xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งทีมไทยแลนด์ "รัฐ-เอกชน"จัดทัพสู้โควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - “นายกฯ” ถกคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน เร่งแก้ปัญหาโควิด-19 สั่งตั้งทีมประเทศไทย จากภาครัฐ-เอกชน 4 คณะเร่งจัดหา กระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ยันเป้าหมายฉีดปชช. 50 ล้านคนปลายปีนี้ ประเดิมเปิดให้ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัวจองฉีดวัคซีน เริ่มลงทะเบียน 1 พ.ค.นี้ "บิ๊กป้อม" ชี้รวบอำนาจแค่ชั่วคราว เพื่อความเป็นเอกภาพแก้โควิด แอสตร้าฯ พร้อมส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ให้ไทย มิ.ย.นี้ ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2,012 ราย เสียชีวิต 15 คน

วานนี้ (28 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ที่นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะ เพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิขของประเทศ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับรัฐมนตรี (ครม.) ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ รมว.พลังงาน นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร ประธานคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด- 19 นพ.โสภณ เมฆธน รองประธานคณะทำงานพิจารณาวัคซีน ฯ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

นายสนั่น กล่าวว่า ในการประชุมหารือ หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ กับภาคธุรกิจเอกชนที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้รับทราบ โดยภาครัฐยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน ทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐและหอการค้าไทย ถึง แผนการกระจายวัคซีน และวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว โดยมีความคืบหน้าดังนี้

1.TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนซึ่งในระยะแรกได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอกทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานครระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง จะนำต้นแบบ (Best Practice) ของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2. TEAM Communication ทีมการสื่อสารสนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐ และตั้งทีมคณะทำงานประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline

3.TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ และหลังจากการสำรวจพื้นที่ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีน ได้ทำหน้าที่เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ต่างๆ มาเป็นข้อมูล และให้การสนับสนุนทีมอื่นๆ หลายบริษัทที่เสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศเป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab

4.TEAM Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชน โดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป และทีมเจรจาวัคซีนทางเลือกเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ” นายสนั่น กล่าว

ทั้งนี้ทางหอการค้า ยังได้เสนอแผนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ได้ทดลองทำ Sand box ของกลุ่มค้าปลีกและทางธนาคารมาแล้ว เพื่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan โดยพร้อมที่จะขยายผลต่อไป นอกจากนั้น จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ HUG THAIS ฮักไทย Love Thais, Help Thais “รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน” โดยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคประชาชนในการอุดหนุนสินค้าไทย และธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทย รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางภาครัฐได้ให้ความมั่นใจว่า ภาครัฐได้มีการเตรียมการช่วยเหลือ SMEs ไว้ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งคืน และอีกหลายโครงการที่สามารถเสริมกันได้อย่างแน่นอน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอภาคเอกชนเพื่อปรังปรุง กฎหมาย กฎระเบียบให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในลำดับถัดไป

ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัวลงทะเบียนฉีดวัคซีน 1 พ.ค.

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช. สธ. กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ค. 64 เป็นต้นไป จะเปิดให้ประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 16 ล้านคน เริ่มต้นฉีดวัคซีนในเดือนมิ.ย. - ก.ค. 64 โดยเป็นวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่จะทยอยส่งมอบมาถึงในเดือนมิ.ย. 6 ล้านโดส และ ก.ค. 10 ล้านโดส โดยให้ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนใน Line Official Account หมอพร้อม ส่วนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย 16 ล้านคนนี้ จะได้รับวัคซีนในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

สำหรับกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งทุกชนิด , โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ปอดอุดกั้น หอบหืด , โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคอ้วน , โรคหลอดเลือดสมอง , โรคเบาหวาน และโรคไตเรื้อรังระยะ 5 ขึ้นไป โรคไตวายเรื้อรัง

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ยืนยันว่า คนไทยทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแน่นอน ตามความสมัครใจ โดยจะจัดแบ่งการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 1.2 ล้านคน จะได้รับวัคซีนครบถ้วนในเดือนพฤษภาคม 64 2.กลุ่มบุคลากรด่านหน้าที่มีความเสี่ยง จำนวน 1.8 ล้านคน จะได้รับวัคซีนครบถ้วนในเดือนพฤษภาคม 64 3.กลุ่มมีโรคประจำตัว 7 โรค จำนวน 4.3 ล้านคน จะเริ่มลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน 1 พ.ค.64 เริ่มฉีดในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 64 4.กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน จะเริ่มลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน 1 พ.ค.64 เริ่มฉีดในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 64

และ 5.กลุ่มอายุ 18-59 ปี จะเริ่มเปิดลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคม และเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 64 เป็นต้นไป

นายกฯรวบอำนาจเพื่อสั่งการเร็วขึ้น

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การรวบอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับให้นายกฯ ดูแลเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด -19 ว่า เป็นการชั่วคราว เพื่อให้เป็นเอกภาพในการสั่งการของนายกฯให้เกิดความรวดเร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นคงไม่ทำ ยืนยันว่า อำนาจของกระทรวงต่างๆ ยังอยู่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึง กรณีที่มีประกาศ โอนอำนาจรัฐมนตรีให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว เพื่อสั่งการ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงฟื้นฟู ช่วยเหลือ พ่วงกฎหมาย 31 ฉบับนั้น เป็นเรื่องที่ได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด และวันนี้ก็ถือว่าเป็นคำสั่งที่ปรับปรุงแก้ไขคำสั่งเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มไปอีก 2 ฉบับ ในส่วนของกฎหมายเพื่อให้นายกฯ ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหาร เพื่อให้ใช้อำนาจโดยสะดวก และเรื่องของวัคซีน จึงไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ และเห็นว่าหลักการทำงานร่วมกันในที่ประชุมครม. ก็ถือว่าทำงานร่วมกัน และเป็นรัฐบาลเดียวกัน

