คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เวลาได้ยินใครพูดว่า “เช้าชามเย็นชาม” เรามักจะคิดถึงการทำงานในระบบราชการก่อนเสมอ...
ตอนที่รู้จักคำนี้ครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมเข้าใจว่า การทำงานแบบเช้าชามเย็นชามคงจะมีก็แต่ในระบบราชการของไทย ประเทศที่พัฒนาแล้วคงไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่แน่เสมอไป เพราะเคยได้ยินเพื่อนที่เคยอยู่เมืองฝรั่งนานๆ บ่นให้ฟังเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่างานราชการที่เราไปติดต่อนั้นคืองานอะไร
อย่างเช่นโรงพยาบาลของรัฐในตะวันตกบางประเทศนั้น หากใครจะต้องผ่าตัดแล้วกว่าจะได้ผ่าจริงก็ต้องรอกันข้ามปีเลยทีเดียว ดีไม่ดีคนไข้อาจตายไปก่อนแล้วก็ได้
ที่เราเห็นในหนังฮอลลีวูดเวลาที่ตัวละครต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วมีรถจากโรงพยาบาลมารับมาส่ง หรือเมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วได้รับการดูแลที่ดี มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม หรือคนป่วยน้อยไม่แออัดดังโรงพยาบาลรัฐของไทยนั้น มันในหนัง ชีวิตจริงไม่ได้ดีอย่างนั้น ยกเว้นจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน
ดีไม่ดีเมืองไทยอาจดีกว่าด้วยซ้ำไป
ตอนที่ผมยังไม่ได้รับราชการก็รู้อยู่แล้วว่าราชการไทยเช้าชามเย็นชาม แต่ก็ไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร และตั้งใจว่าหากได้รับราชการจริง ผมจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้นเป็นอันขาด ทำนองคนหนุ่มไฟแรงประมาณนั้น
ผมรับราชการเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ตอนนั้นมีนักวิชาการทำการวิจัยระบบราชการเพื่อหาสาเหตุที่เช้าชามเย็นชามแล้วก็พบว่า ส่วนหนึ่งมาจากระเบียบที่หยุมหยิมเกินความจำเป็น และด้วยระเบียบแบบนี้จึงทำให้งานธรรมดาๆ งานหนึ่งกว่าจะสำเร็จได้ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ กว่า 50 ขั้นตอน
และเมื่อศึกษารายละเอียดของแต่ละขั้นตอนว่ามีความจำเป็นแค่ไหน ก็พบว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย คือจะตัดทิ้งไปก็ไม่ทำให้งานนั้นเสียหายแต่อย่างไร
นอกจากระบบแล้ว ปัญหาเช้าชามเย็นชามยังมาจากตัวบุคคลที่เป็นข้าราชการอีกด้วย ปัญหานี้หากไม่มาจากการไม่กล้าตัดสินใจของข้าราชการคนนั้นแล้ว ก็จะมาจากตัวระบบที่ไม่เอื้อให้ข้าราชการได้ตัดสินใจ ในทำนองที่เกรงว่าจะไปข้ามขั้นตอน ข้ามหัว หรือข้ามหน้าข้ามตาข้าราชการอีกคนหนึ่งในหน่วยงานเดียวกัน
เพื่อนรุ่นพี่ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อราว 40 ปีก่อน เธอได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อทำเรื่องขออนุญาตเกี่ยวกับงานที่เธอกำลังทำอยู่ให้ถูกกฎหมาย และงานนั้นก็ให้บังเอิญว่าต้องมาทำเรื่องขออนุญาตที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เธอจึงต้องเดินทางจากจังหวัดเกือบจะเหนือสุดของประเทศเข้ามาทำเรื่องในกรุงเทพฯ
เมื่อเธอกรอกเอกสารเสร็จ ข้าราชการที่ดูแลงานของเธอก็บอกว่าให้มาตามเรื่องได้หลังจากนี้อีกกี่วันข้างหน้า พอถึงเวลาเธอก็เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อตามเรื่อง ข้าราชการที่ดูแลเรื่องของเธอก็แจ้งให้เธอทราบว่า เรื่องของเธอยังไม่แล้วเสร็จแล้วชี้ไปที่โต๊ะๆ หนึ่งแล้วว่า เรื่องอยู่ที่โต๊ะนั้น แล้วโต๊ะนั้นยังไม่ส่งเรื่องไปยังขั้นตอนต่อไป
