xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

SINGLE COMMAND กับการ “คอยวัคซีน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับ “วัคซีนโควิด-19” ด้วยขณะนี้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในการบริหารจัดการของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะ “ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.” และรวบอำนาจแบบ SINGLE COMMAND ด้วยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้โอนอำนาจของบรรดารัฐมนตรีมาเป็นอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งกำลังนำไปสู่สภาวะ “เสื่อมศรัทธา” มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “แย่ว่าเก่า”

ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชน “ไม่เข้าใจ” และเห็นว่า “นายกฯ ตู่ล้มเหลว” มีอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

หนึ่ง ทำไมถึงมีคำสั่งจาก “ศบค.” ให้ชะลอการใช้ “หมอพร้อม” ในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะทำให้ประชาชนสับสนวุ่นวาย

สอง ทำไมถึงมีคำสั่งจาก “ศบค.” ให้รื้อระบบการจัดสรรวัคซีนใหม่ เพราะดูเหมือนว่าไม่ได้มาตรการรองรับที่เป็นรูปธรรม หากแต่โยนไปให้ “แต่ละจังหวัด” จัดการ ซึ่งก็มิได้เห็นว่าบรรดา “ผู้ว่าราชการจังหวัด” แห่ง “รัฐราชการ” จะขยับเขยื้อนอะไรให้เห็นมากนัก ยกเว้นกรุงเทพมหานคร(กทม.) นนทบุรีและภูเก็ต ซึ่งเตรียมการมาก่อนหน้านี้

สาม ตกลงแล้วประเทศไทยมีวัคซีนที่เพียงพอกับประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะ “แอสตร้าเซเนก้า” ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยและเป็น “วัคซีนหลัก” ซึ่งบรรดาผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะตัวลุงตู่เองก็ยังงึมๆ งำๆ เรื่องการส่งมอบที่ชัดเจนว่าจะเป็นวันไหน เวลาใด ทั้งๆ ที่กำหนดการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศจะเริ่มต้นในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ และประชาชนกำลังตั้งหน้าตั้งตา “คอยวัคซีน” กันทั้งประเทศ 
   
ยิ่งเมื่อ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ประกาศเดินหน้า “วัคซีนตัวเลือก” เพื่อนำเข้า “ชิโนฟาร์ม” ด้วยแล้ว ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง “สภาวะการขาดแคลนวัคซีน” โดย “ศ.นพ.นิธิ มหานนท์” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิบายเอาไว้ชัดเจนว่า “การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยหาวัคซีน “ตัวเลือก” มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยฯ จะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง” ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายขยายความระหว่างบรรทัด

และแน่นอนว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ “ความล้มเหลว” ทั้งหลายทั้งปวงคงหนีไม่พ้น “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ได้ออกคำสั่งรวบอำนาจการจัดการโควิด-19 ทั้งหลายทั้งปวงในแผ่นดินไปอยู่ในมือจนหมดสิ้นในลักษณะ “SINGLE COMMAND” หรือ “นายกฯ คนเดียว” เท่านั้นมีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งบัดนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ไม่ถูกต้อง”

 “วัคซีนทิพย์” ไม่พร้อมบอกพร้อม 
การรวบอำนาจบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้คำสั่งการตามแบบฉบับ“single command” ของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมั่วไม่จบ ต้นตอปัญหาใหญ่ก็เนื่องจากวัคซีนไม่เพียงพอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ และวัคซีนที่สัญญาว่าจะมาแน่ๆ ก็ดันเอาแน่เอานอนไม่ได้

