xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คลัสเตอร์โรงเรียน” ลามไม่หยุด ปิดหนีโควิด-19 จ้าละหวั่น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ร้อนๆ หนาวๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังหนักหน่วงขึ้นทุกวันจากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่กราฟยังพุ่ง กระทั่งระบบรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ อยู่ในจุดเสี่ยงรับไม่ไหว ขณะที่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ตีปี๊บเตรียมเปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยวซึ่งมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ดูตัวอย่างกรณีการเปิดเรียนตามปกติเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถึงตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าเกิดการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงเรียนกระจายไปทั่วประเทศ และหลายจังหวัดต้องสั่งหยุดเรียน เพราะการปล่อยให้เด็กคลุกคลีกัน เรียนร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน กินน้ำแก้วเดียวกัน นั่นเท่ากับการเปิดช่องแพร่เชื้อและนำเชื้อกลับไปติดคนในครอบครัว
พื้นที่แพร่ระบาดของคลัสเตอร์โรงเรียนที่น่าห่วงกังวลมากที่สุดในเวลานี้ต้องโฟกัสไปยัง  “คลัสเตอร์โรงเรียนมัรกัส” จังหวัดยะลา ที่พบผู้ติดเชื้อตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ว่ามีจำนวน 402 คน และแพร่กระจายไปยัง 12 จังหวัด ตามที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ให้ข้อมูลว่า กรณีโรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา ชุมชนมีโรงเรียนและสถานประกอบศาสนกิจ รายงานติดเชื้อคลัสเตอร์เดียวกัน 402 ราย
 
ที่น่ากังวลคือ “คลัสเตอร์โรงเรียนมัรกัส” มีการแพร่กระจายเชื้อไปยัง 12 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 111 ราย, ยะลา 102 ราย, สตูล 46 ราย, ปัตตานี 46 ราย, สงขลา 36 ราย, กระบี่ 18 ราย, พัทลุง 13 ราย, นครศรีธรรมราช 10 ราย, สุราษฎร์ธานี 9 ราย, พังงา 5 ราย, ตรัง 3 ราย และภูเก็ต 3 ราย พบยืนยันคล้ายไข้หวัดรายแรก 9 มิ.ย. เมื่อสอบสวนโรค ผู้ติดเชื้อคนแรกน่าจะมี 29 พ.ค.ที่ผ่านมา 

สำหรับจำนวนประชากรชุมชนประมาณ 3-4 พันคน จำนวนนี้เป็นนักเรียน 500 คน มาจากจังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัด กรมควบคุมโรค รายงานไทม์ไลน์นักเรียนที่มีพฤติกรรมติดเชื้อจะเป็นการรวมกลุ่ม รับประทานอาหารร่วมกัน ทำกิจกรรมทางศาสนาโดยไม่สวมหน้ากาก มีการใช้ถาดอาหารหรือแก้วน้ำร่วมกัน ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ เป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกา หรือ เบต้า ตามข้อมูลยืนยันจากผลตรวจของ ศบค.จังหวัดยะลา และศบค.จังหวัดภูเก็ต

ที่น่าวิตกบวกเพิ่มเข้ามาก็คือ ใน 12 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อนั้น มีจังหวัดภูเก็ต ซึ่งกำลังเตรียมเคลียร์พื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้แผน “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ขณะที่จังหวัดรายรอบ อย่างเช่น กระบี่, พังงา, สุราษฎร์ธานี ก็เป็นจังหวัดที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวหลังจากท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นเวลา 14 วันแล้ว
 “คลัสเตอร์มัรกัส” ยะลา จึงกระทบชิ่งไปทุกทิศทาง ไม่เพียงอาจพังแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังสร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทำให้สำนักจุฬาราชมนตรี มีหนังสือถึงกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ให้ช่วยกันค้นหานักเรียนจากมัรกัสยะลา ที่กลับไปยังจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา และไปคลุกคลีกับครอบครัว เพราะเสี่ยงที่จะเป็นการแพร่เชื้อโควิดกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ตามมา แถมสายพันธุ์แพร่ระบาดยังเป็นเชื้อ “ดื้อวัคซีน” อีกด้วย  

