ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ณ เวลานี้ “โควิด-9 ระลอก 3” ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และสังคมกำลังเฝ้ามองมาตรการจาก “รัฐบาล 3 ลุง” ว่าจะทำอย่างไรหลังจากปล่อยให้สถานการณ์ “เละตุ้มเป๊ะ” มาอย่างต่อเนื่องจนยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักพันต่อวันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาด้วยตัวเลข 1,335 คน และพุ่งไปเป็น 1,543 รายในวันที่ 15 เมษายน 2564
ยิ่งเมื่อย้อนหลังดูสถิติก็ยิ่งเห็นความ “เละตุ้มเป๊ะ” กล่าวคือจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในวันที่ 6 เมษายนซึ่งอยู่ที่ 250 รายต่อวันก็ขยับเพิ่มต่อเนื่องชนิด “เอาไม่อยู่” คือเป็น 334 รายต่อวันในวันที่ 7 เมษายน เป็น 405 รายต่อวันในวันที่ 8 เมษายน เป็น 559 รายต่อวันในวันที่ 9 เมษายน เป็น 789 รายต่อวันในวันที่ 10 เมษายน เป็น 967 รายต่อวันในวันที่ 11 เมษายน เป็น 985 รายต่อวันในวันที่ 12 เมษายน เป็น 965 รายต่อวันในวันที่ 13 เมษายน และพุ่งทะลุหลักพันในวันที่ 14 เมษายน
และความจริงที่ต้องยอมรับกันก็คือ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจ ดังนั้น หลังเทศกาลสงกรานต์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งมากขึ้นกว่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อเจอเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 คำถามจึงดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าทำไมรัฐบาลจึงจัดหาและฉีด “วัคซีน” ให้ประชาชนคนไทยได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น ด้วยถึงตอนนี้ฉีดกันไปแค่ 5 แสนกว่าโดส ครอบคลุมประชากรเพียง 0.4% เท่านั้น และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนเศรษฐกิจจึงจะฟื้น แรงกดดันประเดประดังเข้ามา ทำให้ในที่สุดรัฐบาลยอมเปิดทางให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเข้ามา 10 ล้านโดส ขณะที่อีกฟากก็กังวลว่าวัคซีนปลอดภัยแค่ไหนเมื่อมีรายงานวิจัยเจอปัญหาลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนของ “แอสตร้าเซเนกา (AZ)” ส่วนวัคซีน “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน อียูและแอฟริกาใต้ได้ระงับการฉีดไว้ก่อน
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อย้อนดูการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยทั้ง 3 ระลอกก็พบว่า คงโทษใครไม่ได้นอกจาก “โทษลุง” กล่าวคือในการระบาดระลอกแรก “คลัสเตอร์ใหญ่ที่สุด” ก็คือ “สถานบันเทิงและสนามมวย” ระลอกที่สอง “แรงงานต่างชาติ-บ่อนการพนัน” และระลอกที่สามก็คือ “สถานบันเทิง” ประเภท “ผับ บาร์ เลานจ์” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจการที่อยู่ในความดูแลของ “หน่วยงานความมั่นคง” คือ “ตำรวจ ทหาร และกระทรวงมหาดไทย” ทั้งสิ้น
แล้ว “ใคร” ล่ะที่กำกับดูแลหน่วยงานเหล่านี้
ไม่ต้องพึ่ง “อากู๋” ก็ตอบได้ทันทีว่าคือ “3 ลุง” ได้แก่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ระบาดระลอกแรกอาจพอกล้อมแกล้มไปได้ว่า ยัง “มือใหม่” แต่ในครั้งที่ 2 และยิ่งในครั้งที่ 3 ข้อแก้ตัวนี้ใช้ไม่ได้ เพราะ “3 ลุง” ย่อมรู้อยู่แก่ใจ ทำไมถึงไม่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้เข้มงวดในช่วงการแพร่ระบาด
วันนี้ “คนไทย” จึงต้องพากัน “ซวย” และ “เสี่ยง” กับการติดเชื้อกันทั้งแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี ในยามที่ดูเหมือนจะสิ้นหวัง เพราะวัคซีนที่มีในประเทศก็น้อย แถมยังไม่รู้แน่ชัดว่า ฉีดแล้วจะได้ผลหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นว่า ถึงจะฉีดครบโดสก็ยังกลับมาติดใหม่ได้ คนไทยที่เคยทำได้แค่ “ช่วยเหลือตัวเอง” ด้วยการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ก็พอจะมีความหวังขึ้นมา เพราะมีพืชสมุนไพร 2 ตัวที่น่าสนใจในการต่อสู้กับโควิด-19 นั่นก็คือ “ฟ้าทะลายโจร” และ “กระชายขาว” ซึ่งก็ไม่รู้ว่า “รัฐบาลลุง” จะสนับสนุน “งบประมาณ” เพื่อสานต่องานวิจัยอย่างต่อเนื่องหรือไม่
ถ้าทำเป็นทองไม่รู้ร้อน งานนี้บอกได้เลยว่า ไม่ใช่แค่ “ฟ้าทะลายลุง” เท่านั้น แต่ “คนไทยทั้งประเทศ” ก็พร้อมที่จะ “ทะลายลุง” ให้พ้นไปจากการบริหารราชการแผ่นดินด้วยเช่นกัน
”วัคซีน” ไม่ใช่ “ยาวิเศษ”
แต่ก็เป็นเหตุพังรัฐบาลได้
