ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีการจับกุมขบวนการค้าสัตว์ป่า “ลักลอบขนย้ายลิงแสม จำนวน 102 ตัว” เหยื่อเมนูพิสดารเฉาะกระโหลก “เปิบสมองลิง” เตรียมส่งมอบนายทุนจีนโดยลำเลียงเตรียมส่งออกผ่านชายแดน จ.สระแก้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตอกย้ำภาพจำประเทศไทยเป็น “ตลาดกลางค้าสัตว์ป่า” อันดับต้นๆ ของโลก
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF อธิบายภาพรวมสถานการณ์ลักลอบค้าสัตว์ป่าของประเทศไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกจัดให้เป็นตลาดซื้อขายสัตว์ป่าเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมักถูกใช้เป็นทางผ่าน โดยต้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่าเริ่มมาจากแอฟริกา กระทั่งรัฐบาลไทยดำเนินการป้องกันปราบปรามจับกุมกระบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเข้มงวด ส่งผลให้การลักลอบค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์หลีกเลี่ยงใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ปรับเปลี่ยนเส้นทางมุ่งผ่านเข้าประเทศกัมพูชา ลาว มาเลเซีย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศปลายทางแทน
นอกจากนี้ ด้วยผืนป่าเมืองไทยยังคงอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ที่ผ่านมาเกิดขบวนการค้าสัตว์ป่าลักลอบขนสัตว์ป่าและซากสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ อาทิ เสือ ลิง หมี นก เหี้ย ตะกวด หรือ งาช้าง นอแรด เป็นต้น
ตลอดจนปัจจัยด้านภูมิประเทศของไทยตั้งอยู่ใกล้กับประเทศที่ยังคงนิยมบริโภคสัตว์ป่าอย่าง จีน เวียดนาม ฯลฯ เส้นทางคมนาคมชายแดนเชื่อมโยงการส่งออกเอื้อธุรกิจผิดกฎหมาย ประการสำคัญมีคนไทยเป็นเอเย่นต์จัดหาสัตว์ป่าตามออร์เดอร์ ลักลอบส่งออกสัตว์ป่าและซากสัตว์ทำกันเป็นขบวนการใหญ่
แม้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายดำเนินการปราบปรามขบวนค้าสัตว์ป่าเด็ดขาดเพียงใด แต่ไม่สามารถควบคุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังตรวจพบการกระทำความผิดลักลอบขนย้ายสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่า ตลอดจนการลักลอบล่าสัตว์ป่าอยู่บ่อยครั้ง
กรณีล่าสุด ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ฯ ตรวจจับการลักลอบขนย้ายลิงแสม จำนวน 102 ตัว บริเวณ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ขณะมีการย้ายไปยังชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยรถกระบะตู้ทึบ บรรจุในลังพลาสติก จำนวน 17 ลัง พบว่าลิงแสมทั้งหมดอยู่ในสภาพอิดโรย รวมถึงจำนวนหนึ่งตายอย่างทรมาน เนื่องจากสภาพแออัด ขาดอากาศหายใจ ขาดน้ำ และเกิดความเครียด
ทั้งนี้ ลิงแสมจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
นอกจากนี้ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสัตว์ป่า เพื่อกู้ชีพรักษา ตรวจโรค และเก็บตัวอย่างตรวจสุขภาพลิงของกลางทั้งหมด ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 มีประเด็นของโรคติดต่อระหว่างสัตว์ป่าสู่คน จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอยู่ในความดูแลของทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งตั้งโรงพยาบาลสนามสัตว์ป่าเพื่อช่วยเหลือดูแลอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก)
อ้างอิงผลวิจัยล่าสุดขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF พบว่าประชาชนในเอเชียตื่นตัว และกังวลโรคระบาดจากการบริโภคสัตว์ป่ามากขึ้น สนับสนุนการยุติการซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และขอให้ภาครัฐเร่งปิดตลาดค้าสัตว์ป่า เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดซ้ำในอนาคต
ภายใต้งานวิจัยหัวข้อ “โควิด-19 : หนึ่งปีให้หลัง: การรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโรคระบาดและความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ” (COVID-19 : One Year Later: Public Perceptions about Pandemics and their Links to Nature) ประจำปี พ.ศ.2564
โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,631 รายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา พบว่า เกือบ 30% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจาก 5 ประเทศ ตัดสินใจลดและเลิกบริโภคสัตว์ป่า เนื่องจากมีความกังวลต่อวิกฤตสุขภาพ และ 46% ของผู้ทำแบบสำรวจทั้งหมดเชื่อว่า โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้เกิดโรคระบาดได้อีกครั้งในอนาคต
