xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เชื่อเถิดว่า ไม่ใช่มีเพียงแค่ “ฟ้าทะลายโจร”เท่านั้น ที่จะช่วยรักษาโรคโควิด-19 ได้/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


สำหรับการแพทย์แผนไทยนั้น ได้มีการกล่าวถึงเรื่องโรคระบาดเอาไว้ในพระคัมภีร์ตักกะศิลา โดยกล่าวถึงเรื่องของโรคห่าลงเมืองตักกะศิลา อันหมายความถึงโรคระบาดที่เกิดการติดต่อร้ายแรงขึ้นทำให้คนในเมืองเกิดเป็นโรคดังกล่าวพร้อมๆกัน และตายเป็นจำนวนมาก

การกล่าวถึงโรคห่าลงเมือง “ตักกะศิลา” นั้น แท้จริงก็เป็นเมืองที่เป็นแหล่งวิชาความรู้ของอินเดียโบราณ อันเป็นเมืองที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้เรียนวิชาทางการแพทย์ ก่อนที่หมอชีวกโกมารภัจจ์จะได้มาเป็นแพทย์ผู้รักษาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นรากฐานอันสำคัญของวิชาการแพทย์แผนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ในบรรดาโรคระบาดหรือโรคห่าในพระคัมภีร์ “ตักกะศิลา” นั้น ได้กล่าวถึงหลายโรค ซึ่งคนในยุคนี้อาจไม่คุ้นหูแล้ว ตัวอย่าง เช่น ไข้พิษไข้กาฬ 21 จำพวก, ไข้รากสาด (ไข้กาฬ) 9 จำพวก, ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ) 8 จำพวก, ไข้กาฬ 10 จำพวก, ฝีกาฬ 10 จำพวก, ไข้กระโดง 4 จำพวก, ฝีกาฬ 6 จำพวก, ไข้คดไข้แหงน 2 จำพวก, ไข้หวัด 2 จำพวก, ไข้กำเดา 2 จำพวก, ไข้ 3 ฤดู 3 จำพวก

ในบรรดาโรคที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้มีการกำหนดการมองเห็นของลักษณะโรคและวิธีการรักษาที่มีความชัดเจนตามพระคัมภีร์ แต่สิ่งที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากสังคมในอดีตและการแพทย์แผนโบราณ มีอย่างน้อย 4 ประการ

ประการแรก วิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันเราสามารถมีกล้องจุลทรรศน์มองเห็นจุลชีพที่ชัดเจนและแม่นยำว่าเป็นจุลชีพชนิดใด เช่น เป็นไวรัส แบคทีเรีย โปรตัวซัว และเป็นชนิดใด

แต่คนโบราณนั้นไม่ได้สนใจในชนิดและชื่อของตัวจุลชีพ แต่สนใจว่าผู้ป่วยมีลักษณะอาการอย่างไร และเมื่อกินยากระทุ้งพิษไข้ออกมาแล้ว จะมีผื่นขึ้นมีลักษณะอย่างไร และรักษาไปตามสิ่งที่มองเห็นและสังเกตุได้ ดังนั้นจึงไม่ได้สนใจวิวัฒนาการของจุลชีพว่าจะกลายพันธุ์ไปอย่างไร

จริงอยู่ที่ว่าการเกิดโรคระบาดในสมัยโบราณนั้น มนุษย์ยังไม่มีกล้องจุลทรรศน์เพียงพอที่จะมองเห็นไวรัส แบคทีเรีย หรือจุลชีพที่มีขนาดเล็กได้ แต่อย่างน้อยก็เรียกรวมๆในสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าในโรคระบาดรวมๆ ว่า “โรคห่า”

แม้การแพทย์แผนไทยจะมองไม่เห็นหรืออาจไม่ได้สนใจชื่อชนิดของจุลชีพ ทั้งไวรัส แบคทีเรียที่มีวิวัฒนาการตลอดเวลา แต่ก็ได้กำหนดลักษณะมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันมาพิจารณาแทนตามหลักธรรมชาติ

โดยกำหนดจากธาตุดิน น้ำ ลม และไฟที่เกิดความไม่สมดุล เกิดความแปรปรวนภายในของธาตุทั้งสี่(ธาตุสมุฏฐาน) การกำเนิดของธาตุทั้งสี่ประจำตัวของแต่ละคน (ธาตุเจ้าเรือน) และเปลี่ยนไปตามอายุ(อายุสมุฏฐาน) ดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูที่มีผลต่อมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน(ฤดูสมุฏฐาน) กาลเวลาที่มีผลต่อผู้ป่วย(กาลสมุฏฐาน) ลักษณะประเทศที่ส่งผลต่อวามไม่สมดุลของร่างกายของแต่ละคน(ประเทศสมุฏฐาน) รวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นสืบจากพ่อแม่(วิเศษสมุฏฐาน) อีกทั้งยังมีการแปรเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและอาหารของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย

สิ่งที่ปรากฏเป็นเงื่อนไขข้างต้นก็จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และจุลชีพไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะมองไม่เห็นโรคห่าหรือจุลชีพชนิดนั้นก็ตาม แต่ก็มีข้อสังเกตจากสิ่งแวดล้อมและมนุษย์นั้นที่ก่อกำเนิดโรคที่แตกต่างกัน

ประการที่สอง เภสัชศาสตร์ยุคปัจจุบันสามารถระบุสารสำคัญและโครสร้างเคมีของยาทุกชนิดรวมถึงสารสำคัญสมุนไพรว่าจะมีผลต่อโรคอย่างไร มีกลไกการทำงานอย่างไร

แต่การแพทย์แผนไทยไม่ได้สนใจโครสร้างเคมี แต่ใช้การชิม “รสยา” ว่าแต่ละรสของสมุนไพรเป็นตัวแทนธาตุอะไร มีการบันทึกสรรพคุณเภสัชของสมุนไพรแต่ละตัว และมีวิธีนำมาปรุงเป็น “ตำรับยา” เพื่อลดผลเสียของสมุนไพรแต่ละตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ดังปรากฏในพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์เรื่อง 9 รสยาความว่า

“ลิ้นด้วยเก้ารส จงกำหนดอย่าคลาด ยารสฝาดชอบสมาน รสยาหวานซาบเนื้อ รสเมาเบื่อแก้พิษ ดีโลหิตชอบขม เผ็ดร้อนลมถอยถด เอ็นชอบรสมันมัน หอมเย็นนั้นชื่นใจ เค็มซาบในผิวหนัง เสมหะยังชอบส้ม กำเริบลมที่อยู่ เปือกตมฟูเยือกเย็น เนื้อหนังเอ็นปูปลา ย่อมภักษาครามครัน” โดยมีรายละเอียดความหมายคือ

รสฝาด (Astringency) มีสรรพคุณ สมานบาดแผล แก้บิด ปิดธาตุ (ทำให้หยุดถ่ายอุจจาระ) คุมธาตุ(ทำให้การถ่ายอุจจาระเป็นปกติ แก้ท้องร่วง แก้ท้องเสีย แต่แสลงกับโรค ไอ ท้องผูก โรคพรรคดึก เตโชธาตุ(ธาตุไฟ)พิการ

รสหวาน (Sweetness) มีสรรพคุณ ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้เนื้อชุ่มชื้น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย แต่แสลงกับโรค ฟันผุ เสมหะเฟื่อง อาเจียน โรคเบาหวาน น้ำเหลืองเสีย บาดแผล

รสมัน (Fat) สรรพคุณ มีฤทธิ์ซึมซาบไปตามเส้นเอ็น แก้เอ็นพิการ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย บำรุงไขข้อ บำรุงเยื่อกระดูก ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่แสลงกับโรค เสมหะพิการ เช่น ไอ หอบ และไข้ต่างๆ ร้อนใน กระหายน้ำ

รสเค็ม (Saltiness) สรรพคุณ ซาบไปตามผิวหนัง แก้โรคผิวหนัง โรคคพรรดึก ถ่ายชำระน้ำเหลือง ชำระเมือกมันในลำไส้ ฟอกโลหิต แก้เสมหะเหนียว แสลงกับโรค อุจจาระพิการ โรคบิดมูกเลือด กระเพาะอาหารเป็นแผล

รสเปรี้ยว (Sourness) สรรพคุณ แก้เสมหะพิการ แก้เสมหะเหนียว แก้ไอ แก้ท้องผูก ระบายอุจจาระ ฟอกโลหิต แก้กระหายน้ำ แต่แสลงกับโรคน้ำเหลืองเสีย ท้องเสีย และไข้ต่างๆ

รสขม (Bitterness) มีสรรพคุณ แก้ทางโลหิตและดี แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้โลหิตพิการ บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร แสลงกับโรค หัวใจพิการ โรคลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ

รสเมาเบื่อ (Intoxicant taste) มีสรรพคุณ แก้พิษดี แก้พิษโลหิต พิษไข้ พิษเสมหะ พิษสัตว์กัดต่อย แสลงกับโรค หัวใจพิการ ไอ

รสหอมเย็น (Savouriness) มีสรรพคุณ ทำให้ชื่นใจ บำรุงหัวใจ ตับ ปอด บำรุงครรภ์ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แลงกับโรคลมจุกเสียด ลมป่วง

รสเผ็ดร้อน (Spiciness) มีสรรพคุณ แก้ลม จุกสียด แน่นเฟ้อ ขับลมให้ผายหรือเรอ บำรุงธาตุไฟ ขับเหงื่อน ช่วยย่อยอาหาร แสลงกับ ไข้ ตัวร้อน เพ้อคลั่ง

ประการที่สาม ประชากรโลกมีการอยู่อาศัยหนาแน่นกว่าสมัยก่อน และยังมีการเดินทางนำโรคจากต่างถิ่นเข้ามาสู่อีกประเทศหนึ่งได้อย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อน ดังนั้นโรคระบาดจึงสามารถเดินทางเชื่อมต่อได้กับทุกประเทศทั่วโลกจึงระบาดได้เร็วกว่าเดิม หากไม่ได้มีการป้องันที่ดีพอ

ประการที่สี่ มนุษย์ในปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศจึงอาจไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมในฤดูกาลตามธรรมชาติ มนุษย์บางกลุ่มจึงอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมในภูมิอากาศต่างจากมนุษย์ในสมัยอดีต และอาจทำให้โรคระบาดในสิ่งแวดล้อมของแต่กลุ่มบุคคลไม่เหมือนกันเพราะมีการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างการรักษา “ไข้พิษไข้กาฬ” ของการแพทย์แผนไทยนั้น จะต้องมีตำรับยาให้กระทุ้งพิษไข้ให้หมดสิ้นตามลำดับขั้นตอน คือ กระทุ้งพิษไข้ รักษาผิวที่มีการประทุพิษออกมา ตามด้วยใช้ยาแปรภายในจากร้ายให้เป็นดี แล้วจึงตามด้วยามครอบไข้ปิดท้ายมิให้ไข้กลับมาอีก ดังปรากฏในพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์ อธิบายความตอนนี้ว่า

“อาจารย์กำหนด ให้แต่งโอสถ กระทุ้งภายใน แล้วพ่นยานอกให้ออกจนได้ ปรากฏแล้วไซ้ พิษจึงระเหย จึงไม่กินไส้ กินตับปอดได้ ท้องไม่ร่วงเลย ประทับสำคัญ ก่อนนั้นอย่าเฉย กินยาตามเคย แปรร้ายเป็นดี พิเคราะห์ตามไข้ หนักเบาอย่างไร อย่าให้เสียที ทำตามทำนอง ให้ต้องพิธี พิเคราะห์ให้ดี จึ่งเดชา”

โดยสามารถเรียงสรุปลำดับขนานยาได้ดังนี้

ขนานที่ 1 ยากระทุ้งพิษ (ยา 5 ราก) ดังนี้ ได้แก่ รากชิงชี่ รากย่านาง รากคนฑา รากเท้ายายม่อม รากมะเดื่อชุมพร โดยยา 5 รากนี้นำมาสิ่งละเท่าๆกัน รับประทานครั้ง 2-3 ช้อนโต๊ะ ห่างกันประมาณ 3 ชั่วโมงต่อครั้ง เป็นไปเพื่อกระทุ้งพิษให้ออกให้หมด

ตัวยาดังกล่าวจะทำให้เกิดผื่นผุดปะทุขึ้นตามผิวหนังให้เห็นในรูปลักษณะและสีที่แตกต่างกัน และอาการที่แตกต่างกัน จึงสามารถเห็นได้ว่าเป็นการระบาดอยู่ในประเภทใดตามพระคัมภีร์ตักกะศิลา

ขนานที่ 2 ยาประสะผิวภายนอก ได้แก่ ใบย่านาง ใบมะขาม เถาวัลย์เปรียง โดยนำสิ่งละเท่าๆกัน บดแทรกดินประสิว ละลายน้ำซาวข้าวแล้วพ่นลงบนผิว ถ้าไม่ดีขึ้น กระทำพิษให้ตัวร้อนเป็นเปลว ถ้าตัวร้อนจัดให้แต่งยาเพิ่มเติมในลำดับถัดไป

