คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ “อุตตรกุรุ” เพื่อเป็น pharmakon หรือยาถอนพิษจากการหมกมุ่นฝันละเมอเพ้อพกถึงสังคมอุดมคติหรือ utopia เพราะในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ กระแสความคิดการปกครองสาธารณรัฐหรือ “รีปับลิค” และ “สังคมนิยม” หรือ “โซเชียลลิสต์” กำลังระบาด
คราวที่แล้วได้เล่าถึงเนื้อหาของ “อุตตรกุรุ” ไปบ้าง ขอทวนสักเล็กน้อยนะครับ คือ อุตตรกุรุเป็นทวีปๆ หนึ่งที่ใหญ่กว่าโลกประมาณสามเท่า และมีเมืองบริวารล้อมรอบอยู่ถึง 500 เมือง ผู้คนในทวีปนี้ มีลักษณะแตกต่างจากมนุษย์ที่เรารู้จัก นั่นคือ ใบหน้ามีทรงเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนกันหมด อีกทั้งรูปร่างก็เท่าๆ กันด้วย พละกำลังก็เท่าๆ กัน ไม่ว่าเด็กหรือแก่
ที่ออกแบบให้มนุษย์ในอุตตรกุรุมีรูปหน้าเหมือนกันหมด ก็น่าจะเพราะต้องการตัดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความไม่พอใจในความไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ความอิจฉาริษยา นั่นเอง
ประเด็นเรื่องความอิจฉาริษยานี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ เพราะคนที่รู้สึกไม่พอใจว่า ทำไมตัวเองไม่มีในสิ่งที่คนอื่นเขามี หรือทำไมคนอื่นมีในสิ่งที่ตัวเองมี นั่นคือ ไม่อยากให้คนอื่นเขามีอย่างที่ตัวเองมี แล้วไอ้ความรู้สึกแบบนี้มันจะนำมาไปสู่ความรู้สึกที่ว่า ที่เป็นอยู่ขณะนี้มันไม่ยุติธรรมเสียเลย และจะนำไปสู่การร้องหาความยุติธรรมเพื่อที่จะตนจะได้มีเหมือนคนอื่น หรือไม่ให้คนอื่นมีเหมือนที่ตนมี กลายเป็นเรื่องการประท้วงเรียกร้องต่อสู้ทางการเมืองไป
ในคติความคิดสมัยโบราณในโลกของเราที่ไม่ใช่โลกอุตตรกุรุ มักจะบอกว่าความอยากเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ว่าจะอยากมีอย่างเขา หรืออยากไม่ให้เขามีอย่างเรา ไม่ว่าคติตะวันตกหรือตะวันออกจะไม่ต่างกันมากนัก และไม่ว่าจะเป็นแนวศาสนาหรือแนวการปกครอง ซึ่งสมัยก่อนมักจะไม่ค่อยแยกจากกันเท่าไรนัก ที่สนับสนุนความอยากก็มีแต่น้อย อย่างเช่นความคิดของพวกโซฟิสต์ (sophists) บางคนที่ยืนยันว่า ความต้องการหาความสุขหรือครอบครองข้าวของไว้มากคนเดียวเป็นเรื่องปกติ เป็นผลประโยชน์ที่มนุษย์แต่ละคนพึงแสวงหาและต่อสู้เพื่อให้ได้มา
แต่ตะวันตกพอเข้าสู่สมัยใหม่ คติโบราณที่ว่า ความอยากเป็นสิ่งไม่ดีได้ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นเรื่องของธรรมชาติที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน แถมยังแปลงให้กลายเป็น “สิทธิ์” ที่ทุกคนมีและพึงได้ และสิทธิ์นี้ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดด้วย โดยตั้งชื่อให้ฟังดูดีว่า “สิทธิ์ตามธรรมชาติ” หรือ “natural rights” ที่ให้ rights ต้องมี s เป็นพหูพจน์เพราะมันมีหลากหลายสิทธิ์มาก และการเรียกร้องตามสิทธิ์ตามธรรมชาตินี้ มนุษย์สมัยใหม่จึงไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเรียกร้อง ความทะยานอยาก (ambition) ที่เคยเป็นเรื่องไม่ดีน่าละอายก็กลายเป็นเรื่องถูกเรื่องต้องสำหรับมนุษย์ ดังนั้น right มันจึงมีความหมายทั้ง สิทธิ์ และ ความถูกต้อง ไปพร้อมๆ กัน
ทีนี้ เรามาดู “อุตตรกุรุ” กันต่อจากคราวที่แล้วกัน !
