xs
xsm
sm
md
lg

แรกมีวัคซีนในสยามในแผ่นดินพระนั่งเกล้า ถึงวัคซีนโควิด-19 ในแผ่นดินพระวชิรเกล้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชา วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ Small pox เป็นโรคระบาดร้ายแรงมาก สมัยโบราณคนที่ป่วยโรคนี้ต้อง social distancing ไปนอนแยกในเรือนร้างห่างไกลผู้คนหรือในป่า เวลานอนแผลฝีจะติดผ้านอนฟูกหรือกระดานก็ไม่ได้จะพุพองติดกระดานหรือติดฟูก ต้องตัดเอาใบตองมารองนอน นวลใบตองช่วยกันไม่ให้ฝีดาษติด ฝีดาษเกิดจากไวรัสและมีคนตายกันมากมายด้วยโรคนี้ แม้ไม่ตายแต่เมื่อหายก็มีแผลพุพองติดตัวไปทั่วร่างกายมีสภาพที่ไม่น่าดูเลยแต่อย่างใด

วัคซีนชนิดแรกของโลก ก็คือการปลูกฝีหรือวัคซีนไข้ทรพิษ แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Edward Jenner เป็นคนคิดวิธีการปลูกฝีหรือทำวัคซีนได้สำเร็จเป็นคนแรก ถือเป็นงานชิ้นเอกของโลกที่ช่วยชีวิตมนุษย์ได้มากมายมหาศาล นายแพทย์ Edward Jenner คิดค้นการปลูกฝีดาษหรือวัคซีนได้สำเร็จในปี 2339 หรือในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นายแพทย์เจนเนอร์ใช้ฝีดาดวัว มาปลูกต่อในคนดังรูปด้านล่างนี้

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Jenner#/media/File:Edward_Jenner-_Smallpox.svg
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ วัคซีนเข็มแรกช่วยมนุษย์พ้นวิกฤติ เล่าไว้ว่า

"ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ทวีปยุโรปเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงจากไข้ทรพิษ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แพทย์ทั่วโลกพยายามค้นคว้าหาตัวยามารักษา แต่เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่ดีพอจึงไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชนบทชาวอังกฤษจากเมือง Gloucestershireได้สังเกตเห็นว่า ตามมือและแขนของผู้หญิงรีดนมวัวมักมีแผลที่เกิดจากฝีดาษวัว (cowpox) ที่ไม่รุนแรง และพบว่า ผู้หญิงรีดนมวัวในหมู่บ้านทุกคน ไม่มีใครป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษเลย นายแพทย์เจนเนอร์เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็อยากค้นหาความจริง เพราะสถานการณ์การระบาด

ในเวลานั้น “เข้าตาจน” จึงเริ่มทำการทดลองโดยไม่ทำเป็นขั้นเป็นตอนที่ต้องเริ่มจากทดสอบกับสัตว์ก่อน แล้วจึงค่อยสุ่มตัวอย่างทดลองกับมนุษย์ นายแพทย์เจนเนอร์ทำแบบลูกทุ่งให้เห็นดำเห็นแดงกันเลย โดยในวันที่ 14 พฤษภาคม 1796 ได้นำหนองจากแขนของซาร่าห์ เนลเมส (Sarah Nelmes) หญิงรีดนมวัวที่ติดจากฝีดาษวัว ไปป้ายไว้ใต้ผิวหนังแขนของเจมส์ ฟิปส์ (James Phipps) เด็กชายวัย 8 ขวบ และพบว่าฟิปส์มีไข้เล็กน้อย แต่ก็หายภายในเวลาไม่นาน หลังจากนั้นประมาณ 6 สัปดาห์ นายแพทย์เจนเนอร์ได้นำเชื้อฝีดาษป้ายบนแผลของฟิปส์ ผลปรากฏว่า ฟิปส์ไม่แสดงอาการเป็นไข้ทรพิษเลย และเมื่อนำวิธีการนี้ไปทดสอบกับคนในหมู่บ้านก็ได้ผลเช่นเดียวกันนายแพทย์เจนเนอร์เรียกวิธีการนำฝีดาษวัวมาใช้ในการรักษานี้ว่า “vaccine” ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า vacca ที่แปลว่าวัว นั่นเอง"

การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Transfer of technology) หรือการแพร่หลายของนวัตกรรม (Diffusion of innovation) ในยุคนั้น ไม่ได้รวดเร็วอย่างในสมัยนี้ กว่าไทยเราจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จนเมื่อแผ่นดินบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแพทย์มิชชันนารีสอนศาสนาชาวอเมริกัน

หมอบรัดเลย์ Dan Beach Bradley เป็นแพทย์และเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เข้ามาในประเทศไทยในปี 2378