วัคซีนลอตที่ว่าจะมาแล้วไม่มาทำเอาป่วนปั่นกันถ้วนทั่วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นั่นก็คือ “แอสตร้าเซเนก้า” ที่กระทรวงสาธารณสุข เคยบอกเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าจะมาถึงไทยก่อนกำหนด จำนวน 1.7 ล้านโดส โดยตัดยอดมาจาก 6 ล้านโดสที่จะมาถึงในเดือนมิถุนายนนี้ พอเอาเข้าจริงลอตที่ว่าจะมาล่วงหน้าก่อนกลับล่องหนจนมีคำถามตามมาว่าหายไปไหน ทำไมนัดว่าจะมาถึงก่อนแล้วไม่มา มีมือดีแอบฉกไปอย่างที่ประธานบอร์ดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งข้อสังเกต หรือว่ามีปัญหาทางเทคนิคอย่างที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงสาธารณสุข แอ่นอกเป็นหนังหน้าไฟ ถูไถไปว่ามีปัญหาเรื่องค่าเบี่ยงเบนตามเอกสารนิดหน่อย อาจรอส่งมอบทีเดียวในเดือนมิถุนายนนี้

เมื่อวัคซีน1.7 ล้านโดส กลายเป็น “วัคซีนทิพย์” ไม่มาตามนัด ส่งผลกระทบไปถึงโรงพยาบาลต้องประกาศเลื่อนนัดหมายฉีดวัคซีนออกไปไม่มีกำหนด โดยแห่งแรกที่กล้าออกมาบอกกล่าวต่อสาธารณชนก็คือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดย ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ รพ. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในทำนองตัดพ้อว่า “เราถูกขอให้ต่อสู้ รบยืดเยื้อ และให้ขยายแนวรบออกไปตลอดเพื่อชาติ ชาติบอกเรามาว่า ให้ปันส่วนกระสุน เอาไปคนละสิบนัดในเดือนนี้ แล้วให้ตรึงแนวรับไว้ให้ได้จนถึงเดือนหน้า บางหน่วยยังเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง แต่มีกระสุนให้ไม่จำกัด วังเวง ....และเริ่มรู้สึกท้อ”

และยังบอกอีกว่า “แนวรบใหม่คอลเซ็นเตอร์ของเราดีขึ้นกว่าเดิม ... หวังว่าผู้สูงอายุที่เราช่วยจองวัคซีนได้เหล่านี้จะมีความสุขและมีความหวังไปตลอดจนถึงปลายเดือนหน้าจนถึงวันได้รับวัคซีน ไม่ถูกรัฐบาลหรือ สธ.เท อย่างที่พวกเราที่นี่ถูกกรมควบคุมโรคเททิ้งทั้งหมด หลังจากสัญญาเป็นมั่นเหมาะว่าจะให้วัคซีนกับบุคลากร มธ. สวทช. และเอไอที จนทำให้เราไปนัดหมายผู้คนมารับวัคซีนเป็นมั่นเหมาะ แล้วอยู่ๆ ก็บอกว่าวันนี้ไม่มีวัคซีนแล้ว เพราะมีใครๆ มาขอวัคชีนเยอะแยะไปหมด จนไม่มีให้ตามที่ตกลงกันไว้ เราไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่อดคิดไม่ได้ว่า ที่ท่านรองอธิบดีผิดสัญญากับเราวันนี้ จะเป็นเพราะมีคนเอาวัคซีนที่เคยสัญญากับเราไว้ ไปให้คนอื่นที่มีอำนาจทางการเมืองใช้หาเสียงหรือป่าวนะ”

พอฝีแตกที่รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ในเวลาต่อมาก็ได้เห็น วชิรพยาบาล โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.)ออกประกาศเลื่อนวันรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม -4 มิถุนายน ออกไปก่อน “เมื่อได้รับวัคซีนมาทาง รพ. จะแจ้งให้ทราบต่อไป” เช่นเดียวกันกับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ประกาศว่าตั้งแต่ 24 พฤษภาคม ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของทางโรงพยาบาลมีเฉพาะวัคซีนซิโนแวคเท่านั้น หากต้องการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา สามารถแจ้งเลื่อนวันนัดรับวัคซีนได้
แม้แต่สถาบันบำราศนราดูร สังกัดกรมควบคุมโรค ก็ออกประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ว่า “ตามที่สถาบันฯ ได้แจ้งท่านนัดฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน 2564 นั้น เนื่องจากสถาบันฯ ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ในช่วงเดือนมิถุนายน จึงขอเลื่อนวันนัดฉีดวัคซีนของท่านไปเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อทางสถาบันฯ ได้รับจัดสรรวัคซีนมาแล้ว จะแจ้งให้ท่านทราบวันนัดฉีดวัคซีนโดยเร็ว”

แต่ต่อมา เพจเฟซบุ๊ก สถาบันบำราศนราดูร ได้โพสต์ข้อความชี้แจงใหม่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ทางสถาบันฯ ขอแจ้งว่าผู้ที่ได้นัดหมายการฉีดวัคซีนกับทางสถาบันฯ จะได้รับการฉีดตามกำหนดการที่ได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็สร้างความงุนงงไม่น้อยเพราะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ

การนัดหมายที่กลับไปกลับมาของสถาบันบำราศนาดูรดังกล่าว ทาง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงเพิ่มเติมจากการสอบถามของสื่อว่า ข่าวนี้เกิดความคลาดเคลื่อนผู้ที่นัดรับวัคซีนสามารถมาฉีดวัคซีนได้ตามนัดหมาย ไม่ได้เลื่อนออกไปแต่อย่างใด ส่วนที่มีประกาศว่ามีการเลื่อนนัดหมายนั้นเกิดจากทีมงานได้แชร์และลบโพสออกไปแล้ว แต่มีการบันทึกโพสต์ไว้ จึงเกิดความผิดพลาด ข่าวนี้จึงเป็นเฟกนิวส์ ยืนยันมีวัคซีนฉีดเพียงพอ ไม่ได้เลื่อนแต่อย่างใด

การออกมากู้หน้าแก้สถานการณ์ของอธิบดีกรมควบคุมโรคที่บอกว่าเป็นเฟกนิวส์ จะเฟกจริงหรือมีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ คนวงในต่างรู้กันดี แต่เรื่องวัคซีนนี้ที่แน่ๆ คือการตีแสกหน้ารัฐบาลลุง โดย “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่โฟสเฟซบุ๊กส่วนตัว Arthit Ourairat จั่วหัวว่า “ความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการบริหารวัคซีนโควิด” ว่า “รพ. ธรรมศาสตร์ บอกถูกเท ให้เตรียมพร้อมฉีดวัคซีน แต่บริหารกันอย่างไรวัคซีนไม่มา โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่จะฉีดให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป นัดฉีดเข็มแรก หรือฉีดเข็มสองต้องเลื่อนไปก่อน

“..มันต้องพูดความจริงกับประชาชน ว่ายังไม่มีวัคซีน ที่เคยพูดไปมันไม่เป็นไปตามนั้น และที่บอกต้องเลื่อนฉีดวัคซีนเข็มที่สองจากสิบสัปดาห์เป็น 16 สัปดาห์ เพราะจะได้ผลดีกว่า..พูดแบบนี้เขาเรียก “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ปลิ้นปล้อนหลอกกันไปวันๆ ควรพูดความจริงไปเลยว่า ที่ผ่านมาบริหารการนำเข้าวัคซีนผิดพลาด ไม่ได้สั่งไว้ก่อน เพิ่งจะมาสั่งเขา เลยไม่มีของให้ เพราะเขาต้องส่งให้ประเทศอื่นที่สั่งจองไว้ก่อน

“ประธาน ศบค. คือประยุทธ์ รวบอำนาจการบริหารจากกฎหมายทุกฉบับมาไว้ในมือทั้งหมด หนีความรับผิดชอบไม่ได้ น่าจะพิจารณาตัวเองลาออกไปได้แล้ว เปิดทางให้คนอื่นที่มีฝีมือมาบริหารแทน เพราะเรื่องนี้มันเป็นความเป็นความตายของประชาชนและความอยู่รอดของเศรษฐกิจบ้านเมือง ไม่ใช่เมื่อวานมานั่งฉีดวัคซีนแอสตร้าซินีก้า เข็มที่สอง ทั้งๆ ที่ประชาชนคนอื่นที่นัดหมายไว้แล้วไปเลื่อนเขา แล้วอ้างว่าเลื่อนไปเพราะจะได้ผลดีกว่า แต่ตัวประยุทธ์ไม่เลื่อนฉีด ตรรกะแบบนี้มันไม่น่าหลอกคนไทยได้”