แม้ผลสำรวจจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของวงจรการเกิดโรคระบาดมีความเชื่อมโยงกับความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า แต่ขณะเดียวกันไม่อาจหยุดยั้งขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้
สำหรับการขยายผลขบวนการค้าลิงแสมข้ามชาติ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) เปิดเผยความเชื่อมโยงช่วงปลายปี 2563 มา ทาง บก.ปทส. ได้รับการประสานข้อมูลจากทางการสหรัฐอเมริกา และองศ์กรระหว่างประเทศที่คุ้มครองสัตว์ป่า ถึงการลักลอบนำเข้าลิงอุรังอุตังจากประเทศอินโดนีเชีย และใช้ไทยเป็นทางผ่านในการลำเลียง
โดยลิงดังกล่าวเป็นลิงอุรังอุตังของกลางวัย 4 ปี ชื่อ อุ๋งอิ๋ง และ นาตาลี ถูกลักลอบนำเข้าประเทศไทยผ่านทางด่านพรหมแดนไทย-มาเลเซีย และถูกตรวจยึดโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย หลังจากการดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วรัฐบาลไทยพิจารณาที่จะส่งลิงอุรังอุตังทั้งสองกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิดประเทศอินโดนีเซียตามคำขอของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศต้นทาง โดยเคสนี้พบว่ามีการลำเลียงมาจากประเทศอินโดนีเชีย และใช้ จ.สงขลา ในการส่งไปยังประเทศปลายทาง
ขณะเดียวกัน บก.ปทส. ได้หารือแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเฝ้าระวังเพิ่มเติม กระทั่ง พบว่ามีการลักลอบลำเลียงลิงแสมส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นเส้นทางลำเลียง กระทั่ง มีการจับกุมการลักลอบขนย้ายลิงแสม 102 ตัว ได้บริเวณ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ขณะขนย้ายไปยังชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ตามรายงานระบุว่าขบวนการค้าพันธุ์สัตว์ป่าใช้รูปแบบเดิม โดยเส้นทางของขบวนการนี้ “ประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านหลัก” จากผู้ส่งต่อจากประเทศต้นทาง ที่สำคัญอย่างน้อย 6 ประเทศ คือ พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา และลาว สู่ประเทศปลายทางคือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป รวมทั้งมีสัตว์บางประเภทที่ต้นทางมาจากประเทศไทย
นอกจากนี้มีข้อมูลเปิดเผยว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการสัตว์ป่าป็นอันดับต้นๆ ตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่บริเวณชายแดนเป็นพื้นที่มีการซื้อขายกันมาก เพื่อนำไปบริโภคเปิบพิสดาร ด้วยความเชื่อว่าการบริโภคสัตว์ป่าเหล่านี้เป็นยาอายุวัฒนะเป็นยารักษาโรค ขณะเดียวกันซากสัตว์ป่าถูกนำไปเป็นของสะสมประดับบารมี ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
สอดคล้องกับคำสารภาพของผู้ต้องหาลักลอบขนย้ายลิงแสมยอมรับว่า “นายทุนชาวจีน” เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยประเภทสัตว์ป่าจะขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ที่สั่งมาจากนายทุน ส่วนใหญ่เป็น ลิงแสม ตัวนิ่ม เต่า และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่นิยมนำไปปรุงอาหาร โดยทำกันเป็นขบวนการใหญ่มีผู้ร่วมขบวนการหลายคน มีการลักลอบขนสัตว์ป่าข้ามฝั่งไปประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วหลายครั้ง
สำหรับแหล่งที่มาของลิงแสมที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้าสัตว์ข้ามชาติ พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นลิงที่อาศัยอยู่ตามริมป่าเขา หรือสวนสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่ภาคกลาง จ.พิจิตร จ.อ่างทอง จ.นครสวรรค์ จ.สุพรรณบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจัยการเลือกลิงแสมมักเลือกลิงที่อาศัยอยู่ชุกชุม เนื่องจากลิงมีพฤติกรรมไม่กลัวผู้คน ง่ายต่อการลักลอบจับ วิธีการจับลิงก็ไม่ซับซ้อนเพียงแค่นำเศษอาหาร ผลไม้ หรือ อาหารที่ลิงเหล่านี้วางไว้ท้ายกระบะบรรทุกแบบมีหลังคาปิดทึบ รอให้ลิงเข้ามาจำนวนมากพอจากนั้นปิดประตูขังแล้วขับรถออกมาจากพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนเพื่อขยายผลการจับกุมขบวนการค้าลิงแสมข้ามชาติยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพราะปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นปัญหาระดับชาติ