xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยาอี ขี้ยาวิศวะเคมี ผลิตครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้องพักเลขที่ 163/21 ชั้น 3 ตึก 14 เคหะเอื้ออาทรพระเงิน ต.ปลายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี กลายเป็นข่าวดังไปทั่วไทย

เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จับกุมตัว นายปฎิเวธ สุวรรณคีรี อายุ 42 ปี มีดีกรีเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี พร้อมของกลางอุปกรณ์ผลิตยาเสพติดประเภทยาอี มีสารเคมีตั้งต้นและส่วนผสมยาเสพติดจำนวนมากในการผลิตยาเสพติดหลายชนิด แท่นปั๊มยา ขวดหลอดแก้วในการผสมสารเคมี เครื่องชั่งน้ำหนักดิจิทัล และพบ ยาอีที่ผลิตแล้วบรรจุอยู่ในถุงจำนวน 20,000 เม็ด ยาไอซ์ 50 กรัม

ว่าไปแล้ว คนที่เป็นวิศกรเคมี ซึ่งจบวิศวกรรมเคมีนั้น โดยปกติแล้วเงินเดือนเยอะ และเป็นอาชีพในลำดับต้นๆของชาววิศวะ ในอเมริกาเองมีความสำคัญอยู่ใน 5 อันดับของอาชีพวิศวะกันเลยทีเดียว เพราะเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ยา และเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ สตาร์ตเริ่มทำงานหลักหลายหมื่น และเมื่ออยู่นานๆ ก็จะเป็นระดับหลักแสนถึงหลายแสนบาทกันเลยทีเดียว

การจับกุมครั้งนี้เป็นการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาในย่านรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ รวบผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาอี จำนวน 2,300 เม็ด ซึ่งให้การซัดทอดว่ารับยามาจากนายปฏิเวธ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่

ตำรวจจึงนำกำลังไปเฝ้าและเข้าจับกุมตัวทันที จากการสอบสวนนายปฏิเวธรับสารภาพว่า ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการผลิตยา ก่อนหน้านี้ก็เสพยามา ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ผลิต และส่งขายให้กับพ่อค้าย่านรัชดาภิเษก นานกว่า 5 ปี มีเป้าหมายเป็นกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน

สำหรับสูตรการผลิตของตนนั้น จะแตกต่างจากที่อื่น คือ ในยาเสพติด 1 เม็ด จะประกอบด้วยยาเสพติดอีกหลายตัว ทั้งไอซ์ และเคตามีนผสมร่วมไปด้วย

1 วันสามารถผลิตยาเสพติดได้มากกว่า 3,000 เม็ด โดยขายต่อให้กับผู้ค้ารายเดียวเท่านั้นไม่มีรายย่อย ราคาซื้อขายในราคาเม็ดละ 180-200 บาท

ถ้าคำนวณกันว่าผลิตยาเสพติดได้มากถึงวันละ 3,000 ถึง 5,000 เม็ด ผ่านมา 5 ปี ห้องพักแห่งนี้ของนายปฏิเวธ วิศวเคมีและขบวนการ คงแพร่กระจายยาเสพติดให้นักเที่ยวย่านรัชดาฯไปอย่างมโหฬารบานทะโร่ และได้เงินเข้ามาอย่างมากมายมหาศาล เช่นกัน

ในการสืบสวนสอบสวนตำรวจไม่เชื่อคำให้การในส่วนนี้ของผู้ต้องหา เพราะสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดบางชนิดในประเทศห้ามจำหน่าย ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาที่จับได้ 2 คน ไม่น่าจะมีแค่นี้ คาดว่าเป็นขบวนการใหญ่

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับยาเสพติดของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ปปส. ระบุว่า คนไทยกว่า 3 ล้านคน ได้ตกเป็นทาสของยาเสพติด คิดเทียบเป็นอัตราการติดยา (prevalence rate)ได้เท่ากับ ร้อยละ 5 เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันนี้ ยาบ้า (หรือชื่อเดิมว่า ยาม้า) ยาอี หรือยาเลิฟ ได้แพร่ระบาดหนักในหมู่นักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะในสังคมเมือง ยาอี จะแพร่หลายในหมู่คนมีเงินฐานะดี และกลุ่มวัยรุ่นนักเที่ยวในเมือง มี สอง 2 รูปแบบ ก็คือ แบบเม็ด หรือที่นิยมเรียกว่า “Kitty”วัยรุ่นไทยจะเรียกว่า“หนม” ขณะที่ แบบผง เรียกว่า“Molly”

โดยแบบเม็ดจะนิยมมากในกลุ่มวัยรุ่นไทย เพราะพกพาได้สะดวกและตัวยาออกฤทธิ์ยาวนาน 3-6 ชั่วโมง ซึ่งเพียงพอสำหรับการปาร์ตี้ในยามค่ำคืน

ใช่แล้ว !!! ยาอีจะอยู่คู่กับปาร์ตี้ และเรียกอีกอย่างว่า ยาเลิฟ

เหตุที่เด็กวัยรุ่นชอบยานี้ ก็เพราะผลจากยาในการกระตุ้นประสาท รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา แต่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เกิดการกระตุ้นความอยากหรือกระสันทางเพศ ทำให้เกิดพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ จึงเรียกกันว่า ยาเลิฟ(Love)

