xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดกล่องแพนโดร่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ลุ้นระทึกฟื้นท่องเที่ยวกลางมรสุมโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นาทีนี้ไม่ว่าใครต่างลุ้นให้การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นำร่องต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยเป็นไปได้ด้วยดี ก่อนขยับทยอยเปิดรับรวมเป็น 10 จังหวัด แต่ความหวังนี้ต้องมีวัคซีน 1.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้ครอบคลุมประชากรกว่า 7 ล้านกว่าคน เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ ถ้าทำไม่ได้ตามนี้มีเสี่ยงเชื้อโควิด-19 ระบาดหนัก 

เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะถึงดีเดย์เปิดเมืองภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ อันเป็นหมุดหมายของการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งของประเทศไทย หลังล็อกดาวน์มายาวนานนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มาพร้อมกับการเปิดท่องเที่ยวทำให้ต้องเตรียมความพร้อมและลุ้นระทึก จึงไม่แปลกที่เงื่อนไข  “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  จะพลิกกลับไปมา เพราะต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน ดูหลายปัจจัยเสี่ยงว่าจะคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยเงื่อนไขจะเปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต และต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง มีการติดตั้งแอพพลิเคชันแจ้งเตือน และพำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ (Amazing Thailand Safety & Health Administration Plus) ในเวลา 14 คืน จากนั้นจึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ รวมทั้งต้องรายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA

หลัง ครม.มีมติดังกล่าว  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงเรื่องนี้ด้วยตนเองเลยว่า ครม.ได้รับทราบข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ (ศบศ.) ถึงการเตรียมเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ในไตรมาสที่ 3 – 4 ของปีนี้ โดยเริ่มจากจังหวัดภูเก็ต เป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้ว 409,366 คน มากกว่า 60% ของประชากร

 “..... จะมีการคัดกรองติดตามตัวอย่างเข้มงวด นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ฉีดครบโดสอย่างน้อย 14 วัน ก่อนวันเดินทาง รวมถึงใบอนุญาตเข้าประเทศอย่างถูกต้องมีการตรวจโรคระหว่างพักอาศัยในพื้นที่” นายกรัฐมนตรี กล่าว  

หลังจากครม.ผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความสมดุลในด้านความปลอดภัยทางสาธารณสุขควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดฯ (ศบค.) และนำกลับมาให้ ครม.พิจารณารายละเอียดที่ปรับแก้ไขใหม่อีกครั้ง

 ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินำร่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ ครม.เคาะผ่าน อยู่ตรงวันเวลาในการกักตัว โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจากเดิมที่ ททท. เสนอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ท่องเที่ยวในภูเก็ตแบบไม่กักตัวอย่างน้อย 7 วัน ถึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้ แต่ ครม.เปลี่ยนเป็นให้ท่องเที่ยวอยู่ในภูเก็ตแบบไม่กักตัวอย่างน้อย 14 วัน แล้วถึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในไทยได้ เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกที่มีการระบาดระลอกใหม่ 

ภายใต้เงื่อนไขการกักตัวที่เปลี่ยนไปจาก 7 วัน เป็น 14 วัน ก่อนเดินทางไปยังจังหวัดอื่นได้ มีการถกประเด็นนี้ในกลุ่ม Phuket Sandbox - Better Phuket By I Asia Thailand ว่าไม่จูงใจในการเดินทางเข้ามาภูเก็ต เพราะไม่ต่างจากการถูกกักตัวเพื่อเดินทางเข้าไทย ขณะที่นายพิพัฒน์ ระบุว่า เงื่อนไขดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางมาไทย ลดฮวบลงเหลือเพียง 50% จากเป้าหมาย 29,700 คน

อย่างไรก็ตาม ต้องรอประเมินหลังเปิดนำร่องที่ภูเก็ตก่อนหนึ่งเดือนเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตหรือไม่ หากไม่มีการติดเชื้อเพิ่ม ททท.จะเสนอให้ลดวันอยู่ในภูเก็ตเหลือ 7 วันแล้วออกไปพื้นที่อื่นได้ ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการมาเที่ยวภูเก็ตไม่ถึง 14 วัน แล้วเดินทางกลับประเทศต้นทางก็สามารถทำได้เลย

 รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ ยังระบุว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ มีนักท่องเที่ยวยืนยันเดินทางมายังภูเก็ตแล้ว 2 กลุ่ม คือ ในช่วงต้นเดือนมีมาจากสหรัฐอเมริกา และในช่วงปลายเดือนมีกลุ่มทหารเรือจากอังกฤษ ซึ่งเข้ามาซ้อมรบและมาแวะพักที่ภูเก็ต 400-500 คน ประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป และทวีปอเมริกา จะมีทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเอเชียใต้ยังไม่อนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย  

สำหรับนักท่องเที่ยวไทย มีเงื่อนไขจะต้องฉีดวัคซีนครบก่อนถึงจะมาเที่ยวภูเก็ตได้ แต่ถ้าใครยังไม่ฉีดจะต้องสวอปเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดก่อนทุกราย คาดว่าในรอบแรกนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตกว่า 129,000 คน ประมาณการรายได้ 3 เดือน เฉพาะที่ภูเก็ตราว 15,000 ล้านบาท โดยมี 10 สายการบินเตรียมบินตรงเข้าภูเก็ตแล้ว เช่น การบินไทย : เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต, ลอนดอน, โคเปนเฮเกน, ปารีส, โซล, สิงคโปร์, นิวเดลี (อาจปรับเป็นโตเกียว) 1 เที่ยวบินต่อ สัปดาห์ เริ่มบิน 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

