xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลากไส้ “เสาไฟประติมากรรม” แพงเวอร์ “มท.1” ว่าไง? ทำไมระบาดทุกหัวระแหง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สุดอื้อฉาวเสาไฟประติมากรรมรูปกินรี สิงสาราสัตว์ เรือหงส์ มโนราห์ ปักในดงพงหญ้าตามตรอกซอกซอย ริมถนนหลุมพระจันทร์ถี่ยิบ ขณะที่ในเขตเมืองก็ประดับประดาเวอร์วัง ผลาญเงินภาษีแบบไม่เกรงใจประชาชนจนกลายเป็นกระแสกระหึ่มโลกโซเซียล กระทุ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ตรวจสอบความผิดปกตินี้ให้แข็งขันหน่อย ล่าสุด นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. สั่งการ ป.ป.ช.แต่ละจังหวัดลงไปไล่เช็กบิลแล้ว


“ไม่ว่าจังหวัดไหนที่มีข่าวออกมา ขอให้ ป.ป.ช.จังหวัด เข้าไปตรวจสอบให้หมด ที่ผ่านมาป.ป.ช.แต่ละจังหวัด ก็ได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว” นายวรวิทย์ กล่าวในวันแถลงผลงานของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา

ก็น่าแปลกใจว่าถ้า ป.ป.ช.ทำงานตรวจสอบทุจริตอย่างแข็งขันจริงจัง เหตุไฉนถึงปล่อยให้เสาไฟประติมากรรม ปักโด่เด่ตามตรอกซอกซอยชนิดถี่ยิบไม่ตรงสเปกมานมนาน และไม่ใช่ที่หนึ่งที่ใดเพียงแห่งเดียว แต่เป็นกันทั่วทั้งประเทศ สะท้อนความไม่เอาอ่าวในการตรวจสอบทุจริตและเอาผิดคนทำได้ยากของ ป.ป.ช.ใช่หรือไม่?

ข่าวคราวเสาไฟประติมากรรมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เป็นการฟ้องด้วยภาพงามหน้ากันทั้งประเทศ คล้ายกับโมเดลการจัดซื้อจัดจ้างจัดทำสนามกีฬา เครื่องออกกำลังกาย ฯลฯ หรือแม้แต่ที่พักริมทางผู้โดยสารทรงโมเดิร์นก็ไม่แตกต่าง ดังนั้น อย่าไปชี้นิ้วว่าแต่ อปท. ใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย เลย หน่วยงานรัฐแทบทุกแห่ง ทุกการจัดซื้อจัดจ้างโครงการไหนๆ ก็ล้วนแต่น่าเคลือบแคลงสงสัยมีนอกมีในทั้งนั้น

ดังที่  นายมานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ภาพรวมของการทุจริตแนวนี้ของประเทศไทยว่า การโกงลักษณะนี้เกิดขึ้นมานมนานเป็น 10-20 ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิด ก่อนที่จะเป็นเสาไฟ เราก็จะเห็นว่ามีป้ายถนน ป้ายซอย ที่มีลักษณะพิเศษ หลายแห่งทำประติมากรรมรูปสิงสาราสัตว์สารพัด ประดับตามสะพานหรือตามถนน แล้วก็คิดกันราคาแพงๆ

 “เรื่องนี้สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองส่วนใหญ่ยังมุ่งหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง.... เฉพาะพวกเสาไฟหรือป้ายถนน ป้ายซอย ซุ้มประดับที่เห็นกันเกร่อทุกวันนี้ ปีนึงเสียหายเป็นหมื่นล้านมั้ง...” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ตั้งข้อสังเก 

เสาไฟฉาวที่กำลังฮอตฮิตกันในเวลานี้ จุดประเด็นขึ้นมาจาก กรณี  “เสาไฟฟ้ากินรี”  ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนถนนลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อคล้ายผิวพระจันทร์ ผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,884 บาท จำนวน 6,773 ต้น รวมมูลค่ากว่า 642,650,000 บาท จากนั้นโลกโซเซียลก็แบ่งปันข้อมูลเสาไฟประติมากรรมรูปสิงสาราสัตว์สารพัด รวมทั้งเสาไฟเรือสุพรรณหงส์ มโนราห์ ฯลฯ ราคาต่อต้นหลายหลายหมื่นจนเกินแสน

