คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
“การไม่รักชาติใดชาติหนึ่งก็หาใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเสมอไปเท่านั้น เพราะยังมีพวกที่เชื่อในความเป็นสากลนิยม-ความเป็นคนในโลกใบเดียวกันมากกว่าที่จะยึดติดกับพื้นที่เล็กๆวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง”
คนแบบนี้ต้องการที่จะเป็นพลเมืองโลกและรับวัฒนธรรมอันหลากหลาย มองเห็นความสวยงามของสิ่งต่างๆในโลก คนพวกนี้อาจจะชังชาติได้ หากชาติมันคับแคบและเห็นแก่ตัวเกินไป คนพวกนี้เป็นพวกที่ปฏิเสธ “nationalism” แต่ยึดมั่นในหลักการที่เรียกว่า “cosmopolitanism” และต้องการให้คนเป็น “พลเมืองโลก” มากกว่าจะยึดติดกับ “ความเป็นพลเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บางพวกที่เชื่อใน “cosmopolitanism” ก็ยืนยันว่า การเป็นพลเมืองโลก ไม่จำเป็นต้องละทิ้งการเป็น “พลเมืองที่สังกัดรัฐสังกัดชาติ” ด้วย” นั่นคือ คนพวกนี้เชื่อว่า เราสามารถเป็นพลเมืองที่รักชาติของเราไปพร้อมๆ กับพลเมืองที่รักโลก
มีปัญหาหลายอย่างในโลกทุกวันนี้ ที่การรักตัวเอง รักชาติแยกไม่ออกจากการรักโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนแต่ละคนไม่สามารถแก้หรือหนีมันไปได้ และประเทศแต่ละประเทศก็เช่นกัน เพราะปัญหาโลกร้อนจะต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทุกคนและประเทศทุกประเทศ แต่เนื่องจากคนแต่ละคนยังเห็นแก่ตัว และประเทศแต่ละประเทศก็ยังเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติ การแก้ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นแค่ “ลมปาก” ที่ผู้นำนักการเมืองของมหาอำนาจและประเทศต่างๆ ต่างพากัน “หน้าไหว้หลังหลอก” กันไป
จำได้ว่า หลายปีมาแล้ว ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเคยมาประชุมเรื่องโลกร้อนกันที่บราซิล และต่างพากันสัญญากันว่า หลังการประชุม แต่ละประเทศจะพยายามหาทางปฏิรูปอุตสาหกรรมโดยการลงทุนไปในการขจัดกาก ขยะและผลพวงของอุตสาหกรรมที่ก่อให้พิษต่อมลภาวะ และจะพยายามลดการผลิต แต่เมื่อวงรอบการประชุมโคจรมาถึง ก็ปรากฏว่า มีหลายประเทศที่ไม่ยอมลดการผลิต แถมยังไม่ทำอะไรกับกากพิษเหล่านั้น เพราะการทำให้ผลิตทางอุตสาหกรรมสะอาดนั้นจะต้องอาศัยต้นทุนที่สูงมาก ทำให้จะต้องกำไรลดลง หลายประเทศไม่ยอมทำตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมบริโภคของถูกที่มาจากการผลิตแบบเดิมๆ เมื่อประเทศส่วนใหญ่ไม่ทำ ประเทศที่ทำคงไม่โง่ที่จะลดการผลิตและลดกำไรของตัวเองไป ไปๆ มาๆ การแก้ปัญหาโลกร้อนก็ล้มเหลวไป
แถมประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเห็นดีเห็นงามกับการเอาขยะอุตสาหกรรมไปทิ้งในประเทศด้อยพัฒนาโดยแถมเงินให้ นั่นคือ บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในอเมริกาไปเสนอกับรัฐบาลประเทศด้อยพัฒนาว่า จะจัดส่งขยะอุตสาหกรรมไปทิ้งในประเทศด้อยพัฒนานั้น โดยเสนอเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก (แน่นอนว่า นักการเมืองที่เป็นรัฐบาลคงเอาไว้รับประทานไปเองส่วนหนึ่ง) และยังเสนอว่า จะขนขยะไปทิ้งและฝังกลบให้เองอย่างดี และจะพยายามไม่ให้มีสารพิษรั่วไหลออกมาสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน และยังแถมเสนอแผนประกันชีวิตและสุขภาพให้ประชาชนในบริเวณที่เอาขยะไปทิ้งด้วยว่า