เมื่อตัดเงื่อนไขความแตกต่างทางด้านสรีระไปพอสมควรแล้ว สภาพภูมิศาสตร์และบ้านเมืองของอุตตรกุรุได้รับการออกแบบให้ “แผ่นดิน...ราบเรียบเสมอกัน ไม่มีที่ลุ่มที่ดอนหรือที่ ขรุขระปรากฏให้เห็น และมีต้นไม้นานาพันธุ์ มีกิ่งก้านสาขางาม มีค่าคบใหญ่น้อยมากมาย เหมือนเขาตั้งใจสร้างไว้เป็นบ้านเรือนดูงามดั่งปราสาท เป็นที่อยู่อาศัยของคนในอุตตรกุรุทวีปนั้น ไม้นั้นไม่มีตัวแมลงตัวด้วง ไม่มีส่วนที่คด ที่งอ ที่กลวง ที่เป็นโพรง ต้นตรงกลมงามมาก ผลิดอกออกผลตลอดเวลาไม่เคยขาด ที่ใดที่เป็นบึง หนอง ตระพังจะดาดาษด้วยดอกบัวแดง บัวขาว บัวเขียว บัวหลวง และกุมุท อุบล จงกลนี นิลุบล บัวเผื่อน บัวขม เมื่อลมพัดต้องก็โชยกลิ่นหอมขจรขจายไปโดยรอบอยู่ทุกเวลา”
แถมยังไม่มีปัญหาเรื่องฤดูกาลที่ต้องร้อนหนาว แถมไม่มีภัยธรรมชาติอย่างลมและฝน ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลางวันกลางคืน ไม่มีอันตรายจากสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือใหญ่ มีพิษหรือไม่มีพิษ
อีกทั้งคนออกแบบได้เล่าว่า คนในอุตตรกุรุไม่ต้องห่วงเรื่องการทำมาหากิน เพราะไม่ต้องทำไร่ไถนา เพราะอะไร ?
เพราะ “ชาวอุตตรกุรุทวีปมีข้าวชนิดหนึ่งชื่อ สัญชาตสาลี คือ ข้าวที่เกิดเอง เขาไม่ต้องหว่านหรือไถดำ ข้าวนั้นเกิดเป็นต้นเป็นรวงเป็นข้าวสารเอง ข้าว นั้นหอม ไม่มีแกลบมีรำ ไม่ต้องตำ ไม่ต้องฝัด ขาวอุตตรกุรุทวีปชวนกันกินข้าวนั้นอยู่เป็นประจำ”
โอเคเลย ! เขามีเมล็ดข้าวพันธุ์พิเศษ ไม่ต้องลงแรงดำ หว่าน ไถ เกี่ยว ฯลฯ มันงอกขึ้นมาเองอยู่ตลอด เมื่อได้ข้าวมาแล้ว จะกินดิบๆ ก็คงไม่ได้ มันต้องหุง ถ้าต้องหุง มนุษย์ในอุตตรกุรุจะต้องใช้เวลาเป็นพันๆ ปีกว่าจะรู้จักใช้ไฟเหมือนกับมนุษย์อย่างเราๆ และเมื่อต้องรอวิวัฒนาการเป็นพันๆ ปี มนุษย์คงต้องทุกข์ทรมานแย่ !
