“หมอนิติเวช” จี้กรมควบคุมโรคออกระเบียบรองรับกรณีตายเพราะโควิด-19 แต่ไม่มีประวัติการรักษา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างไรโดยเฉพาะประเภทคอนโด อพาร์ตเมนต์ เจ้าของตึกต้องทำอย่างไรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่รู้ตัว และอาจเป็นคลัสเตอร์ใหม่ได้
การตรวจชันสูตรศพแล้วพบว่าผู้ตายเสียชีวิตเพราะโควิด-19 แต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาจึงไม่มีข้อมูลในระบบควบคุมโรคนั้นนับเป็นปัญหาใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การแพร่กระจายของโรคเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นาวาอากาศตรี นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย หัวหน้าแผนกนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เปิดเผยว่า จากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า หลายรายเสียชีวิตเพราะโควิด-19 โดยไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาในสถานพยาบาล ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค ไม่มีข้อมูล
ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากเมื่อผู้ตายไม่มีประวัติว่าติดโควิด-19 ทำให้ไม่มีการประกาศไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตให้ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ที่ไปในสถานที่เดียวกับผู้เสียชีวิตได้รับทราบ
ขณะที่คนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อซึ่งควรได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกักตัวเพื่อรอดูอาการ อีกทั้งเมื่อคนเหล่านี้ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงจึงไม่ระมัดระวังตัวในการสัมผัสกับบุคคลรอบข้าง ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อและกลายเป็น “คลัสเตอร์ใหม่” ต่อไปได้อีก
นอกจากนั้น เมื่อไม่มีข้อมูลว่าติดโควิด-19 ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปฉีดฆ่าเชื้อในบ้านที่ผู้ป่วยเสียชีวิต รวมถึงชุมชนและร้านค้าต่างๆ ที่ผู้เสียชีวิตเข้าไปใช้บริการด้วย ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
สาเหตุที่กรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาจึงไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบนั้นมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่
1.กรุงเทพมหานครมีประชากรจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการรักษา บ่อยครั้งที่พบว่ามีประชากรแฝงและต่างด้าว การเน่าตายคาบ้านโดยไม่สามารถซักประวัติอะไรได้เลย
2.ในเมืองหลวงยังไม่มี อสม. หรือการเฝ้าระวัง ในชุมชนที่เข้มแข็งเหมือนในสังคมต่างจังหวัด
3.วิถีชีวิตเป็นไปแบบต่างคนต่างอยู่ ส่งผลให้กลุ่มคนชรา กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีญาติหรือลูกหลานดูแลจึงเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงการตรวจการรักษาได้ยาก ดังนั้น การตายจาก COVID-19 ที่บ้านจึงอาจหลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร
4.ผู้ป่วยสงสัยว่าติดโควิด-19 แต่ไม่สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อเพราะไม่มีสถานพยาบาลรองรับ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษา จึงไม่มีฐานข้อมูลของบุคคลเหล่านี้อยู่ในระบบของกรมควบคุมโรค ยิ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาในลักษณะนี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาของระบบฐานข้อมูล เนื่องจากแม้ในการชันสูตรศพจะพบหรือสงสัยว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 แต่หากไม่มีผลการรักษา ทางกรมควบคุมโรคก็จะไม่ระบุเคสเหล่านี้ลงในฐานข้อมูลโดยมองว่าไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าคนเหล่านี้เสียชีวิตจากโควิด-19 ขณะที่ทางนิติเวชเองก็ไม่มีอุปกรณ์และงบประมาณเพียงพอที่จะตรวจพิสูจน์โรค ตรงนี้จึงเป็นช่องโหว่ในการทำงานและการควบคุมโรค
นาวาอากาศตรี นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า จากการออกชันสูตรศพทำให้ค้นพบ cluster เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งมีผู้ดูแลติดเชื้อก่อน ต่อมา ผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 2 ราย ผล swab ที่ได้มาภายหลังพบเชื้อทั้งคู่ และได้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อการดำเนินการต่อไป ถือเป็นการเฝ้าระวังทำให้มีการรายงานโรคได้ไม่ตกหล่น
ต่อมา ยังพบกรณีตัวอย่างเป็นเคสหญิง 66 ปี พิการเป็นใบ้แต่กำเนิด อาชีพขายลอตเตอรี่ พบเสียชีวิตที่บ้าน มีอาการก่อนตายประมาณ 2 วัน ไข้ ไอ มีเสมหะ
อีกรายเป็นชายอายุ 78 ปี อาศัยอยู่กับภรรยาที่สมองเสื่อมด้วยโรคชรากัน 2 คน พูดคุยก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ป่วยก็ไม่มีใครพาไปโรงพยาบาล เก็บเชื้อตอนเป็นศพแล้วพบเชื้อทั้ง 2 ราย
ล่าสุด หญิงอายุ 55 ปี มีโรคประจำตัว พบเสียชีวิตที่บ้าน ผลตรวจก็พบเชื้อ
“เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกระเบียบที่ชัดเจนว่าในกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่มี่บ้านแล้วเกิดเสียชีวิต ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำอย่างไร เช่น ญาติจะจัดการศพอย่างไร แพทย์ที่ไปชันสูตรศพควรดำเนินการอย่างไร
หากเป็นคอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ให้เช่าเจ้าของตึกควรทำอย่างไรเพื่อให้เชื้อไม่แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น” นาวาอากาศตรี นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว