ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ สนั่นวงการธุรกิจ-การเมือง เมื่อ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” บิ๊กบอส GULF เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของไทย รุกธุรกิจดิจิทัลยุค 5 G ทุ่มแสนล้านเทกโอเวอร์ INTUCH หลังตะลุยลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด-มอเตอร์เวย์ เรียกได้ว่าเวลานี้กลุ่มกัลฟ์ กุมเส้นเลือดทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไว้ในมือครบครัน ไต่เพดานพุ่งทะยานสู่พรมแดนธุรกิจใหม่ในอนาคต
ที่ผ่านมา กัลฟ์ (GULF) ให้ความสนใจลงทุนในอินทัช (INTUCH) มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 แล้ว โดยทยอยซื้อหุ้นเรื่อยมาจนถึงกลางเดือนเมษายน 2564 กัลฟ์ถือหุ้นอินทัช คิดเป็นสัดส่วน 18.93% รองจากกลุ่มสิงเทล (สิงคโปร์เทเลคอม) และเทมาเส็ก ที่ถือหุ้นรวม 26%
ล่าสุด GULF ได้ตัดสินใจซื้อหุ้น INTUCH ทั้งหมด โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา นางสาวยุพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) หรือ กัลฟ์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติให้ลงทุนในหุ้นทั้งหมดของ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) โดยทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข หุ้นละ 65 บาท ไม่รวมหุ้นอินทัช ที่บริษัทถืออยู่แล้ว 606.878 ล้านหุ้น หรือ 18.93% รวมจำนวนหุ้น INTUCH ที่บริษัทจะลงทุนทั้งหมดไม่เกิน 2,599.63 ล้านหุ้น หรือ 81.07% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยจะขอมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นกัลฟ์ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กัลฟ์ อยากจะได้หุ้นอินทัชทั้งหมด แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของอินทัช คือ บริษัท สิงเทล โกลบอล อินเวสต์เมนท์ ในเครือของสิงเทล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ถือหุ้นในสัดส่วน 21% นั้นออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่า ต้องการถือหุ้นอินทัชแบบลงทุนระยะยาว คือไม่ขายนั่นเอง ดังนั้น หากตัดส่วนหุ้นของสิงเทลออกไป กัลฟ์จะเหลือหุ้นอินทัช ที่เข้าไปซื้อได้ประมาณกว่า 50%
การเข้าซื้อหุ้นของอินทัช จะทำให้กัลฟ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ถือว่าบริษัทเข้ามามีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในอินทัช ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ดีลซื้อ INTUCH ทำให้ กัลฟ์ ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดใน ADVANC และ THCOM ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้
นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า กัลฟ์ไม่มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อใช้ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์อินทัช เพราะมีสถาบันการเงินหลายแห่งเสนอเพิ่มกรอบวงเงินกู้ให้บริษัท ส่วนเม็ดเงินที่คาดว่าจะใช้ซื้อหุ้นอินทัชครั้งนี้ 1.69 แสนล้านนั้น ก็อาจใช้ไม่ถึงเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่อินทัช คือ สิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชันส์ หรือ สิงเทล (SINGTEL) ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ขายหุ้นอินทัชออกมา
ทั้งนี้ บริษัทสิงเทล โกลบอล อินเวสต์เมนท์ ในเครือของสิงเทลของสิงคโปร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งในอินทัช สัดส่วนการถือหุ้น 21% และถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC สัดส่วน 23.32% โดยสิงเทลมีมุมมองการถือหุ้น INTUCH และ ADVANC ว่าเป็นการลงทุนในระยะยาวที่มีอนาคต
นายสมิทธ์ กล่าวว่า การซื้อหุ้นอินทัช เกินกว่า 50% ตามกฎของ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการอยู่ก่อนแล้ว (chain principle) จะส่งผลให้บริษัทต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ซึ่งอินทัชถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 40.45% และ 41.13% ตามลำดับ ไปพร้อมกันด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น บริษัทกัลฟ์ฯ จะขอยกเว้นเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน THCOM เนื่องจากไม่ได้มองว่าจะเข้าไปเป็นโอเปอเรเตอร์ของธุรกิจโทรคมนาคม โดยจะทำหนังสือขอผ่อนผันต่อ ก.ล.ต. และคาดว่าจะทราบผลโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าน่าจะเข้าเงื่อนไข เพราะในอดีตเคยมีกรณีลักษณะนี้และได้รับการอนุมัติ
ในส่วน ADVANC บริษัทได้เสนอราคาซื้อไว้ที่ 122.86 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก ดังนั้น ประเมินว่าคงไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดมาเสนอขาย จึงขอใช้สิทธิผ่อนผันต่อ ก.ล.ต. ด้วยเช่นกัน
เบื้องหลังการเข้าเทกโอเวอร์อินทัชครั้งนี้ นายสมิทธ์ อธิบายเหตุผลว่า เพราะต้องการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของกัลฟ์ ไปสู่ดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยบริษัทมีเป้าหมายขยายพอร์ตธุรกิจจากที่เติบโตมาจากผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ไปสู่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้ขยายการลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด, มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี รวมทั้งได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG)
นายสมิทธ์ กล่าวด้วยว่า การเข้าซื้อหุ้น INTUCH ถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความยั่งยืนสำหรับอนาคต ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น โดย INTUCH เป็นแพลตฟอร์มที่ดี มีบริษัทที่หลากหลายอยู่ในพอร์ต ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องธุรกิจดิจิทัล โทรคมนาคม อินชัวเทค อีคอมเมิร์ซ ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถต่อยอดในอนาคตได้ การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว
นอกจากนี้ INTUCH ยังมีกระแสเงินสดที่ดี มีพันธมิตรหรือผู้ถือหุ้นที่ดี และมีแมเนจเมนต์ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีประวัติการจ่ายปันผลที่ดี ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้าไปลงทุน ซึ่งในระยะข้างหน้าจะมีแผนการ synergy ที่หลากหลาย
กัลฟ์ จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เพื่อขอมติที่ประชุมในการทำธุรกรรมดังกล่าว และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งระหว่างนี้จะมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) มาประเมินมูลค่าของ INTUCH ขณะเดียวกัน ทาง INTUCH ก็จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นเช่นกัน
นายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด วิเคราะห์ว่า GULF ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แต่ขอผ่อนผันไม่ซื้อบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM สรุปคือ GULF จะทำการซื้อหุ้นทั้งหมดของ INTUCH ที่ราคา 65.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาวันศุกร์ (16 เมษายน) ที่ 58.50 บาท
และหลังจากที่ทำการเสนอซื้อ INTUCH เรียบร้อยถึงจะทำการเสนอซื้อ ADVANC ที่ราคา 122.86 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาวันศุกร์ที่ 168.00 บาท โดยจำนวนเงินที่จะใช้ทั้งหมดประมาณ 5.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ซื้อ INTUCH 1.7 แสนล้านบาท และ ADVANC 3.7 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจากภายในบริษัทและเงินกู้ สำหรับสถานะทางการเงินของ GULF ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีเงินสด 1.6 หมื่นล้านบาท และ D/E 2.4 เท่า แต่ถ้านับเฉพาะหนี้สินที่มีดอกเบี้ย D/E = 2 เท่า
บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า GULF มีความต้องการเพียงหุ้นของ INTUCH เท่านั้น เพราะราคาที่เสนอซื้อสูงกว่าในกระดาน ในขณะที่ราคาเสนอซื้อ ADVANC ต่ำกว่าในกระดานค่อนข้างมาก ดังนั้น บริษัทจึงน่าจะใช้เงินเพียง 1.7 แสนล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ยที่ 2% จะต้องมีดอกเบี้ยจ่ายราว 3.4 พันล้านบาท แต่เงินปันผลจาก INTUCH ในแต่ละปีที่จ่าย 3.5-3.8 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอกับภาระที่เพิ่มขึ้น
“ราคาหุ้น INTUCH น่าจะมีการปรับตัวขึ้นไปตามราคา Tender ในขณะที่ ADVANC ราคาอาจจะปรับตัวลงได้ก่อน แต่เชื่อว่าด้วยราคา Tender ที่ 122.86 ไม่จูงให้คนขาย...” นายเอกรินทร์ กล่าว
มุมมองการรุกสู่ธุรกิจดิจิทัลของ GULF นั้น นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กสิกรไทย ให้สัมภาษณ์สื่อ วิเคราะห์ว่า หากดีลซื้อ INTUCH สำเร็จจะเป็นการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ที่มีความแข็งแกร่ง เพิ่มสายสัมพันธ์ทางการเมืองให้กับกลุ่ม INTUCH ดีลนี้จึงเป็นบวกต่อ INTUCH และ GULF ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้น ADVANC ก็สามารถเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ADVANC ทางอ้อมอยู่แล้ว เพราะอินทัช ถือหุ้นใหญ่ 40.45% ใน ADVANC ที่อยู่ระหว่างขยายโครงข่าย 5G ได้ทันที จึงไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพิ่ม ราคาที่ประกาศซื้อหุ้น ADVANC จึงเป็นราคาที่ไม่อยากซื้อ
