ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนหลังจาก “นายกฯ ประยุทธ์” ประกาศมาตรการระยะสั้นภายใน 6 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 “...เพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจำนอง เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย...” ตกเป็นเป้าวิจารณ์สนั่นในทันที เพราะปฏิเสธความเป็นจริงไม่ได้ว่า โควิด-19 ที่เล่นงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนซมไข้เศรษฐกิจ หลายรายต้องตกงาน ต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ และมีไม่น้อยถึงขั้น “ไม่มีอะไรให้จำนำ”
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของประชาชนว่า ได้สั่งให้เข้มงวดกับหนี้นอกระบบให้มากขึ้น และครอบคลุมการแก้ไขปัญหาภาพรวม หนี้สินกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะหนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครูข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์ เช่าซื้อจักรยานยนต์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้สินบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล 49.9 ล้านบัญชี หนี้สินอื่น ๆ 51.2 ล้านบัญชี
โดยหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุความว่า
“ต้องให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs จัดให้มีซอฟต์โลนสำหรับ SMEs ที่เป็น NPL ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจำนอง เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยและมีที่ดินให้สามารถเข้าถึงเงินทุนเหล่านี้”
งานนี้ เล่นเอาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังระงม ด้วยเห็นว่าเป็นทิศทางที่ไม่ถูกต้องเพราะจะทำให้ประชาชนที่ยากจนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก การแก้ไขหนี้สินของประชาชนต้องทำให้ประเทศเจริญเติบโตมากๆ ให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ดีๆ จะทำให้ประชาชนลดหนี้ลงได้ และมีเงินเก็บออมเพื่ออนาคต หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “รัฐบาลลุง” ควรเพิ่มรายได้ให้กับคนจนมากกว่า และไปปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่ไปเพิ่มโรงรับจำนำ
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า “โรงรับจำนำ” หรือ “โรงตึ๊ง” เป็นที่พึ่งยามยากสำหรับคนที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน มีศักยภาพเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน แค่เพียงนำของมีค่ามาจำนำสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที ดอกเบี้ยไม่แพง ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินไม่หาย สามารถผ่อนจ่ายเงินต้น หรือส่งดอกเบี้ย ไถ่ถอนของคืนได้เมื่อมีความพร้อม แถมไม่เสียเครดิตหากของปล่อยของให้หลุดจำนำ
ในประเทศไทย “โรงรับจำนำแห่งแรก” เป็นโรงรับจำนำของชาวจีน ชื่อโรงรับจำนำ “ย่องเซี้ยง” ก่อตั้งขึ้นในปี 2409 ปัจจุบันคือ “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์ ย่านประตูผี” ซึ่งกระแสนิยมในการใช้บริการทำให้โรงรับจำนำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก กระทั่ง ปี 2438 ประเทศไทยต้องมีการตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำรัตนโกสินทร์ ควบคุมการดำเนินงานของโรงรับจำนำให้เคร่งครัดมากขึ้น
ต่อมา ปี 2498 มีการจัดตั้งขึ้นโรงรับจำนำของรัฐครั้งแรกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองนโยบายรัฐในการสร้างโอกาสการเข้าถึงการรับจำนำในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนทางการเงินเฉพาะหน้า ซึ่งในปัจจุบันหากภาคเอกชนต้องการเปิดโรงรับจำนต้องด้รับใบอนุญาตตั้งโรงรับจํานําจากกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน
จำนวนโรงรับจำนำประเทศไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น “สถานธนานุเคราะห์” โรงรับจำนำภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 39 แห่ง “สถานธนานุบาล” ซึ่งเป็นโรงรับจำนำสังกัดกรุงเทพมหานคร 21 แห่ง และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 240 แห่ง และ “โรงรับจำนำเอกชน” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ปี 2505 จำนวน 500 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงรับจำนำเป็นสถานที่ให้บริการเงินกู้ที่อนุมัติเงินอย่างรวดเร็ว รายได้หลักของธุรกิจโรงรับจำนำเกือบทั้งหมดจากดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้นำทรัพย์สินมาจำนำ ส่วนรายได้รองคือการนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด ซึ่งการเติบโตของธุรกิจโรงรับจำนำจำเป็นต้องมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมกว่าเเสนล้านบาท
