xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (23): วัยรุ่น-วัยช่างฝันที่ถูกทำให้ฝันตามที่เขาต้องการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เซอร์โทมัส มอร์ | หนังสือเรื่อง ยูโทเปีย ของเขา
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร 


คราวที่แล้วพูดถึงชาตินิยมและความคิดแบบสำนึกการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า  “Cosmopolitanism” และจะขอเรียกคนที่มีสำนึกแบบนี้ว่า  “พลเมืองโลก”  ซึ่งคนอย่าง “หรวด พิสิษฐ์ศักดิ์ สุพรรณเภสัช”  เพราะข้อเขียนเรื่อง  “โลกแห่งภราดรภาพ” ที่เขาเขียนในปี พ.ศ. 2501 ตอนเขาอายุ 16 ปี สะท้อนความคิดในแนวนั้น รวมทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ เยาวชนสวีเดนอายุ 16 ปีเหมือนกัน  เกรียตา ทืนแบร์ก  ได้ออกมารณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อน สุนทรพจน์ขอเธอก็สะท้อนให้เห็นถึงสำนึกของการอยู่ร่วมกันบนโลก

ผมเชื่อว่า ถ้า หรวด ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็น่าจะเข้าอกเข้าใจและเห็นด้วยกับเกรียตา 
 
ที่จริง เป็นเรื่องดีที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จะมีสำนึกพลเมืองโลก และจะว่าไปแล้ว คนรุ่นใหม่ทุกยุคก็มักจะมีแนวคิดอะไรแบบนี้ แต่ที่น่าเสียดายก็คือ เมื่อพวกเขาโตไป มันก็เหลือไม่กี่คนที่จะยังยึดมั่นกับแนวคิดที่เคยมีตอนวัยรุ่น 
 
แต่ก็มีคนกล่าวไว้เหมือนกันว่า เป็นเรื่องปกติที่เยาวชนทุกยุคทุกสมัยจะมีความคิดเชิงอุดมคติ อยากให้สังคมเป็นแบบที่ตนวาดฝัน ซึ่งความคิดที่วาดสังคมในฝันนี่ ฝรั่งเขาเรียกว่า “Utopia” คำว่า utopia คนที่บัญญัติขึ้นคือ เซอร์โทมัส มอร์ ในปี พ.ศ. 2059 แต่มีรากจากภาษากรีกโบราณ คือ ou และ topos โดย ou แปลว่า “ไม่” ส่วน topos แปลว่า “ที่” เมื่อเอามารวมกัน ก็แปลว่า “no-place” คือ ไม่มีที่ นั่นคือ “ไม่มีที่ไหนในโลก” ดังนั้น “utopia” (ยูโทเปีย) จึงหมายถึง “ไม่มีที่ไหนในโลก” และสังคมที่วาดฝันหรือสังคมยูโทเปียก็คือ สังคมที่ไม่มีที่ไหนในโลก นอกจากจะเป็นสังคมที่ไม่มีอยู่จริงขณะนั้นแล้ว ยังรวมไปถึง สังคมที่ไม่มีวันจะเป็นจริงด้วย 
 
วัยรุ่นเป็นวัยช่างฝัน บางคนก็ฝันเรื่องรักๆใคร่ๆ เรื่องงานหรืออาชีพในฝัน แต่บางคนก็ฝันหนักมือถึงขนาดวาดฝันไปถึงสภาพสังคมเศรษฐกิจการเมืองเลย และย่อมรวมไปถึงความยุติธรรมในฝัน ซึ่งถ้าวัยรุ่นพวกนี้เอาจริงเอาจังกับสังคมในฝันของตน ก็อาจจะออกมาเรียกร้องอะไรต่างๆ นานาได้ 
 
แต่ก็อาจจะไม่ได้ฝันเอง แต่ฝันนั้นมาจากการอ่านหนังสือการเมืองแนวฝันๆที่เขียนอย่างเป็นระบบและเต็มไปด้วยวาทศิลป์ พูดง่ายๆ คือไม่ได้ฝันเอง แต่ถูกยัดเยียดให้ฝัน ยิ่งทุกวันนี้ การรับรู้อะไรมักจะเป็นเรื่องของ “การเลือก”  เช่น ข้อมูลผ่านมือถือ ที่มันเด้งเข้ามาโดยไม่ได้เรียกหา แทนที่ตัวเองจะเป็นคนเลือกจริงๆ ก็กลับกลายเป็นคนที่ถูกเลือกให้เลือกอย่างไม่รู้ตัว

เหมือนเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ตอนเดินเข้าไป ก็คิดว่าตัวเองใช้เสรีภาพที่จะเดินเข้าไปเพื่อไปซื้อแปรงสีฟัน และเมื่อเดินเข้าไป ก็จะเห็นแปรงสีฟันหลายยี่ห้อรอให้เลือก แต่ในอีกแง่หนึ่ง แปรงสีฟันหลายยี่ห้อนั้นได้ถูกคัดเลือกมาให้เลือก และเมื่อเราเลือก เราก็ไม่รู้ตัวว่า เราถูกจำกัดตัวเลือก เพราะมีแปรงสีฟันอีกหลายยี่ห้อที่ร้านไม่ได้เลือกมาให้เลือก

แม้ว่า เราจะอ้างว่า แม้ยี่ห้อจะจำกัด แต่เราก็ยังเลือกได้ภายใต้ตัวเลือกที่จำกัดนั้น โดยหารู้ไม่ว่า เวลาเราเปิดยูทูปหรือเข้าไปในเว็บต่างๆ มันจะมีแปรงสีฟันบางยี่ห้อโผล่แว่บๆ หรือได้ยินเสียงโฆษณาที่เราไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่ได้ยิน และมันอาจจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อแปรงสีฟันยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งได้ 
 
หากเปลี่ยนจากแปรงสีฟันมาเป็นเรื่องการเมือง มันจะเกิดอะไรขึ้นกับบรรดาวัยรุ่นทั้งหลายที่อยู่ในวัยฝันที่ถูกทำให้ฝันตามที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มต้องการ โดยบริหารจัดการกับระบบข้อมูลมหาศาล (Big Data) โดยเชื่อมโยงกับการเก็บข้อมูลเกี่ยวของตัวเราผ่านพฤติกรรมต่างๆ ที่เรากระทำผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เขาจะรู้จักตัวเรามากกว่าเรารู้จักตัวเราเองเสียอีก
ดังนั้น ไอ้ที่เราคิดว่าเราฝันเอง จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ เขาทำให้เราฝันอย่างที่เขาต้องการต่างหาก และในที่สุด เขาก็ขายแปรงสีฟันของเขาได้ ! 
 
จะว่าไปแล้ว การรับรู้ของเราในโลกภายใต้อิทธิพลของโซเชียลมีเดียนั้น ก็ไม่ต่างจาก มนุษย์ถ้ำของเพลโต (Plato)  (นักปราชญ์กรีกโบราณเมื่อสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ) เพลโตได้อุปมาอุปมัยการดำเนินชีวิตและกิจกรรมของผู้คนในสังคมดั่งคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำ โดยสมมุติว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในก้นบึ้งของถ้ำที่อยู่ลึกโพ้นใต้ดิน และที่ปากถ้ำ ซึ่งอยู่ตอนบน มีทางออกสู่โลกภายนอก ผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในส่วนลึกที่สุดของถ้ำตั้งแต่เล็ก โดยขาและคอของพวกเขาถูกมักพันธนาการไว้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถหันไปทางไหนได้ นอกจากมองไปข้างหน้าเท่านั้น 
 
ขณะเดียวกัน ก็มีกองไฟที่กำลังลุกอยู่ไกลๆ ทางด้านหลังของพวกเขา และเหนือขึ้นไป ระหว่างไฟกับตัวผู้คนที่ถูกพันธนาการเหล่านี้ มีทางอยู่ทางหนึ่ง และข้างทางนั้น มีกำแพงผนังเตี้ยๆที่ถูกสร้างขึ้น ---- คล้ายกับเป็นฉากกั้นที่นักแสดงมายากลใช้กั้นระหว่างตัวพวกเขากับเหล่าคนดู และเหนือฉากนั้นเองที่พวกเขาจะแสดงกลต่างๆ และการดำเนินชีวิตของคนและการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งต่างๆ ก็ปรากฏเป็นเงาบนผนังนั้น คนเหล่านี้จะไม่สามารถมองเห็นตัวเองและคนอื่นๆ ได้ นอกจากเงาของตัวพวกเขาและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากแสงไฟที่ปรากฏบนผนังถ้ำที่อยู่ตรงกันข้ามกับพวกเขา และเนื่องจากพวกเขาถูกบังคับให้ดำเนินชีวิตไปโดยไม่สามารถหันศีรษะได้เลย และพวกเขาจะเข้าใจไปว่าถ้อยคำต่างๆ ที่เขาใช้นั้นสื่อถึงสิ่งที่เขาเห็นผ่านไปมาตรงหน้าพวกเขา รวมถึงเสียงของตัวเขาและสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนฝาผนังของถ้ำที่อยู่ตรงข้ามพวกเขา ก็จะถูกเข้าใจว่าเสียงนั้นกำเนิดมาจากเงา และเงาของสิ่งต่างๆ จะรวมกันกลายเป็นความจริงที่คนในสภาวะดังกล่าวตระหนักรับรู้

