xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อ่านไทย-อ่านเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ขณะที่ผมกับคณาจารย์กลุ่มหนึ่งกำลังนั่งรอเรือมารับไปยังเกาะเสม็ดเพื่อสัมมนาอยู่นั้น รถตู้ที่เรานั่งรอได้เปิดหนังแผ่นให้พวกเราดูเพื่อฆ่าเวลา หนังที่เขาเอามาให้ดูคือเรื่อง สามก๊ก ตอน โจโฉแตกทัพเรือ (2008) ที่กำกับภาพยนตร์โดย จอห์น วู (ค.ศ.1946-) 

คนขับรถเปิดหนังแผ่นเรื่องนี้เป็นพากย์ไทย

พอแผ่นเริ่มเล่น อาจารย์รุ่นพี่ท่านหนึ่งก็บอกคนขับรถให้ช่วยปรับโปรแกรมให้เป็นเสียงซาวน์ดแทรก (soundtrack) ซึ่งเป็นภาษาจีนโดยที่ท่านฟังภาษาจีนไม่ได้เลย แต่ท่านว่าท่านจะอ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษ (subtitle) เอาเอง และว่าฟังเสียงไทยแล้วจะไม่ได้อรรถรส

ผมซึ่งนั่งอยู่ด้วยและเคยดูหนังเรื่องนี้ในโรงมาก่อนรีบแย้งท่านว่า อย่าเชียวนะ หาไม่แล้วท่านจะดูไม่รู้เรื่อง ท่านก็ถามขึ้นว่า ทำไม?

ผมตอบไปว่า คำบรรยายภาษาอังกฤษนั้นระบุชื่อตัวละคร เมือง และสถานที่ ผ่านสัทอักษรโรมัน (Romanization) ระบบพินอิน (pin-yin) ใครที่ไม่รู้ภาษาจีนจะอ่านแบบที่คนไทยทั่วไปอ่านภาษาอังกฤษ

เช่นคำว่า Liu Bei อาจจะอ่านว่า ลิวไป แทนที่จะอ่านว่า หลิวเป้ย

ในประการต่อมา นอกจากท่านจะอ่านแบบผิดๆ ถูกๆ แล้ว ท่านก็จะไม่รู้อยู่ดีว่าตัวละครหรืออื่นๆ ที่คำบรรยายระบุไว้นั้น จริงๆ แล้วคือตัวละครตัวไหนหรือสถานที่หรือเมืองอะไร ทั้งที่ท่านเคยรู้จักมาก่อนเมื่อครั้งที่อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ในฉบับภาษาไทย

ซึ่งก็คือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง [(หน), มรณะ พ.ศ.2348]  

 ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคำเดิมที่ยกมาข้างต้นคือ หลิวเป้ย ซึ่งเมื่อท่านเห็นคำบรรยายเป็นคำว่า Liu Bei แล้ว ท่านจะอ่านอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ท่านจะไม่รู้เลยว่านั่นคือ เล่าปี่ ที่ท่านรู้จักมาก่อน 

 เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าท่านเห็นคำว่า Zhang Fei, Guan Yu, Zhuge Liang, Zhou Yu หรือ Cao Cao ซึ่งในภาษาจีนกลางจะอ่านว่า จังเฟย กวานอี๋ว์ จูเก่อเลี่ยง โจวอี๋ว์ และ เฉาเชา ตามลำดับ ท่านก็จะไม่รู้เลยว่านั่นคือ เตียวหุย กวนอู จูกัดเหลียง จิวยี่ และโจโฉ ตามลำดับ ที่ท่านเคยรู้จักตอนอ่านฉบับภาษาไทย นอกเสียจากว่าท่านจะเดาถูกเอาเอง ซึ่งคงเสียอรรถรสในการดูหนังไปไม่น้อย เพราะคำที่ต้องอ่านไม่ได้มีแค่ห้าตัวสิบตัวเสียเมื่อไหร่ 

ท่านฟังผมพูดแล้วก็เห็นด้วย จากนั้นก็ดูหนังเรื่องนี้ในแบบที่ตัวละครจีนพูดไทยได้แต่โดยดี

ครับ, ที่ผมเล่ามานี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ แค่หนังเรื่องหนึ่งเท่านั้น จริงๆ หากท่านมาเป็นผมที่ศึกษาเรื่องจีนแล้วก็จะพบปัญหาอีกมากมาย เพราะจนถึงทุกวันนี้ให้ผมอ่าน สามก๊ก ยังไงมันก็ยังมีคำจำนวนมากที่ผมเดาไม่ถูกว่าคือคำไหนในภาษาจีนกลาง

