดังที่ผมได้กล่าวถึงไปในตอนก่อนๆ แล้ว ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงได้ศึกษาอ่านข้อเขียนของนักคิดต่างๆ ของฝรั่งที่พยายามจะสร้าง pharmakon เพื่อเอาไว้ถอนพิษฝันเฟื่องนี้ และด้วยความรู้ในโลกตะวันออก โดยเฉพาะของไทยเรา พระองค์ก็พบว่า ของไทยเราก็มียาถอนพิษแบบเดียวกันกับที่ตะวันตกมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย นั่นคือใน ไตรภูมิพระร่วง ที่มีเรื่องราวของอุตตรกุรุทวีป ดังที่ผมได้บรรยายเรื่องราวของสภาพภูมิศาสตร์และการอยู่กินของมนุษย์ในอุตตรกุรุไปบ้างแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า การที่จะให้คนเราเสมอภาคกันจริงๆ ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น รูปร่างหน้าตา พละกำลังจะต้องไม่แตกต่างกัน เพราะความแตกต่างทางชีวภาพนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน และรวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ด้วย เช่น ถ้ามีที่ดินบางผืนที่มีทำเลหรือสภาพที่ดีกว่าอีกผืนหนึ่ง หากใครได้ครอบครองแล้ว ก็จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขามีอะไรที่ดีเหนือกว่าคนอื่น ดังนั้น สภาพภูมิศาสตร์ในอุตตรกุรุจึงถูกออกแบบมาให้เหมือนกันไปหมด

พูดมาแค่นี้ ก็ชวนให้ต้องขบคิดแล้วว่า จะมีที่ไหนในโลกที่สภาพภูมิศาสตร์เหมือนกันหมด มิพักต้องพูดถึงผู้คนเหมือนกันหมด

คราวที่แล้ว เล่าค้างไว้ถึงเรื่องสตรีในอุตตรกุรุ เพราะมีคำบรรยายเฉพาะเกี่ยวกับสตรีไว้ด้วย

ผู้เขียนหรือผู้ออกแบบเรื่องอุตตรกุรุ (ใครก็ไม่รู้ เพราะเรื่องอุตตกุรุทวีปเป็นตำนานหรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า myth มาตั้งแต่เรื่อง “มหาภารตะ” ในสมัยฮินดูโบราณ) ได้กล่าวถึงสตรีต่อจากการบรรยายเรื่องข้าวของเสื้อผ้าอาภรณ์ของผู้คนในอุตตรกุรุ


ต่อจากเรื่องข้าวของเสื้อผ้าอาภรณ์ ผู้ออกแบบก็กล่าวบรรยายถึงผู้หญิงต่อมาทันที

 “สตรีทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินนั้น งามทุกคน รูปร่างไม่สูงไม่ตํ่าเกินไป ไม่ผอมไม่อ้วนเกินไป ไม่ขาวดำเกินไป มีรูปทรงสมส่วน ผิวพรรณงามดั่ง ทองสุกเหลือง เป็นที่พึงใจของชายทุกคน นิ้วมือนิ้วเท้ากลมกลึง มีเล็บสีแดง เหมือนนํ้าครั่งที่ทาแต้มไว้ แก้มใสนวลงามดั่งผัดแป้ง ใบหน้านั้นเกลี้ยงเกลา ปราศจากมลทินคือ ใฝ ฝ้า มีดวงหน้าดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีนัยน์ตาดำเหมือนนัยน์ตาของเนื้อทรายอายุ ๓ วัน ที่ขาวก็ขาวเหมือนสังข์ที่พึ่งขัดใหม่ มีริมฝีปากแดงดังลูกฟักข้าวที่สุกงอม มีลำแข้งขาเรียวงามขาวเหมือนลำกล้วยทองฝาแฝด มีท้องที่ราบเรียบเสมอลำตัวอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม มีขนและเส้นผมละเอียด อ่อนยิ่งนัก เส้นผมของคนปัจจุบัน ๑ เส้น เท่ากับผม ๘ เส้นของนางโดยประมาณ ดำงามเหมือนปีกแมลงภู่ ยาวลงมาถึงริมบ่าเบื้องตํ่าทั้งสองแล้วตวัดปลายผมขึ้นเบื้องบน เมื่อเวลานางนั่งยืนอยู่ก็ดี เดินไปมาก็ดี ใบหน้าแจ่มใสเหมือนดังแย้มยิ้มตลอดเวลา มีขนคิ้วดำสนิทโก่งดังวาดไว้ เมื่อนางพูดจะมีนํ้าเสียงแจ่มใส ปราศจากเสมหะเขฬะทั้งปวง ที่คอประดับด้วยเครื่องอาภรณ์งามยิ่ง มีรูปโฉมโนมพรรณงามดังสาวน้อยอายุ ๑๖ ปี มีทรวดทรงคงที่ไม่แก่เฒ่าไปตามกาลเวลา ดูอ่อนเยาว์ตลอดชีวิตทุกคน” 


บรรยายเสียยืดยาว สรุปสั้น ๆ ก็คือ ไม่มีสตรีคนในดูดีกว่าคนใด เพราะดูดีเหมือนกันหมด และอายุก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้สตรีแตกต่างกัน ไม่ต้องไปดึงหน้า-ทำสาว เพราะประเด็นสำคัญในคำบรรยายเกี่ยวกับสตรีข้างต้นก็คือ สตรีทุกคนในอุตตรกุรุ “เป็นที่พึงใจของชายทุกคน” ประเด็นมันอยู่แค่นี้เองแหละครับ การที่สตรีทุกคนเป็นที่พึงพอใจของชายทุกคน ก็หมายความว่า ผู้หญิงทุกคนเหมือนและเท่ากัน ทำให้ผู้ชายไม่ต้องแก่งแย่งหรือเลือกคนนั้นคนนี้

ผู้ชายได้ผู้หญิงคนไหนก็ได้ ไม่ต่างกัน ไม่ต้องอิจฉาริษยากัน ไม่เกิดปมทศกัณฑ์ลักพานางสีดาในตำนานรามเกียรติ์ หรือปมแย่งนางเฮเลนแห่งเมืองทรอยในตำนานมหากาพย์อีเลียดของโฮมเมอร์ของกรีกโบราณ

 ผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ได้อ่านเรื่องสตรีในอุตตรกุรุ ก็อาจจะเฮและอยากไปเกิดในอุตตรกุรุ แต่ถ้าผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือที่เรียกว่า “เฟมินิสต์” คงไม่เฮด้วย เพราะอะไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป 





กำลังโหลดความคิดเห็น