ประเด็นเรื่อง “การจัดหาวัคซีน” และ “การฉีดวัคซีน” ถือเป็นเรื่องที่ “อ่อนไหว” ยิ่ง “รัฐบาลลุง” เพราะต้องยอมรับว่า ดำเนินไปอย่าง “ล่าช้า” จริงๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากโยกโย้มาหลายเพลาต่อข้อเรียกร้องของเอกชนที่ขอนำเข้าวัคซีน ก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เคาะตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดหาวัคซีนชื่อว่า “คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ขึ้นมา หลังการประชุมร่วมหารือกันทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน
คณะทำงานชุดนี้มีความพิเศษตรงที่มีทั้งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นรองประธาน, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, อธิบดีกรมควบคุมโรค, อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ศาสตราจารย์ พิชัย สนแจ้ง, นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์, นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์, พญ.เมชินี ไหมแพง, นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี, นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช, นพ.นพพร ชื่นกลิ่น, นพ.บุญ วนาสิน, พญ.เจรียง จันทรโกมล, นายประทีป กีรติเรขา เลขานุการ และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เลขานุการคณะทำงาน
อำนาจหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าว คือเสนอแนวทางและมาตรการจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน มีอำนาจติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อโควิด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีน รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีผลตั้งแต่ 9 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
“หมอหนู-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่มีชื่อร่วมในคณะทำงานชุดนี้ ร่ายยาวถึงการจัดหาวัคซีนว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข สั่งซื้อวัคซีนมาให้ประชาชนแล้ว 63 ล้านโดส ขณะนี้มาถึงประเทศไทย แล้ว 2.117 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป จะมีวัคซีนให้บริการประชาชน เดือนละ 5-10 ล้านโดส จนครบตามจำนวนที่สั่งซื้อไว้ คือ 63 ล้านโดส สามารถฉีดให้ประชาชน 31.5 ล้านคน ขณะที่ในทางวิชาการต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 40 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรทั้งประเทศ และชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง ในปีนี้ เราจะต้องใช้วัคซีน จำนวน 80 ล้านโดส สั่งซื้อมาแล้ว 63 ล้านโดส จึงต้องสั่งซื้อวัคซีนสำหรับคนไทย เพิ่มอีกประมาณ 17 ล้านโดส และอีกจำนวนหนึ่งสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นภารกิจของคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนฯ
“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินเบื้องต้นแล้วว่า การสั่งซื้อวัคซีน 63 ล้านโดส ในขณะนี้เพียงพอที่จะให้บริการคนไทย หากจะขาดก็เพียงไม่มากนัก และได้พยายามจัดซื้อมาตลอด แต่ยังจัดซื้อเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะผู้ผลิตวัคซีน ยังผลิตได้ไม่ทันกับคำสั่งซื้อที่ทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนมากกว่ากำลังผลิตเป็นจำนวนมากหลายเท่าตัว” นายอนุทินอธิบายคล้ายกับสารภาพกลายๆ ว่า วัคซีนที่จะต้องจัดหาเพิ่มอย่างน้อย 17 ล้านโดส นั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดหาได้
อีกประเด็นหนึ่งคือ อายุของวัคซีนที่มองได้ต่างมุม โดยนายอนุทินชี้แจงว่า “สาระสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วัคซีนโควิดทุกตัวที่มีการใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นวัคซีนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้ไป ศึกษาไป รายงานผลกันไป ยังไม่ใช่วัคซีนที่สมบูรณ์เหมือนวัคซีนอื่นๆ และวัคซีนมีอายุใช้งานเพียง 6 เดือน เท่านั้น เป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่จัดซื้อมาสำรองเป็นจำนวนมาก เพราะหากฉีดไม่ทันจะสิ้นเปลืองงบประมาณ และหากเชื้อโรคกลายพันธุ์ ต้องใช้วัคซีนใหม่ ก็จะต้องซื้อวัคซีนใหม่ โดยที่วัคซีนเดิมใช้ไม่หมด และใช้ไม่ได้ จะเป็นการสูญเสียงบประมาณ....”