บล.กสิกร ประเมินแผนระยะสั้นว่า GULF มอง INTUCH และ ADVANC มีสินทรัพย์ที่มีประโยชน์ สามารถเอามาหาเงินได้ นั่นคือเสาโทรศัพท์มือถือของ ADVANC ที่มีอยู่ 3-4 หมื่นต้น มีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณ 2 แสนล้านบาท ถ้าทำแบบเดียวกับที่ TRUE ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) จะได้เงินก้อนใหญ่ เพื่อไปคืนหนี้ที่กู้มาเพื่อซื้อ INTUCH ทำให้ภาระเงินกู้ของ GULF จะลดลง เหมือนกับได้ INTUCH ในราคาที่ถูกลง และคาดว่า GULF อาจใช้เงินซื้อหุ้นแค่ครึ่งเดียวหรือประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท เพราะสิงเทลอาจไม่ขายหุ้นออกมา เช่นเดียวกันกับนักลงทุนรายย่อยรวมกัน 55% อาจจะขายหุ้นออกมาไม่หมด
บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ “กลุ่มรัตนาวะดี” ในสัดส่วนถือหุ้นรวมกัน 58.06% โดยผู้ก่อตั้ง คือ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ถือครองหุ้นสูงสุด 35.55% กัลฟ์เป็นกลุ่มผู้นำธุรกิจไฟฟ้า ครอบคลุมทั้งการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน มีการลงทุนธุรกิจพลังงานทั้งในและต่างประเทศ โดยปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 33,370 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,282 ล้านบาท
กัลฟ์ เริ่มต้นธุรกิจพลังงานในปี 2531 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ หรือ IPP โดยกัลฟ์ เป็น 1 ในเอกชน 7 ราย ที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเวลานั้น ต่อมา กัลฟ์ ได้ขยายธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โดย GULF ถูกยกให้เป็นหุ้นโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยกำลังผลิตในปัจจุบันและทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จนถึงปี 2567 มากกว่า 11,000 เมกะวัตต์
นอกจากธุรกิจไฟฟ้า GULF ยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจด้านอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง ที่สำคัญๆ ได้แก่ ธุรกิจด้านก๊าซธรรมชาติ และการรุกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเทศ รวมทั้งธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และภูมิภาคอื่น เช่น โอมาน
โครงการลงทุนที่สำคัญของบริษัทนั้นคือการร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นถึง 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ Gulf JP ซึ่งร่วมทุนกับทาง Japan Power มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 IPPs และโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,237 เมกะวัตต์
โครงการที่สอง Gulf MP ร่วมทุนกับ Mitsui & Co จะมีโครงการโรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมด 12 โรงไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการเสร็จ และจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว 6 แห่ง ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการก่อสร้าง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,563 เมกะวัตต์ และโครงการ Independent ร่วมทุนกับ Mitsui & Co เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในโครงการ 2 IPPs กำลังการผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2024
เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา Gulf International Holding Pte. Ltd. (GIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Gulf เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับกลุ่ม Global Infrastructure Partners (GIP) เพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของ Borkum Riffgrund Investor Holding GmbH, Frankfurt am Main, Germany (BKR2 Holding) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 50% ในโครงการ Borkum Riffgrund 2 Offshore Wind Farm GmbH & Co. oHG (โครงการ BKR2) ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 548-558 ล้านยูโร หรือประมาณ 19,219-19,570 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 50% ถือหุ้นโดยบริษัทในกลุ่ม Ossted A/S หรือ เดิมชื่อ DONG Energy โดยสัญญามีผลใช้บังคับในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ส่งผลให้ BKR2 Holding เป็นบริษัทย่อยของ GIH
