"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เมล็ดประชาธิปไตยที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ในปี ๒๕๔๐ ได้รับการคาดหวังว่าจะเติบโตเป็นต้นไม้ประชาธิปไตยที่แข็งแรง และออกดอกผลที่ยังประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวง ทว่า ความฝันเชิงอุดมคติอันสวยงามเช่นนั้นถูกแทนที่ด้วยความอัปลักษณ์อันแสนโหดร้ายของโลกแห่งความเป็นจริง เพราะมดปลวกทางการเมืองรุมแทะ และกัดกร่อนจนแคระแกร็น เพียงไม่นานต้นอ่อนของระบอบประชาธิปไตยก็ถูกกระชากถอนทึ้งด้วยสัตว์ร้ายที่มีเขี้ยวเล็บอันแหลมคม
ช่วง ๑๐ ปี ระหว่าง ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๙ บททดลองในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทย ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และการรังสรรค์ภายใต้ปัญญาของนักวิชาการก็ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบในปี 2544 แก่นหลักของประชาธิปไตยที่ภาคปัญญาประชาสังคมร่วมกันสร้างคือ ประชาธิไตยแบบผสมระหว่าง “ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมสังคม” กับ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” เพื่อนำมาทดแทนและแทนที่ “ประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์นิยม” ของช่วงทศวรรษที่แล้ว
การเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๔ บรรยากาศทางการเมืองช่วงนั้นเปี่ยมไปด้วยความตื่นเต้น ความกระตือรือร้น และความคาดหวังของผู้คนในสังคม พรรคการเมืองใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายพรรค บุคคลหน้าใหม่มีภาพลักษณ์ดีจำนวนมากเดินเข้าสู่สนามการเมือง มีพรรคการเมืองใหม่บางพรรคที่เอาจริงเอาจังในการสร้างนโยบาย และใช้นโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง องค์การที่จัดการและดูแลการเลือกตั้งก็ดูเหมือนเอาจริงเอาจัง และมุ่งมั่นสร้างความเที่ยงธรรมและสุจริตในการเลือกตั้ง ประชาชนหลากหลายกลุ่มรู้สึกตื่นเต้น และตื่นตัวในการเข้าร่วมการเมือง ความหวังในการสร้างอนาคตอันสดใสได้ถูกปลุกขึ้นมา และแพร่กระจายไปทั่วสังคม
พรรคการเมืองที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่อย่าง พรรคไทยรักไทย ประสบชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ปัจจัยแห่งชัยชนะของพรรคนี้ประกอบด้วย การมีเงินทุนจำนวนมหาศาล การนำเสนอยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้งแบบบูรณาการ ทั้งการสร้างและนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้นำที่โดดเด่นมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร การใช้นโยบายหาเสียงที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างถ้วนหน้าในราคาถูก การกระจายงบประมาณด้านการพัฒนาจำนวนหนึ่งไปให้ชุมชนจัดการกันเอง และการให้ประชาชนในนามบุคคลกู้ยืมเงินเพื่อนำไปพัฒนาอาชีพ การใช้ระบบการควบรวมนักการเมืองเก่าในระบบอุปถัมภ์นิยมเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งของพรรค การใช้แนวคิดและข้อมูลข่าวสารเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์หาเสียงอย่างจริงจัง และการใช้ยุทธศาสตร์การเมืองเชิงการตลาด ผสมกับการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนในพื้นอย่างเป็นระบบ
ครั้นได้อำนาจมา รัฐบาลทักษิณใช้อำนาจแบบเบญจลักษณ์ หน้าที่หนึ่ง ขับเคลื่อนนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อผูกมัดใจประชาชน หน้าที่สอง สยายปีกแห่งอำนาจครอบงำและทำลายระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมของนักการเมืองระดับจังหวัด พร้อมกับสถาปนาระบบอุปถัมภ์นิยมใหม่ขึ้นมา โดยออกแบบให้นักการเมืองและมวลชนขึ้นตรงต่อผู้นำและศูนย์กลางอำนาจในพรรค หน้าที่สาม ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ตนเองและเครือข่ายบริวารพวกพ้อง หน้าที่สี่ สร้างมวลชนของพรรค ปลูกฝังความเชื่อให้เกิดความจงรักภักดี หลงใหล และเชื่อฟังราวกับเป็นสาวกในลัทธิความเชื่อหนึ่ง และหน้าที่ห้า ดำเนินการกัดกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมสังคมและแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นขั้นตอน พร้อมกับสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์นิยมใหม่” (neo-patronage democracy) ขึ้นมา
ระบอบประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์นิยมใหม่มีโครงสร้างความคิดอันเป็นการผสมผสานของความคิดหลักห้าอย่างคือ อำนาจนิยม ธุรกิจนิยม ภาพลักษณ์นิยม มวลชนนิยม และทุจริตนิยม
1) อำนาจนิยม คือ การใช้อำนาจและความรุนแรงเป็นแนวทางหลักในการบริหารมากกว่าการบริหารด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ใช้อำนาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการ ปรับเปลี่ยนความคิด ค่านิยม และพฤติกรรมของข้าราชการให้สวามิภักดิ์และภักดีต่อนายใหม่ และสถาบันทางการเมืองแบบอำนาจนิยมสมัยใหม่แทนสถาบันจารีตนิยมดั้งเดิม ตัวอย่างนโยบายและมาตรการภายใต้อำนาจนิยม เช่น การกำหนดนโยบายที่แฝงด้วยการสังหารโดยนัยในการปราบปรามยาเสพติด การทำให้บุคคลที่ไม่เห็นด้วยหายสาบสูญ ดังกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร การคุกคามสื่อมวลชน การคุกคามนักสิทธิมนุษยชน การปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการนำการบริหารแบบธุรกิจมาใช้ในระบบราชการ เป็นต้น
2) ธุรกิจนิยม คือการใช้เป้าหมายและกลยุทธ์ทางธุรกิจมาเป็นแนวทางการจัดการทางการเมือง ดังเช่น การกดดันพรรคการเมืองบางพรรคให้สลายตัว และมารวมกับพรรคตนเอง การให้เงินตอบแทนสมาชิกรัฐสภาของพรรคตนเองเสมือนเป็นพนักงานบริษัท การกำหนดชื่อเรียกหัวหน้าพรรคโดยใช้คำว่า “บอส” ซึ่งเป็นคำที่มักใช้ในภาคธุรกิจ และวงการมาเฟียของต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งการทำให้สินค้าและองค์การสาธารณะซึ่งเป็นสมบัติของประเทศกลายเป็นของเอกชน เช่น การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
3) ภาพลักษณ์นิยม เป็นการสร้างภาพลักษณ์โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง เพื่อสร้างภาพให้ผู้นำพรรคกลายเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้มีความสามารถในการบริหาร เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ และการตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยอาศัยการเบี่ยงเบนประเด็น หรือสร้างประเด็นใหม่เพื่อกลบเกลื่อนประเด็นที่กำลังถูกวิจารณ์ ตัวอย่างการสร้างภาพลักษณ์ เช่น การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร การสอนหนังสือโชว์ การแนะนำหนังสือให้ประชาชนอ่าน เป็นต้น
4) มวลชนนิยม เป็นการสร้างและปลูกฝังให้มวลชนมีความจงรักภักดี หลงใหล เชื่ออย่างงมงายในตัวผู้นำ โดยการใช้นโยบายประชานิยมในหลากหลายรูปแบบ ภายใต้โครงการและมาตรการนานัปประการ แจกเงินทองและสิ่งของแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มวลชนรู้สึกพึ่งพาอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับจัดตั้งระบบเครือข่ายหัวคะแนนแบบใหม่ ที่ออกแบบให้มวลชนและหัวคะแนนขึ้นตรงต่อผู้นำและศูนย์กลางพรรคมากกว่า ส.ส.ในพื้นที่ เมื่อมีมวลชนจำนวนมากเป็นฐานแล้ว ก็ใช้มวลชนเสริมความแข็งแกร่งของอำนาจ และใช้เป็นกองกำลังตอบโต้คู่แข่ง เช่น เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พรรค นโยบายพรรค หรือ ผู้นำพรรค มวลชนของพรรคก็จะออกมาชุมนุมกดดันผู้วิจารณ์ในรูปแบบต่าง ๆ
5) ทุจริตนิยม เป็นการใช้อำนาจกำหนดกฎหมาย นโยบาย และมาตรการ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เครือธุรกิจของตนเอง เครือญาติ และพวกพ้อง รวมทั้งยังสร้างบรรทัดฐาน “ระบบเงินทอน” ของโครงการขึ้นมา จนกลายเป็นบรรทัดฐานของการทำโครงการของรัฐที่บรรดานักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณและโครงการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง
ระบอบประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์นิยมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมา นอกจากทำลายจิตวิญญาณและสารัตถะของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมสังคมและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างรุนแรงแล้ว ยังได้ไปท้าทายอำนาจของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ผู้ชื่นชมต่อประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบจารีตอีกด้วย ส่งผลให้เกิดการตอบโต้กลับอย่างรุนแรงของกลุ่มพันธมิตรชั่วคราวทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย ภาคประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเสรีนิยมสังคมและมีส่วนร่วม ( participatory and social liberal democracy) กับชนชั้นกลางและชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบจารีต (traditionally authoritarian democracy)
การต่อสู้ทางการเมืองได้สร้างความเป็นขั้วการเมืองขึ้นมา มีการใช้สีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ ฝ่ายเสื้อเหลืองเป็นเครือข่ายของพันธมิตรชั่วคราวระหว่างชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม กลุ่มทุนเก่า ชนชั้นกลางระดับสูง ชนชั้นกลางระดับกลาง และภาคประชาสังคม ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดง ประกอบด้วย เครือข่ายนักการเมืองพรรคไทยรักไทย กลุ่มทุนใหม่ กลุ่มทุนการเมืองท้องถิ่น กลุ่มนักธุรกิจระดับกลางและเล็ก ชนชั้นกลางระดับล่าง ข้าราชการระดับล่างผู้ใช้แรงงาน และมวลชนเกษตรกร การต่อสู้จบลงด้วยการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ เปิดทางให้เผด็จการทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้สำเร็จ ประชาธิปไตยที่ทำให้แคระแกร็นด้วยระบอบทักษิณก็ถูกกระชากทิ้งไปโดยเขี้ยวเล็บอันแหลมคมของคณะรัฐประหาร
ถึงแม้ว่าคณะรัฐประหารปี ๒๕๔๙ อยู่ในอำนาจไม่นาน แต่แบบอย่างของการรัฐประหารยุคใหม่ก็เกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่เว้นว่างไปถึง ๑๕ ปี และกลายเป็นตัวอย่างและบทเรียนของการเรียนรู้ให้แก่คณะรัฐประหารชุดใหม่ที่เปี่ยมด้วยสำนึกเผด็จการที่ลึกซึ้งในปี ๒๕๕๗ ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวต่อในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ความพยายามที่จะรื้อฟื้นประชาธิปไตยเสรีนิยมสังคมและมีส่วนร่วมก็ยังไม่สูญหายไปเสียทั้งหมด บรรดานักวิชาการและภาคประชาสังคมได้ร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญแ ๒๕๕๐ โดยสืบทอดเค้าโครงความคิดหลักจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และปรับปรุงกลไกอันเป็นจุดอ่อนบางประการของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แต่ก็ไม่อาจทัดทานกระแสคลื่นอิทธิพลของประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์นิยมใหม่ได้ พรรคพลังประชาชน ซึ่งสืบทอดความคิดและยุทธศาสตร์การเมืองจากพรรคไทยรักไทยก็ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งในปลายปี ๒๕๕๐
ทศวรรษใหม่เริ่มต้นด้วยรัฐบาลสมัคร จากพรรคพลังประชาชน แต่ไร้ความหวังใด ๆ ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเสรีนิยมสังคมแบบมีส่วนร่วม สังคมถูกครอบงำด้วยประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์นิยมใหม่เช่นเดิม ขณะเดียวกันมหันตภัยอันใหญ่หลวงของระบอบประชาธิปไตยก็ก่อตัวอย่างเงียบเชียบ และพัฒนาอย่างช้า ๆ เป็นขั้นตอนโดยการสมคบคิดของนักการเมืองและทหารที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมจารีต
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)