ขนานที่ 3 ยาพ่นภายนอก ได้แก่ เถาขี้กาแดง เอาทั้งใบและราก, เถาย่านาง เอาทั้งใบ และราก, รากฟักข้าว เอายาทั้งหมดนี้สิ่งละเเท่าๆกัน แทรกดินประสิวพอควร ละลายน้ำซาวข้าว ให้ทั้งกินและพ่นภายนอก ถ้าการยังไม่ดีขึ้นให้ใช้ยาขนานต่อไป

ขนานที่ 4 ยาพ่นและยากิน ได้แก่ ใบทองหลางใบมน, เปลือกทองหลางใบมน และข้าวสาร สิ่งละเท่าๆกัน บดแทรกดินประสิว ทั้งกินทั้งพ่น เมื่อได้ให้กินยากระทุ้งภายในและภายนอก ก็ให้ต้มยากินรักษาภายใน

ขนานที่ 5 ยาแปรไข้ ได้แก่ ใบมะยม, ใบมะนาว, หญ้าแพรก, ใบมะกรูด, ใบมะตูม, หญ้าปากควาย, ใบคนทีสอ ใบหมากผู้, ขมิ้นอ้อย, ใบมะเฟือง, ใบหมากเมีย นำยาเหล่านี้มาเท่าๆกัน บดละลายน้ำซาวข้าว รับประทานแปรไข้ภายในจากร้ายให้เป็นดี

ขนานที่ 6 ยาพ่นแปรผิวภายนอก ได้แก่ รังหมาร่าที่ค้างแรมปี, หญ้าแพรก, หญ้าปากควาย, ใบมะเฟือง นำยาเหล่านี้มาอย่างละเท่าๆกัน บดทำเป็นเม็ด เอาน้ำซาวข้าวเปียกเป็นกระสาย พ่นเพียง 3 ครั้ง

ขนานที่ 7 เมื่อได้รักษาเป็นระยะมาแล้ว อาการไม่ดีขึ้นตามลำดับ ก็ควรให้กินยารักษาไข้เฉพาะเรียกว่า “ยาครอบไข้ตักศิลา” ได้แก่ จันทน์แดง, ง้วนหมู, ใบผักหวานบ้าน, กระลำพัก, หัวคล้า, รากฟักข้าว, กฤษณา, ใบสวาด, รากจิงจ้อ, ใบมะนาว, จันทน์ขาว, รากสะแก, เถาย่านาง, ขอนดอก ยาทั้งนี้นำสิ่งละเท่าๆกัน บดแทรกพิมเสนพอควร ใช้น้ำซาวข้าวเป็นกระสาย รับประทานเป็นยารักษาภายใน รับประทานเป็นประจำจนกว่าจะหาย

อย่างไรก็ตามสำหรับโรคโควิด-19 นั้นจะได้ถูกตีความในบรรดาแพทย์แผนไทยที่อาจจะแตกต่างกันว่าจะเทียบให้ตรงกับพระคัมภีร์ตักกะศิลาว่าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการตีความว่าเป็นไข้กาฬแทรกไข้พิษ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ตามฤดูกาล ฯลฯ

แต่ถึงกระนั้นในพระคัมภีร์ตักกะศิลาได้กำหนดเอาไว้ว่าในกรณีที่เกิดเป็นไข้เหนือไข้พิษนั้น ได้กำหนดของต้องห้ามเอไว่าว่าห้ามมิให้วางยาร้อน ห้ามรสเปรี้ยว ไม่ให้ประคบนวน ไม่ให้ปล่อยปลิง ให้กอกโลหิตออก ไม่ให้ถูกน้ำมัน ไม่ให้โดนเหล้า น้ำร้อนก็ไม่ให้อาบหรือกิน และส้มมีควันและผิวกะทิก็ม่ให้กิน ถ้ากินแล้วอาจถึงตายได้ ดังความปรากฏใน คัมภีร์ตักกศิลา เล่ม 1 ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 ความว่า

“ไข้เหนือไข้พิศม์นั้น มีลักษณต่างๆคืออันใดบ้าง แลพระผู้เปนเจ้าจึ่งห้ามว่าไข้จำพวกนี้ย่อมห้าม มิให้วางยาร้อน ผดยาเปรี้ยว อย่าให้ประคบนวด อย่าให้ปล่อยปลิง อย่าให้กอกเลือดเอาโลหิตออก อย่าให้ถูกน้ำมัน เล่าก็อย่าให้ถูก น้ำร้อนก็อย่าให้อาบอย่าให้กิน ซ่มมีควันมีผิวกะธิน้ำมันห้ามิให้กิน ถ้าใครไม่รู้ทำผิดดังกล่าวมานี้ ก็ถึงมรณภาพความความตายดังนี้แล”

ย้อนกลับไปพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) ซึ่งเกิดในสมัยอยุธยา และต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองจันทบูร และได้แต่งตำราแพทย์เป็นกาพย์กลอนเพื่อจดจำได้ง่ายในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ประมวลจากประสบการณ์ในการใช้พระคัมภีร์ตักกะศิลาให้หลักข้อห้ามเอาไว้เมื่อเกิดมีไข้ว่ามิให้รสยาที่กระตุ้นธาตุไฟขึ้น หรือในยุคนี้คือเพื่อช่วยลดการอักเสบขึ้นในทำนองเดียวกัน

“ถ้าแรกล้มไข้ ท่านมากล่าวไว้ ให้พิจารณา ภายนอกภายใน ให้ร้อนหนักหนา เมื่อยขบกายา ตาแดงเป็นสาย บ้างเย็นบ้างร้อน เปนบั้นเปนท่อน ไปทั่วทั้งกาย ขึ้นมาให้เห็น เปนวงเปนลาย บางคาบเปนสาย เปนริ้วยาวรี บางบางไม่ขึ้น เปนวงฟกลื่น กายหมดดิบดี หมอมันกว่าเปนสันนิบาตก็มี ให้ยาผิดที แก้กันไม่ทัน

อย่าเพ่อกินยา ร้อนแรงแขงกล้า ส้มเหล้าน้ำมัน เอาโลหิตออก กอกเลือด นวดฟั้น ปล่อยปลิงมิทัน แก้กันเลยนา”

แต่ถึงแม้ว่าอาจจะมีคนเทียบเคียงกับการเกิดผื่นของโควิด-19 ในปี 2564 ในการตีความที่แตกต่างกันตามพระคัมภีร์ตักกะศิลา แต่อย่างน้อยพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) คงจะทราบปัญหาถึงการตีความของโรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า จึงได้วางหลัก “รสยา”ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ว่าด้วยคัมภีร์ตักกะศิลา เอาไว้ตรงกันข้ามกับการวางรสยาร้อนเอาไว้ว่า

“ถ้ายังไม่รู้ให้แก้กันดู แต่พรรณฝูงยา เย็นเป็นอย่างยิ่ง ขมจริงโอชา ฝาดจืดพืชน์ยา ตามอาจารย์สอน

ถ้าจะใคร่รู้ เอาเทียนส่องดู ให้รู้แน่นอน ถ้ายังมิขึ้น เร่งกินยาถอน กระทุ้งขึ้นก่อน อาบพ่นจนเห็น ถ้าทำสิ้นจบ มิขึ้นตระหลบ กินตับน้อนเร้น ต่อเมื่อมรณา ขึ้นมาให้เห็น ดังก้านเผือกเปน เขียวขาวแดงมี ลางบางเล่าไซ้ ไม่เจ็บไม่ไข้ อยู่อยู่ดีดี ขึ้นมาให้เห็น สองสามราตรี จึ่งไข้ก็มี”

“ฟ้าทะลายโจร” จึงเป็นสมุนไพรตัวแรกที่ฝ่าด่านการทดสอบในผู้ป่วยโควิด-19 ได้ โดยมีความทั้ง “เย็นอย่างยิ่ง” และ “ขมจริง”ตามคำบอกรสยาพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)ก่อนที่จะมีงานวิจัยในหลอดทดลองกับเชื้อโควิด-19 และก่อนที่จะมีการทดสอบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือปานกลางว่ามีอัตราการเกิดปอดอักเสบหรือเชื้อลงปอดลดลงเหลือร้อยละ 0.97 เทียบกับกลุ่มที่ถูกกักตัวโดยที่ไม่ใช้ฟ้ทะลายโจรที่มีอัตราปอดอักเสบหรือเชื้อลงปอดมากถึงร้อยละ 14

เพราะระดับความขมนั้นถึงขนาดมีฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งความขม” หรือ King of Bitterness กลายเป็นยาที่ได้ผลต่อการช่วยรักษาอาการที่เกิดขึ้นกับโควิด-19 ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่มีเพียงฟ้าทะลายโจรเท่านั้นที่ออกฤทธิ์เย็นและขม เพราะมีผู้ป่วยโควิด-19 มีการใช้รสยาขมเย็นอย่างเช่น “ยาเขียว” ที่มีสมุนไพรออกฤทธิ์ขมเย็นได้ผลเช่นเดียวกัน และมีผู้ป่วยที่ใช้ยานี้บางคนผื่นขึ้นออกมา บางคนเหงื่อออกโทรมกายด้วยที่มีลักษณะคล้ายที่ระบุเอาไว้ในพระคัมภีร์ตักกะศิลาด้วยเช่นกัน