ต่อมาในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดไข้ทรพิษระบาดหนัก หมอบรัดเลย์ ตัดสินใจใช้วิธีที่เสี่ยงมากคือขูดสะเก็ดแผลฝีดาษจากคนที่เป็นไข้ฝีดาษ มาปลูกถ่ายฝีให้กับคนที่ยังไม่เป็นไข้ทรพิษ ไม่ได้ผ่านจากคนที่ติดไข้ผีดาษวัว อันเป็นวิธีการมาตรฐานที่ปลอดภัยกว่ามาก และในเวลานั้นยังหาฝีดาษวัวไม่ได้ เลยต้องใช้วิธีเสี่ยงอันตรายมากสักหน่อย แต่ปรากฏว่าได้ผลดี ความทราบไปถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งให้แพทย์หลวงของไทยมาเรียนวิธีการปลูกฝีดาษกับหมอบรัดเลย์ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี พระราชทานเงินให้ไปจัดซื้อเชื้อฝีดาษโคเข้ามาในประเทศไทยเพื่อให้การปลูกฝีหรือวัคซีนไข้ทรพิษนี้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงทราบว่าหมอบรัดเลย์สามารถพัฒนาแท่นพิมพ์อักษรไทยได้สำเร็จ ทรงเห็นว่าวิธีที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีที่สุดคือการให้หมอบรัดเลย์เขียนตำราการปลูกฝีดาษแล้วพิมพ์ออกแจกจ่าย ให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ให้กว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรางวัลในการเขียนตำราปลูกฝีดาษ และเงินรางวัลในการตีพิมพ์หนังสือดังกล่าวแด่หมอบลัดเลย์ ตำราดังกล่าวมีชื่อว่า ตำราปลูกฝีโค ให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้ ซึ่งได้ตีพิมพ์ถึงสองครั้ง และทำให้ความรู้เรื่องการปลูกฝีดาษแพร่หลายในประเทศไทย

 ที่มา: http://164.115.27.97/digital/items/show/11919

 ที่มา: http://164.115.27.97/digital/items/show/11919

 ที่มา: http://164.115.27.97/digital/items/show/11919
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า มีการปฏิรูปการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอย่างกว้างขวาง มีการตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยคือโรงพยาบาลศิริราช
ความพยายามสำคัญมากที่สุดในด้านวัคซีนหลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการปลูกฝีดาษมาแล้วจากสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามที่จะทำพันธุ์หนองฝีดาษโคให้สำเร็จในประเทศไทย ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จแต่ก็เห็นถึงความพยายามในการพึ่งพาตนเองของประเทศไทยในด้านวัคซีนดังที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย จัดพิมพ์โดยแพทยสภา จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้าที่ 653 ว่า 2446 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีทดลองทำพันธุ์หนองโคปลูกไข้ทรพิษแต่ไม่สำเร็จ

วันที่ 22 กรกฎาคม ร.ศ. 122 นายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีหนังสือกราบบังคมทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ว่าคิดจะทำหนองโคเพื่อจะให้เป็นพันธุ์ปลูกไข้ทรพิษ ให้หมอทดลองทำดูแล้วไม่สำเร็จ ต่อมาให้หมอตรัมขึ้นไปเมืองแพร่หาโคมาปลูก เป็นการทดลองหลายอย่างก็ไม่สำเร็จ จึงมีความคิดที่จะเรียกหมอที่ชำนาญทำหนองโคเข้ามาตั้งทำในสยาม ซึ่งได้แจ้งกระทรวงธรรมการให้ทราบแล้ว

ความพยายามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงเลิกแค่นั้น ในปีถัดมา 2447 ได้มีพระราชหัตถเลขาที่ 31/1379 ถึงพระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ดังนี้

ด้วยได้ทราบจากกรมหลวงดำรงราชานุภาพว่าที่เมืองมนิลามีวิธีรักษาโรคระบาทว์กระบือขึ้นใหม่ ใช้ตัวสัตว์แห่งโรคนั้นผสมปลูกที่โคกระบือไม่ให้เป็นโรค อย่างนั้น รัฐบาลอเมริกันได้ตั้งการทำพรรค์แลปลูกโรคนี้ที่เมืองมนิลา ได้ผลดีเมื่อสักสองสามเดือนมานี้ชาวอเมริกันมาจากเมืองมนิลาสองคน คนหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานจัดการเพราะปลูก อีกคนเป็นเจ้าพนักงานจัดการผสมสัตว์พาหนะ ราชทูตอเมริกันได้พาตัวไปพบกรมหลวงดำรงราชานุภาพ พูดกันด้วยโรคระบาทว์โคกระบือ เจ้าพนักงานทั้งสองนั้นรับรองว่า ถ้ารัฐบาลสยามจะส่งแพทย์คนใดออกไปเรียนวิธีทำพรรค์และวิธีปลูกแก้โรคระบาทว์สัตว์พาหนะ รัฐบาลอเมริกันจะยินดีช่วยเหลือทุกทาง

