xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“จน เครียด ฆ่าตัวตาย” รายวัน ไทยวิกฤตรั้งอันดับ 1 ในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดระบาดของโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเครียดปัญหาชีวิต ความเปราะบางทางจิตใจ พฤติกรรมเลียนแบบ ล้วนเป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงของสถานการณ์ “ฆ่าตัวตายรายวัน” 

สถานการณ์ฆ่าตัวตายปรากฎเป็นข่าวรายวัน นับเฉพาะรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อนำเสนอข่าวอัตวินิบาตกรรมทุกวัน อาทิ เครียดปัญหาเศรษฐกิจกระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตาย เครียดป่วยซึมเศร้ากระโดดตึกฆ่าตัวตาย ธุรกิจเจ๊งใช้ปืนยิงตัวตาย หนีปัญหาชีวิตรมควันปลิดชีพตัวเองภายในรถ ฯลฯ

หากย้อนดูสถติปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยสำเร็จเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยตัวเลขอ้างอิงตามใบมรณะบัตรระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นฆ่าตัวตาย 5 - 6 ปีผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยคงที่ราวๆ 6 ต่อแสนประชากรแต่แล้วในปี 2563 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไต่ระดับขึ้น พบว่าอยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2562 ระบุว่า การฆ่าตัวตายของไทยรายปีอยู่ที่ 14.4 ต่อ 100,000 คน โดยเฉลี่ยแล้วในระดับโลกอยู่ที่ 10.5 ต่อ 100,000 คน จะเห็นว่าอัตราฆ่าตัวตายของประชากรไทยสูงกว่าระดับเฉลี่ยระดับโลกและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุปัจจัยการฆ่าตัวตายในสังคมไทยโดยทั่วไป มีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก คือ 1. ด้านความสัมพันธ์ คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว 2. โรคเรื้อรังทางกายและจิตใจ 3. การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการคลายเครียด 4. ผลกระทบจากภาวะเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ และ 5. การใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่มักมีปัจจัยมากว่าหนึ่งข้อเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกัน

 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุถึงปัจจัยการฆ่าตัวตายที่ไต่ระดับขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ประการแรก ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล กับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ซึ่งยังเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตาย ประการต่อมา ภาวะเจ็บป่วยทางกายเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ป่วยโรคซึมเศร้า และประการสุดท้าย ผลกระทบจากภาวะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ

อัตราการฆ่าตัวตายรายวันของคนไทยที่ไต่ระดับขึ้นในปี 2563 สอดคล้องกับห้วงวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่มีภาวะเครียดจากเศรษฐกิจกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็นกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี สภาวะสุขภาพจิตคนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ย้อนกลับไปในช่วงการระบาดระลอกใหญ่ระลอกแรกปลายเดือน มี.ค. 2563 พบกลุ่มที่มีความเครียดสูงอยู่ที่ 8 % ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติอยู่ที่ 2 - 3 % เท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดค่อยๆ คลี่คลาย ความตึงเครียดของประชาชนก็ค่อยๆ ลดลงเช่นกัน
นอกจากปัจจัยข้างต้นที่ส่งผลต่อการตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองแล้ว ประเด็นการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายของสื่อทุกแขนง อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะรูปแบบการนำเสนอข่าวลงรายละเอียดชัดเจน ทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว อธิบายวิธีการอย่างละเอียด สุ่มเสี่ยงและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในคนบางกลุ่ม

 พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ  เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุถึงประกาศราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องสื่อมวลชนกับการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษาวิจัยต่างๆ พบชัดเจนว่าการรับรู้ข่าวการฆ่าตัวตายมีโอกาสชักนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายตามมาได้

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีข้อคิดเห็นต่อการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ซึ่งสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการหลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบที่มีต่อผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ดังนี้

1. การเสนอข่าวควรระมัดระวัง ไม่ทำเป็นข่าวพาดหัว ไม่เขียนข่าวในลักษณะที่อ่านแล้วมีสีสัน หรือก่อความรู้สึกสะเทือนใจ

2. หลีกเลี่ยงการเขียนข่าวบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด การลงภาพการกระทำ หรือฉายคลิปซ้ำๆ

3. หลีกเลี่ยงการเน้นย้ำถึงสาเหตุ หรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งผู้ที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาอาจรู้สึกว่าผู้ฆ่าตัวตายมีปัญหาคล้ายกับตน มองว่าการฆ่าตัวตายคือทางออกของปัญหา

4. ระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเสนอข่าวผู้ฆ่าตัวตายที่เป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในแง่มุมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งสะเทือนใจ ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้สูง

5. คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือผลกระทบในทางลบต่อญาติและผู้ใกล้ชิดผู้ฆ่าตัวตาย

สถานการณ์ฆ่าตัวตายของประชากรไทยก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ ตามรายงานพบว่ามีการพยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 53,000 – 54,000 คน และกระทำการฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 คน คิดเป็น 6 – 6.5 ต่อแสนประชากร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยพบเป็นเพศชายมากกว่าหญิง เป็นกลุ่มวัยทำงาน กับผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงาน กลุ่มรับจ้าง เกษตรกรรม รวมทั้ง กลุ่มไม่มีรายได้

สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของการฆ่าตัวตาย พบว่าส่วนมากเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาสุราและสารเสพติด ความเจ็บป่วยเรื้อรังทางกายและจิต ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจในปี 2563 มีความสัมพันธ์กับสาเหตุการฆ่าตัวตายมากขึ้นในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปี 2654 ภาครัฐโดยคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ เห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานและจัดหาแนวทางการ ดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทน องค์กรภาคเอกชน เป็นต้น

ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ปี 2564 – 2565 ร่วมกันทุกภาคส่วนขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย ช่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะเครียด-เศร้า-เหงา-ทุกข์ ก้าวผ่านวิกฤตจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

 “การลดการฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ในการรับฟังปัญหา เฝ้าระวัง รักษาและให้คำแนะนำ ผ่อนคลายความทุกข์แก่ประชาชนที่มีภาวะความเครียด ความเหงา ความเศร้า ความทุกข์ ให้ก้าวผ่าน ปรับตัวกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว 

ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ปี 2564 – 2565 คงต้องติดตามกันว่าจะสามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยลงหรือไม่ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และยิ่งเกิดปัจจัยด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งต้องจับตากลุ่มเปราะบางสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย


กำลังโหลดความคิดเห็น