xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิษโควิด วิกฤตซ้อนวิกฤต แรงงานต่างด้าวขาด บัณฑิตใหม่เตะฝุ่น คนไทยตกงานพุ่งเฉียด 3 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นับเป็นโจทย์ที่ยุ่งยากซับซ้อนสำหรับ “รัฐบาลลุง” เป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19แพร่ระบาดกระจายในหลายคลัสเตอร์โรงงาน-แคมป์ก่อสร้าง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ พอลงดาบปิดชายแดน คุมเข้มแคมป์ แรงงานต่างด้าวขาดร่วม 4 แสนคน ประมง-ก่อสร้าง-เกษตร ป่วน ส่วนอีกด้านบัณฑิตยุคโควิดตกงานสองปีซ้อนร่วมล้านคน ขณะที่ครม.เจียดงบสองพันกว่าล้านบาทจ้างงานเฉพาะกิจเด็กจบใหม่ได้แค่หมื่นอัตรา สภาองค์การนายจ้างฯ คาดแรงงานไทยว่างงานสะสมพุ่งร่วม 3 ล้านคน 

ข่าวคราวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะออกมาเมื่อการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับตีปี๊บว่าจะจ้างงานเฉพาะกิจบัณฑิตจบใหม่ในปีการศึกษา 2564 นี้ ประมาณหมื่นคน ในอัตราเงินเดือน 1.8 หมื่นบาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อทุเลาผลกระทบจากการหางานทำได้ยากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นการบรรเทาปัญหาได้แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะบัณฑิตที่โชคดีได้งานเฉพาะกิจทำมีเพียงกระหยิบมือเมื่อเทียบกับตัวเลขบัณฑิตจบใหม่ในยุคโควิดที่ลากยาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนบัดนี้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 แสนคน

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นที่ทำเอากิจการน้อยใหญ่เจ๊งระนาว ล้มระเนระนาด รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รอดพ้นวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องซึ่งบัดนี้เมืองท่องเที่ยวเงียบเหงาราวป่าช้า ผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่าล้านเดือดร้อนถ้วนหน้า นี่ยังไม่พูดถึงแรงงานที่เหมือนมีงานทำอยู่แต่ถูกลดชั่วโมงทำงาน ถูกลดเงินเดือน ปัญหาที่แสนหนักหน่วงและลากยาวมองไม่เห็นวันสิ้นสุด ทำให้บางคนรับสภาพวิกฤตในชีวิตไม่ไหว เริ่มมีข่าวคราวการฆ่าตัวตายถี่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโครงการจ้างบัณฑิตเตะฝุ่นทั้งที รัฐบาลลุงก็ต้องเรียกคะแนนนิยมกันหน่อย ตามโปรเจ็กต์นี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจหมื่นอัตรา ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ในกลุ่มบริหารงานทั่วไปของหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดหรือส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นหน่วยปฏิบัติ ซึ่งผู้ได้รับการว่าจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับพนักงานราชการปกติ ยกเว้นลาอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยจะเร่งดำเนินการจ้างงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้