 ถ้าจะเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบัน สิ่งที่เราเชื่อว่าจริงหรือคิดว่าจริงก็คือ “ชุดข้อมูลต่างๆ” ที่ถูกคัดเลือกมาอย่างเป็นระบบและถ่ายทอดมาทางช่องทางต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต ยามที่เราก้มหน้าดูมือถือ ก็คือลงไปในถ้ำ ทีนี้คงต้องถามตัวเราว่า วันๆ หนึ่งเราอยู่ในถ้ำนานเท่าไร ? และยิ่งถ้าเราชอบดูเรื่องการเมืองด้วย มันก็จะทำให้เรากลายเป็นสมาชิกหรือพลเมืองของถ้ำการเมืองใดถ้ำหนึ่งไปโดยไม่รู้ตัว และยิ่งในถ้ำนั้นมันบอกด้วยว่า ถ้าคิดต่างจากถ้ำ เราอยู่ในกะลาแลนด์ ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ เงยหน้าขึ้นจากมือถือ ก็จะมองเห็นเรื่องราวบนโลกนอกมือถือว่าเป็นกะลาแลนด์ และหากเมื่อลงไปในถ้ำมือถือ ยังได้พบกับสมาชิกหรือพลเมืองถ้ำที่เหมือนๆกัน ทั้งที่มีตัวตนจริงและที่เป็นอวตารด้วยแล้ว เราก็จะยิ่งรู้สึกว่า โลกนอกมือถือมันช่างแปลกแยกจากโลกในถ้ำที่เราเชื่อว่ามันเป็นโลกที่จริงและแสนดี และควรจะให้มันเกิดขึ้นจริงๆกับโลกนอกมือถือ วันๆ ก็อยากจะกลับเข้าไปในถ้ำได้เจอพวกเดียวกัน คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน เกลียดเหมือนกัน หนักๆ เข้า เวลาออกมาประท้วงการเมือง เลยออกอาการรุนแรงอย่างที่เห็น  
 
สมัยก่อน การที่จะทำให้คนเป็นแบบนั้น ต้องพาไปเข้าค่ายอบรม แต่สมัยนี้ ค่ายมันอยู่ต่อหน้าต่อตาอยู่กับตัวตลอดเวลา มือถือเล็กๆ ที่ติดตัวนั่นแหละคือ โลกของถ้ำ

ถ้าพูดกันอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โรงเรียนประจำแบบวชิราวุธก็คือ ถ้ำชนิดหนึ่ง และก็เป็นถ้ำที่สร้างคนประเภทหนึ่งออกมา จะดีหรือไม่ ก็ต้องดูว่า เอามาตรฐานอะไรมาวัด ! 
 
ถ้าถ้ำหนึ่งสร้างคนออกมาให้รู้จักระมัดระวังเรื่องถ้ำ ให้สงสัยทุกถ้ำ แม้แต่ถ้ำตัวเอง ถ้ำนั้นก็น่าจะเรียกได้ว่า ดีกว่าถ้ำอื่นที่คิดแต่จะให้เชื่อแต่เรื่องราวของถ้ำตัวแอง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ำใดจะวิเศษกว่าถ้ำอื่นก็คือถ้ำที่สร้างภูมิคุ้มกันให้สมาชิกของตนมีความเป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสินใจอะไรได้เอง เหมือนมีวัคซีนที่เป็นภูมิต้านทานไม่ให้ป่วยไข้อะไรได้ง่ายๆ 
 
เมื่อพูดถึงภูมิต้านทานก็อดคิดถึงโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้ โรคพิษสุนัขบ้านี้ เราฉีดวัคซีนป้องกันไม่ได้ แต่จะฉีดก็ต่อเมื่อเราถูกหมาบ้ากัด แล้วก็ต้องรีบไปฉีด ไม่เหมือนโรคอื่นๆ ในทางการเมือง ก็น่าจะมีวัคซีนป้องกันพิษบ้าเหมือนกัน