อย่างที่ ดร.อาทิตย์ ว่าไว้นั่นแหละ “นายกฯ ลุงตู่” จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะรวบอำนาจทุกอย่างเอาไว้ในมือ อย่างเรื่องวัคซีนรัฐบาลลุงก็ตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ” ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการ ศบค. นั่งบัญชาการด้วยตัวเองแบบ “Single Command” โดยมี พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นั่งอยู่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็น “มือขวา” คนสำคัญ โดยศูนย์นี้ทำหน้าที่บริหารจัดการวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน ทั้งวางแผนจัดหาวัคซีนทางเลือก, วางแผนเรื่องสถานที่และพื้นที่ในการฉีดวัคซีน, กำหนดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนและภาคเศรษฐกิจ ฯลฯ

เมื่อ นายกฯ ลุงตู่ ที่เป็น ผอ.ศบค. คุมทุกเรื่องใว้ในมือ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ สธ. ตั้งขึ้นมาก่อนหน้าจึงหมดบทบาท และเป็นเพียงผู้รับคำสั่งไปปฏิบัติตามบัญชาของ ศบค.เท่านั้น

“อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายกับการเมืองที่ไปสร้างความปั่นป่วนในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่นโยบายรับมือกับโควิดของรัฐบาล เห็นได้ชัดจากการกระจายตัวของวัคซีนโควิดที่บิดเบี้ยวไปจากหลักการอย่างมาก จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เข็มสองนัดแล้วไม่มา” ในหลายพื้นที่ ยิ่งคนที่รับผิดชอบออกมาพูดแก้ตัวแบบไม่ระวังปาก (เป็นเยี่ยงนี้มาตั้งแต่ระลอกแรกยันระลอกสาม) ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือที่ติดลบไปนานแล้วกลับเป็นลบหนักขึ้นอีก ถ้าเป็นตัวละครหุ่นไม้ต่างประเทศจมูกคงยื่นยาวใกล้จรดพื้นเต็มทีแล้ว พอถึงเวลาที่จะพูดให้คนเขาเชื่อและร่วมมือทำตามก็คงจะเป็นไปได้ยากอย่างแน่แท้”รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กบางช่วงบางตอนอย่างน่าสนใจ

 แอสตร้าเซเนก้ามีปัญหาจริง
ความจริงต้องบอกว่า การผลิตวัคซีนของ “แอสตร้าเซเนก้า” นั้น มีปัญหาอยู่จริง และไม่ได้มีปัญหาเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่มีปัญหาในหลายพื้นที่

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ “คณะกรรมาธิการยุโรป” ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้แอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนให้แก่สหภาพยุโรป โดยทนายความฝ่ายอียูฟ้องว่า บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำร่วมกันว่าจะส่งมอบวัคซีนให้อียูตามที่กำหนด และขอให้ศาลสั่งปรับบริษัทยาเป็นมูลค่าหลายล้านยูโร

อียูนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่แอสตร้าเซนเนก้าเปิดเผยว่าจะจัดส่งวัคซีนให้กับทางอียูเพียง 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมิ.ย. แทนที่จะส่งมอบวัคซีนจำนวน 300 ล้านโดสตามที่ระบุไว้ในสัญญา

สหภาพยุโรป ต้องการให้บริษัทส่งมอบวัคซีนอย่างน้อย 120 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมิ.ย. หลังจากที่แอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบวัคซีนเพียง 50 ล้านโดสเมื่อต้นเดือนพ.ค. ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสี่ของจำนวน 200 ล้านโดสที่ระบุในสัญญา