เอมิเรสต์ : เส้นทางดูไบ – ภูเก็ต วันที่ 1-30 กรกฎาคม 2564 บินทุกวัน, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส : เส้นทางสิงคโปร์-ภูเก็ต วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป บินทุกวัน, แอลอัล อิสราเอลแอร์ไลน์: เส้นทาง เทลอาวีฟ – ภูเก็ต เริ่มบิน 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป, กาตาร์ แอร์เวย์ส : เส้นทางสตอกโฮล์ม, ออสโล, ปารีส, วอร์ซอ, เวียนนา,เฮลซิงกิ,ซูริค,มิวนิค, แฟรงก์เฟิร์ต มอสโค จากต้นทางจาก โดฮา– ภูเก็ต เริ่มบิน 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป บินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน, บริติซ แอร์เวย์ส : เส้นทางลอนดอน-ภูเก็ต เริ่ม1 กรกฏาคม 2564 เป็นต้นไป บินทุกวัน วันละ 3 เที่ยวบิน เส้นทางลอนดอน-โดฮา-ภูเก็ต ปฏิบัติการบินโดยกาตาร์ แอร์เวย์ส (โค้ดแชร์), แอร์ฟรานซ์ มีความสนใจบินเข้าภูเก็ต

การเปิดนำร่องท่องเที่ยวภูเก็ตเป็นกุญแจไขสู่การเปิดประตูท่องเที่ยวจังหวัดอื่นๆ โดยไม่ต้องกักตัวข้อเสนอของ ททท. คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบฯ เพชรบุรี กระบี่ พังงา สุราษฎร์ฯ บุรีรัมย์ นั้น ปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้พร้อมคือ การระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรให้ครบ 70% ของประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ ซึ่งเท่าที่ประเมินดูจากความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐบาลที่ผ่านมาแล้วก็น่าห่วงอย่างยิ่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ข้อมูลถึงความต้องการวัคซีนในเมืองท่องเที่ยวที่อยู่ในแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวที่อยู่ในแผน 10 จังหวัดนำร่อง ซึ่งมีจำนวนประชากรเป้าหมายรวม 7,761,203 คน รวมจำนวนวัคซีนที่ต้องการทั้งสิ้น 15,522,406 โดส แบ่งเป็น ภูเก็ต 933,174 โดส, กระบี่ 92,216 โดส, พังงา 33,326 โดส, สุราษฎร์ธานี 571,464 โดส เน้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของต่างชาติ, เชียงใหม่ 300,120 โดส ซึ่งจะจัดการแข่งวิ่งภูเขาและวิ่งเทรลชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 (WMTRC2021) วันที่ 11-14 พฤศจิกายนนี้

ชลบุรี 1,243,582 โดส เน้นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติและพื้นที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ, เพชรบุรี 844,300 โดส เน้นพื้นที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์, ประจวบคีรีขันธ์ 770,240 โดส เน้นบริเวณพื้นที่หัวหิน ปราณบุรี แหล่งที่พักสำคัญของชาวไทยและต่างชาติ และจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สำหรับบุรีรัมย์ 1,656,088 โดส รองรับการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เช่น MotoGP ในเดือนตุลาคม 2564 และกรุงเทพฯ จำนวน 9,077,976 โดส พื้นที่จุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 ประชาชนคนไทยที่เฝ้ารอคอยวัคซีนอยู่ในเวลานี้ ฟังดูแล้วเสียวแทนไหม เมื่อดูผลงานการบริหารจัดการวัคซีน และการปูพรมระดมฉีดในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แผนเปิดท่องเที่ยวคราวนี้ รัฐมนตรีที่คุมกระทรวงท่องเที่ยวฯ คาดหวังว่า หากทำตามแผนได้สิ้นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยราว 3-4 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท  

รัฐบาลก็ฝันหวานวาดตัวเลขรายได้ไป ขณะที่ภาคเอกชนไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงนัก โดย  นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประเมินว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนำร่องภูเก็ตแซนด์บอกซ์ คงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพราะนอกจากจะกักตัวนาน 14 วันแล้ว ช่วงเดือนกรกฎาคมไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวของภูเก็ต นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเที่ยวโดยตรงคงเป็นไปได้ยาก

เลขาธิการแอตต้า มองว่า ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาน่าจะเป็นนักธุรกิจหรือผู้ที่มาพักอาศัยในระยะยาว คาดว่ารัฐบาลจะใช้เวลาประเมิน 1-2 เดือน เพื่อพิจารณาลดวันกักตัวบนเกาะและปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย และต้องรอดูช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่นว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากน้อยแค่ไหน จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เพียงใด

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอความหวังท่องเที่ยวฟื้นตัวอยู่นั้น กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้หารือร่วมกับ 3 สมาคมการท่องเที่ยว สมาคมสปาไทย และสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทย เห็นพ้องกันว่ารัฐบาลควรพิจารณานำเงินกู้ประมาณหมื่นล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ มาจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยว ปล่อยกู้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเพื่อประคองธุรกิจรอวันฟื้นคืน


กำลังโหลดความคิดเห็น