โครงการ BKR2 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 464.8 เมกะวัตต์ มีขนาดกำลังการผลิตส่งออก 450 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในทะเลเหนือทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี โครงการดังกล่าวได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และสัญญาบำรุงรักษา กับกลุ่มบริษัท Orsted เป็นระยะเวลา 20 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการ
ปัจจุบัน ธุรกิจไฟฟ้าของ Gulf มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมดประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ จาก 33 โครงการ ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย 28 โครงการ, เวียดนาม 4 โครงการ และโอมาน 1 โครงการ โดยทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่ COD แล้ว 5,409 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 6,501 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ยังดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง/เตรียมการก่อสร้างจำนวน 10 โครงการ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 โครงการ และทั้งหมดจะ COD ภายในปี 2567
ส่วนความคืบหน้าของโครงการต่างๆ เช่น โครงการก๊าซธรรมชาติ Gulf SRC (ประเทศไทย) ขนาดกำลังการผลิต 2,650 เมกะวัตต์ จะเปิดดำเนินการ 2564 – 2565, โครงการ Gulf PD (ประเทศไทย) ขนาดกำลังการผลิต 2,650 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการ 2566 – 2567
นอกจากนั้น ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (ประเทศไทย) กำลังการผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการ 2567 – 2568 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2564, โครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (ประเทศไทย) กำลังการผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการ 2570 คาดว่าจะได้รับอนุมัติ EIA และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เป็นต้น
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซและ LNG terminal ในเวียดนามขนาด 6,000 เมกะวัตต์ ที่เซ็นเอ็มโอยูไปแล้วเมื่อปลายปี 2562 อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการ โดยก่อนหน้านี้ GULF ได้มีการลงทุนที่เวียดนามในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ไปแล้วกว่า 460 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2561
นอกจากนี้ GULF ยังการขยายธุรกิจเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน คว้าสัมปทานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F ระยะเวลา 35 ปี วงเงิน 84,361 ล้านบาท และร่วมลงทุนในสัมปทานโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 วงเงิน 55,400 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังร่วมเป็นพันธมิตรกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้ชนะประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะเวลา 30 ปี ด้วยวงเงิน 39,138 ล้านบาท
ล่าสุดวันที่ 20 เมษายน 2564 คล้อยหลังวันประกาศเทกโอเวอร์ INTUCH เพียงวันเดียว GULF ประกาศซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) จากบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด 2% ด้วยมูลค่า 130 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน PTT NGD เพิ่มเป็น 42%
แน่นอน การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ทำให้ชื่อของ “สารัชถ์” ถูกจับตามองเป็นกรณีพิเศษ และอดนำไปเปรียบเทียบกับ “มหาเศรษฐี” ของไทยอย่าง “ตระกูล เจียรวนนท์” หรือ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ไม่ได้ โดยเฉพาะ “เจียรวนนท์” ที่มี “ทรู” อยู่ในมือ ยิ่งเมื่อ “ตระกูลรัตนาวะดี” เสริมทัพเข้าสู่ธุรกิจแห่งอนาคต ก็ยิ่งทำให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า จะทำให้มีความแข็งแกร่งในทุกองคาพยพ ด้วยวันนี้โลกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่กลายเป็น “ปัจจัยที่ 5” ในการดำรงชีวิตก็คือ “โทรศัพท์มือถือ”
ปัจจุบัน โลกกำลังขับเคลื่อนด้วย 5 G และอนาคตก็ย่อมหนีไม่พ้น 6G
ถามว่า เสี่ยงไหม? ก็ต้องตอบว่าโคตรเสี่ยง
แต่ถ้าถามว่า คุ้มไหม? ก็ต้องตอบว่าโคตรคุ้มและมีอนาคตอันยาวไกลเกินกว่าที่จะจินตนาการถึง
จังหวะก้าวย่างของ GULF ในโมงยามนี้ จึงต้องจับตามองในฐานะ “บรรษัทข้ามชาติ” อย่างไม่คลาดสายตากันเลยทีเดียว
GULF ลงทุนธุรกิจพลังงานในหลายประเทศแล้ว ใครจะไปรู้ว่า ต่อไป GULF+INTOUCH จะสยายปีกข้ามพรมแดนประเทศไทยไปขนาดไหน.