อ. พญ. นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
และ
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com
เป็นที่ทราบกันดีว่า PM2.5 มีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายเช่น ควันเสียยานพาหนะ ควันบุหรี่ การเผาไหม้เศษชีวมวลทางการเกษตร การสันดาปที่ไม่สมบูรณ์จากการใช้เชื้อเพลิงในกิจกรรมต่างภายในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ผลงานวิจัยล่าสุดของ ดร. โฉมศรี ชูช่วย อาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าไอเสียยานพาหนะยังคงเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญในชั้นบรรยากาศของหัวเมืองหลักของประเทศเช่น เชียงใหม่ (52%) กรุงเทพมหานคร (44%) และภูเก็ต (56%) โดยพบว่าการเผาไหม้ของเศษชีวมวลมีความสำคัญเป็นลำดับที่สองด้วยอัตราส่วน 16% 24% และ 11% สำหรับ เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต ตามลำดับ ที่น่าสังเกตคือสัดส่วนของการเผาไหม้ของเศษชีวมวลมีอิทธิพลอย่างมากต่อปริมาณการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ในชั้นบรรยากาศของกรุงเทพมหานครสอดคล้องกับกิจกรรมการเผาไร่อ้อยที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
PM2.5 คืออนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง ทำให้ฝุ่นนี้สามารถเข้าไปในทางเดินหายใจของเรา โดยอาจเข้าไปถึงในปอด ถุงลม หรือแม้กระทั่งเล็ดลอดเข้าเส้นเลือดฝอย และหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกายได้ในที่สุด หากมีปริมาณที่มากพอ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การระคายเคือง ตา จมูก และ ทางเดินหายใจ ซึ่งหากมีโรคทางเดินหายใจเรื้อรังอยู่เดิม อาจมีอาการกำเริบได้ เช่น ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง หอบหืด และกลุ่มโรคหัวใจ (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด) และหลอดเลือดสมอง ที่อาจกำเริบได้ นอกจากนี้ ฝุ่นจิ๋วยังอาจมีสารพิษและโลหะหนักเกาะติดเข้าไปในร่างกายเราได้ด้วย บางชนิดก็เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด เป็นต้น ซึ่งผลกระทบนี้ส่งผลได้ทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็ก (เด็กตัวเล็ก และหายใจเร็ว) หญิงตั้งครรภ์ (อาจทำให้ทารกโตช้า ตัวเล็ก และคลอดก่อนกำหนดได้) ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องเช่น โรคทางเดินหายใจ หอบหืดเป็นต้น โดย องการอนามัยโลก ระบุว่า หาก สัมผัส PM2.5 เกินกว่ากำหนด คือ 25 มคก./ลบม. ส่งผลให้การตายด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 7-20 %ดังนั้นแม้จะเป็นฝุ่นจิ๋วแต่พิษภัยไม่ได้จิ๋วตามขนาด เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ โดยอันดับแรก ช่วยกันลดการก่อ PM2.5และ ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น
1. หลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่น หากต้องออกไปข้างนอกควรติดตามรายงานระดับฝุ่น PM2.5 และสภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชั่นของหน่วยงานภาครัฐเช่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษหรือ AirBKK ของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในแต่ละพื้นที่และตามช่วงเวลา ถ้าจำเป็นต้องออกไปในที่มีค่า PM2.5 สูง พยายามลดระยะเวลาเผชิญฝุ่น ให้สั้น และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เช่น หน้ากาก N95 และใส่ให้ถูกต้อง หาก ไม่ปิดสนิท ก็ทำให้ฝุ่นรั่วเข้าได้ และ หากใช้ หน้ากากN95อยู่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักเพราะอาจเกิดอันตรายได้ และหากมีโรคประจำตัวที่อาจกำเริบได้ เช่นหอบหืด ควรพกยาฉุกเฉิน ไปเผื่อ เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม นอกจากนี้ สวมแว่นกันฝุ่นเข้าตา (อาจใช้เป็นแบบมีขอบรอบด้านแบบแว่นกันลม) สวมชุดมิดชิด และผู้มีปัจจัยเสี่ยงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับเด็ก ซึ่งเด็กที่สามารถเริ่มใส่หน้ากากได้ ควรเป็นเด็กที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป เพราะหากเด็กหายใจไม่พอหรือผิดปกติ เด็กสามารถดึงออกเองได้ (ต้องระวังในเด็กที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทที่อาจดึงเองไม่ได้) และเลือกขนาด ชนิด และวิธีใส่ให้เหมาะสม
2. หากสภาพแวดล้อมในอาคารหรือในบ้านบางที่ ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงควรใช้เครื่องกรองฝุ่นที่สามารถกรอง PM2.5 ได้และควรกำจัดแหล่งกำเนิดฝุ่นด้วยการหมั่นทำความสะอาดจุดที่มีการสะสมของฝุ่นมากอยู่เป็นประจำ
เอกสารอ้างอิง
1. คู่มือการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน2.5ไมครอน (PM2.5) ปี 2564
2. PM2.5กับผลกระทบต่อสุขภาพ
ผศ. พญ. หฤทัย กมลาภรณ์
รศ. ดร.พญ. วิภารัตน์ มนุญากรณ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล รามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล
คณะทำงาน PM2.5ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
3. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แนะแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5รศ. นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล ราชวิทยาลัย อายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หัวข้อ แพทย์เผย 'บุหรี่' มีส่วนก่อฝุ่น PM2.5เกินคาด
5. สำนักงานสาระนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข หัวข้อ PM2.5ระดับสูงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีค่าเท่ากับการสูบบุหรี่ 10 มวน ศาสตราจารย์ประกิต วาทีสาธกกิจ
6. ChooChuay, C., Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Suttinun, O., Deelaman, W., Wang, Q., ... & Cao, J. (2020). Impacts of PM2.5sources on variations in particulate chemical compounds in ambient air of Bangkok, Thailand. Atmospheric Pollution Research, 11(9), 1657-1667.
7. ChooChuay, C., Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Deelaman, W., Iadtem, N., Suttinun, O., ... & Cao, J. (2020). Effects of agricultural waste burning on PM2.5-bound polycyclic aromatic hydrocarbons, carbonaceous compositions, and water-soluble ionic species in the ambient air of Chiang-Mai, Thailand. Polycyclic Aromatic Compounds, 1-22.
8. ChooChuay, C., Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Deelaman, W., Suttinun, O., Wang, Q., ... & Cao, J. (2020). Long-range transboundary atmospheric transport of polycyclic aromatic hydrocarbons, carbonaceous compositions, and water-soluble ionic species in southern Thailand. Aerosol and Air Quality Research, 20(7), 1591-1606.