ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แนวโน้มขาดแคลนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา - ลาว - กัมพูชา) ส่งสัญญาณมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก จวบจนระลอกที่ 3 ชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมไทยสดุดกันถ้วนหน้า เผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ย้อนกลับไปปี 2539 แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศข้างต้น เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่จากจำนวนไม่ถึงแสนคน ปัจจุบันนี้มีแรงงานกลุ่มเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เฉพาะตัวเลขในระบบมีมากกว่า 3 ล้านคนทำงานกระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบทุกจังหวัด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทํางานทั่วราชอาณาจักร
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก เกิดภาพ “แรงงานต่างด้าว” หลั่งไหลกลับมาตุภูมิมากกว่า 3 แสนราย มองผิวเผินในมุมคนธรรมดาทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่สถาการณ์ดังบรรยากาศที่ภาคอุตสาหกรรมกังวลว่าอาจเกิด “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” ขึ้นในอนาคต และสัญญาณเริ่มชัดขึ้นตั้งแต่การระบาด ระลอกที่ 2 กระทั่ง เข้าสู่ห้วงการระบาด ระรอกที่ 3 สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานต่างด้าวกำลังเป็นวิกฤตใหม่
ต้องเข้าใจว่า “แรงงานต่างด้าว” ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานระดับล่างค่าแรงต่ำ ซึ่งเป็นงานที่แรงงานไทยไม่ค่อยทำ ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำมากที่สุด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่อง แปรรูปสินค้าเกษตร โรงงานอาหารแช่แข็ง รวมถึงภาคการประมง ที่ขาดแคลนแรงงานข้ามชาติอย่างมากในปัจจุบัน
“ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย 80 – 90% เป็นชาวเมียนมา รองลงมาคือกัมพูชา และลาว ถ้าประเมินแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย จะมีประมาณ 4 ล้านคน คิดเป็น 13 % ของจำนวนแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีส่วนสร้างรายได้มวลรวม 4-6% ต่อปี ของจีดีพีไทย ซึ่งถือว่ามาก” รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูล
แรงงานต่างด้าวจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในภาคอุตสาหกรรรมไทย ขณะเดียวกันทั่วโลกเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงทุกด้าน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดให้ “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” โดยเฉพาะในวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro Enterprise) ไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อธิบายสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย แม้ช่วงปลายปี 2563 แรงงานต่างด้าวจะไม่ได้ลดลงมากนัก เพียง 2.4% หรือ 5.6 หมื่นคน แต่ยังสร้างความกังวลให้กับบรรดานายจ้างอยู่ แรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่มแรงงานเดิม มีประมาณ 2 ล้านกว่าคนยังจดทะเบียนไม่เรียบร้อย เป็นผลให้ตำแหน่งงานนั้นๆ ว่างลง แต่หากในอนาคต แรงงานต่างด้าวที่ว่านี้มีการจดทะเบียนเรียบร้อย บรรดาธุรกิจขนาดกลาง-เล็กก็คงต้องใช้กลุ่มแรงงานเดิมอย่างแน่นอน เพราะคุ้นเคยกับการทำงานระดับล่างพอสมควรแล้ว จากที่ตอนแรกว่าง เพราะยังไม่ได้จดทะเบียน แต่ปัญหาตอนนี้ คือ แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นไม่สามารถรับสารตรงนี้ได้ หลายคนไม่ทราบว่า จริงๆ แล้วหลายธุรกิจต้องการแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้อยู่ เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวกลุ่มเก่าที่กลับประเทศบ้านเกิดไปในช่วงแรก และจนถึงตอนนี้ยังกลับมาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ของภาครัฐที่จะต้องหาวิธีกระจายสารไปให้ได้
โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมประมงที่พึงพิงแรงงานต่างด้าวเสียส่วนใหญ่ มีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการรายเล็ก นายบุญมี อภิบาลศรี เจ้าของเรือประมง อ.แหลมงอบ จ.ตราด ระบุว่าธุรกิจประมงงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่เกิดจากการปิดจุดผ่านแดนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเดินทางเข้าออกของประชาชนทั้งของไทยและกัมพูชา ลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 จากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง
“บางครั้งต้องออกเรือประมงโดยมีจำนวนคนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ลูกเรือทุกคนต้องทำงานหนักมาก แต่ปัญหาที่หนักสุดคือ การไม่สามารถนำเข้าแรงงานประมงได้จากเรื่องของการปิดจุดผ่านแดน ส่วนแรงงานกัมพูชาที่มีอยู่ก็มีปัญหาเรื่องการจดทะเบียน”
เช่นเดียวกัน สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างมาก ข้อมูลจากสมาชิกผู้รับเหมาเป็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทุกโครงการได้รับผลกระทบเพราะขาดแคลนแรงงาน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 100,000 ล้านบาท