หากมองในภาพใหญ่ สภาพความเป็นจริงของแรงงานไทยว่างงานยังหนักหนาสาหัสจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้  นายธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาการนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ประเมินภาพรวมการจ้างงานในปี 2564 โดยคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ซึ่งถือว่าค่อยๆ ดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้น แต่โควิด-19 ที่ยังระบาด ยังจะส่งผลต่อตลาดแรงงานทั้งที่มีงานทำอยู่ ตกงาน และแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง เพราะผู้ประกอบการปรับลดรายจ่าย ลดการจ้างงานหรือเลิกจ้างเพื่อประคองธุรกิจให้รอด
 กล่าวสำหรับแรงงานใหม่ที่เสี่ยงตกงานสะสมซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 5 แสนคน บวกกับบัณฑิตจบใหม่ปีที่แล้วที่ยังไม่มีงานทำอีกประมาณ 4 แสนคน รวมๆ แล้วยอดสะสมของบัณฑิตวิจัยฝุ่นตามที่รองประธานสภาการนายจ้างฯ ประเมินยอดสะสมจะอยู่ที่ 9 แสนคน โดยสาเหตุการว่างงานมีตัวเลขสูงส่วนใหญ่เพราะเรียนในสาขาที่ไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด 
อย่างที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยพูดถึงบัณฑิตว่างงานเมื่อคราวมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2563 นั่นแหละว่า  “การเรียนหนังสือ ผมเคยเตือนแล้วนะครับว่าเด็กตกงานเพราะเรียนไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ไม่งั้นก็จบมาในสาขาที่ไม่ค่อยมีงานทำมากพอสมควร จะเป็นภาระของครอบครัวนะครับ”  ซึ่งเป็นวลีที่สังคมโซเซียลมักหยิบมาแซะ “นายกฯ ลุง” แทบทุกครั้งเมื่อมีการพูดถึงเรื่องบัณฑิตจบใหม่ตกงาน
สำหรับตัวเลขการว่างงานล่าสุดที่  นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยระหว่างการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2564 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สะท้อนว่าการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สูงขึ้นอีกครั้ง หลังชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ขณะที่ชั่วโมงทำงานก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ขณะที่การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องคาดว่าจะกระทบต่อการจ้างงานเด็กจบใหม่กว่า 4.9 แสนคน

ปัญหาแรงงานไทยที่ตกงานก็สุมทับ และยังไม่คลี่คลายตัวลงในเร็ววัน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังโงหัวไม่ขึ้น ผู้ประกอบการก็เลิกจ้างพนักงาน ลดต้นทุนให้ต่ำสุด แต่ทว่าแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิต โรงงาน ก่อสร้าง เกษตร ประมง ซึ่งใช้แรงงานต่างชาติเป็นหลัก กลับเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนรุนแรงขึ้นเพราะหลังจากโควิด-19 ระบาดระลอกแรก แรงงานต่างด้าวที่กลับประเทศไปไม่สามารถเดินทางกลับมาไทยได้ พอถึงการระบาดระลอกสองและสามการขาดแคลนแรงงานก็ยิ่งวิกฤต ยิ่งการระบาดในคลัสเตอร์โรงงาน แคมป์ก่อสร้างกระจายตัวออกไปในหลายจุดยิ่งกดดันต่อการขาดแคลนแรงงานต่างชาติมากขึ้น ซึ่งการมองปัญหาและแก้ไขเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน กระทบชิ่งกันไปหมด

 ล่าสุด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนที่พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานอุตสาหกรรม และแคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 4 แสนคน สอท.จึงเสนอให้รัฐบาลทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำเข้าแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ 

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 82.3 จากเดือนก่อนที่ 84.3 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงมีคลัสเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังชะลอตัว และอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น แรงงานขาดแคลน เอสเอ็มอีขาดเงินทุนหมุนเวียน
ข้อเสนอของ สอท. ต่อรัฐบาลให้เร่งควบคุมการระบาดของโควิด-19 เร่งฉีดวัคซีน ออกมาตรการการเงินช่วยเอสเอ็มอี ลดค่าน้ำค่าไฟค่าสาธารณูปโภคลงร้อยละ 30 และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเชื่อมั่นว่าดัชนีอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 92.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนเมษายน 2564 โดยมีแรงหนุนจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐรวมทั้งส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น

 ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้สรุปข้อมูลการระบาดโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 มีจำนวน 8 จังหวัด รวมผู้ติดเชื้อ 6,813 ราย คือ สมุทรปราการ มี 3 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ในโรงงานผลิตสายนำสัญญาณ โรงงานน้ำแข็งและโรงงานเครื่องนุ่งห่ม มีผู้ติดเชื้อ 139 ราย, สมุทรสาคร 1 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ในโรงงานไม้ ติดเชื้อ 21 ราย 