มีนักปราชญ์ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า คนวัยหนุ่มสาวที่อ่านตำรับตำราการเมืองที่พร่ำพูดเปรียบเทียบผู้ปกครองที่ดีกับผู้ปกครองที่เลวหรือทรราช แต่ตัวพวกเขาหล่านั้นยังไม่พัฒนาการใช้เหตุผลของตัวเองได้ดีและหนักแน่นพอที่จะครุ่นคิดไตร่ตรองในสิ่งที่ตัวเองอ่านไปอย่างระมัดระวัง คนเหล่านี้มักจะเกิดอารมณ์รุนแรงและพอใจที่จะให้เกิดสภาวะ  “สงคราม”  ในบ้านเมืองของตนขึ้น โดยจินตนาการไปว่า หลังสงครามโค่นล้มทรราชย์แล้ว จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตตามมาจากความประเสริฐเลิศศรีของผู้ปกครองคนใหม่หรือรูปแบบการปกครองใหม่ที่พวกเขานิยมชมชอบ แต่พวกเขากลับละเลยที่จะเฉลียวใจถึงการปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลและสงครามกลางเมืองที่มีต้นตอมาจาก  “คนเหล่านั้น”  ที่พวกเขานิยมชมชอบ 
 
และจากอิทธิพลของความรู้การเมืองที่แบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองหรือกษัตริย์กับทรราช ผู้คนหนุ่มสาวก็ลุกขึ้นมาประหัดประหารผู้ปกครองของพวกเขา เพราะบรรดากูรูที่เทศนาเรื่องทรราช ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมและเป็นสิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญ หากผู้ใดสามารถ  “สังหารทรราช”  ได้ โดยก่อนที่เขาจะลงมือ เขาจะต้องหาทางพยายามทำให้ผู้นำคนนั้นถูกเรียกว่าเป็นทรราชเสียก่อน เพื่อที่จะทำให้การกระทำของพวกเขานั้นไม่ใช่เป็นการฆ่าผู้ปกครอง แต่เป็นการฆ่าทรราช ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

นักปราชญ์ผู้นั้นได้กล่าวต่อไปว่า คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่เขาพอใจ เขาก็จะบอกว่า เขามีอิสรเสรีภาพ แต่ถ้าเป็นผู้ปกครองที่เขาไม่พอใจ เขาก็จะบอกว่า เขามีชีวิตอยู่เยี่ยงทาส

นักปราชญ์ผู้นี้จึงเตือนให้ระวังชุดข้อมูลที่เรารับอยู่ และถามตัวเราว่า เรามีภูมิต้านทานมากพอที่จะไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆ ได้แค่ไหน มิฉะนั้นแล้ว หัวสมองเราก็จะเต็มไปด้วยความอคติ ซึ่งนักปราชญท่านนั้นเปรียบเทียบอคติทางการเมืองนี้กับพิษสุนัขบ้า เพราะพิษสุนัขบ้าจะทำให้เกิดอาการกลัวน้ำพร้อมๆ กับอาการกระหายน้ำ นั่นคือ เมื่อใครในสังคมถูกพิษจากพวกกูรูเหล่านี้ ผู้ที่ต้องพิษนั้นจะขู่คำรามอยู่ตลอดเวลาและไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการโค่นล้ม “ผู้ปกครอง” ที่พวกเขารังเกียจ ขณะเดียวกันก็โหยหา“ผู้ปกครอง” คนใหม่ที่เขานิยมชมชอบ” ซึ่งก็คือ พวกคณะกูรู นั่นเอง

และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อคนเกิดคิดรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการฝันตามหนังสือ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง  “อุตตรกุรุ” ขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนและผู้คนชาวสยามในขณะนั้น ที่กระแสคลื่นการเมืองแบบฝันๆกำลังถาโถมเข้ามา ซึ่งจริงๆแล้วคลื่นการเมืองที่ถาโถมนี้ ก็ยังถาโถมให้เห็นอยู่เป็นช่วงๆไป



 ตัวผมเองรู้จัก “อุตตรกุรุ” ได้ก็เพราะอาจารย์ชัยอนันต์ท่านนำมาสอนในวิชาความคิดทางการเมืองไทย และท่านได้เขียนตำราแนะนำพระราชนิพนธ์นี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นการเมืองแบบฝันๆกำลังถาโถมเข้าใส่นิสิตนักศึกษา และอาจารยชัยอนันต์ได้จัดให้ความคิดในพระราชนิพนธ์ “อุตตรกุรุ  เป็นหนึ่งในความคิดทางการเมืองไทยที่สำคัญ ถ้าผมไม่ได้เลือกเรียนวิชาความคิดทางการเมืองไทย ผมก็อาจจะไม่รู้จักหรือรู้จัก  “อุตตรกุรุ”  ได้เร็วขนาดนั้น เหมือนได้วัคซีนเร็วขึ้น

“อุตตรกุรุ” คืออะไร ? และเป็นวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้วิเศษอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป

อาจารย์ชัยอนันต์




กำลังโหลดความคิดเห็น