ครั้นพอมาอ่านฉบับภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ ผมก็เดาไม่ถูกอยู่ดีว่าคำนั้นคือคำไหนในฉบับภาษาไทย เวลาที่เดาอะไรไม่ได้ในเรื่องที่เราอยากรู้หรือรู้อยู่แล้วนี่มันหงุดหงิดนะครับ

หงุดหงิดถึงขนาดที่ว่า ครั้งหนึ่งผมเคยถามผู้ใหญ่ที่เป็นนักเขียนและเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ผมเคารพนับถือว่า ถ้าผมเอาเรื่อง  สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาปรับชื่อตัวละคร สถานที่ หรือเมืองเป็นภาษาจีนกลางให้หมดโดยคงสำนวนเดิมเอาไว้ ท่านคิดเห็นอย่างไร?

ท่านว่า มึงอย่าหาเรื่อง....!!!!

ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้อีกเลย ได้แต่เก็บอาการหงุดหงิดเอาไว้กับตัวมาจนถึงทุกวันนี้ เวลาที่อ่านงานเขียนเกี่ยวกับ  สามก๊ก  ซึ่งผู้เขียนหรือผู้แปลมักจะใช้คำทับศัพท์อย่างที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านใช้ก็ได้แต่ยอมรับสภาพ

แต่ในใจลึกๆ แล้วก็ฝันไปไกลว่า หากผมถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งสักร้อยล้าน ผมจะจ้างนักแปลที่รู้ภาษาจีนดีแปล  สามก๊ก  ขึ้นมาใหม่ โดยใช้คำทับศัพท์ต่างๆ เป็นภาษาจีนกลางให้หมด

 ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังคิดจ้างให้แปลวรรณกรรมจีนคลาสสิกอย่าง หงโหลวเมิ่ง หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ความฝันในหอแดง ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของเฉาเสี่ว์ยฉิน (ค.ศ.1715 หรือ 1724–ค.ศ.1763 หรือ ค.ศ.1764) อีกด้วย 

แต่ทั้งหมดนี้ได้แต่ฝันไกล แต่ไปไม่ถึง ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน ได้แต่หวังว่าจะมีมหาเศรษฐีสักคนหนึ่งคิดเหมือนผมแล้วทำสิ่งที่ว่าให้สำเร็จ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อแวดวงวรรณกรรม วงวิชาการ และการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยไม่น้อย

ย้อนกลับไปที่เรื่อง สามก๊ก อีกครั้ง ว่าที่ผมยกเรื่องดังกล่าวมาเล่านั้น จริงๆ แล้วสาระสำคัญอยู่ตรงการอ่านงานต่างชาติต่างภาษาที่มีการแปลเป็นไทย แต่เนื่องจากผมใกล้ชิดเรื่องจีน ตัวอย่างที่ยกมาจึงเป็นเรื่องจีน แต่หากกล่าวในแง่ประเด็นคำถามแล้ว ผมว่างานแปลแทบทุกภาษาจะประสบปัญหาที่ว่าไม่มากก็น้อย

อย่าง  สามก๊ก นั้นเราแปลโดยใช้คำทับศัพท์ผ่านภาษาจีนฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน และหลังจากนั้นก็ยังมีเรื่องจีนที่ถูกแปลผ่านภาษาที่ว่าอีกไม่น้อย จนเมื่อสังคมไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เรื่องจีนที่ถูกแปลเป็นไทยก็เปลี่ยนไปทับศัพท์ภาษาจีนแต้จิ๋วแทน ซึ่งก็ไม่ใช่ภาษาจีนกลางอยู่ดี

อย่างเช่นนิยายกำลังภายในที่คนไทยนิยมอ่านในสมัยหนึ่ง เป็นต้น

จนมาถึงยุคนี้จึงเป็นภาษาจีนกลาง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนไปตามกระแสการใช้ภาษาจีนในไทยคู่กันไปด้วย นั่นก็คือ กระแสการใช้ภาษาจีนกลางในปัจจุบันที่มาแทนที่ภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์แก่ผู้เรียนภาษาจีน (กลาง) ไม่น้อย เพราะสิ่งที่เรียนกับสิ่งที่ใช้ (ภาษาจีน) ต้องตรงกัน

