xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

THAI หมดตูด เร่งกู้ 2.5 หมื่นล้าน เร่ขายทรัพย์สิน หลังศาลเคาะผ่านแผนฟื้นฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ศึกยืดเยื้อในการจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่พลิกกลับไปมาหลายตลบ เพราะยังไม่สบอารมณ์เจ้าหนี้และฝ่ายการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข ประกอบด้วย //นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายพรชัย ฐีระเวช, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์, นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร// ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแผน มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

ความท้าทายของการบินไทยนับจากนี้คือ การพลิกฟื้นธุรกิจทำมาหารายได้ แต่ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้านี้ก็คือ กระแสเงินสดที่ร่อยหรอ ตามที่นายชาญศิลป์แถลงในฐานะรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ศาลสั่งผ่านแผนฟื้นฟูฯ ว่า กระแสเงินสดที่ลดลงตามจะต้องนำทรัพย์สินรองออกมาหารายได้ รวมถึงเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น สหกรณ์ เจ้าหนี้ภาครัฐ ธนาคาร หรือผู้สนใจในการลงเงินใหม่

 นายชาญศิลป์ บอกว่า เงินลงทุนก้อนใหม่ที่การบินไทยต้องการให้ทยอยเข้ามา 1-3 ปี นับจากนี้ตกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การรีดไขมัน ปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงาน ได้ทำไปแล้วเพื่อเตรียมพร้อมในการฟื้นฟูเพื่อให้อยู่ได้ 3-5 ปี และออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปี สามารถต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง เท่ากับว่าการบินไทยมีเวลาฟื้นฟูกิจการ 7 ปี ขณะนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้เกือบ 50% สูงกว่าหลายสายการบินแล้ว ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน 

“มั่นใจในรัฐบาลในการฉีดวัคซีน และมั่นใจว่าไตรมาส 3-4/2564 เที่ยวบินจะมากขึ้น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นและจะมีการกระจายไปยังเมืองท่องเที่ยวต่างๆ การเดินทางจะกลับมา ปี 2565 จะมีสัญญาณที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ... ” นายชาญศิลป์ กล่าวอย่างเชื่อมั่น

 การบินไทยในเวลานี้อยู่ในสภาพใกล้หมดตูดจริง ตามที่ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย ยอมรับว่า กระแสเงินสดตอนนี้สามารถใช้ดำเนินกิจการได้ไม่ถึงปลายปี 2564 ดังนั้นจึงต้องหาเม็ดเงินเข้ามาโดยเร็วที่สุดเพื่อเสริมสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนและจ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออก การกู้จากสถาบันการเงิน จะต้องใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำนักงานสีลม, หลานหลวง และดอนเมือง รวมถึงสำนักงานขายในต่างประเทศ และหากรายได้ไม่เข้ามาจะมีการขายทรัพย์สินรองบางตัวออกไป ซึ่งตามแผนฟื้นฟูฯ กำหนดวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และจากสถาบันเอกชน 25,000 ล้านบาท  

ส่วนมูลหนี้นั้น นายชาย กล่าวว่า ขณะนี้มีไม่ถึง 400,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขสุดท้ายจะเป็นเท่าไรยังอยู่ในกระบวนการที่ยังเคลียร์ไม่จบ ขณะที่สัญญาเช่าเครื่องบินจะยกเลิกทั้งหมด 16 ลำ หนี้ส่วนนี้จะมีภาระสัญญาเกินควรจากประโยชน์ที่ควรจะได้ ซึ่งมีสิทธิ์ยกเลิกจากผู้ให้เช่าได้ ทำให้ความเสี่ยงภาระหนี้ในอนาคตลดลง โดยยังมีกระบวนการดำเนินการ สำหรับแผนปรับลดฝูงบิน จะปรับเหลือ 60 ลำ จากเดิมจำนวน 102 ลำ เป็นเครื่องบินสัญญาเช่าดำเนินการ เช่าทางการเงิน รวม 54 ลำ และเครื่องบินของการบินไทย 6 ลำ

ในการหาเม็ดเงินลงทุนก้อนใหม่ 50,000 ล้านบาท จากการสนับสนุนจากภาครัฐ และสถาบันเอกชน ถึงตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อย้อนดูความพยายามในช่วงที่ผ่านมานั้น ในส่วนเม็ดเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท หากกระทรวงการคลัง จะใส่เม็ดเงินเข้ามาตามที่มีการโยนหินถามทางมาก่อนหน้านี้ สังคมก็ตั้งข้อกังขาว่าจะเป็นการเอาเงินภาษีประชาชนมาอุ้มการบินไทยที่ขาดทุนบักโกรกตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่รู้กันดีว่ามีรูรั่วไหลเต็มไปหมด องค์กรก็ใหญ่เทอะทะ การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ สู้คู่แข่งขันไม่ได้ ยิ่งเจอวิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งกู่ไม่กลับ หากคลังใส่เงินเข้าไปอีกจะเท่ากับเอาเงินภาษีมาละเลงเสียเปล่าหรือไม่

ส่วนอีกทางเลือก หากการบินไทยจะกู้เงินก้อนใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วให้กระทรวงคลัง ค้ำประกันเพื่อความมั่นใจของเจ้าหนี้ การบินไทยก็ต้องเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม ซึ่งจะขัดกับกระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการและคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ที่ให้การบินไทยต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจก่อนเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูฯ ปัญหางูกินหางนี้ สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องถอยฉาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดจบว่ารัฐบาลจะรอฟังศาลเสียก่อน และไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการขัดต่อคำสั่งศาล

หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในการหาเงินก้อนใหม่จึงอยู่ที่สถาบันเอกชน ซึ่งหากให้เจ้าหนี้สถาบันการเงินใส่เงินกู้ก้อนใหม่เข้ามา เจ้าหนี้ก็ขอส่งตัวแทนเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารแผน และปรับแผนธุรกิจให้สามารถทำรายได้เพื่อใช้คืนหนี้ กระทั่งนำมาซึ่งทีมผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ใหม่เป็น 5 อรหันต์ดังรายชื่อข้างต้น และแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 พร้อมเงื่อนไขสำคัญคือ การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ผู้จัดทำแผน จึงแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ ลำดับการจัดสรรกระแสเงินสด การจัดหาประโยชน์ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยการกู้ยืมเงินใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อีกทั้งยังได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

นอกจากประเด็นเรื่องการหาเงินลงทุนใหม่แล้ว ในส่วนของการหารายได้นั้น  นายนนท์ กลิ่นทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ แถลงว่า ที่ผ่านมาการบินไทยเน้นเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ซึ่งแผนการบินมี 100-200 เที่ยวบินต่อเดือน และสิ้นเดือนจะเพิ่มเป็น 400-500 เที่ยวบิน สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ในไตรมาส 3/2564 แผนการบินจะตอบสนองนโยบายรัฐบาล “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” มีเส้นทางบินตรงเข้าภูเก็ตจากยุโรป 5 เมือง คือ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน โคเปนเฮเกน ปารีส และซูริก และเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2564 คาดหมายว่าหากสถานการณ์โควิดที่อินเดียดีขึ้นจะเปิดเส้นทางบินตรงจากเดลี-ภูเก็ต และยังมีจากเกาหลีและญี่ปุ่นเพิ่มเติม ส่วนไทยสมายล์จะทำการบินเส้นทางจากฮ่องกงและสิงคโปร์ไปยังภูเก็ต

สำหรับเส้นทางภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เที่ยวบินแรก จากแฟรงเฟิร์ต (วันที่ 2 ก.ค.) - ภูเก็ต (วันที่ 3 ก.ค.) ยอดจองตั๋วมากกว่า 100 ที่นั่ง เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดีในสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดว่าภายในเดือน ก.ค.ที่เริ่มเปิดบินเส้นทางไปยังภูเก็ต แนวโน้มผู้โดยสารระดับมากกว่า 1,000 คน

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/2564 จะมีเที่ยวบินประมาณ 30-35% และไตรมาส 4 /2564 เพิ่มเป็นกว่า 40% เทียบกับปี 2562 และถึงปี 2568 เที่ยวบินจะยังมีประมาณ 85% จากที่เคยบินในปี 2562 รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ แต่มีกระแสเงินสดเข้ามาแน่นอน

 นาวาอากาศตรี อนิรุต แสงฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ กล่าวว่า ช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาการบินไทยยังคงมีการบินรวมกว่า 4,000 กว่าเที่ยวบิน ทั้งเที่ยวบินโดยสารที่ขนคนไทยกลับบ้านและต่างชาติ รวมกว่า 77,000 คน ขนส่งสินค้ากว่า 80,000 ตัน ทั้งยังได้เตรียมพร้อมตัวเครื่องบิน นักบินและลูกเรือสำหรับการเปิดบินในช่วงไตรมาส 3-4 /2564 ซึ่งจะนำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์แบบใหม่มาให้บริการอีกครั้ง โดยมีการทดสอบเครื่องบินและฝึกนักบิน ลูกเรือ เตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน  นายชวาล รัตนวราหะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร กล่าวว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยมีมูลค่า 56,000 ล้านบาท ถึงวันที่ผู้บริหารแผนได้เริ่มทำงาน ซึ่งแผนฟื้นฟูได้ทำสำเร็จไปแล้ว โดยสามารถลดต้นทุนไปแล้วมูลค่า 25,700 ล้านบาท โดยหากปริมาณการขนส่งกลับมาเหมือนเดิม เทียบกับปี 2562 ที่ขาดทุน 12,000 ล้านบาท เท่ากับวันนี้บริษัทมีกำไร 10,000 กว่าล้านบาท ขณะที่แผนส่วนที่เหลือจะเป็นการเพิ่มรายได้ 15% และลดต้นทุนเพิ่มอีก 15%

ความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญอีกหนึ่งหลังจากศาลล้มละลายกลางเคาะผ่านแผน และทีมผู้บริหารการบินไทย แถลงต่อสาธารณะเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในการฟื้นฟู THAI ดังกล่าวข้างต้น นั่นก็คือ การลาออกของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จากตำแหน่งรักษาการซีอีโอการบินไทย

นางจิลลดา ณ เชียงใหม่ เลขานุการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือTHAI แจ้งว่าตามที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ในการประชุมครั้งที่ 21/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติอนุมัติการลาออกของนายชาญศิลป์ จากตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยยังคงดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัทฯ และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ และแต่งตั้งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล้วแต่เหตุใดจะถึงก่อนนั้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ซึ่งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้ นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล ดำรงตำแหน่ง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีกตำแหน่งหนึ่ง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564

นอกจากนี้ THAI ยังแจ้งการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท 3 ราย ได้แก่ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ซึ่งเป็นกรรมการอิสระ และประธานกรรมการบริษัท , นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการบริษัท

 จากนี้ไป 5 อรหันต์ นำ THAI เทคออฟทะยานสู่ฟากฟ้า จุดประกายความหวัง “สายการบินแห่งชาติ” ฟื้นชีพอีกครั้ง 





กำลังโหลดความคิดเห็น