หากใครในครอบครัวเกิดป่วยหรือล้มตายไปจากสารพิษของขยะ จะให้เงินทำขวัญเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะรัฐบาลในประเทศนั้นที่ตกลง ประชาชนส่วนใหญ่ยังเอาด้วย เพราะเห็นว่า เขาจะมาฝังกลบอย่างดีและถ้าเป็นอะไรไปจะได้เงินมหาศาลที่ทั้งชีวิตอาจจะไม่มีทางหาเงินเองได้ขนาดนั้น (ดีไม่มีดี คงมีคนที่อยากจะโดนสารพิษ เพื่อหวังว่า ตนอาจจะไม่ตายแต่ได้เงินทำขวัญ หรือญาติอาจจะหวังให้คนในครอบครัวสักคนเสียสละตายไปเพื่อให้คนที่เหลือได้มีชีวิตสุขสบาย)
ทำไมนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนนั้นถึงเห็นดีเห็นงามกับโครงการอะไรแบบนี้ ? เขาอธิบายว่า ถ้าเอาขยะพิษทิ้งในอเมริกา (ซึ่งเดิมที ก็มีการเอาไปทิ้งในเมืองที่ไม่ค่อยมีคนอยู่ หรือเมืองที่คนส่วนใหญ่ยากจน แต่ต่อมาเกิดเรื่องขึ้น มีการฟ้องร้องต่อสู้กันจนบริษัทต้องเสียเงินมหาศาล) ก็จะมีคนออกมาประท้วงและต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนที่คิดแล้วมากกว่าเอาไปทิ้งในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งไม่เรื่องมากเหมือนคนอเมริกัน ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์ท่านนั้น จึงเห็นว่า การเอาไปทิ้งประเทศด้อยพัฒนามันเป็นเรื่องที่ “win-win” ทุกฝ่าย แต่ถ้าคิดในแง่ของคนร่วมโลก มันก็แค่ย้ายขยะจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง สารพิษมันก็ระเหยฟุ้งกระจายไปทั่วโลกได้อยู่ดี เหมือนที่ตอนนี้ มีข่าวลือว่า การที่คนในประเทศหนึ่งตายจากโควิด-19 กันมากจนเอาศพไปโยนลงน้ำตามธรรมเนียมที่เคยทำ และจากแม้น้ำก็ไหลลงทะเลและมหาสมุทรและกระแสนน้ำกำลังพัดมาสู่แถวนี้
เห็นได้ว่า การแก้ปัญหาโลกร้อน-มลภาวะเป็นพิษ ยังแก้กันแบบเห็นแก่ตัว ปัดสวะ ซี่งถ้ายังทำกันแบบนี้อยู่ โลกก็คงจะเป็นที่ที่สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้อีกต่อไป ยกเว้นจะวิวัฒนาการกลายพันธุ์ปรับปอดปรับตับไตไส้พุงรับมือกับการสูดดม-กินสารพิษต่างๆได้
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อสองปีที่แล้ว (ถ้ายังจำกันได้) คนรุ่นใหม่จึงอดรนทนไม่ได้กับความหน้าไหว้หลังหลอกของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศต่างๆ โดยวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2019 เกรียตา ทืนแบร์ก วัยรุ่นชาวสวีดิชได้เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกจากการเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจวิกฤตโลก เธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอด UN Climate Action Summit ด้วยอารมณ์ที่รุนแรงว่า
“สิ่งพวกเราจะบอกก็คือ พวกเราจับตาดูพวกคุณ ที่จริง..ฉันไม่ควรต้องขึ้นมายืนอยู่บนเวทีนี้ ฉันควรจะได้กลับไปเรียนหนังสืออีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทร กระนั้น พวกคุณยังมาขอความหวังจากคนหนุ่มสาวอย่างพวกเรา พวกคุณกล้าดียังไง ! ”
“พวกคุณได้ขโมยความฝันและวัยเด็กจากฉันไปด้วยคำพูดหลอกลวง อย่างไรก็ตาม ฉันถือเป็นหนึ่งในผู้ที่โชคดี แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังทุกข์ทรมาน ผู้คนจำนวนมากกำลังจะตาย ระบบนิเวศน์ทั้งหมดกำลังพังทลายลง พวกเราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดถึงล้วนแต่เป็นเรื่องเงินและเรื่องโกหกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พวกคุณกล้าดียังไง !”