แต่เปล่าเลย ชาวอุตตรกุรุไม่ต้องรอกระบวนการวิวัฒนาการให้เหนื่อยยาก เพราะสามารถมีอุปกรณ์จุดไฟอัตโนมิติ “ในอุตตรกุรุทวีปยังมีหินชนิดหนึ่งชื่อ โชติปาสาณ คนเหล่านั้นจะเอาข้าวสารกรอกใส่หม้อทองเรืองงาม ยกไปตั้งบนแผ่นหิน โชติปาสาณนั้น ชั่วครู่หนึ่งจะเกิดเป็นไฟลุกขึ้นได้เอง เมื่อข้าวสุก ไฟจะดับเอง เมื่อเขาเห็นไฟดับก็รู้ว่าข้าวสุก จึงคดใส่ถาดและตะไลทองงาม”
ข้าวไม่ต้องปลูก หุงข้าวก็ไม่ต้องหาฟืนหาไฟ เพราะมีหินวิเศษ ทีนี้ จะให้กินข้าวเปล่าๆ หรือยังไง ?
ไม่ต้องห่วงครับ อุตตกุรุไม่ปล่อยให้ชาวทวีปเขาต้องกินข้าวเปล่าๆทให้อนาถาหรอก เขามีกับข้าวให้ และก็ไม่ต้องลำบากหาลำบากทำด้วยแน่ะ !
เขาออกแบบไว้ว่า “เมื่อนึกว่าจะกินสิ่งใด ก็จะปรากฏขึ้นอยู่ใกล้ๆ เขาเอง”
ฟังดูแล้ว ปัจจุบันนี้ก็ใกล้แบบนั้นเข้าไปทุกทีไม่ใช่หรือครับ ! เดี๋ยวนี้ถ้าเรานึกอยากทานอะไร ก็แค่กดสั่งออนไลน์ เดี๋ยวก็จะมีคนมาส่งไม่เกิน 30 นาทีบ้าง หรือตามระยะทางบ้าง แต่เราต้องมีสตางค์ ใช้นึก ก็กินกับข้าวทิพย์ไปก็แล้วกัน
แต่ฟังดูแล้วก็น่าสนุกนะครับ ประเภทนึกอยากกินอะไร ก็ได้กินตามนั้น ปัญหาคือ คนอุตตรกุรุจะรู้จักรายการอาหารหลากหลายเหมือนที่มนุษย์ยุคดิจิตัลโลกาภิวัตน์รู้ไหมนะ ? เพราะกว่ามนุษย์อย่างเราจะคิดประดิษฐ์สร้างรายการอาหารได้หลากหลายอย่างที่มีอยู่นี้ มันก็ต้องเดินทางผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานพอสมควรเลยทีเดียว เมื่อชาวอุตตรกุรุขาดประสบการณ์แบบเราๆ ก็ไม่น่าจะนึกเมนูเปิบพิสดารอะไรได้มากมายนัก (น่าสงสารอยู่)
ทีนี้ ถ้ากินข้าวขาว (ผมเข้าใจว่า เขาน่าจะกินข้าวขาวครับ) มันก็ไม่น่าจะดีต่อสุขภาพและก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา เหมือนกับที่เกิดกับมนุษย์ทวีปโลกอย่างเรา แต่ดูเหมือนว่า คนออกแบบอุตตรกุรุเขาจะหยั่งรู้อนาคตว่า ถ้ากินข้าวแล้วจะป่วย เขาเลยตัดปัญหาโดยออกแบบให้ชาวอุตตกุรุ
“เมื่อกินข้าวนั้นแล้ว จะไม่เกิดโรคต่างๆ เป็นต้นว่า โรคหิด โรคเรื้อน เกลื้อน กลาก โรคฝี โรคหนอง โรคผอมแห้ง และโรคลมบ้าหมู จะไม่เป็นโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่เป็นง่อยเปลี้ยเพลียแรง ดวงตาไม่บอดไม่ฟาง หูไม่หนวกไม่ตึง จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการดังกล่าวมานั้น”
