xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขยะ “แมสก์” ล้นเมือง อยากจะทิ้งก็ทิ้งก็ได้เหรอ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ขยะติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (Covid-19) โดยเฉพาะขยะหน้ากากอนามัย (Mask) ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามแหล่งสาธารณะกำลังลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉลี่ยประเทศไทยมีปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้ว 11.48 ตันต่อวัน แน่นอนว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนการระบาดสิ้นสุดลง 


นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพุ่งพรวดทั่วทั้งโลก ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกประเมินไปในทิศทางเดียวกัน ขยะหน้ากากอนามัยทุกรูปแบบจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 ยกตัวอย่าง หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) ผลิตขึ้นรูปจากแผ่นใยสังเคราะห์ (non-woven fabric) วัตถุดิบหลักซึ่งเป็น พอลิโพรไพลีน (Polypropylene) และถ่านกัมมันต์ในปริมาณมาก ทำให้หน้ากากอนามัยกลายเป็นขยะพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่าจะย่อยสลาย อีกทั้ง ระหว่างย่อยสลายสามารถปลดปล่อยสารพิษได้อย่างต่อเนื่อง หรือหากหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำหรือทะเล อนุภาคพลาสติกที่ถูกปลดปล่อยระหว่างการย่อยสลาย จะยังคงสะสมอยู่ในน้ำและในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำจืดหรือทะเล ซึ่งในที่สุดก็ย้อนกลับมาอยู่ในวงจรสิ่งแวดล้อม วงจรแหล่งอาหาร สร้างผลกระทบถึงมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ รูปลักษณ์ที่ดูคล้ายพืชหรือสิ่งมีชีวิต อาจจะทำให้สัตว์น้ำบางชนิด เช่น เต่าทะเล อาจเข้าใจผิดว่าหน้ากากอนามัย คือ อาหาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนต้องมีการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปริมาณของขยะหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มสูงมากขึ้นตามไปด้วย

ในประเด็นนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับรู้ถึงปัญหาเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาโดยประสานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการทิ้งและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้กำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ

ทั้งนี้ กำหนดให้ “หน้ากากอนามัยใช้แล้ว” เป็น “มูลฝอยติดเชื้อ” ที่ต้องมีการจัดการตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 โดยรวบรวมในภาชนะที่มีสีหรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมูลฝอยติดเชื้อ ต้องเก็บรวบรวมและกำจัดทำลายอย่างถูกต้อง

 เน้นย้ำว่า “ขยะหน้ากากอนามัย” เป็น “ขยะติดเชื้อ” เนื่องจากผ่านการใช้งานที่ทำให้มีการปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วยได้ ดังนั้น ในการ “กำจัดขยะหน้ากากอนามัย” นี้ต้องมี “การคัดแยก” และ “ทิ้งในภาชนะที่ปิดมิดชิด” ซึ่งสิ่งที่ควรปฎิบัติคือทิ้งในถังขยะที่ระบุว่าเป็น “ถังขยะติดเชื้อ” เพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป ห้ามทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปโดยด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะหน้ากากอนามัยเหล่านี้ตกค้างปนเปื้อนออกสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามมา 

ก่อนหน้านี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลคาดการณ์ว่าอาจจะมีปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้วถึง 1,800 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่คิดจากประชากร 60 ล้านคนใช้งานคนละ 1 ชิ้นต่อวันหลายพื้นที่ทั่วโลก

 อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ข้อมูลระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2563 - 12 เม.ย.2564 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว รวมทั้งสิ้น 1,366.29 ตัน หรือเฉลี่ย 11.48 ตันต่อวัน ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดระลอก 3 เดือน เม.ย. 2564 วันที่ 1 - 12 เม.ย ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 12.92 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.44 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 12.5 

โดยตัวเลขเหล่านี้เป็นขยะติดเชื้อที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัวเท่านั้น ยังไม่นับรวมส่วนที่ลอบทิ้งในตามแหล่งสาธารณะ ซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่ง ศบค.ที่ 1/2564 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หมายความว่าขยะติดเชื้อต้องมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อจากสถาการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้มีการจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในการจัดเก็บขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และติดตั้งถังขยะสีแดงสำหรับรองรับหน้ากากอนามัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ต้องยอมรับว่ามีเป็นจำนวนน้อย ไม่ครอบคลุมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด

 นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในฐานะผู้ดำเนินการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันบริษัทมีความสามารถในการจัดการขยะติดเชื้อรองรับได้สูงสุด 70 ตันต่อวัน โดยมีขยะติดเชื้ออื่นๆ และขยะติดเชื้อโควิด-19 นำสู่ระบบการเผากำจัดของบริษัท อยู่ที่ 60 ตันต่อวัน ยังเหลือกำลังการกำจัดขยะติดเชื้อได้อีก 10 ตันต่อวัน ด้วยศักยภาพแล้วจะไม่เกิดปัญหาขยะโควิด-19 ตกค้างในพื้นที่ กทม.

ขยะมูลฝอยติดเชื้อจำพวกหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซ้ำเติมสถารการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศไทย อย่างที่ทราบมาก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาล พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งเครื่องแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ โดยให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Model) กำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ

อาทิ จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562, คลอดนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดและแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 รวมถึง ตั้งเป้าการนำขยะพลาสติกเป้าหมาย กลับมาใช้ใหม่ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 เป็นต้น

ต้องบอกว่าปัญหาขยะวาระแห่งชาตินับเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพุ่งพรวด อีกทั้งมีข้อมูลจากสถาบันพลาสติก ระบุว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกปีละกว่า 2 ล้านตัน ถูกนำกลับมารีไซเคิลเพียง 0.5 ล้านตัน ที่เหลือต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบและบางส่วนหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบในระบบนิเวศ

 ที่น่าจับตาคือ ขยะมูลฝอยจากบริการส่งอาหาร Food Delivery ดันปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single use-plastics ) เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยประเทศไทย (TDRI) ประเมินว่า 1 ยอดการสั่งอาหาร จะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น ประกอบด้วย กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด

สถิติปี 2563 ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ยังไม่รวมขยะติดเชื้อจำพวกหน้ากากอนามัยใช้แล้ว คาดว่ามีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งปะปนรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป

อย่างไรก็ดี ปี 2563 ที่ผ่านมา แม้เกิดวิกฤตขยะติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังพอมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง เพราะประเทศไทยสามารถปรับลดอันดับสถานะประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 เป็น อันดับที่ 10 ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 25,284 ล้านใบ หรือ 228,820 ตัน สืบเนื่องจากความเข้มข้นของมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว

 การจัดการสถานการณ์ขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วปริมาณพุ่งพรวด ไม่เฉพาะมาตรการของรัฐที่ต้องชัดเจน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นสิ่งจำเป็น ประการสำคัญการมีจิตสำนึกสาธารณะ เริ่มต้นจากตัวเองด้วยการแยกขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธีก่อนทิ้ง แม้ไม่อาจลดปริมาณขยะติดเชื้อ แต่อย่างน้อยๆ จะไม่เพิ่มปัญหาต่อสภาพแวดล้อมที่เข้าขั้นโคม่า 


กำลังโหลดความคิดเห็น