นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากการสำรวจของกรมอนามัย ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 – 27 พฤษภาคม 2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 288 ราย ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่ก็พบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 6 ราย ทารกเสียชีวิตในครรภ์ จำนวน 1 ราย อัตราคลอดก่อนกำหนด ร้อยละ 18 เด็กทารกคลอดออกมาแล้วติดเชื้อ 17 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย เปิดเผยว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 โดยมีนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมนั้น ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เลขาธิการแพทยสภา ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูก สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ต้องพิจารณาจัดลำดับตามความเสี่ยงในรายที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หอบหืด ปอด ไทรอยด์ หรือ อ้วน รวมถึงในรายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกจะต้องได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ ผลข้างเคียงของวัคซีน ความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 และความรุนแรงของโรค ก่อนการตัดสินใจ โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีน หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูกยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHTTA อย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่างจากบุคคลใกล้ชิด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือเป็นประจำ งดออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น งดใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับคนในบ้าน และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน "ไทยเซฟไทย" สำหรับสมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญในการช่วยปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อ โดยให้คิดไว้เสมอว่า หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเปราะบาง และมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย