xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตอบโจทย์ “เตียงไม่พอ” เปลี่ยนโรงแรมเป็น Hospitel ปรับบ้านเป็น Home isolation

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ลุกลามทั่วประเทศ นับตั้งแต่ 13 เม.ย. 64 ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดนับพันคนต่อวัน สถานพยาบาลรัฐและเอกชนส่อวิกฤตเตียงไม่พอ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) หลายแห่งรองรับผู้ป่วยโควิด แต่มิได้การันตีว่าจะเพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณในอนาคต

ดังนั้น ก่อนที่ระบบสาธารณสุขไทยจะรองรับไม่ไหว กระทรวงสาธารณสุขได้ทำคลอดมาตรการรับมือภาวะฉุกเฉิกหากเกิดกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศล้นทะลัก เพิ่มทางเลือกผู้ป่วย คือ  “Hospitel” หรือ “หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ” ปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการไม่รุนแรง พร้อมกันนี้ เตรียมการไปถึงขั้นที่ว่าหากผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ ให้พิจารณา  “การแยกตัวที่บ้าน (Home isolation)”  แต่ย้ำว่า ณ ตอนนี้ผู้ที่ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล ที่ทางภาครัฐกำหนดเท่านั้น

ทางเลือกแรก “Hospitel” คืออะไร? คำว่า “Hospitel” นั้น มีการผสมคำระหว่าง “Hospital” แปลว่า โรงพยาบาล และคำว่า “Hotel” แปลว่า โรงแรม กล่าวคือเป็นการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ รองรับผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง “Hospitel” จะเข้ามาเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลักเป็นเวลาอย่างน้อย 4 -7 วันก่อนจะถูกส่งตัวไปพักยังโรงแรม ทั้งนี้ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือที่พร้อม สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด

Hospitel จะอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่าย ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาเองโดยไม่มีการขออนุญาต ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าพักใน Hopitel จะต้องมีความสามารถในการดูแลตัวเอง และตกลงที่จะอยู่ที่โรงแรมหลังจากวันที่ออกจากโรงพยาบาลไปจนครบกำหนด 10 หรือ 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการแพร่เชื้อและเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ

โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะรับการรักษาใน Hospitel หรือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ดังต่อไปนี้ 1. อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เข้ารับการรักษา โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วย้ายมา อาจเป็นหอพัก หรือโรงแรม ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก

2. อาคารของ Hospitel ต้องได้รับการตรวจสอบลงทะเบียนตามแนวทางของกรมการแพทย์ โดยต้องเป็นอาคารที่มีโครงสร้างที่เหมาะสม และมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยสนับสนุนอย่างถูกหลักป้องกันโรคระบาด พร้อมทั้งมีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการสังเกตอาการด้วยการเอกซเรย์ปอดก่อน แล้วมีห้องปฏิบัติการตรวจพื้นฐาน (CBC) เพื่อรายงานผลสู่โรงพยาบาลแม่ข่าย

3. ผู้เข้ารับการรักษาได้รับการติดตามผลสัญญาณชีพ และ Oxygen set เป็นระยะ อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง และ 4. หากมีอาการผิดปกติ แพทย์เป็นผู้พิจารณาย้ายโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี Hospitel จะรับผู้ป่วยจากทางโรงพยาบาลเป็นผู้ส่งตัวมา ทางผู้ป่วยเองไม่สามารถระบุเจาะจงเพื่อเข้ารับการรักษากับสถานที่ดังกล่าวได้โดยตรง

 Hospitel ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine หรือ ASQ) ที่รับกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศช่วงก่อนหน้านี้ อาทิ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท โดยโรงพยาบาลธนบุรี จำนวนเตียง 324 เตียง, โรงแรมอินทรา รีเจนท์ โดยโรงพยาบาลปิยะเวท จำนวนเตียง 455, โรงแรมรอยัล รัตนโกสินทร์ โดยโรงพยาบาลปิยะเวท จำนวนเตียง 158 เตียง, โรงแรม ฌ เฌอ – เดอะ กรีน โฮเทล โดยโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ จำนวนเตียง 400 เตียง, โรงแรมเมเปิล โดยโรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์ จำนวนเตียง 150 เตียง, โรงแรมเวิร์ฟ โฮเต็ล โรงพยาบาลเมดพาร์ค จำนวนเตียง 324 เตียง เป็นต้น 

ส่วนเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย Hospitel ไม่ต่างจากโรงพยาบาล  นพ.วิทิต อรรถเวชกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ โรงพยาบาลปิยะเวท ระบุว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้พบว่าคนไข้ส่วนมากไม่มีอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุน้อย ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่มีผลตรวจเป็นโพสิทีฟแต่มีอาการน้อยมาก เช่น เจ็บคอเล็กน้อย หรือมีไข้ ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เพื่อป้องกันการระบาดคนไข้จำเป็นต้องกักตัวและพักฟื้นที่ Hospitel กล่าวคือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษานอกจากโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital)

ก่อนหน้านี้ โรงแรมจำนวนหนึ่งปรับตัวสู่การเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) หรือ ASQ เตรียมรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจจะมีเชื้อหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างจาก Hospitel คือการปรับโรงแรมให้เป็นโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งปรับตัวสู่การเป็น Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะถูกส่งตัวข้ารับการรักษาที่โรงแรมที่เป็น Hospitel ตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังเป็นการประคองธุรกิจในช่วงที่ไร้นักท่องเที่ยว

 นายปรินทร์ พัฒนธรรม  ที่ปรึกษาชมรม ASQ Thailand การปรับสู่ Hospitel ไม่ได้ทำเพื่อกำไร แม้นัยหนึ่งก็เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ อีกนัยหนึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเสียสละเพื่อช่วยสาธารณสุขไทย เพราะรายได้จาก Hospitel มีผลกำไรน้อยกว่าการขายห้องพักปกติหลายเท่า รายได้ที่ถูกจำกัดมาโดยรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ปรับตัวจากธุรกิจโรงแรมไปสู่ Hospitel มีทั้งความเสี่ยงและต้นทุนที่ตามมาด้วย เช่น โครงสร้างโรงแรม พื้น พรม ระบบแอร์ บุคลากรได้รับการฝึกอบรบ การได้รับความยินยอมจากชุมชนรอบข้าง และต้องมีโรงพยาบาลคู่สัญญา เพราะต้องมีพยาบาล มีแพทย์ ข้อสำคัญการปรับตัวของโรงแรมทั่วไป ทำได้ยากกว่าโรงแรมที่มีมาตรฐานเป็น ASQ มาก่อน

ทั้งนี้ โรงแรมที่เป็น ASQ มีอยู่ทั้งสิ้น 137 แห่ง แบ่งเป็นห้องพักจำนวน 18,000 ห้อง ล่าสุดพบว่าปรับสู่ Hospitel แล้ว 50 - 60 %คาดว่ามี Hospitel รวมแล้วกว่า 9,000 ห้อง รองรับผู้ติดเชื้อแบ่งเบามาจากโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่าการเข้ารักษาที่ Hospitel ผู้ป่วยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะ Hospitel ได้รับเงินชดเชยจาก สปสช. ยกเว้นผู้ป่วยต้องการเข้าพักใน Hospitel โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกินวงเงินที่ สปสช. ชดเชย

การเตรียมการรองรับฉุกเฉินกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มจำนวนมาก อีกทางเลือกหนึ่งคือ “การแยกตัวที่บ้าน”  โดยกรมการแพทย์เตรียมจัดทำคู่มือแนวทางดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องกักตัวที่บ้าน รับลูกนโยบาย “หมอหนู - นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังสั่งการให้เตรียมจัดทำคู่มือหากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนเต้องเปลี่ยนแนวทางจากการรักษาในโรงพยาบาลมาเป็นการกักตัวที่บ้านแทน

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแยกตัวที่บ้านเป็นเพียงการออกคำแนะนำเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ หากกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มจำนวนมากขึ้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยไม่ถึงขั้นจะต้องใช้มาตรการดังกล่าว ผู้ติดเชื้อทุกรายจะต้องเข้ามารับการรักษาในสถานพยาบาลตามที่ภาครัฐกำหนด

ทั้งนี้ แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สำหรับการแยกตัวที่บ้าน ผู้ที่ตรวจพบเชื้อต้องได้รับการจัดแยกเพื่อการดูแลรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการควรได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนาม หรือ ฮอสพิเทล ตามความเหมาะสมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการควรแยกตัวจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 14 วันเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลจะพิจารณาให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใช้ที่พักอาศัยเป็นสถานที่แยกตัว อาทิ บ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดมิเนียมโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่แล้ว การจัดเตรียมสถานที่เพื่อการแยกตัวอย่างเหมาะสมให้เป็นไปตามคำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ที่ไม่ได้เข้ารักษาตัวแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล หากผู้ติดเชื้อไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แนะนำให้แยกตัวต่อเนื่องจนครบ 1 เดือน

โดยเกณฑ์การพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อการแยกตัวที่บ้าน ดังนี้ 1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (asymptomatic cases) 2. มีอายุไม่เกิน 40 ปี 3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 4. มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

5. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย 2 25 กก./ม./ หรือ น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กก.) 6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ 7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

สำหรับแนวทางของโรงพยาบาลจะดำเนินการติดตามผลการแยกตัวที่บ้านของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังต่อไปนี้ 1. ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อแยกตัวในสถานที่พักของตนเอง 2. ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ในระบบของโรงพยาบาล 3. ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) หากพบความผิดปรกติ แนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

4. แนะนำการปฏิบัติตัว และจัดเตรียมปรอทวัดไข้ และ pulse oximeter ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ 5. ติดตาม ประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างการแยกตัวที่บ้าน ผ่านระบบสื่อสารต่างๆ อาทิ โทรศัพท์ติดตามอาการสอบถามอาการไข้ ค่า oxygen saturation วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) เป็นระยะเวลา 14 วัน

6. จัดช่องทางติดต่อในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มขึ้น หรือภาวะฉุกเฉิน อาทิ มีไข้ลอย หอบเหนื่อย หายใจลำบาก 7. จัดระบบรับ –ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล และ 8. ให้ความมั่นใจในมาตรฐานการดูแลรักษาของที่มแพทย์และพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อ

 ย้ำว่า! ขณะว่าประเทศไทยยังไม่มี “การแยกตัวที่บ้าน” ผู้ติดเชื้อทุกรายจะต้องเข้ามารับการรักษาในสถานพยาบาล ระบบสาธารณสุขยังมีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกราย ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับความสะดวก มีความล่าช้าไปบ้างทั้งรอเตียงรอรถพยาบาลมารับ ระหว่างนี้คงต้องอดทนดูแลตัวเองเท่าที่พอจะทำได้ เพราะต้องไม่ลืมว่านักรบด่านหน้าสาธารณสุขไทยกำลังทำงานกันอย่างขมีขมัน  


กำลังโหลดความคิดเห็น