xs
xsm
sm
md
lg

ระเบียบภาษีโลกใหม่ ประเทศไทยได้อะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นพ นรนารถ



วันเสาร์ที่ผ่านมา (10 กรกฎาคม) ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้บริหารธนาคารกลาง กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ G20 ที่เมืองเวนิส อิตาลี เห็นชอบแผนปฏิรูประบบภาษีโลก ซึ่งริเริ่มและขับเคลื่อนโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย หรือ G7

ก่อนหน้านี้ วันที่ 1 กรกฎาคม กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี จัดประชุมสมาชิกและเชิญประเทศอื่นๆ 130 ประเทศ เห็นชอบกับแผนการปฏิรูปภาษีนี้

เดือนตุลาคมนี้ จะมีการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งจะต้องให้ความเห็นชอบกับการจัดระเบียบภาษีโลกใหม่ ซึ่งมีหลักการสำคัญสองข้อคือ 1. กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ ที่บริษัทข้ามชาติต้องเสีย 15% ไม่ว่าจะจดทะเบียน และไปทำธุรกิจที่ไหน 2. มีรายได้ที่ประเทศไทย ต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้น

สหรัฐฯ และอียู คุยกันมาหลายปีแล้วเรื่องการอุดช่องโหว่ ป้องกันการเลี่ยงภาษีของบรรษัทข้ามชาติ ที่ใช้วิธีไปจดทะเบียนในประเทศที่เก็บภาษีถูกๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี เช่น เฟซบุ๊ก แอมะซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ ฯลฯ ที่มีรายได้จากประเทศหนึ่ง แต่ไปเสียภาษีในประเทศที่ภาษีถูก เช่น ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฮังการี สิงคโปร์ ฯลฯ แต่ตกลงกันไม่ได้ว่า จะควรจะเก็บเท่าไร เก็บอย่างไร

เพิ่งมาตกลงกันได้ปีนี้ ที่โลกเจอวิกฤตโควิด รัฐบาลแต่ละประเทศมีค่าใช้จ่ายในการควบคุมป้องกันมหาศาล ในขณะที่เฟซบุ๊ก แอมะซอน และธุรกิจที่ทำมาหากินบนแพลตฟอร์ม ดิจิทัลรวยเอาๆ ประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลายจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเก็บภาษีบริษัทเหล่านี้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อนำมาใช้จ่ายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยแพร่รายงานผลดี ผลเสียที่ไทยจะได้รับจากการปฏิรูปภาษีโลกครั้งนี้ โดยแบ่งผลกระทบเป็น 2 ประเด็นคือ

ผลกระทบของการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ต่อความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของไทย และผลกระทบของการจัดสรรเม็ดเงินภาษีจากบริษัทข้ามชาติในธุรกิจดิจิทัลต่อรายได้การจัดเก็บภาษีของไทย

ประเด็นที่ 1 ผลกระทบต่อความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของไทย ตัวอย่างกลไกการทำงานของอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก เช่น บรรษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ แต่มีการลงทุนตั้งบริษัทและมีรายได้จากประเทศไอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ 12.5% เมื่ออัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก 15% มีผลบังคับใช้ ประเทศสหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บอัตราภาษีส่วนต่าง 2.5% จากกำไรของบริษัทนี้ที่ประเทศไอร์แลนด์ได้ ดังนั้น จึงทำให้ความน่าดึงดูดในการลงทุนที่ประเทศไอร์แลนด์มีลดน้อยลง

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าไทยจะมีการเก็บอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-13 ปี และการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลก็จะหมดไป

ปัจจุบัน มีบรรษัทข้ามชาติที่เข้าเกณฑ์จะถูกบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอยู่ประมาณ 100 บริษัท ซึ่งรวมถึงบรรษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปัจจุบันลงทุนอยู่ในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่บรรษัทข้ามชาติเลือกมาลงทุนที่ไทยไม่ได้อยู่ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ซัปพลายเชนที่ครบวงจร โครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ทางการค้า (GSP, FTA) และต้นทุนในการผลิตเข้ามาประกอบด้วย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ก็ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนทางตรงของไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ประเด็นที่ 2 ผลกระทบของการจัดสรรเม็ดเงินภาษีจากบรรษัทข้ามชาติในธุรกิจดิจิทัลต่อรายได้การจัดเก็บภาษีของไทย ที่ผ่านมา รายได้ของการให้บริการดิจิทัลที่เกิดขึ้นในไทยบางส่วนถูกแจ้งให้เป็นรายได้ของประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าไทย ในปี 2563 มูลค่าตลาดของการให้บริการดิจิทัลในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ประเทศไทยจะได้รับจัดสรรรายได้ภาษีจากบรรษัทข้ามชาติในอัตรา 20-30% ของกำไรก่อนเสียภาษีที่มากกว่า 10% ซึ่งข้อกำหนดใหม่นี้จะทำให้รายได้จัดเก็บภาษีของไทยเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะมีรายได้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตตามยอดขายบริการดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขอยกตัวอย่างวิธีการคำนวณรายได้การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมที่ประเทศจะได้รับ สมมติว่าบรรษัทข้ามชาติในธุรกิจดิจิทัล มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% และอัตรากำไรเฉลี่ยของบรรษัทนี้อยู่ที่ประมาณ 15% ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ ประเทศจะได้รับจัดสรรภาษีรายได้ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี

สำหรับประเทศไทย กรมสรรพากรกำลังจะเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับผู้ให้บริการดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศ (non-resident providers of digital services) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ซึ่งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นการจัดกับภาษีคนละรูปแบบกับภาษีบริการดิจิทัล (Digital Services Taxes) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในบริการดิจิทัล เพราะฉะนั้น เมื่อข้อกำหนดใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะยังสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ให้บริการดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศได้เหมือนเดิม และยังสามารถได้รับการจัดสรรเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อตกลงใหม่ได้อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการปฏิรูปภาษีทั่วโลก น่าจะส่งผลบวกในภาพรวมต่อไทย ในแง่การจัดเก็บรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจดิจิทัล ส่วนผลกระทบจากการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ที่มีความกังวลว่าจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินั้น ในเบื้องต้นอาจจะยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากประเทศในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ก็อยู่ใน 130 ประเทศที่เข้าร่วมการปฏิรูประบบภาษีโลกครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยที่บรรษัทข้ามชาติตัดสินใจเลือกมาลงทุนไม่ได้อยู่ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ความตกลงทางการค้า และการสนับสนุนจากภาครัฐอื่นๆ ซึ่งมองว่า การบังคับใช้อัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกน่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติทั่วโลกจากการแข่งขันกันให้สิทธิพิเศษทางภาษีนิติบุคคล มาเป็นการแข่งขันกันสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้าร่วมความตกลงทางการค้าเพื่อให้บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น