“ราฟาเอล จาฟเฟราลี” ทนายของอียูกล่าวต่อศาลในว่า แอสตร้าเซนเนก้าไม่ทำตามสัญญา และขอให้ศาลพิจารณาลงโทษเป็นค่าปรับวันละ 10 ยูโร ตามจำนวนวันและจำนวนวัคซีนที่ส่งมอบล่าช้า เพื่อเป็นค่าชดเชยที่แอสตร้าเซนเนก้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งค่าปรับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 หากศาลเห็นชอบ นอกจากนี้ ทนายความยังเผยด้วยว่าอียูจะเรียกร้องค่าปรับเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 10 ล้านยูโรสำหรับการละเมิดสัญญา

สัญญาณที่เกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปทำให้สามารถตีความได้ว่า ระบบการผลิตของแอสตร้าเซเนก้ามีปัญหาจริง และโรงงานของแอสตร้าเซเนก้าในประเทศไทยก็น่าจะมีปัญหาในกระบวนการผลิตจริงๆ เพราะมีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยส่งมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ 2 ล็อตด้วยกัน แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะส่งมอบให้รัฐบาลไทยได้ จะอ้างว่า เหลือเพียงแค่กระบวนการทางเอกสาร ก็น่าจะไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บรรดา “ผู้มีอำนาจ” ก็ย่อมต้องออกมาประกาศยืนยันแล้ว มิใช่มีท่าทีประหนึ่ง “แทงกั๊ก” เยี่ยงนี้


สหภาพยุโรปที่มีสมาชิกถึง 27 ประเทศยังไม่สามารถเจรจาตาม “ขั้นตอนปกติ” ได้ และตัดสินใจเดินหน้าฟ้องแล้ว แล้วประสาอะไรกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยจะไปกดดันบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติให้ส่งมอบในเร็ววันได้อย่างไร

แน่นอน หลายคนอาจพุ่งเป้าไปที่ “บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตในประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ “บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด” 100 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่การสร้างโรงงาน การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ ฯลฯ ยิ่งเมื่อเห็นตัวอย่างกรณีสหภาพยุโรปฟ้องร้องด้วยแล้ว ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการผลิตของแอสตร้าเซเนก้ามีปัญหาจริงๆ ไม่เช่นนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการล่าช้าจนไม่สามารถส่งมอบได้ทัน ใช่หรือไม่?...

อีกสมมติฐานที่มีความเป็นได้เช่นกันคือ ตามข้อมูลทางบริษัทผลิตวัคซีนเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม พร้อมส่งตัวอย่างวัคซีนมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ แต่ทำไมถึงไม่สามารถส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทย หรือเป็นเพราะมีการจัดส่งวัคซีนที่ออกไปยังต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่า คนไทยกำลังเสียโอกาสครั้งสำคัญ และจำต้องมีการชี้แจงเรื่องนี้ออกมาให้ชัดๆ

และปัญหาที่เกิดขึ้นกับแอสตร้าเซเนก้าทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปทิ่มแทง “รัฐบาล” โดยเฉพาะ “ตัว พล.อ.ประยุทธ์” เองว่า บริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉินล้มเหลว เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อคือ “ซิโนแวค” กับ “แอสตร้าเซเนก้า” ให้ใช้ในห้วงเวลานี้เท่านั้น และปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอกับประชาชนที่ “เฝ้าคอย” ส่วนยี่ห้ออื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ก็ยังแน่ชัดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้เมื่อไหร่ด้วยเป็นการจองและสั่งซื้อที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ

ความจริงต้องบอกว่า การตัดสินใจ “แทงม้าเต็ง” อย่าง “แอสตร้าเซเนก้า” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสิ่งที่ถูกต้องในสถานการณ์ ณ ขณะนั้น เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่มากและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จนได้รับความชื่นชมและมีคะแนนนิยมทางการเมืองพุ่งพรวดๆ ที่สำคัญคือการที่สามารถดึงโรงงานวัคซีนระดับโลกมาตั้งในประเทศไทยและเป็นฐานกระจายไปในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องปรบมือให้ ด้วยไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ

