xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไม่มี “แนนโน๊ะ” ไม่มี “ยูริ” “เด็กเก่า” เฉา “เด็กใหม่” เก้อ “ครูไม่พร้อม” เลื่อนเปิดเทอมหนี “โควิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์  ไม่รู้เป็นความบังเอิญหรืออย่างไร ซีรี่ย์ดัง “เด็กใหม่ ซีซั่น 2” ซีรี่ย์วัยรุ่นดาร์กๆ ตีแผ่ด้านมืด ปล่อยให้ชมทาง Netflix ในช่วงก่อน “เปิดเทอม 64” พอดิบพอดี ด้วยบรรยากาศชวนให้นึกถึงการเปิดเทอมวันแรก มีฉากหลังเป็น “โรงเรียน” มีตัวละครลึกลับหญิงสาวในเครื่องแบบนักเรียนอย่าง “แนนโน๊ะ” และ “ยูริ” เป็นตัวหลักดำเนินเรื่อง แถมขึ้น TOP 1 เสมือนต้อนรับเปิดเทอมใหม่ที่อาจดาร์กไม่แพ้ในซีรี่ย์ แต่แล้ว ศธ. ออกประกาศ “เลื่อนเปิดเทอม” เป็นรอบที่ 3

ระหว่างรอเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 คงต้อง   “เปิดเทอมทิพย์” กันไปก่อน เพราะเลื่อนจากกำหนดเปิดเทอมหลายครั้งจาก 17 พ.ค. 2564 เป็น 1 มิ.ย. 2564 และล่าสุด 14 มิ.ย. 2564 ซึ่งแน่นอนว่าการเลื่อนเปิดเทอมครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทย และนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดของ  “รัฐมนตรีป้ายแดง” อย่าง  “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งในส่วนวัตถุประสงค์หลักๆ ของการเลื่อนการเปิดเทอมนั้นก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษา และเร่งฉีควัคซีนให้ครูทั่วประเทศ

ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ตอบรับข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ. เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ทั่วประเทศ มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เพื่อความปลอดภัยและระวังป้องกันนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อ และเพื่อระดมฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง รองรับการย้ายสถานศึกษาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น

สำหรับประเด็นเร่งเครื่องฉีดวัคซีนโควิดให้ครูทั่วประเทศ นายสุภัทร จำปาทอง  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยผ่านเฟซบุ๊ก ศธ.360 องศา โดยเล็งเห็นว่าครูจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน เพื่อจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัย โดยอยู่ระหว่างการจัดสรรวัคซีนไปที่แต่ละจังหวัด ครูจะได้รับการติดต่อไปรับการฉีดเมื่อถึงคิว ขณะเดียวกันมีครูในหลายจังหวัดได้เริ่มฉีดไปแล้วจำนวนมาก เช่น บุรีรัมย์, ร้อยเอ็ด เป็นต้น

ส่วนประเด็นเลื่อนเปิดเทอมสรุปความได้ว่าสถานศึกษาในสังกัด ศธ. กำหนดเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างพร้อมเพรียง แต่หากมีโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดในพื้นที่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ พื้นที่สีแดง และพื้นที่ควบคุม หรือ พื้นที่สีส้ม ประสงค์จะดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น ทำการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี 44 ข้อโดยต้องผ่านทุกข้อ และต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ ศบค.จังหวัด เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้นสามารถจัดการเรียนการสอนได้ก่อนกำหนด 14 มิ.ย. 2564 ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ ,นนทบุรี,ปทุมธานี,สมุทรปราการ หากต้องการเปิดสอนก่อน อนุญาติให้จัดการเรียนได้ในรูปแบบการสอนออนไลน์ และ ออนแอร์เท่านั้น และต้องขออนุญาตจาก ศบค.จังหวัด เช่นเดียวกัน

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โดย รมว.ตรีนุช กำชับให้สถานศึกษาพิจารณารูปแบบการเรียนการสอน ยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู ผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ไม่บังคับว่าเด็กทุกคนในโรงเรียนเดียวกันต้องเรียนเหมือนกัน การตัดสินใจใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ขออนุญาตกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด

 อย่างไรก็ดี ศธ. ประกาศเจตจำนงชัดว่า “ไม่ต้องการเลื่อนเปิดเทอม” เพราะไม่ต้องการให้นักเรียนพลาดโอกาสในการเรียนรู้ เพียงแต่ไม่มีทางเลือกเพราะประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีความจำเป็นต้อง “เลื่อนเปิดเทอม”  

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลื่อนเปิดเทอมทำให้ภาคการศึกษาหยุดชะงัก คำถามสำคัญ ศธ. มีมาตรการรองรับเด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งเลื่อนเปิดเทอมอย่างไร


 ปฎิเสธไม่ได้อีกว่า การตัดสินใจดังกล่าวทำให้หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภาคการศึกษาโดนเพ่งเล็งอย่างหนัก ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างดุเดือดทั้งๆ ที่เผชิญกับสถานการณ์ โควิด- 19 มานานแรมปี แต่คณะผู้บริหารยังตีโจทย์ไม่แตก แนวทางจัดการการศึกษายังขาดประสิทธิภาพ เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แถมล้มเหลวในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจัดการเรียนการสอน วิพากษ์กันไปถึงขั้นที่ว่าวิจารณ์นโยบายต่างๆ ของ ศธ. ล้วนแล้วแต่ผลักภาระให้ “ผู้เรียน” ตลอดจน “ผู้ปกครอง” 

โดยเฉพาะประเด็นส่งเสริมการเรียนออนไลน์ ล่าสุด ศธ. ปูพรมจัดการเรียนการสอนของครูและนักเรียน  “เรียนออนไลน์”  ผ่านเว็บไซต์  www.ครูพร้อม.com  ซึ่งเปิดให้เด็กเข้าใช้งานวันแรก 17 พ.ค. 2564 เป้าประสงค์เตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเปิดเทอม สำหรับ  “ครูพร้อม”  เป็นเว็บไซต์เสริมแพลตฟอร์มต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัด ศธ. เป็นคลังสื่อ ข้อมูลการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ รองรับผู้เรียนและอำนวยความสะดวกทุกกลุ่ม ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบกลาง

เกิดคำถามตามมาว่า นอกจากเปิดช่องทางเรียนออนไลน์แล้ว ศธ. มีบทบาทในการสนับสนุนครูในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไร หรือส่งเสริมให้ “นักเรียน” เข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์มากน้อยแค่ไหน ต้องไม่ลืมว่าการเรียนออนไลน์มีต้นทุนมีค่าใช้จ่าย ตลอดจนงบประมาณที่ใช้พัฒนาเว็บไซต์ครูพร้อมคุ้มค่าหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้ระบบการศึกษาของประเทศปรับรูปแบบการเรียนการสอนสู่ระบบออนไลน์เกือบ 100 % ประเด็นการเลื่อนเปิดเทอมมาพร้อมกับข้อกังวลมากมาย การเลื่อนเปิดเทอมอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด

 ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิพากษ์ว่าแม้มีเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป แต่ถ้าไม่มีการจัดระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพรองรับ จะไม่เกิดประโยชน์แต่เป็นเพียงการชะลอสถานการณ์ทำให้การศึกษาหยุดชะงัก

เข้าใจว่าประเด็นสำคัญการเลื่อนเปิดเทอมมาจากความห่วงใยของผู้ปกครองในเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลาน และมาจากการหารือกันในบอร์ดบริหาร ที่น่าสังเกตคือไม่ได้รับฟังเสียงของเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเลื่อนเปิดเทอม วิเคราะห์ได้ว่า ศธ. ไม่ได้มีการเตรียมมาตรการในการรองรับว่าจะดำเนินการเรียนการสอนอย่างไร ที่จะทำให้เด็กเสียประโยชน์น้อยที่สุด

การแก้ปัญหาด้วยการหยุดเรียนแบบซ้ำซ้อนและให้เด็กเรียนออนไลน์ทำให้การศึกษาถดถอยไปถึง 40 - 50% ทั้งนี้ การทำให้โรงเรียนมีความปลอดภัยมากที่สุดคือสิ่งที่ ศธ. ควรดำเนินการเป็นลำดับแรก ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาแทนการเลื่อนเปิดเทอม เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและปลอดภัยกว่า เป็นอีกหนึ่งความท้าทายต้องแข่งกับเวลา

 สุดท้ายคงต้องย้อนกลับไปถามกระทรวงศึกษาฯ ที่มี รมว.ตรีนุช เทียนทอง กุมบังเหียนว่ามีมาตรการจัดการการศึกษาช่วงโควิด-19 ที่จะทำให้เด็กเสียประโยชน์น้อยที่สุดอย่างไร และนโยบาย “เลื่อนเปิดเทอม รอบที่ 3” เป็นเพียงการชลอปัญหาดังเช่นเสียงสะท้อนที่ดังขึ้นหรือไม่? 





กำลังโหลดความคิดเห็น