 พระนครศรีอยุธยา 1 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ในโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ติดเชื้อ 104 ราย, สระบุรี 1 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 โรงงานแปรรูปไก่ ติดเชื้อ 537 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 2 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ในโรงงานแปรรูปไก่ และพบการระบาดวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ในโรงงานสับปะรดกระป๋อง รวมผู้ติดเชื้อ 192 ราย, ชลบุรี 1 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่งมีผู้ติดเชื้อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ในโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก ติดเชื้อ 6 ราย, เพชรบุรี 2 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ในโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานสิ่งทอ พบการระบาดวันที่ 2 มิถุนายน 2564 รวมผู้ติดเชื้อ 5,655 ราย โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อในโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ถึง 5,604 ราย, ตรัง 1 คลัสเตอร์ พบการระบาดวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ในโรงงานไม้ยาง ติดเชื้อ 159 ราย  

ต้นเหตุของการติดเชื้อแพร่กระจายในคลัสเตอร์โรงงานนั้น ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ส่วนหนึ่งมาจากแพร่เชื้อจากแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานที่ลักลอบเข้ามาเมืองผิดกฎหมายและพักอาศัยรวมกันอย่างแออัด ดังนั้น จะต้องเข้มงวดกับการลักลอบเข้าเมือง เปิดให้โรงงานขึ้นทะเบียนความต้องการแรงงานต่างด้าว และเปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง ผ่านกระบวนการกักตัว 14 วัน ตรวจคัดกรองโรค และฉีดวัคซีน ซึ่งโรงงานพร้อมจะจ่ายเงินเอง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากแรงงานต่างด้าวในคราวเดียวกัน

“ส.อ.ท.ขอสนับสนุนให้มีการนำเข้าแบบถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลต้องมีระบบการคัดกรองโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะจ่ายเงินในส่วนนี้อยู่แล้วไม่มีปัญหา เพื่อให้ภาคการผลิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดกระบวนการลักลอบเข้ามาที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย” นายสุพันธ์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนต่อรัฐบาล
ขณะที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่ออเดอร์กำลังเข้ามาจากประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตามเศรษฐกิจโลก แต่ท่าทีของรัฐบาลกลับแสดงความอับจนปัญญาในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้


โดยเมื่อเร็วๆ นี้  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมด่วนศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดว่า ได้กำชับผู้ประกอบการไม่ให้รับแรงงานเพิ่มเนื่องจากแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมาย หากจะต้องการแรงงานเพิ่มตอนนี้ต้องหยุดข้อเสนอไว้ก่อนรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดลดลงก่อน ก็ต้องดูตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอีกครั้ง หากแรงงานขาดแคลนก็ต้องยอมรับสภาพจะทำยังไงได้

ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานในไทยกลายเป็นปัญหาโลกแตกที่รัฐบาลไทยจัดการแก้ไขไม่ตก ทั้งการลักลอบเข้าเมืองที่มีเจ้าหน้ารัฐร่วมขบวนการ ทั้งการขึ้นทะเบียนที่มีความยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายมาก พอมาเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเละกันไปใหญ่ รัฐบาลก็ลอยแพเอกชนให้แก้ไขปัญหาเอาเอง และให้ยอมรับสภาพอย่างที่พล.อ.ประวิตร บอก ซึ่งซ้ำเติมวิกฤตให้ย่ำแย่หนักขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ให้นายจ้าง/สถานประกอบการมาแจ้งรายชื่อแรงงานที่ต้องการจ้าง และให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม. 29 ธันวาคม 2563 มาลงทะเบียนและแสดงตัวภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่เปิดจดทะเบียนแรงงานกลุ่มนี้เป็นกรณีพิเศษอันเนื่องมาจากโควิด-19 ระบาดระลอกสองและสามทำให้ไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยูได้สะดวก แต่กระนั้นก็ยังมีความยุ่งยากซับซ้อนในการขึ้นทะเบียนและแก้ปัญหาดังกล่าว

 นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์  นักวิชาการด้านแรงงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีข้อเสนอเรื่องการบริหารจัดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้มีความยุ่งยากน้อยลง และการเอาแรงงานที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและควบคุมโรคโควิด-19 ไปพร้อมกันด้วย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ให้ภาพรวมว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่อยู่ในไทยซึ่งมีนายจ้างและทำงานถูกกฎหมายประมาณ 2 ล้านคนนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร พร้อมยื่นคำขออนุญาตตามระบบออนไลน์ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นี้ และจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ภายใน 12 พฤศจิกายน 2564 ส่วนการจ้างต่างด้าวทำงานประมง ก็เป็นเรื่องของกรมประมงที่จะออกหนังสือ “คนประจำเรือ” ซึ่งคงไม่มีปัญหา

แต่แรงานต่างด้าวอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีเอกสารใดๆ หรือเอกสารหมดอายุ มีวีซ่าแต่ไม่มีบัตรสีชมพู หรือมีเอกสารครบแต่ไม่มีใบแจ้งออก หรือใบแจ้งออกหมดอายุแต่หลบทำงานอยู่ กลุ่มนี้อาจจะใช้โอกาสลงทะเบียนในกลุ่ม “แรงงานต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง” เป็นส่วนมาก

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากจำนวนแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนออนไลน์ จำนวน 654,864 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม (สถิติกระทรวงแรงงานจาก e-Workpermit.doe.go.th) พบว่า กลุ่มที่มีนายจ้าง แต่เอกสารไม่ครบ ทำให้สถานภาพการจ้างเป็นคนทำงานผิดกฎหมาย จำนวน 596,562 คน และกลุ่มที่ไม่มีนายจ้างจำนวน 58,362 คน ถ้ารวมกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติถูกกฎหมายก่อนที่จะมีการจดทะเบียนประมาณ 2.261 ล้านคน จะทำให้ไทยมีแรงานถูกต้อง 3 สัญชาติเข้าระบบประมาณ 2.917 ล้านคนเศษ สูงกว่าเมื่อเดือนธันวาคม ก่อนโควิดระบาดประมาณ 6.5 แสนคน สะท้อนว่าตลาดแรงงานของไทยต้องการแรงงาน 3 สัญชาติจากเพื่อนบ้านประมาณ 3 ล้านคน

 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหา คือ หนึ่ง แรงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการตามฤดูกาลประมาณ 6-7 หมื่นคน หรืออาจไม่ต่ำกว่าแสนคนถูกระงับไปเนื่องจากการปิดชายแดนหยุดการผ่อนผันนำเข้าแรงงานดังกล่าวในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร สอง แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่จดทะเบียนใหม่แต่ยังไม่มีนายจ้าง 58,362 คน มีปัญหาอยู่อย่างยากลำบาก ทั้งต้องใช้จ่ายในกระบวนการจดทะเบียนอีก 9,000 บาท ซึ่งเป็นภาระมาก 

นายยงยุทธ สะท้อนปัญหาที่เห็นคือ ไทยขาดแคลนแรงงานเป็นฤดูกาลประมาณ 6-7 หมื่นคนที่เกี่ยวกับภาคเกษตร ขณะที่แรงงานจดทะเบียนใหม่ที่ไม่มีนายจ้างไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดได้เนื่องผิดกฎมาย จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐจัดหาที่อยู่อาศัย ลดความแออัด ดูแลเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และทำการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแรงงานกลุ่มนี้เข้าไปทำงานให้เร็วที่สุด และผ่อนผันให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งงานได้ง่าย

ส่วนกลุ่มที่มีนายจ้างอีกเกือบ 6 แสนคน ถ้านายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ให้กรมการจัดหางานประกาศหานายจ้างเพื่อแมชชิ่งอุปสงค์/อุปทานแรงงานกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด โดยอัพเดทจำนวนคนงาน 3 สัญชาติที่ยังไม่ได้งานทำทุกวัน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนแรงงานต่างด้าวภายใต้กรมการจัดหางานทุกจังหวัด เพื่อลดปัญหาแรงงานตกค้างหรือแรงงานผิดกฎหมาย

 ที่สำคัญ แรงงานต่างด้าวทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกับคนไทยที่จะต้องได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยเร็วภายในปีนี้เช่นกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยโดยต้องไม่ลืมอย่างเด็ดขาดว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้คือฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 



กำลังโหลดความคิดเห็น