นอกจาก “คลัสเตอร์มัรกัส ยะลา” แล้ว  พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  เป็นอีกหนึ่งที่น่าห่วง หลังจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสิงสาง พบผู้ปกครองของเด็กนักเรียนโรงเรียนภูริตา 1 ราย ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรงเรียนสั่งปิดเรียนชั่วคราวระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายน 2564 โดยให้นักเรียนใช้ระบบเรียนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับมาตรการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในอาคารสถานที่ทุกห้องเรียน ก่อนที่ทางอำเภอจะมีคำสั่งให้โรงเรียนในพื้นที่ อ.เสิงสาง ทุกแห่ง ปิดเรียนชั่วคราวก่อน ตั้งแต่วันที่ 23-26 มิ.ย. ส่วนกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อ 1 ราย ที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนภูริตา ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 17 ราย ผลการตรวจเชื้อปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 9 ราย ทั้งหมดเป็นชาวบ้านหนองรังกา หมู่ที่ 10 ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง ซึ่งมีเด็กนักเรียนโรงเรียนภูริตา อายุ 6 ขวบ และเด็กอายุ 1 เดือน รวมอยู่ในนี้ด้วย

ทั้งนี้ หลังพบการแพร่ระบาดมีโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทยอยปิดโรงเรียนชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง คือ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ปิดเรียนระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2564 และโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ปิดเรียนระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2564 ขณะที่โรงเรียนวังน้ำเขียวพิทยาคม สั่งปิดเรียนชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปิดหลังสถานการณ์ดีขึ้น

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) ระบุว่า หลังการเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ พบว่ามีผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่ง ติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ต้องประกาศปิดเรียนชั่วคราวเป็นจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 79 แห่ง ประสานมายังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ขอปิดโรงเรียนชั่วคราวเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่

สถานการณ์แพร่ระบาดในโรงเรียนพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ยังลุกลามไม่หยุดนั้น นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังเปิดเรียนเพียงสัปดาห์พบการแพร่ระบาดในโรงเรียน ทำให้มีโรงเรียนในหลายพื้นที่สั่งปิดเรียนอีกครั้งเพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บริหารโรงเรียนในการสั่งปิดโรงเรียนได้หากอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง สำหรับการเรียนการสอนแต่ละโรงเรียนมีรูปแบบออนไลน์อยู่แล้ว
หากจะสแกนโรงเรียนที่ถูกสั่งปิดในแต่ละภูมิภาค พบว่า ทางภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการโรคติดต่อเชียงใหม่ สั่งปิดโรงเรียนสารสาสน์วิเทศเชียงใหม่, โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เป็นเวลา 3 วัน และให้เรียนแบบออนไลน์แทน หลังพบความเกี่ยวข้องกับติวเตอร์สถาบันกวดวิชาและนักเรียนติดเชื้อ โควิด-19 ส่วนจังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนอนุบาลโรจนวิทย์ อำเภอเมืองพิษณุโลก ปิดเรียน 5 วัน และตรวจหาเชื้อบุคลากรและนักเรียนที่สัมผัสเสี่ยงสูง หลังพบนักศึกษาฝึกสอนติดเชื้อ โควิด-19

สำหรับภาคกลาง ที่จังหวัดอ่างทอง โรงเรียนสตรีอ่างทอง ต้องปิดเรียน 21 วัน และปรับเรียนออนไลน์แทน หลังศิษย์เก่าติดเชื้อโควิด-19 เข้าไปใช้สนามกีฬา ส่วนจังหวัดสระบุรี พบนักเรียนนายสิบตำรวจและบุคลากรกองร้อยที่ 3 ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 1 ตำบลหนองยาว อำเภอเมืองสระบุรี ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 22 คน ล่าสุดมีการปิดพื้นที่ห้ามเข้า-ออก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดนครราชสีมา นอกจากอำเภอเสิงสางที่แพร่ระบาดจนสั่งปิดโรงเรียนดังกล่าวข้างต้นแล้ว โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต อำเภอปักธงชัย เตรียมปิดเรียนชั่วคราวหนึ่งสัปดาห์หลังพบผูติดเชื้อในตำบลงิ้วและตำบลสะแกราช 4 คน

