ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ทุกวันนี้คนจีนมีกินมีใช้ ไม่อดอยากหรือกินแบบกระเหม็ดกระแหม่เหมือนเมื่อราว 40 ปีก่อนอีกแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น หากยังมีชีวิตที่ดีกว่าอดีตมากนัก หลายคนที่เห็นคนจีนอยู่ดีกินดีอาจรู้สึกปกติด้วยเห็นว่าเป็นธรรมดาของชาติที่มีเศรษฐกิจดี
แต่ถ้าใครรู้ว่า กว่าที่คนจีนจะมีกินแบบวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้างก็อาจจะจุก ด้วยไม่นึกว่าคนจีนเคยผ่านเหตุการณ์แย่ๆ มาก่อน เพื่อให้เข้าใจว่าในอดีตคนจีนกินกันอย่างไร บทความนี้จะไล่เรียงให้ได้ทราบโดยลำดับ โดยขอเริ่มจากยุคก่อนที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ก่อน
ก่อนที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์จีนปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ เวลานั้นแม้การเมืองจะเป็นเผด็จการ แต่เศรษฐกิจของจีนกลับเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมกึ่งผูกขาด
ที่ว่าเสรีนิยมหมายความว่า เวลานั้นคนจีนมีเสรีในการที่จะทำมาค้าขายด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องมีการแข่งขันกันบ้างเป็นธรรมดาของเศรษฐกิจในแนวนี้
ส่วนที่ว่าผูกขาดหมายความว่า ในขณะที่คนส่วนใหญ่แข่งขันกันอย่างเสรีอยู่นั้น ก็กลับมีบางกลุ่มบางคนที่มีความได้เปรียบ นั่นคือ มีทุนหนา มีเส้นสาย และมีอภิสิทธิ์
คนกลุ่มนี้มีอยู่ไม่กี่ตระกูล และมีสายสัมพันธ์กับผู้นำทางการเมืองทั้งในทางที่เป็นญาติหรือไม่ก็เป็นมิตรสหาย
เล่ากันว่า ในช่วงปลายสาธารณรัฐนั้น หนึ่งในตระกูลดังกล่าวได้นำเข้าแป้งทำอาหารจากสหรัฐอเมริกา ทั้งที่แป้งนี้จีนเองก็ผลิตได้เองอยู่แล้ว แต่แรงจูงใจที่ทำให้คนในตระกูลที่ว่านำเข้าสินค้าดังกล่าวก็เพราะสหรัฐฯ เสนอขายให้ราคาที่ถูกกว่าในจีน
ในแง่นี้ก็หมายว่า หากนายทุนคนนั้นนำเข้ามาขายแล้วก็สามารถขายได้ในราคาถูกกว่าที่จีนผลิตเอง ซ้ำยังเป็น “ของนอก” ที่จะทำให้ชาวจีนมีแรงจูงใจที่จะซื้ออีกด้วย การกระทำเช่นนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการและปัญญาชน เพราะนั่นจะเท่ากับทำลายผู้ผลิตในจีนอย่างย่อยยับ
แล้วเหตุการณ์ก็เป็นจริงตามนั้น
จนปัญญาชนบางคนทนอับอายไม่ได้ที่ประเทศของตนมีคน (จีน) ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวจนกล้าที่จะทำลายแม้แต่คนในชาติเดียวกันอย่างเลือดเย็น ทั้งๆ ที่นายทุนคนนั้นปกติก็มีธุรกิจอื่นเป็นของตัวเองและมีความร่ำรวยอยู่แล้ว
ปัญญาชนบางคนทนอับอายไม่ได้จนต้องทำอัตวินิบาตกรรมจนตัวตายในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การอธิบายการบริโภคของคนจีนในเวลานั้นที่ชัดเจนคือ ภาพที่แสดงให้เห็นถึงค่าของเงิน 100 หยวนว่าสามารถซื้ออะไรได้บ้างในแต่ละช่วง ดังนี้
ปี 1937 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นนั้น เงิน 100 หยวนสามารถซื้อวัวได้สองตัว ปี 1939 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สามารถซื้อหมูได้หนึ่งตัว ปี 1941 ที่สงครามโลกตึงเครียดสุดขีดสามารถซื้อแป้งทำอาหารได้หนึ่งกระสอบ