โอนอำนาจ“นายกฯ”แก้ปัญหาวัคซีน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การโอนอำนาจบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด-19 มาไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ได้มีต้นเหตุว่าคุมสถานการณ์ไม่ได้ หรือการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนการกระจายวัคซีน ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่การออกคำสั่งครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรก ได้ออกคำสั่งเมื่อเดือนมี.ค.63 เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของไทย เนื่องจากเรื่องวัคซีน และเรื่องการขึ้นทะเบียนวัคซีนอย่างที่หลายคนทราบว่า ขณะนี้กระบวนการมีความล่าช้า ในคำสั่ง ครั้งที่ 3 นี้ จึงต้องการเร่งดำเนินการนำเข้าวัคซีนและขึ้นทะเบียนวัคซีนให้รวดเร็วมากขึ้น จึงให้อำนาจนายกฯ พิจารณาได้ทันที รวดเร็ว ไม่ต้องกลับไปที่กระทรวงเพื่อพิจารณา ทำประกาศ หรือออกกฎกระทรวงอีก อาจจะเกิดความล่าช้าใช้เวลานาน โดยนายกฯ สามารถสรุปในที่ประชุม ศบค. และตัดสินใจได้เลย

อย่างไรก็ตาม นายกฯไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้คนเดียว แต่จะขับเคลื่อนและพิจารณาปรึกษาหารือในที่ประชุม ศบค. ร่วมกับคณะกรรมการที่อยู่ใน ศบค. ซึ่งก็จะมีทั้งรัฐมนตรีสาธารณสุข และรัฐมนตรีด้านต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่

ทั้งนี้ อำนาจการบริหารงานของแต่ละกระทรวงยังคงเป็นของรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงเหมือนเดิม แต่คำสั่งการโอนอำนาจให้นายกฯ เป็นเพียงการเพิ่มอำนาจโดยชอบธรรมให้นายกฯ นั้น ไม่ใช่การลิดดรอนอำนาจของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ซึ่งก็ยังดูแลกระทรวงตามปกติ

วัคซีนล็อตแรกที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตส่งมอบ มิ.ย.นี้

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยจะสามารถทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ให้แก่รัฐบาลไทยตามกำหนดภายในเดือนมิ.ย.นี้

นายเจมส์ ทีก กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้าเชื่อมั่นสยามไบโอไซเอนซ์ มีมาตรฐานการผลิตสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทฯ จึงได้เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทยและอีก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ได้เข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ไม่สวมแมสก์สั่งปรับแล้ว 9 คดี

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึง การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศกรณีบุคคลไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่พำนักอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของจังหวัดต่างๆ ว่า จากการรวบรวมสถิติการฟ้องดำเนินคดีและคำพิพากษา รวมทั้งสิ้นมี 9 คดี แบ่งเป็น สัปดาห์ก่อน 1 คดี และวันที่ 26-27 เม.ย. อีก 8 คดี โดยมีการเปรียบเทียบปรับรายละ 1,000 - 2,000 บาท เนื่องจากผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาตามพฤติการณ์แห่งคดีของแต่ละคดีได้ ซึ่งอาจมีรายละเอียดและความหนักเบาแห่งการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพิพากษาลงโทษจึงเป็นไปได้ที่จะไม่เท่ากัน

ตร.จับกุมคนไม่สวมแมสก์ 13 ราย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าออกจากเคหะสถานว่า ผลการจับกุมผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัย จำนวน 13 ราย ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ขณะที่จังหวัดที่ได้ออกประกาศกำหนดมาตรการให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถานเพิ่มเติม รวมบังคับใช้จำนวน 63 จังหวัดแล้ว

นายกฯเคาะเลื่อนรายงานตัวทหารเกณฑ์

รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้อนุมัติเลื่อนการเข้ารายงานตัวของทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2564 จาก 1 พ.ค.2564 ไปเป็น 1 ก.ค.2564 เป็นเวลา 2 เดือน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

"บิ๊กป้อม"สั่งตั้งรพ.เด็กติดโควิค

วานนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการ ที่กระทรวงแรงงาน(รง.) เพื่อติดตามผลการดำเนินการตรวจ โควิด-19 เชิงรุกให้แก่ แรงงานกลุ่มเสี่ยงโดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือแรงงาน และสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของ ก.แรงงาน ได้ปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาล อาทิ มาตรการการคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อเชิงรุก ใน 5 จังหวัด ที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ได้แก่ กทม.,ปทุมธานี, นนทบุรี,ชลบุรี และ เชียงใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรการที่สธ. กำหนด อย่างเคร่งครัด และขอให้ช่วยเหลือผู้ประกันตน กลุ่มเสี่ยง อย่างรวดเร็ว โดยให้ประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตน ที่อาจโรคโควิด-19

นอกจากนั้น ยังขอให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือคนทำงาน และแรงงานนอกระบบ ที่อาจว่างงาน และให้ประสานความร่วมมือ กับ กระทรวงพม. ให้เร่งสร้างรพ.รองรับเด็กที่ติดโควิด-19 เพิ่มเติมด้วย

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,015 ราย-เสียชีวิต 15 คน

วานนี้ (28 เม.ย.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวัน พบมีผู้ป่วยรายใหม่ 2,012 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,001 ราย ส่งผลให้ผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 61,699 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 178 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 34,402 ราย และผู้ป่วยที่รักษาอยู่ 27,119 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก 695 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 199 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น