จากการยืนยันผลทางคลินิกของยา ในระยะแรกจะทำให้พึงพอใจ มีความสุขและระยะหลังจะเป็นอาการซึมเศร้าจากการที่ระดับสารสื่อประสาทลดลง

เพราะยาอี หรือยาเลิฟ มีสารทั้งสองตัวที่มีฤทธิ์ “psychedelic”คือก่อให้เกิดความรู้สึกเสมือนถักสายป่านโยงใยทางด้านจิตใจซึ่งกันและกัน เสพโดยการรับประทาน ในรูปแบบเม็ด หรือแคปซูล ชื่อในตลาดมืด (street names)ได้แก่ อาดัม (adam),xtc, essence, love pill

ยาอีหรือยาเลิฟ ยังไม่แพร่ระบาดในวงกว้างเท่ายาบ้า...

เพราะปัจจัยด้านราคาและนิยมเสพกันเฉพาะในกลุ่มคนเที่ยวกลางคืนและมีฐานะการเงิน จึงระบาดอยู่ในสถานบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นส่วนใหญ่

แต่ที่สำคัญในยุคก่อนหน้านี้ ยาอี หรือยาเลิฟ มักลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายไม่ได้ผลิตในเมืองไทยแต่อย่างไร จึงทำให้มีราคาสูงพอสมควร เนื่องจากยาอี เป็นยาเสพติดที่มีแหล่งผลิตในยุโรป โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์

เมื่อปีที่แล้ว แค่ในรอบ 6 เดือน ของปี2563 ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) และกรมศุลกากร ภายใต้ภารกิจสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Taskforce : AITF)สามารถตรวจจับยึดยาอี ที่ถูกส่งมาจากประเทศแถบยุโรปรวม 18 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 21 คน ยึดของกลางรวม 142,762 เม็ด

ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในสถานบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่หนาแน่น

ยาอีจัดอยู่ในกลุ่มสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทเหมือนยาบ้า และไอซ์ และเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีโทษทางกฎหมายค่อนข้างรุนแรง หากกระทำผิดในข้อหาลักลอบนำเข้า มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากจำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท

เพราะฉะนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า การนำเข้ายาอีเป็นการทำงานที่เพิ่มความเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ ของนักค้ายา

การที่ขบวนการค้ายาที่ใช้วิศวกรเคมีมาเป็นผู้ผลิตยาอี และยาเสพติดอื่นที่มีราคาแพงเสียเองในเมืองไทย แทนที่จะนำเข้าจากแหล่งในยุโรป จึงเป็นมิติใหม่ที่สะท้อนถึงความต้องการของคนเสพยาอี ที่ขยายตัวมีอุปสงค์ที่ต้องการยาอีมากขึ้นเรื่อยๆ

ย่อมคุ้มค่ากับการลงทุนและเสี่ยงต่อการจับกุมและโทษที่รุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

ทำให้ย้อนไปสู่อดีตใน ประเทศไทยเริ่มนำเข้าแอมเฟตามีน ในปี 2510 ช่วงแรกเรียกว่า “ยาม้า”ซึ่งรูปตัวเม็ดยามีรูปหัวม้าอยู่ แต่ก็สันนิษฐานว่า อาจนำไปใช้ในม้าแข่งเพื่อให้ม้าวิ่งเร็ว และอดทน

ภายหลังคนไทยนำมาใช้เป็นยาเสพติด เรียกกันว่า ยาขยัน ต้นกำเนิดของยาม้าที่ผลิตในเมืองไทยมาจาก นางกัลยาณี อร่ามเวชอนันต์ ซึ่งส่งลูกไปเรียนวิชาเคมีที่ประเทศใต้หวัน เพื่อกลับมาผลิตยาม้า เป็นรายแรกของเมืองไทย

เธอถูกจับพร้อมสามี และลูกชาย 2 คน ในเดือนพฤศจิกายน 2530 ที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งครอบครัวของเธอเช่าไว้ผลิตยาบ้า หลังจากนั้นยาม้าถูกประกาศเป็นยาต้องห้าม

ในที่สุด ปี 2539 ยาม้า ได้ถูกปรับแผลงแปลงสูตรใส่สารเคมีเข้าไปอีกหลายตัว และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ยาบ้า”โดย นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น เพื่อให้ผู้ใช้ยาตระหนักว่ายานี้ใช้แล้วเป็นบ้า ควบคุมสติไม่ได้ และเปลี่ยนอัตราโทษสารเสพติดยาบ้า จากประเภท 3 มาเป็นประเภทที่ 1 มีโทษสูงสุด

ยาม้า ถึงยาบ้า จากลักลอบนำเข้าในฐานะยาเสพติดผิดกฎหมายมาสู่การผลิตโดยคนไทยที่เรียนทางด้านวิศวกรรมเคมี

มาถึงปัจจุบัน ยาอีหรือยาเลิฟ จากที่เคยนำเข้าจากยุโรป วิสวกรเคมีของไทยก็ผลิตเองได้และมีออฟชันสารใหม่ๆ เข้าไปมากกว่าของนำเข้า ประวัติศาสตร์ยาเสพติด วนซ้ำรอย โดยวิศวกรเคมีคนไทยที่ชับเคลื่อนวงจรยาเสพติดนี้อยู่เสมอจากอดีตสู่ปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น