ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ว่าด้วยเจ้ากรรมนายเวรทางการเงิน “เจ้าหนี้” ในรูปแบบ “บัตรเครดิต” ตามติดเป็นเงาตามตัว หากรูดปรืดเกินตัวครั้นครบกำหนดชำระเลือก “จ่ายขั้นต่ำ” ไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกที “ติดกับดักหนี้” ดอกเบี้ยพอกพูนจ่ายแทบไม่หวาดไม่ไหว ซ้ำร้ายโควิด-19 พ่นพิษเศรษฐกิจ สำรวจพบกลุ่มตัวอย่าง 80% จำยอมรับภาระการเงินที่เพิ่มขึ้น เลือกจ่ายหนี้บัตรฯ ขั้นต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บัตรเครดิตช่วงไตรมาสแรกปี 2564 พบพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เลือกจ่ายหนี้บัตรขั้นต่ำมากขึ้น โดยเหตุผลอันดับต้นๆ เพราะขาดสภาพคล่อง พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบ 80% เลือกที่จะผ่อนชำระคืนบางส่วนด้วย โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าผลสำรวจฯ ปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ที่มีสัดส่วนของผู้ที่ผ่อนชำระบางส่วนราว 63.8% เท่านั้น
ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เนื่องจากบัตรเครดิตมีสถานะเป็นเครื่องมือในการชำระค่าบริการและสินค้าแทนเงินสด ดังนั้นเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวจึงส่งผลทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรและสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลงตาม
นอกจากนี้ ประมาณ 48% ของกลุ่มตัวอย่างลูกหนี้บัตรเครดิตที่เข้ามาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือในรูปของการผ่อนผันภาระผ่อนชำระต่อเดือนลง สะท้อนผลกระทบโควิด-19 ทำ “สถานะทางการเงินถดถอย”
สำหรับภาพรวมลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพการชำระหนี้สูง แม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่าแต่มีอำนาจซื้อและมีการใช้จ่ายต่อเดือนสูง ทำให้ประมาณ 75% ของปริมาณการใช้บัตรรวมในแต่ละปียังมีการชำระคืนเต็มจำนวน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บัตรเครดิตจะไม่ได้เพิ่มขึ้นสูง แต่ยังเป็นประเด็นติดตามต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ NPL บัตรเครดิตของระบบไว้ที่ 1.90-2.50% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2563 ที่ประมาณ 1.91% เนื่องจากยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประคองอยู่
ประเด็นสำคัญ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนการขยายกรอบระยะเวลาการเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของ ธปท. จนถึง 30 มิ.ย. 2564 อาจมีส่วนช่วยปรับปรุงสถานะทางการเงินของลูกหนี้และบรรเทาแรงกดดันต่อปัญหาคุณภาพหนี้บัตรเครดิตในภาพรวม รวมทั้ง มีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพของพอร์ตลูกหนี้ โดยจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพื่อรักษาประวัติทางการเงินของตนเอง
กล่าวสำหรับการจ่ายหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการเงินในแต่ละเดือนไม่ให้มากเกินไป ช่วยรักษาสถานะการเงินให้เป็นปกติ ไม่เสียประวัติการเงิน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการกู้ยืมเงินในอนาคต แต่ข้อเสียของการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำคือมีการคิดดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหากจ่ายขั้นต่ำ ไปเรื่อยๆ ไม่บริหารการเงินให้ดีเจ้าของบัตรอาจติดกับดักหนี้โดนคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ
ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากจ่ายขั้นต่ำทุกงวด
ข้อมูลจาก บ.เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ระบุ ข้อแรก เกิดดอกเบี้ยเสียสองเด้งแถมดอกสูงมาก การเลือกที่จ่ายขั้นต่ำในวันที่กำหนดชำระ ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยสูงสุดถึง 18% ต่อปี และคิดดอกเบี้ยกันตั้งแต่วันแรกที่รูดซื้อสินค้า ดอกเบี้ยจะคิดเป็นรายวัน