ขณะที่โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย พบครูผู้หญิงอายุ 51 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจไทม์ไลน์ครูและนักเรียน 9 ห้องเรียน และสั่งปิดเรียน 7 วัน จังหวัดสกลนคร นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสกลนคร 400 คน เข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 หลังนักเรียนติดเชื้อ COVID-19 ทั้งนี้ มีนักเรียนเสี่ยงสูง 35 คน เบื้องต้นสั่งปิดเรียน 7 วัน ขณะที่ผู้ปกครองอยากให้เพิ่มการปิดเรียนเป็น 14 วัน
สำหรับภาคใต้ พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา แพร่ไปยัง 12 จังหวัด ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 23 มิถุนายน เพิ่มอีกจำนวน 71 ราย ทำให้ยอดสะสม จังหวัดยะลา พุ่งขึ้นไปรวมจำนวน 992 ราย ผู้ติดเชื้อ 71 ราย เป็นลำดับ 4 ในภาคใต้ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่สัมผัสจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา ที่กำลังกระจายไปตามภูมิภาคอื่นๆ ที่มีผู้ติดเชื้อไปกว่า 500 รายแล้ว

สถานการณ์ที่แพร่ระบาดที่ลามไปหลายพื้นที่ ทำให้ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา ประธานศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา ออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดเข้า-ออกพื้นที่บ้านโต๊ะตือราเฮง บ้านย่อยบ้านบาแตตูแง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และออกคำสั่งให้งดปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา หรือละหมาดวันศุกร์ในมัสยิด บาลาเซาะห์หมู่บ้านดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนเป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 สำหรับการรับมือกับคลัสเตอร์โรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ออกคู่มือการเฝ้าระวังติดตามและแผนเผชิญเหตุรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา แบ่งระดับปฏิบัติการตามจำนวนผู้ป่วย ดังนี้ หากมีผู้ป่วยยืนยัน 1 คนขึ้นไป ให้ปิดห้องเรียน 3 วัน หากมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดชั้นเรียน 3 วัน และหากมีหลักฐานและความจำเป็นต้องปิดสถานศึกษา ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 

 ส่วนโรงเรียนที่ไม่พบผู้ป่วยยืนยัน แต่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องปิดเรียน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้พักสังเกตอาการ 14 วัน สถานศึกษาให้เปิดเรียนตามปกติ สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้สังเกตอาการ 14 วัน ไม่ต้องหยุดเรียน ไม่ต้องปิดสถานศึกษา ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสียงสูงและเสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน แต่ให้สังเกตอาการ 14 วัน 

ขณะเดียวกัน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีกรรมการจากผู้แทนกระทรวงศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข และผู้ปกครอง ขึ้นมาตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา

คณะกรรมการไตรภาคีนี้ ยังจะตั้งชุดย่อยอีกหลายคณะลงสแกนสถานศึกษาในพื้นที่ของตนเอง หากพบนักเรียนหรือชุมชนเขตบริการมีชาวบ้านติดเชื้อก็ให้โรงเรียนขอความเห็นชอบกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปิดการเรียนแบบ on-site เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน แล้วเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นให้แก่นักเรียนในระหว่างที่ปิดโรงเรียนแทน

 การรับมือกับ “คลัสเตอร์โรงเรียน” ด้วยแนวคิดแบบราชการคือ “ตั้งคณะกรรมการ” ของรัฐมนตรีศึกษาฯ จะเอาอยู่หรือไม่ ดูเหมือนจะมีคำตอบล่วงหน้าอยู่แล้ว 




กำลังโหลดความคิดเห็น