ขณะที่อีกเสียงสะท้อนจากสังคม มองอีกมุมว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างครอบคลุมที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และเมื่อติดเชื้อแล้วอัตราการตายลดลง เพื่อเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจ ใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ เป็นเรื่องที่หลายประเทศทำกัน เพราะหากล่าช้านั่นหมายถึงว่าจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเสียหายย่อยยับ การทุ่มทุนซื้อวัคซีนฉีดให้กับประชาชนเร็วที่สุด ครอบคลุมที่สุด คือการช่วงชิงโอกาสทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างเช่น อังกฤษ ที่มีประชากร 67 ล้านคนใกล้เคียงกับไทย ตอนนี้ฉีดไปแล้วกว่า 32 ล้านคน และซื้อวัคซีนตุนไว้อีก 457 ล้านโดส จาก 8 ยี่ห้อ ทั้งที่รับรองแล้วและยังไม่รับรอง เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานที่ว่า “ชีวิตประชาชนสำคัญกว่าและมาก่อน” การอ้างเรื่องงบประมาณที่ว่าจะสูญเปล่านั้น มองทวนย้อนกลับไปมีหลากหลายโครงการที่ผลาญงบสิ้นเปลืองเปล่าๆ ปลี้ๆ ก็มีไม่น้อย แต่เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่มีชีวิตประชาชนคนไทยเป็นเดิมพัน ทำไมถึงจะมีข้ออ้างมากมายไม่ทุ่มเทงบประมาณเพื่อการนี้
ข้อมูลของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 12 เมษายน 2564 มีจำนวนการได้รับวัคซีนสะสมไปแล้วรวม 578,532 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 505,215 ราย และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 73,317 ราย ซึ่งเป้าหมายหลักคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อจองฉีดวัคซีน นัดหมาย ติดตามอาการหลังฉีด และนัดหมายฉีดครั้งที่ 2 และออกใบรับรองหลังการฉีดวัคซีน ได้ผ่าน 4 ช่องทาง คือ LINE official “หมอพร้อม”, แอป “หมอพร้อม” โดยดาวน์โหลดได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ในระบบแอนดรอยด์ก่อน หรือไม่ก็ติดต่อโรงพยาล และผ่าน อสม.ทั่วประเทศ
ประเด็นที่สนใจกันในเรื่องวัคซีนนอกจากจำนวนวัคซีนที่มีเพียงพอมากน้อยแค่ไหน ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ได้เร็วแค่ไหน ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเวลานี้เป็นการฉีดใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” นั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AZ) ที่จะเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยนั้น งานวิจัยของเยอรมนีและนอรเวย์ มีข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีน AZ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง โดยอาการที่รุนแรงคือ เกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ซึ่ง AZ ที่ฉีดไปแล้วประมาณ 18 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 37 คน ขณะที่ AZ ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนของบริษัททำให้เกิดอาการดังกล่าว
นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และองค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐฯ ร่วมกันเรียกร้องให้ระงับการใช้งานวัคซีนโควิดของบริษัท “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” (Johnson & Johnson) ขณะตรวจสอบกรณีเกิดผลข้างเคียงลิ่มเลือด หลังจากการฉีดวัคซีนโควิดจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ทั้งหมด 6 คน โดยเป็นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-48 ปี และเริ่มแสดงอาการ 6-13 วัน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนโควิดของจอห์นสันฯ ไปเกือบ 7 ล้านโดสแล้ว
ขณะเดียวกัน อียู ได้ระงับการเปิดตัวโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ชั่วคราว เนื่องจากพบรายงานผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ในสหรัฐฯ มีอาการคล้ายกับผู้ได้รับวัคซีนของ AZ ขณะที่ แอฟริกาใต้ หยุดฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ไว้ชั่วคราว