พอปี 1943 อันเป็นช่วงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มตีโต้ฝ่ายอักษะได้แล้วนั้น สามารถซื้อไก่ได้หนึ่งตัว จนถึงปี 1945 ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกสิ้นสุดลงพร้อมกับสงครามจีน-ญี่ปุ่นนั้น สามารถซื้อไข่ไก่ได้สองฟอง จนปี 1947 ที่สงครามกลางเมืองระหว่างกว๋อหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนปะทุขึ้น สามารถซื้อถ่านหินขนาดเท่ากำมือได้หนึ่งก้อน
สุดท้ายคือปี 1949 อันเป็นปีที่สงครามกลางเมืองจบลงโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้ชนะ สามารถซื้อกระดาษขนาดประมาณ A4 ในปัจจุบันได้หนึ่งแผ่น
ภาพเปรียบเทียบนี้ทำให้เราจินตนาการได้ว่า การกินของคนจีนในเวลานั้นอดอยากหรือขัดสนเพียงใด ภาพปกติภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ก็คือ ภาพคนตายบนทางเท้าที่มีให้เห็นแทบทุกวัน ที่ว่ากันว่าองค์กรการกุศลต้องเก็บศพกันไม่หวาดไม่ไหว
เป็นการเก็บศพใส่รถเข็นจนศพก่ายกองพะเนิน ไม่ได้เก็บแบบที่เราเห็นผ่านรถกระบะกู้ภัยในเมืองไทยปัจจุบันที่สะดวกรวดเร็ว และห่อหุ้มศพเป็นระเบียบเรียบร้อย
หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองได้แล้ว บ้านเมืองจีนจึงสงบลงอีกครั้งหนึ่ง เหตุดังนั้น เรื่องแรกที่ถูกบริหารจัดการอย่างเร่งด่วนก็คือ เรื่องกินเรื่องใหญ่นี้เอง
จีนในยุคคอมมิวนิสต์ช่วงแรกสามารถบริหารจัดการภาคการเกษตรได้ค่อนข้างดี การบริโภคของคนจีนจึงค่อยๆ ดีขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนจีนสามารถหาซื้อสินค้าบริโภคได้โดยไม่จำกัด หรือสามารถกินอาหารดีๆ แพงๆ ตามภัตตาคารได้โดยปกติ ลำพังแค่ทำให้พ้นไปจากภาวะอดอยากก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว
จากปี 1949 จนถึง 1959 ถือเป็นช่วงที่ชีวิตการกินของชาวจีนดีขึ้นกว่าก่อนปี 1949 แต่การกินที่ดีขึ้นนี้ต้องมาชะงักลงเมื่อเกิดทุพภิกขภัยขึ้นในปี 1958-59 ภัยนี้ครอบคลุมจีนจนถึงปี 1960-61 และทำให้คนจีนเสียชีวิตนับสิบล้านคน
ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอนยังไม่เป็นที่เปิดเผยจากรัฐบาลจีน
หลังจากภัยดังกล่าวยุติไปแล้ว จีนก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่การกินของชาวจีนยังไม่ถึงกับดีขึ้นมาทันตาเห็น มาดีขึ้นจริงๆ ก็ราวปี 1963-1965 ตอนที่เริ่มดีขึ้นนี้มีนักเขียนชาวจีนท่านหนึ่งถึงกับกล่าวว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดีช่วงหนึ่งของสังคมจีน ชั่วอยู่แต่ว่ามันอยู่ได้ไม่นาน
เพราะหลังจากนั้นในปี 1966 ก็เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในจีน เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้นำซ้ายจัดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก้าวขึ้นมามีอำนาจ แล้วดำเนินนโยบายซ้ายจัดในทางเศรษฐกิจและการเมือง เรียกได้ว่า ใครหรืออะไรที่ไม่ซ้ายถือว่ามีความผิด
นโยบายนี้ส่งผลมาถึงการกินของคนจีนไปด้วย จะกินอะไรก็กินแต่พออิ่ม ไม่กินหรูกินดีเยี่ยงชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุน ดังนั้น หากไม่นับอาหารจำพวกผักที่สามารถหาซื้อมากินได้ไม่จำกัดแล้ว ที่เหลือนอกนั้นจะถูกจำกัดปริมาณต่อเดือนไม่ขาดไม่เกิน