ลองคิดดูว่า หากงานแปลทับศัพท์ด้วยสำเนียงจีนอื่นที่มิใช่จีนกลาง แต่ผู้เรียนภาษาจีนกลับเรียนภาษาจีนกลางสำเนียงเดียว ผู้เรียนย่อมไม่อาจเข้าถึงเรื่องจีนที่ทับศัพท์ด้วยภาษาจีนสำเนียงอื่นได้ เมื่อเข้าไม่ได้ก็เท่ากับเข้าไม่ถึงความรู้เรื่องจีนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากการทับศัพท์ดังกล่าวแล้วก็ยังมีการทับศัพท์อีกแบบหนึ่งที่เห็นแล้วอดยิ้มไม่ได้คือ การทับศัพท์แบบเลียนหรือล้อให้ใกล้เสียงเดิม ซึ่งในที่นี้ผมจะขอยกมาให้เห็นสักสองตัวอย่าง

 ตัวอย่างแรกเกิดขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่มีครั้งหนึ่งได้แปลคำจีนคำว่า เสียน-หลอ-กว๋อ-หวัง (เป็นเสียงจีนกลางแปลว่า กษัตริย์แห่งสยามประเทศ) โดยเลียนหรือล้อเสียงจีนเป็นคำว่า สยามโลกัครราช 

 ที่ว่าเลียนหรือล้อเสียงจีนคืออย่างนี้...สยาม (เสียน) โล (หลอ) กัคร (กว๋อ, คำนี้เป็นคำสนธิกับคำแรกคือ โลก กับคำว่า อัคระ) ราช (เป็นคำเดียวที่ไม่ล้อกับคำว่า หวัง ในคำจีน) 

เห็นการถอดคำจีนมาเป็นคำที่แปลเป็นไทยแล้วก็นึกชมคนที่ถอดเสียงว่า ช่างคิดช่างเก่งในการสรรหาคำอย่างมาก ซึ่งผมไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 4 ทรงถอดแปลเองหรือขุนนางท่านอื่นเป็นคนถอด

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผมเข้าไปในร้านหนังสือแห่งหนึ่งเพื่อหาหนังสือที่ตนเองสนใจ แล้วก็หยิบเอานิยายแปลเรื่อง  Star War มาพลิกดูผ่านๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะซื้อ แต่ผมก็มาสะดุดเมื่อพบว่าผู้แปลได้เรียกชื่อตัวเอกของเรื่องคือ  ลุค สกายวอล์กเกอร์ เป็น ลุก ตะกายอวกาศ 

เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้อีก ว่าคนแปลนี่ช่างสรรหาคำไทยมาใช้เลียนล้อเสียงเดิมในภาษาอังกฤษเสียเหลือเกิน

อันที่จริงมีงานแปลในปัจจุบันที่ผู้แปลแปลแบบที่ว่าอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าไม่นับงานปัจจุบันแล้วงานแปลเรื่องจีนในอดีตตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เรื่อยมานั้น ไทยมีการแปลเรื่องจีนเอาไว้ไม่น้อย

 เช่น ไซฮั่น หรือ ตั้งฮั่น ซึ่งเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.202-ค.ศ.220) หรือเรื่อง ห้องสิน ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพต่างๆ ของจีนในทำนองเทพปกรณัม โดยชื่อหนังสือทั้งสามที่เป็นเสียงจีนกลางคือ ซีฮั่น ตงฮั่น และ เฟิงเสิน ตามลำดับ 

แต่ก็อย่างที่ผมว่าไว้คือ หนังสือเหล่านี้ล้วนทับศัพท์ด้วยภาษาถิ่นของจีนทั้งสิ้น หากไม่ติดว่าคนไทยที่รู้ภาษาจีนใช้ภาษาจีนกลางเป็นส่วนใหญ่แล้ว หนังสือเหล่านี้จะทำให้คนไทยเข้าถึงเรื่องจีนได้ดีขึ้น

เรื่องที่ผมเล่ามานี้นอกจากจะเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ก็คงถือเป็นเสียงบ่นไปด้วยในตัว

แต่ผมมีกัลยาณมิตรอยู่คนหนึ่งที่แม่นในภาษาจีนจนผมทั้งสึกอิจฉาและชื่นชม คือไม่ว่าจะถามคำภาษาถิ่นจีนคำไหนก็ตาม ท่านจะตอบเป็นภาษาจีนกลางได้หมด ในทางกลับกันถ้าถามว่า จีนกลางว่ามาอย่างนี้ ภาษาถิ่นจะว่าอย่างไร ท่านก็ตอบได้เช่นกัน

กัลยาณมิตรท่านนี้จึงทำให้ชีวิตในโลกจีนศึกษาของผมง่ายขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น