xs
xsm
sm
md
lg

สถิติ และชีวิตหลังความตายจากโรคโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นาวาอากาศตรี นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย
หัวหน้าแผนกนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ


ไม่รู้ว่าประเทศไทยเราอยู่ที่ระลอกไหนกันแน่ และไม่รู้ว่าจะจบที่ระลอกไหน ไม่รู้ว่าจะต้องใช้อักษรกรีกไปจนหมดทุกตัวอักษรหรือไม่ ไวรัสโควิด-19 จึงจะเลิกกลายพันธุ์ ในขณะที่เราทั้งประเทศกำลังวุ่นเรื่องหายาต้านไวรัส หาทางเพิ่มเตียง หาเครื่องช่วยหายใจ และการหาวัคซีนให้เพียงพอ สิ่งที่เราลืมนึกไปก็คือ เมื่อมีผู้ป่วยเยอะขึ้นย่อมมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ลองมาดูภาพเล็ก ๆ ก่อนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเพิ่มขึ้น อย่างไร


สำหรับข้อมูลจากทั้งประเทศ เราใช้ข้อมูลจาก https://ourworldindata.org/covid-cases แล้วนำมา plot กราฟและวิเคราะห์ เราจะเห็น pattern จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันแทบจะเกาะรูปแบบเดียวกัน ในรูปนั้นเป็น natural log scale เส้นประคือล็อกฐานธรรมชาติของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่


เมื่อนำสถิติมา plot แผนภาพการกระจายดังรูปด้านล่างนี้ ทำให้เห็นว่าเราสามารถพยากรณ์จำนวนผู้เสียชีวิตได้โดยไม่ยาก ถ้าจากสมการถดถอยที่เห็น กะได้คร่าว ๆ เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มวันละหนึ่งพันคน จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นราว 8-9 คน ดังนั้นหากเรามีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละสองหมื่นคนก็จะมีผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 ประมาณ 180-200 คน


สิ่งที่พึงสังเกตคือในเวลานี้ คือมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นทั้งจาก

หนึ่ง การไม่ทราบว่าติดเชื้อมาก่อนจนกระทั้งเสียชีวิต เช่น ผู้ป่วยติดเตียงอาจจะเสียชีวิตเพราะติดโควิดมากจากผู้ดูแลที่มักจะมีอายุน้อยกว่าและไม่แสดงอาการ และไม่ทราบว่าตนเองเป็นพาหะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงถึงแก่ชีวิตด้วยโควิด หรือ

สอง ทราบว่าติดโควิดหรือสงสัยว่าตัวเองจะติดโควิด-19 แต่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ/การรักษาในโรงพยาบาล เพราะไม่มีสถานที่รับตรวจ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลสนาม เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤตไม่พอ มักจะมาจากชุมชนแออัด ผู้พิการ คนชราที่อาศัยอยู่แบบครอบครัวเดี่ยวในสังคมเมือง หรือครอบครัวที่มีเศรษฐานะยากจน โปรดอ่านได้จาก “หมอนิติเวช” เตือนระวัง “คลัสเตอร์ใหม่” จากคนตายเพราะโควิด-19!!

หรืออาจจะกล่าวได้ว่าทั้งสองกรณีเป็นการค้นพบจากการออกชันสูตรพลิกศพนอกโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เริ่มเจอเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 มิถุนายน และตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนจนถึงปัจจุบัน แผนกนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

1. มีการออกชันสูตรพลิกศพ ณ ที่เกิดเหตุทั้งหมด 97 ราย
2. ทราบว่าตัวเองติดโควิดแล้วแต่อยู่ระหว่างการประสานงานรอเตียงต่อมาอาการหนักขึ้นทำให้เสียชีวิตที่บ้านจำนวน 4 ราย (คิดเป็น 4.12% จากที่จำนวนการออกชันสูตรพลิกศพ)
3. แพทย์ที่ออกชันสูตรซักประวัติแล้วเห็นว่าผู้ตายน่าจะมีความเสี่ยงว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงจึงเก็บสารคัดหลั่งจากโพรงหลังช่องปากและลำคอจากนั้นส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 22 ราย (คิดเป็น 22.68% จากที่ออกชันสูตรพลิกศพ)
4. จากผู้เสียชีวิต 22 รายที่ส่งตรวจโควิด-19 ตรวจศพพบการติดเชื้อโควิด 14 ราย (คิดเป็นร้อยละ 63.63 จากที่ขอตรวจโควิด-19)
5. ดังนั้นจึงมีจำนวนทั้งหมด 18 รายที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 (คิดเป็นร้อยละ 18.55 จากที่ออกชันสูตรพลิกศพ)

มีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอีกประการหนึ่ง จาก Facebook Anutra Chittinandana
ของพลอากาศโท นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอว่า