ทว่า โชคก็มิได้เข้าข้างลุงตู่ในการระบาด “ระลอกที่ 3” เมื่อบรรดา “คลัสเตอร์ต่างๆ” โผล่ทั่วประเทศราวกับดอกเห็ดจนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตระหนก เป็นปัจจัยที่ต้องใช้คำว่า “เหนือความคาดหมาย” และ “ไม่สามารถควบคุมได้” ซึ่งส่งผลทำให้ “แผนบริหารจัดการวัคซีนเดิม” เกิดปัญหาในทันที เพราะปริมาณความต้องการขยับเป็นเท่าทวีคูณเพื่อทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ดังนั้น แผนการจัดหาวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเกิดปัญหาทันทีด้วยผิดจากแผนที่วางไว้

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในความสำเร็จของ “รัฐบาลลุง” กับการจัดการโควิด-19 ระลอกแรกก็คือคือ การตกอยู่ในกับดักและมายาภาพของความสำเร็จ ด้วยเชื่อว่ายุทธศาสตร์และมาตรการควบคุมโรคที่ใช้เพียงพอต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ด้วยเหตุนี้ในระยะแรกจึงละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ “ยุทธศาสตร์วัคซีน” เพื่อป้องกันโรคในระยะปานกลางและระยะยาว ดังนั้นเมื่อมีการระบาดรอบสองและรอบสามเกิดขึ้น ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องวัคซีนทั้งด้านปริมาณ คุณภาพและความหลากหลาย

 วัคซีนทางเลือก - ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จ่อนำเข้า “ซิโนฟาร์ม”

ท่ามกลางปัญหาสารพัดสารพันในการจัดสรรวัคซีน ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจยิ่งเมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ว่าด้วยการบริหารบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิด 19 และรวมถึงสถานการณ์ฉุุกเฉินอื่น ๆ ซึ่งสาระสำคัญอยู่ตรงที่สามารถนำเข้าวัคซีน-ยา-เวชภัณฑ์-อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆที่จำเป็นได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคั

จากนั้นตามมาด้วยกำหนดการแถลงข่าวเรื่อง“แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งหมายความว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำลังจะนำเข้า “ซิโนแวค” อย่างไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ และในเวลาต่อมา “ศ.นพ.นิธิ มหานนท์” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิบายเอาไว้ชัดเจนว่า “การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยหาวัคซีน “ตัวเลือก” มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยฯ จะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง”

แปลไทยเป็นไทยคือขณะนี้วัคซีนของประเทศไทยไม่เพียงพอ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องการนำเข้ามาเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่กำลัง “คอยวัคซีน” อยู่ในขณะนี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถ้าไม่ออกประกาศอย่างนี้มาจะไม่สามารถนำเข้าได้ และการออกประกาศดังกล่าว เพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้าแต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าไม่ออกประกาศมาก็จะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย หรือ เรียกว่าตกคุณสมบัติโดยถือเป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตสถานการณ์ โควิด-19 เท่านั้น และใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ไม่ช้าไม่นานนักก็มีการเผยแพร่จดหมายจาก “บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด” ในฐานะพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทยของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีน ซิโนฟาร์ม ในภูมิภาคเอเชีย ที่ส่งถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ออกมา โดยใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า