แม้กระทั่งในช่วงหลังก็มีการกล่าวถึงสาร THC หรือ CBD ที่อยู่ในกัญชาและกัญชงซึ่งมีรสยา “เมาเย็น”นั้นอาจจะมาช่วยลดการอักเสบของผู้ป่วยโควิด-19 ได้หรือไม่ หลังการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วพบว่าได้ผลดี ซึ่งเป็นทิศทางของรสยาที่น่าจะทำการวิจัยต่อไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในคัมภีร์วรโยคสารกล่าวไว้ว่า สมุนไพรที่มีรสขมจะทำให้ลมกำเริบ ด้วยเหตุนี้สมุนไพรรสขมจึงแสลงกับโรคหัวใจพิการ โรคลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ นอกจากนี้สมุนไพรรสขมส่วนใหญ่จะทำให้ร่างกายเย็น ซึ่งเมื่อร่างกายเย็นจะทำให้การทำงานของหัวใจและไหลเวียนของโลหิตหรือลมทำงานไม่สะดวก




ดังนั้นรสขมจึงไม่เหมาะกับคนที่มีปัญหาหัวใจพิการ เช่นเดียวกันกับระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับยาที่มีความเย็นเข้าไปจะทำให้การไหลเวียนของลมในทางเดินอาหารทำงานไม่สะดวก เนื่องจากสมุนไพรรสเย็นมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อขึ้นได้ ดังนั้นการให้ยารสเย็นจัด จะต้องระมัดระวังเรื่องการทำงานของลมในหัวใจและทางเดินอาหารด้วย

นี่คือเหตุผลว่าเหตุใดผู้ที่ไม่ป่วย(โดยเฉพาะผู้สูงวัย) ไม่ป่วยไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกัน และแพทย์แผนไทยก็อาจจะมีความเห็นในการเสริม และผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยก็มักจะไม่แนะนำให้กินฟ้าทะลายโจรในเวลานานเกินไป หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องกินไปพร้อมกับตำรับยาอย่างอื่นเสริม

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กำลังสนใจยาอีกตำรับหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดโพธิ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีการเรียกชื่อว่า “ยาขาว” ซึ่งระบุเอาไว้ว่าแก้สรัพไข้ของการเกิดโรคระบาดหลายชนิดใน “ตำรับยาเดียว” โดยมีรสยาเย็นและเมาเบื่อเพื่อลดไข้และแก้พิษในโลหิตร่วมด้วย โดยระบุเอาไว้ว่า

“ขนาน ๑ เอา กะเช้าผีมด หัวคล้า รากทองพันชั่ง รากชา รากง้วนหมู รากส้มเส็ด รากข้าวไหม้ รากจิงจ้อ รากสวาด รากสะแก รากมะนาว รากหญ้านาง รากฟักข้าว รากผักสาบ รากผักหวานบ้าน เอาเสมอภาคทำเปนจุณ บดทำแท่ง ไว้ละลายน้ำซาวข้าวกินแก้ไข้รากสาด ออกดำ แดง ขาว และแก้ไข้ประกายดาษ ไข้หงษ์ระทด และแก้ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ละอองไฟฟ้า และแก้ไข้มหาเมฆ มหานิล ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น และยาขนานนี้แก้ได้ทุกประการ ตามอาจารย์กล่าวไว้ ให้แพทย์ทั้งหลายรู้ว่าเปน มหาวิเศษนัก ฯ ๛”

โดยนักวิชาการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ผลทางเภสัชของวัตถุดิบแต่ละชนิดของยาขาว พบว่าสมุนไพรแต่ละตัวออกฤทธิ์หลากหลายมิติ เช่น การต้านไวรัส ต้านแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูอิสระ เสริมสร้างควบคุมการทำงานของภูมิคุ้มกัน ลดไข้ บรรเทาอาการไอ และปอดอักเสบ

นั่นหมายความว่าในความเป็นจริงแล้วยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพที่อาจจะมามีส่วนร่วมในการช่วยรักษาโรคโควิด-19 ได้ ไม่ได้มีฟ้าทะลายโจรแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต




กำลังโหลดความคิดเห็น