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวสะท้อนสถาการณ์ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว แม้มีแรงงานไทยว่างงานจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในตำแหน่งที่แรงงานต่างด้าวทำ โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมาก เช่น อาหารแปรรูป ถุงมือยาง อาหารและเกษตร จึงอยากให้ทุกหน่วยงานหาทางกระตุ้นให้แรงงานไทยที่ว่างงานอยู่ มาทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่น่าวิตกคือในอนาคต หากภาคอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนใช้เครื่องจักรแทนคนทั้งหมด แรงงานไทยจะยิ่งตกงานมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% โดยการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้า รวมไปถึงการมีวัคซีนส่งผลให้การส่งออกไทยแนวโน้มดีขึ้น ทว่า ปัญหาของผู้ส่งออกที่กังวลในตอนนี้คือ “ปัญหาการขาดแรงงาน”
น.ส. กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่าหลายโรงงานได้ประกาศรับสมัครงานเนื่องจากขาดแรงงานต่างด้าว จากที่มีการย้ายกลับประเทศซึ่งปัจจุบันหลายโรงงานก็ยังไม่กล้ารับกลับเข้ามา จากปัญหาโควิด-19 และปัญหาการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านกระทบให้แรงงานยังไม่กลับเข้ามา ทำให้ขาดแรงงานในหลายอุตสาหกรรม จำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนเดิมอยู่ที่ 2 แสนรายปัจจุบันอยู่ที่ 7 แสนราย หากจะดูว่าขาดแรงงานเท่าไรยังประเมินลำบาก แต่กลุ่มที่ต้องการแรงงานมากสุด เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เกษตรและอาหาร ส่วนแรงงานฝีมือ เช่น อิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ สถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ยังเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทย เป็นต้นว่า การลักลอบเข้ามาจากชายแดน จนมาถึง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร แสดงให้เห็นช่องโหว่ของการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ
อีกทั้ง สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ระรอกแรก ส่งผลให้แรงงานบางส่วนเดินทางกลับประเทศ ตัวเลขในระบบพบว่ามีแรงงานหายไปสูงถึง 4 - 5 แสนคน โดยไม่ทราบชัดว่าแรงงานที่หายไปนั้นกลับประเทศหรือกลายเป็นแรงงานเถื่อนอยู่ในไทยกันแน่
บทความเรื่อง ผลกระทบของ Covid-19 ที่มีผลต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เผยแพร่ผ่าน www.tdri.or.th ระบุตอนหนึ่ง ความว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวลดลง 4 - 5 แสนคน คาดว่าเกิดจากสาเหตุดังนี้
1. นายจ้างปิดกิจการหรือลดขนาดการจ้างงาน หลังจาก ศบค. เห็นชอบในการผ่อนปรนให้ทุกประเภทกิจการเปิดตัวได้ จะมีบางส่วนของแรงงานต่างด้าวได้ทำงานต่อในไทย แต่ถ้านายจ้างเดิมปิดกิจการหรือกลับมาจ้างงานจำนวนน้อยลง แรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะถูกเลิกจ้าง จะต้องมีมาตรการรองรับแรงงานกลุ่มนี้อย่างไร
2. แรงงานต่างด้าวบางกลุ่มยังคงอยู่ในประเทศเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมาใหม่สูงมาก
3. แรงงานต่างด้าวบางส่วนที่อยู่อย่างผิดกฎหมายมีแนวโน้มตัดสินใจกลับบ้านเพื่อกลับเข้ามาใหม่อย่างถูกต้อง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง
และ 4. แรงงานที่ตกค้างจากมติ ครม. เมื่อ 22 ก.ค. 2563 จะสามารถอยู่ในประเทศต่อไปอีก 2 ปี แต่จำเป็นต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะข้อจำกัดเกี่ยวกับเงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้าง
สำหรับการรับมือภาวะขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของ “กระทรวงแรงงาน” ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รมว. สุชาติ ชมกลิ่น ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว รับทราบถึงปัญหาและข้อกังวลของนายจ้างผู้ประกอบการเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่ เพื่อชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมกับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จากภายนอกประเทศ
ขณะเดียวกัน ช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่ประชุม คบต. ครั้งที่ 3/2564 มีมติเห็นชอบขยายเวลาตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคล (Biometrics) ของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) จากเส้นตายเดิมวันที่ 16 เม.ย. 2564 เป็น 16 มิ.ย. 2564 ขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการตรวจหาโรคโควิด-19 และจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคล (Biometrics) ได้ทันกำหนด เพราะหากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป เป็นการประคับประคองให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย
ประเด็นแรงงานต่างด้าวปัญหาทับซ้อนหลายมิติ ต้องบริหารจัดการไปพร้อมๆ กัน ทั้งการดูแลด้านสุขภาพอนามัยแรงงานในห้วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และภาวะขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของผู้ประกอบการในหลายภาคอุตสาหกรรม
คงต้องติดตามกันว่า “กระทรวงแรงงาน” จะหาทางออกในประเด็นเหล่านี้อย่างไร