#################

รายงานข่าวจากน้องเมดหน้างานในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมครับ


ข้อมูล ณ วันที่ 10/07/2564 ยอดเตียงรวม 3,700 เตียง
- ICU 12 เตียง : ETT 6 เตียง, HFNC 4 เตียง, Cannula 2 เตียง
*จุดประสงค์เพื่อเอาไว้ดูแลเคสเพื่อรอ refer แต่การ refer ยากมา เพราะที่อื่นก็เต็มหมดครับ ICU นี้ไม่ได้เป็นห้อง negative pressure นะครับ
- HFNC 190 เตียง ที่เหลือ เป็น ผู้ป่วยสีเหลือง และสีเขียว (ไม่ทราบว่าอย่างละเท่าไหร่ครับ)
สถานที่ Impact Convention 3 Hall :
- Hall 1 ดูแลผู้ป่วยชาย เน้นที่สีเหลือง ประมาณ 1,000 เตียง
- Hall 2 ดูแลผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก ประมาณ 1,500 เตียง
- Hall 3 ดูแลผู้ป่วยหญิง เน้นที่สีเหลือง ประมาณ 1,000 เตียง


ผู้ป่วย HFNC และ Cannula กระจายอยู่ตายที่ต่างๆ มีการจัดกลุ่มเฉพาะ High Setting มารวมกันที่ Zone G (ประมาณ 50 เตียง)


บุคลากรแพทย์ แบ่งเป็น เวร : เช้า / บ่าย / ดึก
- เวรเช้า / บ่าย (รวมประมาณ 15-20 คน) : Chief 1 คน (ติดต่อ refer / จัดระเบียบเตียง), ICU 2 คน (Gen. Med + Chest/ ID), ดูแล HFNC 4 คน, ดูแลเคสอื่นๆ ประมาณ10 คน
- เวรดึก 5-6 คน ช่วย ๆ กันดูทุกอย่าง
พยาบาลทำงานกันหนักมาก แต่น้องหมอไม่รู้จำนวนพยาบาลทั้งหมด


ปัญหาเท่าที่ได้คุยกับน้อง
- refer เคส ICU ยากมาก เพราะ รพ.ส่วนใหญ่ก็เต็ม น้องเข้าใจ
- มีเสียชีวิตที่ รพ.บุษราคัม แต่ต้องปั๊มส่งไปให้เสียชีวิตที่ รพ.พระนั่งเกล้า ทำให้คุยกับญาติยากมาก
- แพทย์ที่มาช่วยงานจาก ตจว.ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่อง High flow มาก่อน น้องจบใหม่จึงต้องเป็นคนดูเป็นส่วนใหญ่
- ไม่รู้ว่าจะได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าเวร และค่าเสี่ยงอันตรายหรือไม่
- ยังไม่รู้ว่าต้องทำงานอยู่นานเท่าไหร่ถึงได้กลับต้นสังกัดต่างจังหวัด
- อยากให้สื่อสารข้อเท็จจริงให้ทุกฝ่ายรับทราบด้วย


ขอบคุณความเสียสละของน้อง ๆ ทุกคน และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ด้วยครับ ฝากผู้ใหญ่กระทรวงดูแลน้อง ๆ แบบที่บอกในวันแถลงข่าวด้วยครับ

#################

ประเด็นที่พึงพิจารณาสำหรับชีวิตหลังความตายมีดังนี้

ประการแรก ชีวิตหลังความตายด้วยโรคโควิด-19 นั้นทำให้สารคัดหลั่งที่ไหลออกมาจากร่างผู้เสียชีวิตยังมีความสามารถในการการแพร่กระจายเชื้อได้เพราะมีรายงานยืนยันทางวิชาการว่าเชื้อไวรัสยังมีชีวิตอยู่ตามพื้นผิวภายนอกในบรรยากาศที่เหมาะสมได้ถึง 72 ชั่วโมง ดังนั้นการจัดการศพจึงต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ว่าด้วยการป้องกันการติดเชื้อ พนักงานเก็บศพและรักษาศพต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและทำอย่างถูกต้องตามแนวปฏิบัติ ที่โรงพยาบาลภูมิพลจัดการแยกป้ายร้อยข้อมือศพในปัจจุบันเป็นสามสีคือสีฟ้า สีเหลือง และสีแดง ดังนี้

โดยมีเกณฑ์ในการจำแนก (Classification rule) ศพเพื่อติดป้ายสามสีแตกต่างกันตามคู่มือของกระทรวงสาธารณสุขดังนี้ โดย COVID-19 อยู่ในประเภทสีเหลืองดังตาราง


ที่เราได้เห็นเจ้าพนักงานเก็บศพใส่ชุด PPE ขนศพไปวัด ไม่เปิดโลง ไม่เปิดศพ แล้วเผาทันที และต้องเป็นวัดที่มีเตามาตรฐานความร้อนสูงเผา การเผาศพด้วยกรรมวิธีดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อแก่ประชาชนโดยรอบอีกต่อไป แม้จะเป็นการจากลาและการเดินทางระยะสุดท้ายที่ไม่มีการบอกลามากนัก ไม่มีงานสวดพระอภิธรรมใด ๆ แต่ก็จำเป็นเพื่อป้องกันการรวมตัวกันของญาติประกอบกับการจัดงานสวดศพทำให้การเว้นระยะทางสังคมทำได้ยากมากจึงเป็นการจากลาอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น


ประการสอง โรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ไม่มีห้องเก็บศพ ทั้ง ๆ ที่ตามกราฟข้างต้น เมื่อมีผู้ป่วยมากย่อมต้องมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจึงต้องมีการจัดการศพด้วย โดยปกติเมื่อมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อแพทย์ผู้รักษาเขียนหนังสือรับรองการตายแล้ว โรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่จะจัดหาตู้ container ที่มีเครื่องทำความเย็นไว้ใช้รักษาสภาพศพไว้ระยะหนึ่งก่อนรอญาติมาดำเนินการโดยวิธีเช่าจากบริษัทเอกชนมาใช้ก่อนก็ได้ นอกจากนั้นยังต้องมีพนักงานรักษาศพที่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะเพื่อจัดการศพติดเชื้อตั้งแต่การทำความสะอาดศพ การบรรจุศพใส่ถุง การเคลื่อนย้ายศพ การเก็บศพ และการบรรจุใส่ลงก่อนเคลื่นย้ายไปศาสนาสถาน การสร้างโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่มากรับผู้ป่วยทั้งเขียว เหลือง และแดงแต่ไม่มีการบริหารจัดการผู้เสียชีวิต ต้องให้แพทย์กระทำการปั๊มหัวใจใส่รถพยาบาลให้ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกไป ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีห้องเก็บศพและไม่มีบุคลากรจัดการ การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยากลำบากมาก เปลืองทั้งกำลังคนและทรัพยากรทางสาธารณสุขอื่น ๆ ที่ค่อนข้างขาดแคลนในยามนี้ โรงพยาบาลควรเตรียมการสำหรับชีวิตหลังความตายและการเดินทางระยะสุดท้ายไว้เพิ่มเติมด้วย

ประการสาม เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น เป็นที่ทราบกันดีจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากการจัดหาเตียงและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลสนามไอซียูแล้ว จำเป็นต้องจัดหาตู้เย็นเก็บศพให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในระยะหลังมักเกิดในครอบครัวเดียวกัน ทำให้ไม่มีญาติมารับศพ ไม่มีญาติมาจัดการศพ ทำให้จำเป็นต้องหาตู้แช่ศพเพิ่มขึ้นอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ โปรดนึกถึงภาพศพจำนวนมากมายใน New York City ที่ต้องแช่ในตู้คอนเทนเนอร์อยู่เป็นเดือนๆ และไม่มีญาติมารับไปดำเนินการเผาหรือฝัง จนสุดท้ายต้องไปดำเนินการฝังกลบอย่างระมัดระวังนับพันศพ

ดังนั้นต้องมีการวางแผนให้รอบคอบเพื่อรองรับปัญหาคนเสียชีวิตจากโควิด-19 บางโรงพยาบาลเริ่มประสบปัญหานี้ เช่น ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (โปรดอ่านได้จากข่าว คนตายล้นห้องเก็บศพ! รพ.ธรรมศาสตร์ เช่าตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม-เตรียมสู้สถานการณ์เลวร้าย )


ประการที่สี่ ศพที่ออกชันสูตรพลิกศพและพบว่ามีความเสี่ยงเป็นที่สงสัยว่าน่าจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ต้องได้รับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันทังนี้เพื่อทำให้การจัดการศพทำได้อย่างตามหลักการป้องกันการติดเชื้อ แต่มีปัญหาไม่สามารถเบิกจ่ายเงินตามระเบียบของทางราชการได้ เพราะไม่เคยมีระเบียบเรื่องนี้มาก่อน จำเป็นต้องมีประกาศออกมาเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายและจัดการศพอย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถป้องกันคลัสเตอร์ใหม่จากผู้เสียชีตจากโควิด-19 ที่ไม่เคยทราบผลมาก่อน ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงกับผู้ตายต้องได้รับการแจ้งเตือนและการเฝ้าระวัง

ในเวลานี้ เราเกิดวิกฤติ นอกจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 แล้วต้องเตรียมการรองรับชีวิตหลังความตายจากโควิด-19 อันได้แก่การจัดการศพอย่างเหมาะสมและเพียงพอด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น