โดยดอกเบี้ยจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรก จะคิดดอกเบี้ยจากจำนวนทั้งหมดที่ใช้จ่าย โดยนับจากวันที่ใช้จ่ายจนถึงวันก่อนครบกำหนดชำระ และส่วนที่สอง จะคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นคงเหลือ โดยจำนวนวันที่คิดดอกเบี้ยนั้น จะนับจากวันที่จ่ายขั้นต่ำ ไปจนถึงวันสรุปค่าใช้จ่ายในเดือนถัดไป หากจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมระยะเวลาที่ผ่อนยาวนานขึ้น หนักหนาสาหัญไปถึงขั้นที่ว่าผ่อนยังไงก็ผ่อนไม่หมดเลยทีเดียว
ข้อถัดมา การจ่ายขั้นต่ำจะถูกยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย โดยปกติบัตรเครดิตจะยกเลิกระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไปทันทีหากมีการจ่ายขั้นต่ำ และถ้ายังนำบัตรเครดิตไปใช้จ่ายซื้อสินค้าเพิ่มอีก ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยทันทีในวันนั้นๆ ทำให้ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในงวดนั้นเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน ต่างออกมาให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 จ่ายขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% พบเงื่อนไขแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน หลายแบงก์ลดให้อัตโนมัติ
อาทิ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี (KTC) ได้ทําการปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่าของบัตรเครดิตเคทีซี ให้แก่สมาชิกบัตรฯ ทุกท่านอัตโนมัติ โดยไม่ต้องแจ้งความประสงค์เป็นรายบุคคลแต่อย่างใด จากเดิม 10% ลดเหลือ 5% มีผลกับบัญชีบัตรเครดิตที่มีการสรุปรอบบัญชี ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 (โดยจะไม่มีกำหนดขั้นต่ำ 500 บาทต่อรอบบัญชี ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป)
จากนั้น 8% มีผลกับบัญชีบัตรเครดิตที่มีการสรุปรอบบัญชี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 และ 10% มีผลกับบัญชีบัตรเครดิตที่มีการสรุปรอบบัญชี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ยกเว้นยอดที่ได้ทำรายการผ่อนชำระรายเดือนกับบัตรเคทีซี กรณีสมาชิกบัตรฯ เลือกชำระเต็มจำนวนผ่านบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคแบงก์ (KBANK) มอบมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อ บัตรเครดิตกสิกรไทย ปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจากเดิม 10% ปี 2563-2564 ชำระขั้นต่ำ 5% ปี 2565 ชำระขั้นต่ำ 8% และปี 2566 ชำระขั้นต่ำ 10% ตามเดิม ธนาคารปรับอัตโนมัติ โดยลูกค้าไม่ต้องติดต่อธนาคาร
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลูกค้าบัตรเครดิต ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 5% จากเดิม 10% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป เป็นเวลา 2 ปี ให้สิทธิแก่ลูกค้าทุกรายโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องติดต่อธนาคาร
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำหรับลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต กรุงศรี คอนซูเมอร์ ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำต่อเดือน สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชีตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
ธนาคารทีเอ็มบี (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) ปรับลดอัตราผ่อนชำระคืนขั้นต่ำ ให้กับลูกค้าบัตรเครดิตทั้งสองธนาคาร บัตรกดเงินสด Ready Cash (ทีเอ็มบี) และบัตรกดเงินสด FLASH Plus (ธนชาต) โดยอัตโนมัติ และไม่จำเป็นต้องติดต่อแจ้งความจำนงกับทางธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 เป็นต้น
แต่ต้องไม่ลืมว่า “ดอกเบี้ยบัตรเครดิต” ยังถูกคำนวณไปเรื่อยๆ ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงอย่า “จ่ายขั้นต่ำ” จนติดกับดักหนี้เลย