เวลานั้นการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจะกระทำผ่านบัตรปันส่วน บัตรนี้รัฐท้องถิ่นจะจ่ายให้แก่ชาวจีนเดือนละครั้ง บัตรแต่ละใบจะระบุว่าสินค้าที่จะซื้อว่าคืออะไร ปริมาณเพียงใด และด้วยราคาเท่าไร เช่น ถ้าเป็นเนื้อสัตว์แล้วทุกคน (ในวัยผู้ใหญ่) สามารถซื้อได้คนละครึ่งกิโลกรัมต่อเดือน เป็นต้น
ลำพังปริมาณเนื้อสัตว์เพียงเท่านั้นก็ต่างกับที่พวกเรากินกันในปัจจุบันมากแล้ว
แต่หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงในปี 1976 ไปไม่กี่ปี จีนก็เข้าสู่ยุคปฏิรูปในปี 1978 ยุคนี้ก็คือยุคที่จีนเป็นอยู่ในทุกวันนี้ เป็นยุคที่จีนปฏิเสธนโยบายซ้ายจัด บัตรปันส่วนถูกยกเลิก ใครจะซื้อกินอย่างไรก็สามารถหาซื้อมาได้ตราบเท่าที่มีเงินซื้อ จนเวลาผ่านไป 20-30 ปี เศรษฐกิจก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
พอผ่านไป 40 ปี จีนก็ประสพผลสำเร็จในการทำให้ชาวจีนอยู่ดีกินดีดังที่เห็นในวันนี้
แต่คนเรามักเป็นเสียอย่างนี้ คือพอมีฐานะดีขึ้นก็เริ่มกินทิ้งกินขว้าง ลืมอดีตที่ตนเคยไม่มีจะกินหรือกินแบบจำกัดจำเขี่ย คนจีนจำนวนมากทำตัวเช่นนี้ จนรัฐต้องออกมารณรงค์ให้หยุดพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้าง
ใครที่เคยไปเมืองจีนเป็นเวลานานๆ จะรู้ได้เองว่า อาหารการกินของจีนไม่เพียงจะมีรสดีและมีสีสันที่ชวนกินเท่านั้น หากยังมีความหลากหลายจนคาดไม่ถึง จากประสบการณ์ส่วนตัวได้บอกให้รู้ว่า ในจีนเพียงแค่ข้ามจากตำบลหนึ่งไปอีกตำบลหนึ่ง อาหารก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว
คงเพราะเหตุนี้ประกอบกัน เลยทำให้คนจีนรู้สึกว่าความหลากหลายของอาหารเป็นเรื่องปกติที่จะได้ลิ้มลอง พอลิ้มลองเป็นที่พอใจแล้วก็หยุด โดยไม่สนใจว่าอาหารที่เหลือหลายๆ จานบนโต๊ะจะสะท้อนความฟุ่มเฟือยหรือสูญเปล่าอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ของรัฐบาลก็ได้ผลในระดับหนึ่งและระยะหนึ่งเท่านั้น พอเวลาผ่านไปจนไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้แล้ว การกินทิ้งกินขว้างก็กลับมาอีก จนผู้นำอย่างสีจิ้นผิงยังต้องออกมารณรงค์ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง
ลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งส่งข้อมูลมาว่า ในปี 2019 รายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการทั่วโลกขององค์การอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture Organization, FAO) ของสหประชาชาติระบุว่า ในแต่ละปีจีนมีสถิติการสูญเสียและการบริโภคที่สิ้นเปลืองในกระบวนการจัดเก็บ การขนส่ง และการแปรรูปสูงถึง 70 ล้านกิโลกรัม
ตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า ในที่สุดการกินทิ้งกินขว้างของคนจีนยังคงมีอยู่ และมีอยู่จนเห็นได้ว่าคนจีนลืมอดีตหรือลืมตัวไปแล้วว่า ครั้งหนึ่งบรรพชนของตนเคยอดมื้อกินมื้อหรืออดอยากมาอย่างไรบ้างกว่าจะมีวันนี้
เห็นทีการรณรงค์ของผู้นำจีนยังคงต้องเหนื่อยไปอีกนาน