โดยเฉพาะธุรกิจโรงรับจำนำเอกชนเกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น มีการปรับตัวรูปแบบใหม่ๆ เปลี่ยนภาพจำเดิมๆ ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกเหมือนไปทำธุรกรรมที่ธนาคารมากขึ้น เช่น โรงรับจำนำเอกชนรายใหญ่ Easy Money เปลี่ยนผ่านสู่สถาบันสินเชื่อทางเลือกเงินด่วนยุคดิจิทัล
ข้อมูลจากสถานธนานุเคราะห์ปี 2563 มีทรัพย์ที่ถูกนำมาจำนำ 1,305,781 รายการ ลดลงจากปี 2562 ถึง 4.74% (ปี 2562 มี 1,370,703 รายการ) แต่หากคิดเป็นจำนวนเงินจะพบว่า ทรัพย์จำนำในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 19,582.45 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ถึง 70.57 ล้านบาท (ปี 2562 เป็น 19,511.88 ล้านบาท) หรือ 0.36%
ในส่วนทรัพย์สินที่นำมาจำนำนั้นพบว่า อันดับหนึ่ง คือ ทอง นาก เพชร และเครื่องรูปพรรณ จำนวน 1,274,769 ราย คิดเป็นมูลค่า 19,493.83 ล้านบาท อันดับสอง คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ 11,024 รายการ คิดเป็นมูลค่า 29.08 ล้านบาท อันดับสาม คือ นาฬิกาข้อมือ 8,246 รายการ คิดเป็นมูลค่า 37.44 ล้านบาท
อันดับสี่ คือ เครื่องมือช่าง ปากกา กล้องถ่ายรูป 5,333 รายการ คิดเป็นมูลค่า 8.03 ล้านบาท อันดับห้า คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า 4,105 รายการ คิดเป็นมูลค่า 7.87 ล้านบาท อันดับหก คือ เงินรูปพรรณ 1,233 รายการ คิดเป็นมูลค่า 4.43 ล้านบาท อันดับเจ็ด คือ เครื่องดนตรี 1,012 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1.62 ล้านบาท และอันดับแปด คือ เครื่องมือการเกษตร 59 รายการ คิดเป็นมูลค่า 0.15 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มอาชีพของผู้รับจำนำที่มีมากที่สุดคือ รับจ้าง 1,126,327 ราย รองลงมาก็คือพ่อบ้านแม่บ้าน 89,667 ราย ค้าขาย 56,643 ราย ข้าราชการ 15,908 ราย นิสิต นักศึกษา 12,499 ราย พนักงานรัฐวิสาหกิจ 3,227 ราย และเกษตรกร 1,510 ราย
โดยปี 2563 พบว่าการไถ่ถอนเพิ่มขึ้น 2.52% ทรัพย์หลุดจำนำลดลง 41.53% รวมมีการไถ่ถอนทรัพย์เป็นจำนวน 1,332,367 รายการ คิดเป็นมูลค่า 19,748.48 ล้านบาท ซึ่งมีการไถ่ถอนมากกว่าปี 2562 ที่มีการไถ่ถอน 1,299,584 รายการ คิดเป็นมูลค่า 18,619.57 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้น เกิดปรากฏการณ์คนเเห่มาไถ่ถอนทรัพย์เพื่อนำทองไปขายเพิ่มมากขึ้นด้วย
สํานักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เปิเผยตัวเลขการจำนำระหว่าง เดือน ม.ค. - มี.ค. 2564 มีการปรับขึ้นต่อเนื่อง มีมูลค่า 1,370 ล้านบาท เฉพาะเดือน เม.ย. เดือนเดียวอยู่ที่ 426 ล้านบาท แสดงให้เห็นแนวโน้มการนําทรัพย์มาจํานำในทิศทางขาขึ้น จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ประชาชนขาดสภาพคล่อง ต้องพึ่งพาโรงรับจํานํา
สำนักงานธนานุเคราะห์ฯ คาดการณ์ว่า ในงบประมาณ 2564 จะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 1.45 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 48,333 ราย และมีจำนวนเงินรับจำนำประมาณ 20,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 609 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติการกู้เงินของสำนักงานธนานุเคราะห์ จำนวน 500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
นอกจากนี้ สถานธนานุเคราะห์ หรือโรงรับจำนำของรัฐ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้น แบ่งเบาภาระรายจ่ายดอกเบี้ย ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 แล้ว เป็นการจัดโปรโมชั่น “จ่ายคนละครึ่ง” ลดดอกเบี้ย 50% แก่ผู้มาใช้บริการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินจำนำไม่เกิน 5,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. – ก.ค 2564 จำกัด 1 คน 1 สิทธิ์ ต่อ 1 รอบตั๋วจำนำ
อย่างไรก็ตาม แม้โรงรับจำนำจะเป็นที่พึ่งยามยากของประชาชนคนรายได้น้อยหรือผู้ที่ต้องการใช้จ่ายเงินฉุกเฉินได้จริง แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มิใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งในยามที่โควิด-19 ระบาดอย่างนี้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เหมือนกันว่า ประชาชนจะประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตไปอีกนานแค่ไหน