“ที่ผ่านมา บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ได้เตรียม วัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 20,000,000 โดส ให้แก่รัฐบาลไทย โดยวัคซีนยี่ห้อและจำนวนดังกล่าว สามารถเริ่มดำเนินการจัดส่งได้ภายในระยะเวลาสองสัปดาห์ นับจากวันที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขาย และชำระเงินเรียบร้อยแล้ว (รายละเอียดปรากฎตามหนังสือที่แนบมา)บริษัทฯ ได้นำเสนอวัคซีนยี่ห้อ และจำนวนดังกล่าวต่อรัฐบาลไทยโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทจำหน่ายอื่นใด ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนั้น ตรงกับเจตนารมยณ์ของบริษัทที่มีความประสงค์ในการสนับสนุนรัฐบาล ด้านการจัดหาและจัดซื้อวัคซีน โควิด-19 ในภาวะเร่งด่วนนี้ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทจะพยายามดำเนินการติดต่อกับท่านนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่บริษัทก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึง หรือเข้าพบเพื่อนำส่งเอกสาร ฟพร้อมนำเสนอวัคซีนจำนวนดังกล่าวได้อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับทราบประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผ่านทางราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งระบุถึงหน้าที่และอำนาจในการจัดหา ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทเห็นว่าวัคซีนจำนวนดังกล่าวถูกจัดสรรไว้สำหรับราชอาณาจักรไทย ยังสามารถดำเนินการจัดส่งได้ภายในระยะเวลาที่กล่าวมา และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการจัดหาวัคซีนทางเลือก ได้อย่างรวดเร็ว และเพียงพอต่อความต้องการทางบริษัทฯ ขอความอนุเคราะห์จากท่านเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ทางบริษัทได้เข้าพบท่าน หรือคณะทำงานที่ท่านได้มอบหมาย เพื่อที่จะหารือในรายละเอียดต่อไป...ลงชื่อ นายกรกฤษณ์ กิติสิน และ ศวิษฐ์ อุทัยเฉลิม กรรมการผู้จัดการ

ทว่า เมื่อ ศ.นพ.นิธิได้รับทราบก็ชี้แจงกลับไปเช่นกันว่า “เห็นหนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆ เลย อย่างไรก็ดีถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีน”ตัวเลือก”มาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม ……..ขอเรียนให้คนที่เห็นหนังสือนี้เข้าใจกันตามนี้ครับ 1)กลุ่มหรือบริษัทแบบนี้ที่ว่าเป็นตัวแทนนั้นเป็นไปได้ยาก 2)การเป็นตัวแทนใครในการนำยาหรือวัคซีนจริงต้องได้รับ dossier(รายละเอียดรายการประกอบยาและการผลิต)จากบริษัทเจ้าของเพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตจาก อย 3)บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดขณะนี้ จะติดต่อกับรัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลก่อนเท่านั้น ……เป็นเหมือนกันทุกบริษัททั่วโลกเพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะไม่ติดต่อกับเอกชนเป็นรายๆ หรือติดต่อคุยด้วยก็จะไม่ให้ dossier เพื่อยื่นขอใบอนุญาต 4)รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลเมื่อติดต่อแล้วจึงอาจมอบหมายให้บริษัทที่ทำโลจิสติกเรื่องการขนส่งและเก็บวัคซีนที่มีมาตรฐานเฉพาะเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและทำการขนส่งแทนหน่วยงานรัฐได้ 5)บริษัทหรือกลุ่มตัวแทนใดที่ว่าเป็นตัวแทนหรือมีวัคซีนเป็นล้านๆโดสโดยไม่มี dossier ที่ต้นทางจัดให้ ไม่ใช่ตัวแทนที่สมบูรณ์ครับ…..คงไม่ได้พบผมเช่นกัน

“ถ้าติดตามและอ่านประกาศของราชวิทยาลัยฯในราชกิจจานุเบกษาที่อ้างถึงให้เกินแปดบันทัด แล้วอ่านข้อบังคับลูกที่ตามมาก็จะทราบว่า ยังไงราชวิทยาลัยฯก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีครับ

“ขอร้องอย่าถือโอกาสโจมตีกัน แค่นี้ประชาชนคนเจ็บก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว”

งานนี้ บอกได้เลยว่า มีการเมืองเข้ามาผสมโรงร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ที่จริงแท้แน่นอนเป็นชีวิตจริงก็คือ เวลานี้คนไทยทั้งประเทศที่ต่างแห่แหนกันไปลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ลงทะเบียนเพราะสับสนกับการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของ “นายกฯ ลุงตู่” แต่ปรารถนาที่จะฉีดวัคซีน คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะได้ฉีดเมื่อไหร่ ที่ไหน่และยี่ห้ออะไร เพราะทุกอย่างยังคงไม่ชัดเจน แม้ทุกวันนี้ “ลุง” จะรวบอำนาจของบ้านนี้เมืองนี้ไปเป็นระบบ single command แล้วก็ตามที.




กำลังโหลดความคิดเห็น