“วิทยาศาสตร์บอกชัดเจนมามากว่า 30 ปีแล้ว พวกคุณกล้าดียังไงที่ยังคงไม่สนใจ และฉันเดินทางมาที่นี่เพื่อถามว่า พวกคุณได้ลงมือทำอย่างเพียงพอแล้วหรือ ในขณะที่ยังไม่เห็นการเมืองจะมีวี่แววอะไรที่สามารถสร้างแนวทางแก้ไขที่จำเป็นเร่งด่วนให้เกิดขึ้นได้”
“พวกคุณบอกว่า ฟังพวกเราและเข้าใจเรื่องรีบด่วนที่ว่านี้ แต่ไม่ว่าฉันจะเศร้าหรือโกรธแค่ไหน ฉันก็ไม่อยากเชื่อ เพราะหากว่าพวกคุณเข้าใจสถานการณ์จริง ๆ แต่ยังคงไม่ลงมือทำอะไร พวกคุณก็จะเป็นคนที่ชั่วร้ายมาก ฉะนั้น ฉันจะไม่เชื่ออีกต่อไป”
“ความคิดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 10 ปีนั้น เท่ากับให้โอกาสพวกเราเพียง 50% ที่โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา (เซลเซียส) และจะไม่เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้”
“โอกาส 50% อาจจะเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้สำหรับพวกคุณ แต่ตัวเลขพวกนั้นไม่ได้นับรวมถึงจุดพลิกผัน ผลกระทบซ้ำซ้อน การเพิ่มอุณหภูมิอันเป็นผลมาจากมลพิษอื่น ๆ หรือประเด็นความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางด้านสภาพอากาศ ตัวเลขเหล่านั้นยังหมายความว่าคนรุ่นฉันจะต้องหาทางกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แสนล้านตันด้วยเทคโนโลยีที่แทบจะไม่เหลืออยู่ในปัจจุบัน”
“ฉะนั้น พวกเรายอมรับความเสี่ยง 50% นี้ไม่ได้ เพราะคนรุ่นเราจะต้องทนอยู่กับผลกระทบเหล่านี้ต่อไป”
“เพื่อที่จะมีโอกาส 67% ที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นไม่เกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศา (ซึ่งถือเป็นกรณีที่ดีที่สุดในสายตาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ) ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2018 โลกสามารถรับแก๊สคาร์บอกไดออกไซด์ได้อีกเพียง 420 กิกะตัน แต่ในวันนี้ ตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงต่ำกว่า 350 กิกะตัน”
“พวกคุณกล้าดียังไงที่เสแสร้งว่าทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ และการแก้ไขทางเทคนิคบางอย่าง ? ด้วยอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ขีดจำกัดของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่โลกสามารถรับได้จะหมดไปภายในไม่เกินแปดปีครึ่ง”
“วันนี้อาจจะยังไม่มีทางออกหรือแผนการที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่านี้ เพราะตัวเลขเหล่านี้มันคงทำให้พวกคุณรู้สึกอึดอัดใจ และพวกคุณก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะเผชิญหน้ากับความจริง”
“พวกคุณทำให้พวกเราผิดหวัง กระนั้น คนหนุ่มสาวเริ่มที่จะเข้าใจแล้วว่าพวกคุณทรยศ สายตาของคนรุ่นถัด ๆ ไปกำลังจับจ้องพวกคุณอยู่ และถ้าพวกคุณล้มเหลว ฉันก็จะบอกว่า พวกเราจะไม่มีวันให้อภัยพวกคุณ”
“พวกเราจะไม่ยอมปล่อยให้พวกคุณหลุดรอดไป พวกเรากำลังขีดเส้นตายที่นี่และตอนนี้ โลกกำลังตื่นขึ้นแล้ว และความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมา ไม่ว่าพวกคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม”
“ขอบคุณค่ะ”
ใครที่เคยอ่านข้อเขียนเรื่อง “โลกแห่งภราดรภาพ” ของ “หรวด-พิสิษฐ์ศักดิ์ สุพรรณเภสัช” นักเรียนวชิราวุธรุ่นพี่ของอาจารย์ชัยอนันต์ และได้อ่านสุนทรพจน์ของเกรียตา ทืนแบร์ก ย่อมจะเห็นจุดร่วมอะไรบางอย่าง และจุดร่วมที่ว่านี้แหละที่ผมคิดว่ามันคือสำนึกในความเป็นพลเมืองโลก แต่ทั้งสองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นชาติของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ รักโลกโดยไม่ต้องชังชาติ (ชังรัฐบาลได้)
และมันก็ช่างบังเอิญเสียเหลือเกินที่เกรธากล่าวสุนทรพจน์นี้ในวัย 16 ปีเป็นวัยเดียวกันกับที่หรวดเขียนเรื่อง “โลกแห่งภราดรภาพ” ส่งให้กระทรวงศึกษาธิการใน พ.ศ. 2501 !