โอเคเลยอีกแล้วครับท่าน ไม่ต้องทำอะไรก็มีกิน กินแล้วก็ไม่เจ็บไม่ไข้ ออกแบบอย่างนี้ ก็เป็นเมืองในฝันหรือเมืองในอุดมคติชัดๆ
เมื่อมีข้าวและกับข้าวกินอย่างไม่ต้องลำบากลำบนอะไร คนอุตตรกุรุก็เป็นคนใจดีเอื้อเฟื้อ ไม่หวงข้าวกับข้าว
“ถ้าเขากำลังกินข้าวนั้นอยู่ เมื่อมีคนมาเยี่ยม เขาก็นำข้าวนั้นมารับรองด้วยความเต็มใจ และไม่รู้สึกเสียดาย” แน่ละ จะรู้สึกเสียดายได้ยังไง ก็มีไม่อั้นเสียอย่างนั้น
แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะคนในโลกปัจจุบันอย่างเรา บางคนร่ำรวยมหาศาล หาก็ไม่ได้หาเอง พ่อแม่ทำทิ้งไว้ให้เป็นมรดก ใช้จนนรกแตกก็ยังเหลือ แต่คนแบบนี้ก็มีที่งกจัด ตรงกันข้าม คนที่ไม่รวยและต้องทำงานหาเงินด้วยความยากลำบาก แต่มีจิตใจเอื้อเฟื้อก็มี แต่อาจน้อยลงทุกวันๆ
แม้ว่าจะไม่ต้องลงแรงเพาะปลูก ไม่ต้องหักฟืนก่อไฟ และไม่ต้องเผชิญร้อนหนาวลมฝนพายุ กลางวันกลางคืนก็ไม่ต่าง รูปร่างหน้าตาก็ไม่ต่างกัน แต่คนออกแบบก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำปล่อยให้คนอุตตรกุรุไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์ข้าวของต่างๆ หลากหลายเหมือนพระภิกษุที่ไม่ต้องทำอะไรฉันเอง แต่ขอชาวบ้านเอา และต้องห่มจีวรเหมือนกันหมด
เพราะเขาออกแบบไว้ให้อีกแล้วว่า “ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง ๑๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๐๐ โยชน์ ผู้ใดปรารถนาอยากจะได้ทรัพย์สินเงินทองหรือเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลายเป็นต้นว่า เสื้อสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ ผ้านุ่งผ้าแพรพรรณต่างๆ ก็ดี หรือเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ สิ่งเหล่านั้น ย่อมบังเกิดขึ้นแต่ค่าคบของต้นกัลปพฤกษ์นั้น ให้สำเร็จสมตามความปรารถนาทุกประการ”
แปลว่า ชีวิตชาวอุตตรกุรุไม่ได้จะต้องจืดชืดไร้ซึ่งทรัพย์สินเงินทองข้าวของเครื่องประดับต่างๆนานา เพียงแต่ไปยืนใกล้ๆต้นกัลปพฤกษ์ แล้วนึกขึ้นมา สิ่งปรารถนาก็จะออกมาจากต้นไม้นั้นได้เอง อย่าลืมว่า ต้นมันใหญ่มาก ของใหญ่ๆมันก็ให้ได้แน่นอน
แต่ถ้ามีใครอุตริเกิดอยากได้ทวีปแบบอุตตรกุรุขึ้นมาเพื่อจะเอาไว้ครอบครองอยู่คนเดียว คงจะลำบาก เพราะขนาดของอุตตรกุรุทวีปนั้นใหญ่กว้างถึง “8,000 โยชน์” ต้นกัลปพฤกษ์ใหญ่แค่ 100 โยชน์เท่านั้น
คราวหน้า เรามาลองฟังเรื่อง “ผู้หญิง” ในอุตตรกุรุกัน !