เสาไฟที่ราคาหลักหมื่นต้นๆ อัพราคาขึ้นเป็นหลายหมื่นจนเหยียบแสนทำกันไปได้เพราะมีช่องโหว่ให้หลบเลี่ยง ตามที่ นายมานะ บอกว่า การจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟส่องสว่างทั่วไปจะมีราคากลางตามขนาดและความสูงที่ชัดเจน แต่พอมีความพิเศษตรงที่มี  “ประติมากรรม” ก็กลายเป็นงานศิลปะจะกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ได้ตามแต่เห็นสมควร จากเสาไฟธรรมดาราคา 2 หมื่น พอเป็นงานศิลปะก็อาจอัพราคาขึ้นถึง 4 หมื่น หรือ 8 หมื่น

และเมื่อมีการนำนวัตกรรมอย่างระบบโซลาร์เซลล์ มาผนวกเข้าอีกก็ยิ่งทำให้ราคาเสาไฟฟ้าสูงขึ้นไปอีก โดยการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นนวัตกรรมสามารถซื้อด้วยวิธีพิเศษหรือวิธีเฉพาะเจาะจง เกิดช่องซื้อของแพงได้และทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนถูกระเบียบ คนโกงอาศัยเรื่องพวกนี้เป็นช่องทางในการทุจริต

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไม่เพียงแค่เสาไฟฟ้า หากมองย้อนกลับไปจะเห็นอีกหลายโครงการของ อปท.ที่เคยถูกตรวจสอบความผิดปกติ เช่น การจัดสร้างสนามกีฬา การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ฯลฯ เมื่อตรวจสอบที่หนึ่งก็จะเจอที่อื่นๆ ด้วยในลักษณะทำตามกันเป็นทอดๆ และมีการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้มีอำนาจกับบริษัทที่รับทำโครงการ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของเทศบาล หรือ อบต. แต่ละแห่ง แต่การซื้อของพวกนี้มันถูกชักใยโดยนักการเมืองระดับใหญ่กว่า หรือโดยข้าราชการจากส่วนกลาง เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน

กรณีเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะ ที่กำลังถูกขย่มกันอยู่ตอนนี้ หาใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ให้ข้อมูลว่า ย้อนกลับไปปี 2555-2559 สตง.เคยพบพิรุธจากโครงการติดตั้งเสาไฟแสงสว่างประติมากรรมกินรี ของ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ จากสัญญาทั้งหมด 11 ฉบับ ในวงเงินสูงถึง 67,294,501 บาท มาแล้วรอบหนึ่ง

ปัจจุบันผ่านไปเนิ่นนาน อบต.ราชาเทวะ ได้รื้อถอนเสาไฟออกเพียงส่วนหนึ่ง เพราะบางส่วนพังจนทำให้อุปกรณ์ที่ใช้กับเสาไฟฟ้าชำรุด ส่งคืนไม่ครบรวมสิบล้านบาท โครงการเก่าที่ทำพังยังไม่เคลียร์ ก็ดันทำโครงการใหม่ที่ซ้ำคล้ายแบบเดิมกันซะอีก….

ไม่เพียงแต่ อบต.ราชาเทวะ ที่ไม่เคลียร์โครงการเก่าแล้วเกิดเหตุฉาวซ้ำ ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปสัตว์จำนวน 108 ต้น ที่ติดตั้งบนถนนกะโรม ต.โพธิ์เสด็จ ในเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 จากราคากลาง 10 ล้านบาท เฉลี่ยราคาต่อต้นสูงถึง 92,386 บาท โปรเจกต์นี้องค์กรอิสระเคยเข้าตรวจสอบแต่ไม่มีข้อมูลผลการตรวจสอบใดๆ ออกมา ถึงตอนนี้เสาไฟเหล่านั้นถูกลมพัดโค่นไปแล้วหลายต้นเพราะสภาพความบางของเสาโลหะ

เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ยังพาย้อนกลับไปดูโครงการเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ จำนวนกว่า 2,998 ต้น ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วงเงิน 194 ล้านบาท ราคาประมาณเสาละ 65,000 บาท ขณะที่เชคสเปกอุปกรณ์ทั้งหมดในท้องตลาดตกประมาณ 25,200 บาท รวมเสาไฟและค่าติดตั้งไม่เกิน 40,000 บาท เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เคาะตัวเลขพบส่วนต่างราคาประมาณ 75 ล้านบาท

“จากวันนั้น จนถึงวันนี้ผ่านไปเกือบสี่ปี ผลสอบ สตง. ป.ป.ช. เป็นอย่างไรไม่รู้ ยังไม่ได้ความว่ามีใครถูกเอาผิด ผู้ว่าฯ ก็ย้ายไปอยู่พังงาแล้ว ส่วนสภาพเสาโซลาร์ก็เป็นไปตามบุญตามกรรม ที่เคยติด ๆ ดับ ๆ ตอนนี้บางชิ้นส่วนหายไปนานแล้ว บางส่วนหักพังลงมาเป็นซากนอนตายข้างถนน…”