ด้วยเหตุดังกล่าว ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดจึงเป็นทางสองแพร่งอย่างที่ว่า จะเลือกหนทาง “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” รอให้วัคซีนมีความปลอดภัยสูงสุดก่อนระดมฉีดให้ประชาชน หรือว่าจะรีบฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่ละแนวทางล้วนแต่มีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับด้วยกันทั้งสิ้น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะปลอดภัยจากโควิด-19 เสียเมื่อไหร่ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศเป็นจำนวนมากว่า แม้จะฉีดครบโดสแล้วก็กลับมาติดอีกได้เช่นกัน
ผลดีของวัคซีน ณ เวลานี้จึงทำได้เพียง “ลดความรุนแรง”ลงเท่านั้น ว่าอย่างน้อยก็ยังไม่ทำให้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
สำหรับประเทศไทย วัคซีนที่มีทั้ง 2 ตัวคือ “ซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า” ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะสามารถหยุดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริงหรือเปล่า และที่สำคัญคือประเทศไทยก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนักในภาวะที่มีการแย่งวัคซีนทั่วโลก ด้วยในสถานการณ์เช่นนี้ บริษัทยาผู้ผลิตวัคซีนมีอำนาจต่อรองทั้งปริมาณและราคาอยู่ที่การตัดสินใจของผู้ผลิตวัคซีน ส่วนอำนาจจะกลับมาเป็นของผู้ซื้อก็ต่อเมื่อมีการผลิตวัคซีนออกมาเป็นจำนวนมาก หรือผลิตออกมาแล้วมีผลข้างเคียงมาก หรือแม้แต่ไม่สามารถหยุดตัวเลขการติดเชื้อระลอกถัดไปได้
เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
ฟ้าทะลายโจร-กระชายดำ
สมุนไพรแห่งความหวัง
อย่างไรก็ดี ในยามที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยปัญหา วัคซีนมีน้อย ฉีดแล้วอาจมีผลข้างเคียง ฉีดแล้วอาจกลับมาติดได้อีก รวมทั้งเรื่อง “ฉีดหรือไม่ฉีดดี” ดูเหมือนว่า สังคมไทยกำลังให้ความสนใจกับสมุนไพรไทย 2 ชนิด นั่นก็คือ “ฟ้าทะลายโจร” และ “กระชายขาว”
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยก็มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อเสาะหายาและวัคซีนที่จะช่วยยับยั้งและรักษาโรคนี้ รวมถึงมีการศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยหลากหลายชนิดในการนี้ด้วย ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “ฟ้าทะลายโจร” ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส
“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยความคืบหน้าในการวิจัยดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “1. การทดสอบฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 270 คน อาการป่วยทุกอย่างลดลงอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ หายป่วยภายใน 5 วัน กลับบ้านได้ทั้งหมดแล้ว (น่าดีใจมาก) ด้วยการใช้ฟ้าทะลายโจร “อย่างเดียว”แบบหยาบ(ไม่ต้องสกัด) โดยจะต้องมีสารแอนโดรกราโฟไลต์ให้ได้ 180 มิลลิกรัมต่อวัน 2. ทางกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กำลังจะวิจัยต่อในตำรับยาขาว (แก้สรรพไข้) ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ เบื้องต้นทบทวนงานวิจัยสมุนไพรที่ใช้แต่ละตัวตามตำรับนี้ออกฤทธิ์ทางเภสัชไม่เหมือนกัน เช่น ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกันครับ”
“ และ 3. ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เรื่องผลความคืบหน้าฟ้าทะลายโจร คงเป็นเพราะส่วนหนึ่งทาง Facebook ได้บล็อกทุกอย่างกับความคืบหน้าสมุนไพรที่มีผลต่อโรคนี้ ในเพจที่มีคนติดตามหรือแชร์มาก (ทางเพจ News 1 แอดมินถูกบล็อกหลายครั้งในเรื่องนี้โดยตรง แม้จะเป็นการนำเสนอข่าวความคืบหน้าโดยหน่วยงานรัฐก็ตาม แม้กระทั่งเพจของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ถูกทาง Facebook ขู่ว่าจะปิดเพจหากยังนำเสนอความคืบหน้าเรื่องฟ้าทะลายโจรอยู่ รวมถึงคนที่ถูกบล็อกอื่นๆก่อนหน้านี้บางโพสต์ในเรื่องฟ้าทะลายโจร เช่นคุณไพศาล พืชมงคล คุณรสนา โตสิตระกูล ก็เคยถูกบล็อกมาแล้ว)