เห็นว่าเป็นการควรจะขวนขวายสืบสวนดู ถ้าหากว่ามีเครื่องแก้กันโรคสัตว์พาหนะได้จริง ก็จะเปนประโยชน์มาก ให้กระทรวงธรรมการจัดแพทย์ที่สมควรออกไปตรวจสอบการเรื่องนี้ที่เมืองมนิลาดู

สยามินทร์


กระทรวงธรรมการได้ส่งนายแพทย์เอช อาดัมเซนและหลวงวิฆเนศร์ไปเรียนที่มนิลา กลับถึงกรุงเทพวันที่ 3 มีนาคม รศ. 126 แล้วกลับมาทดลองทำพรรค์หนองโคเองที่บ้านหมออาดัมเซนที่ถนนเจริญกรุง ได้ยื่นขอพระราชทานเงินงบประมาณ 43,580 บาท และขอที่บริเวณเสาธงสระปทุมวัน

ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2447 มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ที่ดินตรงเสาธงสระปทุมวันสำหรับเลี้ยงสัตว์และพระราชทานงบประมาณจำนวน 30,000 บาท จึงเป็นอันว่าสยามประเทศสามารถผลิตวัคซีนไข้ทรพิษเพื่อปลูกฝีดาษได้เอง พึ่งพาตนเองได้สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ให้ส่งแพทย์ไทยไปเรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอเมริกาในประเทศฟิลิปปินส์จนประสบความสำเร็จเป็นประโยชน์กับการแพทย์ไทยและประชาชน

ในปี พ.ศ.2449 ได้มีการทำหนองฝีโคปลูกทรพิษได้สำเร็จที่พระปฐมเจดีย์ โดยมีหมอปอลอี วูลลี เป็นผู้ดำเนินการ และจำหน่ายปลูกฝีให้แก่ประชาชนที่โอสถศาลาเพิ่มขึ้นอีกแห่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เกิดเหตุอันเศร้าสลด เมื่อหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร พระธิดาในกรมพระดำรงราชานุภาพถูกสุนัขบ้ากัด และสิ้นชีพิตักษัยภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ถูกกัด ไม่สามารถส่งไปรักษาที่ไซ่ง่อนที่มีเซรุ่มและวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าได้ทัน ทำให้เป็นเหตุที่มีพระราชดำริจัดตั้งปาสตุรสภา (หรือสถานเสาวภาในภายหลัง) ทำหน้าที่ผลิตวัคซีนและเซรุ่ม สำหรับป้องกันโรคและแก้พิษงู พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปาสตุรสภา โรงพยาบาลพิษสุนัขบ้ากัด ณ ถนนบำรุงเมือง โดยอาศัยเงินอุดหนุนที่ได้รับพระราชทานเป็นปฐมฤกษ์จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงส่วนหนึ่งกับเงินที่ประชาชนร่วมใจกันบริจาคให้อีกส่วนหนึ่ง




สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ได้รับการโปรดเกล้า เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขพระองค์แรก และทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยด้วย ต่อมาทรงจัดตั้งแผนกแพทย์ผสมยา และต่อมา โรงเรียนปรุงยา และต่อมาเป็นคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับได้ว่าทรงคุณูปการต่อวงการเภสัชกรรมไทย เป็นอย่างสูงยิ่ง โปรดอ่านได้จาก ลุงกับหลาน ผู้สานต่อการผลิตยา และวัคซีนในประเทศไทย https://mgronline.com/daily/detail/9640000009085

ทั้งนี้กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นพระราชปิตุลาที่สนิทใกล้ชิดและเป็นที่ทรงรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นอย่างมาก ทรงดำรงตำแหน่งทั้งประธานองคมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9


เมื่อต้นรัชกาลที่ 9 เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งหน่วยฉีดวัคซีนพระราชทานที่พระตำหนักจิตรลดาฯ รับมือ "อหิวาต์" https://www.silpa-mag.com/history/article_46285

ที่มา : ภาพจาก หนังสืออนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงตั้งโรงงานพระราชทานสำหรับผลิตยาและวัคซีน ที่เป็นยาที่ต้องผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นยาชีววัตถุ สยามไบโอไซเอนซ์ ถือหุ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำให้ประเทศไทยสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca และ Oxford University ได้




แม้ว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะขาดทุน แต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด สิ่งที่พ่อทำไว้เพื่อประโยชน์ของมหาชนชาวสยามเป็นอย่างดียิ่ง ทำใหวันนี้คนไทยได้มีวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตเองในประเทศ และน่าจะเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตหากเกิดวิกฤติมหาโรคระบาดเช่นนี้อีก โปรดรับชมได้จาก ขาดทุนคือกำไร จิตใจไม่สูงพอคงไม่เข้าใจ https://mgronline.com/news-clips/KsU07Dokv2A

จะเห็นได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดินในพระมหาบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงพยายามในการป้องกันโรคระบาด พยายามให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนเองได้ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากชาติตะวันตกมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณจวบจนปัจจุบัน

กินน้ำอย่าลืมคนขุดบ่อ ไม่มีวันใดที่ไม่คิดถึง