xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ปิด10ตลาดคุมระบาด จ่อขยายฉุกเฉินอีก60วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ป่วยโควิดเพิ่ม 2,636 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ต้องขัง 671 ราย เสียชีวิต 25 ราย เซ็งยังพบแรงงานผิด กม. ชงขยายนิรโทษฯเอาเข้าระบบ “กรมคุก” เผยยอดรวมรวมป่วยเกือบ 1.5 หมื่นรายแล้ว กทม.ปิด 10 ตลาดคุมระบาดชุมชน ลั่นอาจมีขยายเวลาต่อ "วิษณุ" ยันขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกอย่างน้อย 1 เดือน

วานนี้ (20พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 2,636 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 1,965 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 671 ราย เสียชีวิต 25 ราย ในจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวที่ รพ. 42,246 ราย อาการหนัก 1,213 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวช่วงหนึ่งถึงปัญหาแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า คณะที่ปรึกษาของ ศบค. เสนอเรื่องของแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ประมาณการว่า มีจำนวนหลักล้านคนทั่วประเทศ หากไม่จัดการ คนเหล่านี้จะทำให้เป็นประเด็นปัญหา คือ 1.แรงงานที่ผิดกฎหมายจะไม่อยู่นิ่ง เขาจะหลบหนีและเคลื่อนย้ายตัวเองตลอดเวลา, 2.จะไปอยู่กับคนที่ถูกกฎหมาย เกาะกลุ่มรวมกันและจะไปทำงานย้ายจุดไปเรื่อยๆ และ 3.มีที่พักที่แออัด นอนที่เดียวกันในพื้นที่แคบๆ กิน นอน ด้วยกัน ในที่จำกัด เพราะฉะนั้น 2-3 ปัจจัยนี้ จะนำมาสู่การควบคุมโรคได้ยาก

“แรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายยังพบทุกวัน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ยอดรวม 113 ราย อย่างช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บางวันพุ่งสูงเป็น 200-300 ราย นายกฯก็กำชับเรื่องนี้ ดังนั้น พรมแดนทางธรรมชาติและทางน้ำต้องเข้มงวดมากขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการที่ปรึกษา ศบค.ให้มีการตั้งศูนย์คัดแยกผู้ป่วยแรงงานผิดกฎหมาย เพราะเราได้เรียนรู้จาก จ.สมุทรสาคร ควรมีพื้นที่เหมาะสม อาจจะอยู่ใกล้ชุมชนนั้น หรือแยกออกมาถ้าป่วย จะเป็นแคมป์ quarantine ซึ่งมีการพูดถึง รพ.สนาม ที่จ.ปทุมธานี หรือตลาดเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ทำเป็นรพ.สนาม ให้อากาศถ่ายเท ให้คนต่างชาติมาอยู่ด้วยกัน และชุมชนก็ดูแลกัน มีรั้วรอบขอบชิด เพราะเขาทำงานในนั้น ก็รู้จักกันแทบทั้งสิ้น ไม่ต้องเอาไปไกล ซึ่ง กทม.ควรจะรีบทำ แต่ละวันที่ทำการตรวจเชิงรุกเพิ่มวันละ 300-400 คน ต้องมีที่นอนให้เขา แยกออกจากชุมชนให้ได้

“และเรื่องกฎหมาย ให้มีมาตรการรองรับขยายนิรโทษกรรมให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเข้าสู่ระบบจ้างงานถูกต้องตามกฎหมายต่อไป” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ด้าน นพ.วีระกิตต์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีราชทัณฑ์ แถลงสถานการณ์โควิดภายในทัณฑสถานและเรือนจำทั่วประเทศว่า ยอดผู้ติดเขื้อดังกล่าวทำให้ขณะนี้มีผู้ต้องขังอยู่ระหว่างการรักษาจำนวน 14,039 ราย ในเรือนจำ 11 แห่ง ได้แก่ เรือนจำเชียงใหม่, เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, ทัณฑสถานหญิงกลาง, เรือนจำกลางคลองเปรม, เรือนจำพิเศษธนบุรี, เรือนจำฉะเชิงเทรา, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง, เรือนจำนนทบุรี, เรือนจำกลางบางขวาง, เรือนจำพิเศษมีนบุรี และเรือนจำสมุทรปราการ

ขณะที่ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค กทม.ได้ประกาศปิดตลาดที่เกิดการแพร่ระบาดแล้ว 10 แห่ง จากตลาดทั้งหมด 485 แห่ง โดยดำเนินการล้างทำความสะอาดและฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ และตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ประกอบการค้าและลูกจ้าง ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงประชาชน และชุมชนใกล้เคียง ดังนี้ 1.ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน ปิดตั้งแต่วันที่ 14-24 พ.ค., 2.ตลาดกลางดินแดง ปิดตั้งแต่วันที่ 12-21 พ.ค., 3.ตลาดบางกะปิ ปิดตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค., 4.ตลาดคลองเตย ปิดตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.-4 มิ.ย., 5.ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน ปิดตั้งแต่วันที่ 18-20 พ.ค., 6.ตลาดสดหนองจอก ปิดตั้งแต่วันที่ 19-31 พ.ค., 7.ตลาดสายเนตร เขตคันนายาว ปิดตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค., 8.ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตบางกอกน้อย ปิดตั้งแต่วันที่ 14-22 พ.ค.,

9.ตลาดลำนกแขวก เขตหนองจอก ปิดตั้งแต่วันที่ 19 - 21 พ.ค. และ 10.ตลาดนัดผู้ใหญ่อ้วน เขตลาดพร้าว ปิดตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค. ทั้งนี้ กทม.อาจมีการขยายเวลาปิดตลาดเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 21 พ.ค. จะมีการพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ทาง ศบค.ชุดเล็ก จะประเมินสถานการณ์ว่า จะขยายไปนานเท่าใดเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ส่วนตัวมองว่า การขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรจะนาน เบื้องต้นเห็นว่าควรขยายตลอดเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

“การขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เกี่ยวกับการออกมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เพื่อให้ในบางพื้นที่บางจังหวัดเกิดการทำงานอย่างบูรณาการ” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 21 พ.ค.นี้ มีวาระที่สำคัญ ประกอบ คือ การรับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง กทม.จะรายงานมาตรการด้านสาธารณสุขในการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการ จะรายงานมาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเพื่อเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามข้อเสนอของของศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอให้ขยายเวลาประกาศออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. โดยยึดตามเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้ว่า ต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ในการควบคุมการการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากต่อเพียง 1 เดือน หรือ 30 วัน อาจจะไม่เพียงพอ พร้อมทั้งจะพิจารณาถึงแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามที่ที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุขเสนอด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น