สำหรับการใช้ฟ้าทะลายโจรกับปัญหาโรคอาการคล้ายหวัด และไม่แน่ใจว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่?
ปานเทพให้คำแนะนำเอาไว้ว่า 1.สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บคอ ไอ มีเสมหะ หรือมีไข้ หรืออาจไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส และยังไม่แน่ใจว่าตัวเองป่วยเป็นโรคโควิด-19 มีทางเลือกดังต่อไปนี้
1.1 หากมียาขาวตามศิลาจารึก (หาได้จากคลินิกหรือสหคลินิกที่มีแพทย์แผนไทย) ให้ใช้ฟ้าทะลายโจร(หากทำจากใบ)ให้ใช้ 4 เม็ดต่อมื้อ 3 มื้อ และยาขาวผสมน้ำอุณหภูมิห้องดื่มพร้อมกันทั้ง 3 มื้อ หากอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนในวันที่ 2 ให้รู้ว่ามาถูกทาง ให้รับประทานต่อจนครบ 5 วัน (จากการรวบรวมข้อมูลทางคลินิกพบว่าได้ผลดีมากในวิธีการนี้)
1.2 หากไม่มียาขาวและฟ้าทะลายโจรที่ไม่ทราบว่าทำจากใบหรือไม่ ให้เริ่มต้นฟ้าทะลายโจร 4 เม็ดต่อครั้ง 4 ครั้งต่อวัน หากวันที่ 3 ยังดีขึ้นอย่างชัดเจน ให้รับประทานต่อจนครบ 5 วัน หากยังไม่ดีขึ้นบ้างเลยในวันที่ 3 ให้เพิ่มปริมาณเป็น 3 เท่า คือ 48 เม็ดต่อวัน (มีความหมายว่าฟ้าทะลายโจรยี่ห้อนั้นมีส่วนผสมไม่ใช่เฉพาะใบทำให้ตัวยาน้อย หรือการปลูกและอายุไม่ได้มาตรฐานดีพอ หรือไม่ก็แปลว่าอาจเสี่ยงเป็นโควิด-19)
2. ถ้าทั้ง 2 วิธีข้างต้นไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกหรือวันที่ 2 ให้ไปพบแพทย์
3. หากไปตรวจพบแพทย์ตั้งแต่แรกพบติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการไม่มาก หรือแพทย์ให้กลับไปกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวในโรงพยาบาลสนาม หรือในโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยสอบถามขอใช้ฟ้าทะลายโจร และให้ใช้ในแนวทางข้อ 1 หรือหากไม่มียาขาวเลย ให้ใช้ฟ้าทะลายโจร (ที่ทำจากใบรวมไม่เกิน 16 เม็ดต่อวัน) และหากฟ้าทะลายโจรที่ไม่ทราบว่าทำจากใบอย่างเดียวหรือไม่ ให้เริ่มใช้ที่ 48 เม็ดต่อวัน หรือหากมีแบบสารสกัดให้ดูฉลากก็ให้คำนวณให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ให้ได้ 180 มิลลิกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องศึกษาผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยขยายผลต่อยอดงานวิจัยในคนร่วมโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งดูแลผู้ป่วยจากนอกประเทศในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)
ผลการศึกษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ
นอกจากนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำการศึกษานำร่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย โควิด - 19 ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการ จำนวน 6 ราย ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น ในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ขนาด 180 มิลลิกรัม/วัน พบผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่สามของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยหากแยกรายละเอียดอาการ จะพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ส่วนการศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติม ระยะที่ 2 ที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อระยะเวลาการหายจากอาการโรคโควิด-19 เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการร่วมรักษาโรคโควิด-19 โดยได้ออกแบบการศึกษาวิจัยเป็นแบบสุ่ม ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้ต้องการอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ราย และมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 42 ราย โดยจะรวบรวมเก็บข้อมูลอาสาสมัครในโครงการทั้งหมดเพื่อส่งต่อตัวอย่างของอาสาสมัครให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยและเผยความก้าวหน้าของการวิจัยดังกล่าวต่อไป โดยการศึกษาและการติดตามผลการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด –19 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และยังได้รับการร่วมมือใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าหลายแห่งอีกด้วย
ขณะเดียวกันกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกยังได้ขยายผลการรักษาใน 9 โรงพยาบาลของรัฐ มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 280 พบส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรงและหายเป็นปกติทุกราย
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายขยายความเพิ่มว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมมือกับ 9 โรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสงคราม โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก โรงพยาบาลสนามนาดี จังหวัดสมุทรสาคร และ โรงพยาบาลสนามชมดาว จังหวัดระยอง ร่วมกระบวนการศึกษาวิจัยโดยได้จ่ายยา “ฟ้าทะลายโจร” ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย ร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน จำนวน 280คน ซึ่งได้บันทึกข้อมูลผู้ป่วยเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 260รายส่วนอีก 20 ราย กำลังอยู่ในขั้นตอนการประมวลผลการรักษาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1–5 ตามลำดับ และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก
กระนั้นก็ดี แพทย์หญิงอัมพรยังให้คำแนะนำด้วยว่า ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด –19 ถ้าใครมีอาการคล้ายหวัด ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ควรกินยาฟ้าทะลายโจรทันทีหากกินยาฟ้าทะลายโจรแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการ และไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอว่าฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
ที่สำคัญคือแม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะมีงานวิจัยออกมาว่าสามารถรักษาโควิด-19 ในระยะต้นได้ แต่การนำไปใช้ยังต้องระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ระบุ ข้อควรระวังของการใช้ฟ้าทะลายโจร ได้แก่ ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และพบแพทย์
หรือหากมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและไม่ใช้อีก รวมทั้งควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรืออ่อนแรง
นอกจาก “ฟ้าทะลายโจร” แล้วสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีงานวิจัยออกมาว่าช่วยออกฤทธิ์ต้านไวรัสด้วยเช่นกันก็คือ “กระชายขาว” สมุนไพรไทยๆ ที่คุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยหลากหลายเมนู โดยทีมวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้ศึกษาวิจัย “กระชายขาว” พบว่าสารสกัดจากกระชายขาว ซึ่งมีสารสำคัญ 2 ชนิด สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของโควิด-19 ได้ถึง 100% โดยสารสำคัญทั้ง 2 ตัวที่อยู่ในกระชายขาว ได้แก่ Pandulatin A และ Pinostrobin สารทั้ง 2 ตัวในกระชายขาว สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ซึ่งสารทั้ง 2 ตัวนี้สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ให้ลดลงจนเหลือ 0% นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย
งานนี้ คงต้องวัดใจ “รัฐบาลลุง” กันว่า จะให้การสนับสนุนสมุนไพรไทยทั้งสองตัวคือ “ฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว” มากน้อยแค่ไหน เพราะจะว่าไป ก็สมควรต้อง “เจียดงบประมาณ” เพื่อทำเรื่องนี้ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างจริงๆ จังๆ กันเสียที
ถ้าไม่ทำหรือทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเดี๋ยวก็รู้ว่า “ฟ้าจะทะลายโจร” หรือ “ประชาชนจะทะลายลุง” กันแน่.