ผลงานผลาญงบที่เมืองคอนยังมี  “ชุดป้ายชื่อซอย”  จำนวน 112 ป้าย บนถนนพัฒนาการคูขวาง ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คอลเลกชันเข้ากับชุดเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปสัตว์ ที่สุดอึ้งคือโครงการนี้ มีงบประมาณสูงถึง 2,205,000 บาท เฉลี่ยสูงถึงต้นละ 19,687.5 บาท จนมีคำถามว่าได้ของที่มีคุณภาพสมราคาหรือไม่ เพราะราคาโดยทั่วไปไม่น่าจะเกินหมื่นบาท

เลาะมาที่ จังหวัดตรัง ก็มีเรื่องทำนองนี้เช่นกัน โดยชมรมตรังต้านโกง โพสถามหาเสาไฟฟ้าประติมากรรมหงส์ ว่า “เสาสูญ..ประติมากรรมหงส์ ถนนทุ่งแจ้ง-ตรัง ช่วงนี้กระแสเสาไฟประติมากรรมรูปลักษณ์ต่างๆ มาแรงมากๆ เรียกได้ว่าแพงทุกหย่อมหญ้า.. แต่ที่ตรังบ้านเรา..บนถนนทุ่งแจ้ง ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ทางเข้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดตรัง กลับไม่ปรากฏเสาประติมากรรม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ยังมีติดตั้งส่องสว่างอยู่..ไม่รู้ว่าสูญไปไหน.. ฝากเทศบาลนครตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตามกลับมาใช้งานด้วย..ไหนๆ ก็ใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมาแล้ว..”

ส่วนที่อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา พล.ต.ท.สาคร ทองมุนี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ชิงลงมือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมมโนราห์ ถนนเพชรเกษม ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จำนวน 368 ต้น งบประมาณรวม 33,384,000 บาท ตกเฉลี่ย 90,717 บาทต่อต้นว่าแพงเกินเหตุหรือไม่ หลังจากมีกรณีที่ราชาเทวะผุดขึ้นมา

ยังมีเสาไฟฟ้าประติมากรรมที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์  ซึ่งเป็นเสาไฟรูปช้าง พร้อมชุดโคมไฟไฮเพรสเซอร์โซเดียม 250 วัตต์ จำนวน 40 ชุด งบ 4 ล้านบาท เฉลี่ยราคาตกชุดละแสน... โดยเส้นทางที่ติดตั้งเสาไฟฟ้าดังกล่าว เป็นถนนในเขตเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

ส่วน  จังหวัดมุกดาหาร  เป็นเสาไฟฟ้าประติมากรรมพญานาคคู่พันรอบเสาไฟ ที่สวนสาธารณะในพื้นที่ ต.ศรีบุญเรือง อ.เมืองมุกดาหาร ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างไร้ประโยชน์ ทั้งที่ใช้งบพัฒนาปรับภูมิทัศน์ โครงการนี้ ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมุกดาหาร

ขึ้นเหนือมาที่ จังหวัดเชียงราย  ก็ไม่น้อยหน้า เฟซบุ๊ก Paskorn Jumlongrach ของนายภาสกร จำลองราช ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ “สำนักข่าวชายขอบ” โพสข้อความระบุว่า “ช่วงนี้เห็นกำลังฮิตเรื่องเสาไฟฟ้า เลยอยากส่งเข้าประกวดบ้าง เป็นเสาไปปลาบึก บางคนว่าเป็นปลาบึกรูดเสา บางคนว่าเหมือนปลาบึกถูกเสียบไม้
เสาไฟฟ้าปลาบึกเป็นหนึ่งในโครงการปรับภูมิทัศน์ บริเวณสวนสาธารณะด่านชายแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในป้ายเขียนว่า “โคมไปประติมากรรมปูนปั้น” สร้างเสร็จมาแล้ว 4 ปี งบประมาณราว 1.4 ล้าน จำนวน 22 ต้น ตกต้นละ 6.5 หมื่นบาท

สำหรับ  จังหวัดชัยนาท  มีเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปเรือหงส์ ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลหันคา อ.หันคา จ.ชัยนาท จำนวนกว่า 10 ต้น ราคาต้นละเกือบแสนบาท โดยมีส่วนขยายติดตั้งเพิ่มเติมบริเวณทางเข้าสำนักงานเทศบาลอีก 10 ต้น ราคาต้นละ 99,510 บาท

เสาไฟฟ้าประติมากรรม จึงเป็นอีกเมนูกินอร่อยที่เสิร์ฟสลับกันมาไม่ขาดสายของ อปท.




กำลังโหลดความคิดเห็น