โดยขั้นตอนต่อไปที่ว่าก็คือโต๊ะที่อยู่ติดๆ กัน
เธอเล่าว่า ฟังจากที่ข้าราชการคนนั้นอธิบายให้ฟังถึงขั้นตอนต่างๆ แล้ว หากจะทำกันอย่างจริงๆ จังๆ เรื่องที่เธอขออนุญาตน่าจะเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะเอกสารที่เธอกรอกมันก็วนเวียนอยู่แต่ในห้องนั้นและจบในห้องนั้น
ที่น่าโมโหก็คือ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอมาตามเรื่องแล้วพบว่า เอกสารของเธอได้เดินมาถึงข้าราชการอีกโต๊ะหนึ่งและพร้อมที่จะส่งต่อไปยังขั้นตอนท้ายๆ แล้ว แต่ข้าราชการคนนั้นก็ไม่ส่ง ทั้งๆ ที่คนที่จะรับเรื่องในขั้นตอนต่อไปก็คือโต๊ะที่อยู่ถัดไป
ที่ว่าน่าโมโหก็เพราะว่า วันที่เธอไปตามงานนั้น ข้าราชการคนนั้นลาพักร้อนพอดี และเธอก็เห็นเรื่องของเธอวางหราเยาะเย้ยเธออยู่บนโต๊ะของข้าราชการ (ที่ลาพักร้อน) คนนั้น
ผลคือ กว่าเรื่องของเธอจะแล้วเสร็จได้รับอนุญาตเวลาก็ผ่านไปครึ่งค่อนปี แต่ทำให้เธอเสียเวลามาตามเรื่องอยู่หลายเที่ยว
ตอนที่เธอเล่าเรื่องนี้ฟังนั้น เธอเพิ่งออกจากงานที่เธอทำ แล้วมารับราชการในเวลาที่ไล่เลี่ยกับผม ส่วนสาเหตุที่เธอเล่าให้ฟังก็เพราะผมกำลังเจอปัญหาระบบราชการเข้าอย่างจัง ผมเดาว่า เธอคงเล่าให้ผมฟังเพื่อที่ผมจะได้ทำใจ
เรื่องที่ผมเจอจากระบบราชการก็คือว่า ตอนที่ผมรับราชการใหม่ๆ นั้น แม้งานหลักที่ผมทำจะเป็นงานวิจัย แต่ผู้บังคับบัญชาก็ให้ช่วยดูแลเรื่องสิ่งพิมพ์ทางวิชาการด้วย ด้วยเห็นว่าผมมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน และผมก็ยินดีรับมาทำด้วยความเต็มใจ
ปัญหาที่ผมเจอก็คือว่า สิ่งพิมพ์ในช่วงที่ผมเข้ามาดูแลนั้นเป็นสิ่งพิมพ์ระบบออฟเซ็ท ระบบนี้มาแทนระบบที่เรียกกันแบบไทยๆ ว่า ระบบฉับแกละ อันเป็นระบบที่เรียงพิมพ์ต้นฉบับด้วยตัวอักษรตะกั่ว เมื่อเรียงเสร็จแล้วก็นำมาตีพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ จะเป็นใบปลิว โปสเตอร์ หรือหนังสือ ก็ว่ากันไป
แต่ระบบออฟเซ็ทนี้ก้าวหน้ากว่ามากในเวลานั้น คือเป็นระบบที่เรียงพิมพ์ต้นฉบับด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อเรียงเสร็จแล้วก็ให้เครื่องพิมพ์ต้นฉบับออกมา จากนั้นคนที่เป็นช่างศิลป์ก็จะนำต้นฉบับนั้นไปจัดหน้า (art work) ต้นฉบับในระบบนี้คมชัดและงดงามกว่าระบบเดิมมาก เมื่อตีพิมพ์เสร็จออกมาจึงน่าอ่านน่าจับต้องมาก
ทีนี้เมื่อสิ่งพิมพ์เป็นระบบออฟเซ็ทอย่างที่ว่าแล้ว ผมซึ่งดูแลงานนี้อยู่ก็ทำไปจนแล้วเสร็จ ที่นี้ก็ถึงขั้นตอนที่ผมจะต้องเบิกเงินจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อมาจ่ายให้แก่โรงพิมพ์ ผมจึงต้องนำระเบียบการเบิกงบประมาณเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มาศึกษา
ปรากฏว่า ระเบียบราชการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ในตอนนั้นยังเป็นระเบียบที่ใช้กับระบบฉับแกละ ไม่มีข้อความใดที่ระบุถึงระบบออฟเซ็ท
ตอนที่พบความจริงดังกล่าวทำเอาผมแทบช็อค เพราะตอนที่ผมมาดูแลงานด้านนี้นั้น เมืองไทยได้ใช้ระบบออฟเซ็ทในการตีพิมพ์สิ่งพิมพ์มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ทางราชการยังไม่แก้ไขระเบียบให้ตีพิมพ์ในระบบออฟเซ็ทได้
ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ตอนนั้นระบบฉับแกละได้หายไปจากวงการสิ่งพิมพ์เมืองไทยเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว
เช่นนี้แล้วจะไม่ให้ผมช็อคได้อย่างไรกับระเบียบที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วทำให้ผมไม่สามารถเบิกเงินมาจ่ายโรงพิมพ์ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องมาจบในแบบที่ผมเองก็ไม่อยากจะบอกว่าโชคดี นั่นคือ ระบบราชการยังเปิดช่องให้ทำเรื่องขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษ โดยผมจะต้องเขียนอธิบายเหตุผลทางเทคนิคเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ให้ผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินได้เข้าใจ ซึ่งหมายความว่า ผมต้องเขียนอธิบายด้วยภาษาที่ผมคิดว่าเข้าใจง่ายที่สุด คำอธิบายของผมจึงยาวเหยียด และนั่นดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตข้าราชการของผมที่เขียนอะไรยาวๆ ถึงสองหน้ากระดาษ
คือเขียนไปก็แก้ไป แก้ไปก็เครียดไป
ตอนนั้นผมก็ได้แต่รอว่า เมื่อไหร่กระทรวงการคลังจะแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบเก่า แต่หลังจากนั้นอีกราวสองปี ระเบียบใหม่ก็ออกมาจนผมโล่งใจ แต่ที่ทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ ระเบียบสิ่งพิมพ์ที่ออกมาใหม่นี้ครอบคลุมระบบออฟเซ็ทมากกว่าที่ผมคิดเสียอีก
เห็นแล้วก็รู้ทันทีว่า คนที่ร่างระเบียบนี้มีความรู้เรื่องสิ่งพิมพ์จริงๆ
เรื่องที่เล่ามานี้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 30 ปีก่อน แต่ก็ทำให้เราพอมองออกว่า ระบบราชการเช้าชามเย็นชามเป็นอย่างไร กระนั้น ผมก็ยังโชคดีที่งานราชการของผมอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมักไม่ค่อยเจออะไรที่เช้าชามเย็นชามแบบกระทรวงอื่น ถ้าจะเจอก็เจอตอนที่ต้องไปร่วมงานกับกระทรวงอื่นถึงได้รู้
อย่างเช่นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ผมมีเหตุต้องร่วมงานกับกระทรวงหนึ่ง แล้วคนที่รับผิดชอบกิจกรรมก็เล่าให้ฟังว่า แต่ละกิจกรรมที่ทำนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ถึง 17 ขั้นตอน
ผมฟังแล้วก็ได้แต่ปลอบใจผู้รับผิดชอบว่า นี่ยังดี เพราะสมัยก่อน 50 กว่าขั้นตอนเชียวนะ
ที่ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าไม่ใช่เพราะจะรำลึกความหลังตามประสาคนสูงวัย แต่เพราะเห็นทางรัฐบาลรวบเอากฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ กว่า 30 ฉบับมาไว้ในมือของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่เพียงผู้เดียวในการแก้ปัญหาโควิด-19 แล้วมีคนวิจารณ์ว่ารวบอำนาจแบบเผด็จการ
แต่จริงๆ แล้วมันมาจากระบบราชการ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่ทำเช่นนั้นการแก้ปัญหาโควิด-19 ก็จะเป็นแบบเช้าชามเย็นชาม และรังแต่จะทำให้การระบาดของโรครุนแรงและกว้างขวางยิ่งขึ้น ผมว่า ถ้าจะวิจารณ์ก็ควรวิจารณ์ว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์มีอำนาจเต็มมือเช่นนี้แล้วจะแก้ปัญหาได้ดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีจึงค่อยมาว่ากัน
ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้ที่วิจารณ์ไม่ยอมเข้าใจ แต่วิจารณ์เพราะอยากเอาเท้าราน้ำ